ปมควบรวมทรู-ดีแทค : องค์กรเพื่อผู้บริโภค ร้อง กสทช. เปิดข้อมูลการพิจารณาของอนุฯ 4 คณะ

องค์กรเพื่อผู้บริโภค ผนึกกำลัง คัดค้าน ทรู- ดีแทค ควบรวมกิจการชี้ กระทบต่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อ กสทช. ขอให้เปิดข้อมูลการพิจารณาของอนุกรรมการ 4 คณะ และ ขอให้ไม่อุทธรณ์คำสั่งของ ศาลปกครอง 'ก้าวหน้า-ก้าวไกล' ประสานเสียงร่วมค้านควบรวม ธนาธรชวนติด #หยุดผูกขาดมือถือ

3 ส.ค.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ ( 3 ส.ค. ) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และผู้แทนผู้บริโภค  ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เพื่อคัดค้านการควบรวมบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) ทั้งสองบริษัทฯ โดยมิได้ขออนุญาต ต่อ กสทช. ซึ่งเป็นกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่  จึงได้ส่งหนังสือขอให้ กสทช.ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมดังกล่าว

ต่อมาได้รับทราบว่า กสทช. ได้เรียกบริษัทฯ ชี้แจงและนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ จึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ฯ จำนวน 4 คณะ เพื่อศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ พร้อมทั้งจัดรับฟังความคิดเห็นกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป รวมทั้งคณะกรรมการฯ ยังมีมติสั่งการ ให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือขอหารือ กับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมายและประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สฯ โดยสำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  จนกระทั่งทราบว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ โอกาสนี้  จึงขอยื่นหนังสือเพื่อขอคัดค้านการควบรวมธุรกิจของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และขอให้คณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาวิเคราะห์และความเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายละเอียดต่างๆ ให้ประชาชนรับรู้

นฤมล เมฆบริสุทธิ์  รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อ ประธาน กสทช. พร้อมเรียกร้องขอให้ ไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครอง ที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่
มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึง ส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้าน จาก Change.org/TrueDtac

ก้าวหน้า-ก้าวไกล ประสานเสียงร่วมองค์กรผู้บริโภค ค้านควบรวมทรู-ดีแทค ธนาธรชวนติด #หยุดผูกขาดมือถือ

ทีมสื่อ คณะก้าวหน้า รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมวงเสวนาวิชาการและการแถลงข่าว “ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่” จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค และโคแฟค ประเทศไทย ร่วมพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับความพยายามควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมในปัจจุบัน ระหว่าง ทรู-ดีแทค และกรณีอินเตอร์เน็ตบ้านโดยเอไอเอส-ทรีบรอดแบนด์ (3BB)

วรภพ ระบุว่าการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทยที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น จากค่าบริการที่ลดลงและบริการที่ดีขึ้น ดังนั้น การควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ ทรู-ดีแทค หรือกรณีของ เอไอเอส-3BB จึงล้วนเป็นเรื่องที่มีความน่ากังวลทั้งสิ้น ยิ่งในกรณีของ ทรู-ดีแทค ที่มีการอ้างว่านี่คือการควบรวมจาก 4 รายเหลือ 3 ราย จะไม่ทำให้เกิดการผูกขาด ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะ NT มีส่วนแบ่งตลาดเพียงราว 2 เปอเซนต์เท่านั้น ซึ่งเล็กเกินกว่านับเป็นหนึ่งรายได้

ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานพอกับไฟฟ้า และในอนาคตจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน การควบรวมที่ก่อให้เกิดการผูกขาด จะฉุดรั้งการพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ผิดกับที่ผู้ควบรวมกล่าวอ้างว่าการควบรวมจะทำให้เราแข่งขันในยุค 4.0 ได้มากขึ้น 

วรภพระบุต่อไป ว่าการควบรวมที่มีผู้เล่นเหลือ 2 รายเช่นนี้ จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต ส่งผลเสียต่อประเทศไทยในวงกว้าง การควบรวมหากเกิดขึ้นจะกลายเป็นใบเบิกทางจากรัฐให้มีการควบรวมกันได้ในทุกธุรกิจ แนวโน้มในอนาคตจะมีการควบรวมในธุรกิจต่างๆ มากขึ้น และการแข่งขันน้อยรายจะไม่ได้มีแค่ในกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น

“เมื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการแข่งขันกันอยู่ในภาคเอกชนเท่านั้น หน่วยงานรัฐจึงมีหน้าที่ใช้อำนาจเพื่อรับประกันผลประโยชน์ผู้บริโภคให้มีการแข่งขันอยู่ เป็นที่ชัดเจนว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการให้มีมาตรการป้องกันการผูกขาดหน้าที่ของรัฐในการปกป้องผู้บริโภค และจะต้องไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการนี้” วรภพกล่าว

ธนาธร กล่าวว่าช่วงเวลานี้คือโค้งสุดท้ายของการตัดสินใจโดยบอร์ด กสทช. ว่าจะอนุมัติให้มีการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค หรือไม่ ซึ่งนี่เป็นผลประโยชน์มหาศาลของกลุ่มทุนที่มีขนาดใหญ่มาก หากย้อนกลับไปในวันที่มีการประกาศดีลนี้เป็นครั้งแรก ราคาหุ้นทรู จากเดิมอยู่ที่ 4.2 บาทต่อหุ้น วันรุ่งขึ้นกลายเป็น 4.8 บาทต่อหุ้น มูลค่าตลาดเพิ่มจาก 1.4 แสนล้านบาท เป็น 1.6 แสนล้านบาทภายในคืนเดียว ทั้งที่ยังไม่มีการควบรวมก็รวยขึ้นแล้ว 2 หมื่นล้านบาท

วันนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่เศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน หัวใจของเศรษฐกิจในอนาคต ขึ้นอยู่กับ ความเร็ว ราคา และความเสถียร ของระบบโทรคมนาคม ซึ่งประเทศไทยจะไม่สามารถรักษาปัจจัยเหล่านี้เอาไว้ได้เลยหากไม่มีการแข่งขัน เมื่อไม่มีการแข่งขันก็จะไม่มีแรงจูงใจให้ต้องลงทุนเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการผู้บริโภค การลงทุนจะเป็นไปแบบพอประมาณ และนั่นหมายความว่าจะไม่มีการตอบสนองต่อความต้องการด้านความเร็ว ราคา ความเสถียรที่มากขึ้นทุกวัน การป้องกันไม่ให้เกิดการควบรวมผูกขาดจึงมีความสำคัญมาก เพื่อให้กิจการโทรคมนาคมมีผู้เล่นที่พร้อมแข่งขัน ทำกำไรจากนวัตกรรม ส่งมอบสินค้าที่ราคาถูกหรือมีคุณภาพมากกว่าเดิมให้ผู้บริโภค ไม่ใช่จากการผูกขาด

ธนาธรกล่าวต่อไป ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม ที่บอร์ด กสทช. จะมีมติออกมาในกรณีของ ทรู-ดีแท็ค ได้เพียงสี่กรณีเท่านั้น นั่นคือ 1) อนุญาตใหัควบควมได้โดยไม่มีเงื่อนไข 2) อนุญาตให้ควบรวมโดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับพฤติกรรมการควบรวม 3) อนุญาตให้ควบรวมโดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการเปลี่ยนโครงสร้าง และ 4) ไม่อนุญาตให้ควบรวม ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว มีแนวโน้มว่าหากเป็นการควบรวมอย่างมีเงื่อนไขเล็กน้อย ไม่มีทางที่ กสทช. จะตามทันกลุ่มทุน อีกทั้ง กสทช. ไม่เคยใช้ยาแรงที่ทำให้เกิดการควบรวมอย่างมีเงื่อนไขในเชิงปรับโครงสร้างมาก่อน เช่น การบังคับให้มีการ ให้มีการแยกตัวกิจการ และไม่มีความกล้าหาญขนาดนั้นด้วย จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดการอนุญาตให้ควบรวมอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือมีเงื่อนไขเล็กน้อยเท่านั้น

“คำถามคือเราอยากเห็นทุนนิยมไทยเป็นแบบที่ผูกขาดเอารัดเอาเปรียบคนจน หรือแบบที่มีการแข่งขัน เติบโต มีนวัตกรรม ดอกผลถูกกระจายอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม การตัดสินใจของ กสทช. มีความสำคัญต่ออนาคตของทุนนิยมไทย ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ผู้เล่นมีน้อยรายอยู่แล้วในปัจจุบัน ดังนั้น ไม่ว่าจะในมุมของผู้บริโภคหรือขีดความสามารถในการแข่งขันกับโลกที่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานโทรคมนาคมเป็นหลัก ต้องมีการแข่งขันเท่านั้น จึงจะทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่การควบรวม” ธนาธรกล่าว

ธนาธรกล่าวทิ้งท้าย ว่าในการนี้ ตัวเองจึงขอเรียกร้องให้ทุกคนช่วยให้กำลังใจสภาองค์กรผู้บริโภค โดยเฉพาะในการยื่นหนังสือต่อ กสทช. ในวันพรุ่งนี้ และขอให้ร่วมลงชื่อในการรณรงค์ผ่าน http://change.org เพื่อส่งเสียงของประชาขนคนไทย ว่าเราไม่เห็นด้วยกับกรณีการควบรวมครั้งนี้ พร้อมกับร่วมรณรงค์โดยติดแฮชแท็ก #หยุดผูกขาดมือถือ ให้เสียงของเราดังไปถึงผู้มีอำนาจ ให้ผลการตัดสินออกมาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทย ไม่ใช่กับกลุ่มทุนผูกขาด

กสทช.ยังให้ศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม

วันเดียวกันนี้ความคืบหน้าจากทางด้าน กสทช. โดยทางสำนักงาน กสทช.รายงานว่า ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช.วันนี้ได้มีวาระพิจารณารายงานการขอรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค แต่หลังจากรับฟังข้อมูลที่ทางสำนักงาน กสทช.ทำรายงานมามีดังนี้

1) ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทั้งสองบริษัทจำนวน 4 คณะ 

2) ผลสรุปการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด 3 กลุ่ม 

3) รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์กรณีการรวมธุรกิจฯ โดยสำนักงาน กสทช. 

4) ร่างผลการศึกษาของที่ปรึกษาวิเคราะห์การรวมธุรกิจฯ โดยศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 

5) รายงานของที่ปรึกษาอิสระในการจัดทำความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจฯ โดยบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด

อย่างไรก็ตาม บอร์ด กสทช.ยังเห็นว่าไม่ครบถ้วนและรอบด้านเพียงพอ ยังขาดข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อน้ำไปสู่มาตรการป้องกันการกระทำที่เป็นการผูกขาดหรือให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันจึงมีมติให้สำนักงาน กสทช.ไปทำการวิเคราะห์ที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติมในประเด็นดังนี้

• วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยให้รวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ New Co (ชื่อบริษัทใหม่หากมีการควบรวมแล้ว) มีอำนาจควบคุม

• วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม

• วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน

• วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ อย่างไร

• วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

• วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาดเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท