Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 2 ปี 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จัด 'ม็อบ10สิงหา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ' ยืนยันดันเพดาน 3 ข้อเรียกร้อง 'ประยุทธ์' ลาออก ร่าง รธน. ฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันฯ ชี้เลือกตั้งรอบหน้าเป็นหลักสำคัญที่ ปชช.ต้องกำชัยชนะให้ได้ 

ถ่ายทอดสดกิจกรรม "10สิงหา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ"

10 ส.ค. 2565 สุรเมธ น้อยอุบล ผู้สื่อข่าวพิเศษ และแอดมินเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มสาธารณะ ‘Friends Talk’ รายงานว่าเวลา 15.00 น. ที่บริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นสถานที่นัดหมายทำกิจกรรม ‘10สิงหา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ’ จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีทางเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด หรือ EOD เข้ามาตรวจสอบบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรม 

เจ้าหน้าที่ EOD ตรวจหาวัตถุระเบิดบริเวณเวทีที่จัดกิจกรรม 10 สิงหา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ (ที่มา: Friends Talk)

เวลา 15.49 น. ทีมสังเกตการณ์ Mobdata รายงานว่า ที่ลานพญานาค เริ่มมีคนทยอยมาตั้งโต๊ะ แขวนป้ายผ้า มีการตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิที่บริเวณฝั่งซ้ายของลานพญานาค (หันหน้าเข้าสนามกีฬา)

สำหรับบรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้ นอกจากจะมีการปราศรัยโดยนักกิจกรรมหลายคนแล้ว คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. จัดกิจกรรมวางดอกไม้จันทน์ ครบวาระ 8 ปี ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะถึง 24 ส.ค.นี้

โต๊ะทำกิจกรรมของ ครช. วางดอกไม้จันทน์ไว้อาลัยให้ 'ประยุทธ์' ในโอกาสที่ 24 ส.ค. 2565 ครบวาระดำแหน่งนายกฯ 8 ปี

มีประชาชนทำกิจกรรมโพล คำถามที่ว่า "คุณรู้สึกปลอดภัยทางเพศต่อขบวนการประชาธิปไตย หรือไม่" "เฟมทวิตคือเฟมินิสต์หรือไม่" และ "คุณเคยโดนคุกคามทางเพศจากคนในมหาวิทยาลัยหรือไม่" 

ประชาชนแขวนป้ายเป็นข้อความว่า ""สังวิทสังเวช" อาจารย์ชายท่านหนึ่งเป็นผู้หาผลประโยชน์ทางเพศ" "Pegasus จ้องจะเล่นคุณ" "ยินดีต้อนรับทั้งในและนอกเครื่องแบบ อิสระของเราเขาฉวยฉาบเสรีภาพทุกตารางนิ้วจริงหรือ อย่าไปเชื่อคำลวงที่เขาลือ แท้จริงคือภาพมายาว่าเสรี"

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีแขวนป้าย "สังวิทสังเวช" โดย บี (นามสมมติ) ผู้แขวนป้ายระบุว่า ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากมีอาจารย์เป็นเพศกำเนิดชาย จากคณะหนึ่ง แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศทั้งเพื่อนร่วมงาน และนักศึกษา และกฎหมายไม่สามารถทำอะไรเขาได้

"เขายังสอนอยู่ในคณะมีพื้นที่อยู่ในคณะ พวกเราเคยออกมาเรียกร้องไปแล้ว พอพวกเราเรียกร้องก็โดนขู่ฟ้องกลับ" บี กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (10 ส.ค.) ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เวลา 17.30 น. มีการปราศรัยจากนักศึกษาจาก มธ. ต่อประเด็นเรื่องปัญหาในมหาวิทยาลัย เรื่องค่าเทอมแพง และอื่นๆ

คุยกับมนุษย์ม็อบ 10สิงหา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ

นอกจากการปราศรัยบนเวทีใหญ่ บริเวณโดยรอบยังมีประชาชนที่มีร่วมชุมนุม และทำกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยการนี้ ผู้สื่อข่าวตระเวนสัมภาษณ์ผู้มาเข้าร่วมกิจกรรม ถึงแนวคิดกิจกรรมที่พวกเขานำมาร่วมชุมนุม และความเห็นของพวกเขาต่อข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ไม่คืบหน้า แต่ก็ไม่เสียเปล่า

ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด นักกิจกรรม และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี เขต 6 ให้สัมภาษณ์ในประเด็นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาตร์และการชุมนุมว่า เป็นเรื่องต้องยอมรับว่าผ่านมาสองปี 10 ข้อเรียกร้องรัฐไทยและสถาบันกษัตริย์ไม่ตอบสนองรับสักข้อ แม้กระทั่งรับฟังเอาไปประเมินเรียนรู้เพื่อพิจารณาก็ไม่มีเลย แต่ถึงอย่างไร 2 ปีที่ผ่านมาก็คิดว่าไม่เสียเปล่า เพราะว่าอย่างน้อยที่สุดคนในสังคมไทยเริ่มตั้งคำถามแล้วถึงสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย 

'ลูกเกด' ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกล จ.ปทุมธานี

“แล้วก็ที่สำคัญเลย ข้อเรียกร้องต่างๆ เหล่านี้คนไทยจำนวนมากเริ่มเห็นด้วย อย่างเช่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งแน่นอนที่ผ่านมาก็มีแคมเปญเรื่องนี้แล้วก้มีคนเป็นเรือนแสนที่ร่วมรณรงค์ยกเลิก 112 ปล่อยนรักโทษทางการเมืองที่โดนคดี 112” ชลธิชา ระบุ

นอกจากนั้นแล้ว เธอยังเห็นว่าเรื่องยังมีเรื่องการใช้งบสถาบันกษัตริย์ด้วย เพราะ 10 ข้อเรียกร้องที่ออกมานั้นเกิดขึ้นในช่วงที่มีวิกฤติการณ์โควิดซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านี้ทันต่อเหตุการณ์กับที่วิกฤตินี้ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจทำให้คนหันมาตั้งคำถามต่อการใช้งบกันมากขึ้น แม้ว่าทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถตัดหรือลดงบของสถาบันฯ ได้อย่างที่คาดหวังกัน แต่คนไทยก็หันมาตั้งคำถามกันมากขึ้นแล้ว และก็ยังมีนักการเมืองที่เริ่มพูดถึงการตัดลดงบของสถาบันฯ ในสภา 

แต่ในทางตรงกันข้ามรัฐก็มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการใช้มาตรา 112

“มองว่ามันกลายเป็นคดียุทธศาสตร์ไปแล้ว เพื่อการควบคุมการใช้เสรีภาพของประชาชน เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชนอันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น และอีกอันหนึ่งที่เกิดคิดว่าน่าจะต้องตั้งคำถามก็คือบทบาทของตุลาการในบ้านเราด้วย” ลูกเกด ระบุ 

เธอขยายความเรื่องนี้โดยยกตัวอย่างการไขการประกันตัวของนักกิจกรรมที่มีบทบาทออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือแม้กระทั่งการติดกำไลติดตามตัว หรือ EM เพื่อลดแรงจูงใจทางการเมืองของคนที่จะออกมาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันลงไปเพื่อไม่ให้ออกมาต่อได้ เช่น การกำหนดเงื่อนไขออกมาทำกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียด้อยค่าสถาบันศาล รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งขัดกับหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำตัดสิน แล้วก็ขัดกับเสรีภาพแสดงออก ทั้งที่คดีเหล่านี้ยังไม่ได้มีแม้กระทั่งการสืบพยานและคำตัดสินออกมาว่ามีความผิดหรือไม่

“ศาลไม่ได้ทำตัวเป็นคนที่รักษากฎหมาย แต่ศาลกลายมาเป็นตัวแสดงในความขัดแย้งของสังคมการเมืองบ้านเราในปัจจุบัน”

ชลธิชา กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ในคดีมาตรา 112 ที่เป็นการใช้เสรีภาพการแสดงออกเหล่านี้ศาลก็ไม่นำพยานหลักฐานเข้ามาในใช้ในการพิจารณาคดีเพื่อที่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้พิสูจน์ว่าการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้เป็นการอย่างสุจริตภายใต้รัฐธรรมนูญของบ้านเรา แล้วก็ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศ ซึ่งก็เป็นปัญหาว่าเมื่อศาลไม่เอาพยานเข้ามาแล้วจะทำให้สู้คดีได้อย่างไร

เธอทิ้งท้ายถึงปัญหาของการใช้กำไล EM ด้วยว่ากำลังปรึกษากับทนายความเพื่อที่จะมีการร้องเรียนต่อการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากว่าตามที่กระทรวงยุติธรรมเองก็วางแนวทางในการพิจารณาใช้กำไล EM เพื่อใช้แทนการวางหลักทรัพย์ประกันตัวแต่แม้จะมีการวางหลักทรัพย์เพื่อประกันศาลก็ยังวางเงื่อนไขการประกันตัวว่าจะต้องกำไลอยู่ดี

“เราก็กลับมาตั้งคำถามว่าการใช้กำไล EM กับนักโทษหรือผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองมันเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเจตนาแรกเริ่มของการใช้ในบ้านเราหรือเปล่า” 

ชลธิชา ยกตัวอย่างกรณีของเธอที่มีการวางหลักทรัพย์ประกันตัวในคดีไป 90,000 บาท แต่สุดท้ายแล้ว ศาลก็ไม่ให้ประกันตัวแต่จะให้ประกันตัวก็ต่อเมื่อติดกำไล EM แม้ว่าเธอจะขอวางหลักทรัพย์เพิ่ม แต่ศาลก็ไม่ให้ประกันซึ่งเห็นชัดว่ามีความจงใจที่จะติดกำไลกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเพื่อติดตามและทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต

‘อำนาจ’ ผู้โบกธง Son of Liberty

‘อำนาจ’ ชายสูงวัยผู้ถือธงที่เขาเรียกว่ามัน “Sons of Liberty Flag” ท่ามกลางกิจกรรม #10สิงหาประชาธิปไตยต้องไปต่อ ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เขาอธิบายว่าเป็นธงเรียกร้องเสรีภาพหรือบุตรแห่งเสรีภาพ ธงนี้เป็นธงสากลที่เรียกร้องเสรีภาพ 
 

ธงบุตรแห่งเสรีภาพ

‘อำนาจ’ อธิบายความหมายของสี ขาว-แดง บนธงดังกล่าวว่า คือ เสรีภาพและสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่อำนาจต้องการได้เพราะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ 

สิ่งเหล่านี้ ‘อำนาจ’ บอกว่ารู้จักผ่านช่องไฟเย็น และเชื่อว่าหากโบกกันทั้งประเทศก็จะเปลี่ยนแปลงได้ 

'อำนาจ' ระบุว่าเขาสนับสนุนการเป็นรัฐสวัสดิการเพื่ออนาคตของลูกหลาน เขามองว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นถึงที่สุดมันต้องเป็นสาธารณรัฐที่ทุกคนได้ประโยชน์และการมีรัฐสวัสดิการจะทำให้ทรัพยากรที่เคยตกอยู่กับคนตระกูลเดียวกลายเป็นของทุกคน

‘อำนาจ’ เล่าว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วไม่ได้มาร่วมกับกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่ก็ติดตาม โดย 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ นั้น ‘อำนาจ’ ระบุว่าในความคิดของเขานั้นทะลุเพดานขึ้นไปอีก และเชื่อด้วยว่าหากทำไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดผลเอง โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้การทำให้คนเข้าถึงข้อมูลลึกๆ เพื่อจะได้ตาสว่าง  

สำหรับการกดดันหรือปราบปรามจากรัฐในการเคลื่อนไหวนั้น  ‘อำนาจ’ เห็นว่าต้องต้านแรงเสียดทานเหล่านั้นกลับ โดยทำคนละเล็กคนละน้อย ช่วยกันทำก็จะชนะเอง ตนมีความเชื่ออย่างนั้น 

‘อำนาจ’ บอกด้วยว่า ส่วนใหญ่ตนจะเข้าร่วมการชุมนุมเล็ก แต่จะไปเรื่อย มีทุนก็ออกมา เพราะตนอยู่ จ.ปทุมฯ

นศ.ตั้งโต๊ะถามผู้บริหาร มธ. ‘ค่าเทอม เอาไปใช้ทำอะไร’

นอกจากบนเวทีจะมีการปราศัรยประเด็นปัญหาภายในมหาวิทยาลัยแล้ว คณะค่าเทอมเราอยู่ไหน (where.r.our.student.fee – WOSF) ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อสนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้ทางฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องชี้แจงต่อการใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยที่รายได้ส่วนหนึ่งมาจากค่าเทอมของพวกเขา

หนึ่งในนักศึกษาที่มาตั้งโต๊ะอธิบายว่า ทั้งที่มหาวิทยาลัยเก็บค่าเทอมและค่าหอของพวกเธอไปโดยไม่มีการผ่อนผันใดๆ ไปจนถึงมีการเร่งรัดเก็บ แม้ว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลบางส่วนอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ไม่ครบ เช่น บางประเด็นที่อยู่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินของปีล่าสุดก็ยังไม่มีการเปิดเผย แล้วข้อมูลที่เปิดเผยมายังมีความซับซ้อนต้องให้นักบัญชีมาช่วยดู

“อยากให้ทางมหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ถูกเอาไปใช้กับเรื่องอะไรบ้างแล้วการใช้นั้นคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปมั้ย กิจกรรมที่ทำมันคุ้มค่ากับค่าเทอมของนักศึกษาหรือเปล่าแล้วมันได้กลับมาเป็นสวัสดิการของนักศึกษาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของมหาวทิยาลัยหรือเปล่า นอกจากนั้น สวัสดิการของพนักงาน หรือคนกวาดขยะ รปภ.เขาไม่ได้มีสวัสดิการที่ดี แม่บ้านก็ต้องไปพักในที่เก็บของในห้องน้ำ ทำไมแม่บ้านหรือ รปภ.ที่ทำงานหนักถึงไม่ได้รับการดูแล” หนึ่งตัวแทนนักศึกษาระบุ

มื้อที่ดิบที่สุด: ดันเพดานต่อสู้ด้านศิลปะ

ในพื้นที่กิจกรรมวันนี้ นอกจากการปราศรัย มีประชาชนมาร่วมกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ แต่คงไม่มีใครสะดุดตาเท่าศิลปะล้อเลียนการเมืองที่ชื่อว่า ‘มื้อที่ดิบที่สุด’  

มื้อที่ดิบที่สุด

สำหรับแรงบันดาลใจ ผู้แสดงงานศิลปะล้มเลียนการเมือง เผยว่า ‘มื้อที่ดิบที่สุด’ ได้แนวคิดมาจาก ‘มื้อที่สุขที่สุด’ โฆษณาของบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเขามองว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่โรแมนติไซส์ความลำบากของผู้ประสบภัยธรรมชาติ ดังนั้น เขาเลยล้อเลียนกับความโรแมนติไซส์ดังกล่าว และเปลี่ยนเป็นอาหาฝั่งประชาธิปไตย หรือก็คือ ‘ซอยจุ๊’ หรือ ‘ก้อย’

“เพราะฉะนั้น เราก็เลยรีมันใหม่ด้วยการใช้เป็นมื้อที่ดีที่สุด ก็คือเราใช้ความดิบๆ ใช้ความบ้านๆ ต่อสู้กับความเป็นรัฐที่พยายามบอกว่า ‘ถุงพระราชทาน’ นี่ดีจังเลย แต่ว่าสิ่งที่เรามีอาวุธก็คือการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหาร” เจ้าของแนวคิด ‘มื้อที่ดิบที่สุด’ ระบุ

เจ้าของผลงานศิลปะ กล่าวต่อว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีการต่อสู้ดันเพดานข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหลายอย่าง แต่ในวงการศิลปะ และงานอาหาร ยังไม่ค่อยได้เห็น พร้อมยกตัวอย่าง หนังสือ ‘รถของประชาธิปไตย’ จัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์มติชน 

“เราก็คิดว่าการเผยแพร่แนวคิดแบบนี้ ทำให้มันเกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการต่อสู้ประชาธิปไตย” เจ้าของงานศิลปะทิ้งท้าย 

ปราศรัย: 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ แนวร่วม มธ. เติมเต็มคำว่า ‘คน’ เท่ากัน

เวลา 18.16 น. ชาติชาย แกดำ นักกิจกรรมการเมือง กล่าวปราศรัยบนเวที #10สิงหา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ โดยเขามองว่าการอ่านแถลงการณ์ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันของ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย “ที่ทุกคนเท่ากัน ไม่มีคนบนฟ้าอีกต่อไป”

ชาติชาย แกดำ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย

“10 สิงหาคมปีนั้น สร้างความหวังให้กับคนในสังคมไทย เติมเต็มคำว่า ‘มนุษย์’ เติมเต็มคำว่า ‘คน’ ไม่มีใครนั่งอยู่บนฟ้าแล้วสั่งการพวกเราอีกต่อไป เพราะเราก็คือคนเหมือนๆ กัน” ชาติชาย กล่าวปราศรัย

คุณูปการสำคัญของการประกาศข้อเรียกร้องทะลุฟ้า คือ การปลดปล่อยพลังของภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของชาวชาติพันธุ์ ชาวจะนะรักษ์ถิ่น การต่อสู้ของแรงงาน LQBTQ+ นักเรียน 

“เราได้ปลดโซ่ตรวนที่เป็นต้นตอของปัญหา และมันกดขี่มาอย่างยาวนาน และคุณได้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงคือฟ้านั่นเอง เพราะฟ้าไม่เคยที่จะเปิดทางให้กับคนได้เท่ากัน เพราะฟ้ามักจะลิขิตชีวิตของคน แต่ 10 สิงหาคมในปี 63 ได้บอกอย่างชัดเจนว่าความหวังยังมีอยู่และคนจะลิขิตชะตาของตนเอง” ชาติชาย กล่าวย้ำ

ชาติชาย ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2563 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย แม้ว่าเผด็จการจะพยายามใช้อำนาจสะกดการเคลื่อนไหวของประชาชน สกัดการเคลื่อนไหวของนักเรียน และองค์กรภาคประชาชน แม้ว่าการเรียกร้องไม่สำเร็จ แต่ไม่ได้แปลว่าประชาชนจะแพ้ เพราะประชาชนเก็บชัยชนะตามรายทางมาอย่างมากมาย และทำให้ประชาชน และชาวบ้านเห็นว่าความหวังยังมีอยู่เสมอ 

ชาติชาย ชวนประชาชนจับตามองว่า วันที่ 24 ส.ค.นี้ จะครบวาระ 8 ปีของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูว่าเขายังอยู่ต่อไหม การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นตัวตัดสินว่าจะเป็นศาล รธน. เป็นของประชาชน หรือประยุทธ์ ถ้าประยุทธ์ ยังอยู่ แปลว่าชนชั้นนำไม่สนใจประชาชน

ชาติชาย มองว่า ปีนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้สร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกตั้ง ประชาชนต้องยึดกุมชัยชนะผ่านการเลือกตั้งให้ได้ 

การเลือกคน ต้องไม่เลือกคนที่กดขี่ หรือเลือกคนเป็นเทพเจ้าที่แตะต้องไม่ได้ แต่ต้องเลือกผู้แทนราษฎรตัวจริง และประชาชนต้องกำหนดข้อเสนอที่พรรคการเมืองจะนำข้อเสนอของเราไปพูดในสภา และต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นภารกิจของประชาชน และประชาชนจะเปลี่ยนประเทศไปสู่ประชาธิปไตยได้ ผ่านการเลือกตั้ง

“ผมดีใจที่ธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้สร้างและจัดเวที 10 สิงหา ครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง มันคือการบอกว่าหัวใจของเรายังสู้อยู่เหมือนเดิม ยังมีความหวัง …ต่อจากนี้การต่อสู้จะยังคงดำเนินอยู่และเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม” ชาติชาย กล่าว พร้อมระบุว่า ไม่มีใครหยุดการเปลี่ยนแปลงได้ เรามาไกลเกินจะกลับไปแล้ว เราไม่ได้สร้างความขัดแย้ง แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถหยุดได้

ตอนสุดท้าย ชาติชาย ขอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมปรบมือให้ทุกคนที่ถูกคุมขัง เพราะแสดงออกทางการเมือง และเชิญชวนทุกคนใช้การเลือกตั้งทวงคืนขัยชนะให้ฝ่ายประชาธิปไตย

‘ยิ่งชีพ’ ไอลอว์: 2 ปีที่ผ่านมา เราปักธงชัยลงบนสังคม ผลักดันกฎหมายฉบับ ปชช. หยุดยั้งอุ้มหาย-การขยายพระราชอำนาจฯ ชวนเลือกตั้งปี 66 แลนด์สไลด์ใส่ประยุทธ์ 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์ หรือโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน ปราศรัยบนเวทีหลัก เผยการประท้วงในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา มีครั้งไหนบ้างที่ประชาชนออกมาร่วมเรียกร้อง และเสนอข้อเรียกร้องแล้ว ผู้มีอำนาจยอมรับฟังโดยไม่ใช้อำนาจแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งมันไม่มี จะมีก็ต่อเมื่อการปกครองถึงจุดอ่อนแอ และเปราะบาง และการชุมนุมเป็นตัวจุดชนวนให้ผู้มีอำนาจล้มครืนลงมา

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw

อย่างไรก็ตาม ยิ่งชีพ มองว่า การประท้วงยังเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดของประชาชน ที่จะบอกว่าคนกำลังคิด และอยากเปลี่ยนแปลงมากขนาดไหน ยิ่งเวลามีข้อเรียกร้องใหม่เกิดขึ้นในสังคมไทย ยิ่งต้องการคนจำนวนมากมาร่วมกันยืนยันว่านี่เป็นเส้นทางที่ประชาชนอยากจะพาประเทศไปในทิศทางใด ซึ่งนัยหนึ่งการชุมนุมคือการปักธงทางความคิดลงบนสังคมอย่างหนึ่งว่า หลักชัยที่เราต้องการเดินทางไปคือที่ไหน

ในมุมมองของยิ่งชีพ เขามองว่าระยะเวลา 2 ปี ประชาชนทำให้ยืนยันได้แล้วว่า ธงใหม่ของสังคมถูกปักลงไปแล้ว และคนจำนวนมากพร้อมใจเดินทางไปทิศทางนั้น

ยิ่งชีพ ยกตัวอย่าง เรื่องกรณีงบประมาณที่ถูกจัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ ซึ่งก่อนหน้าปี 2563 แทบไม่มีการพูดถึงเลย แต่หลังจากการประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ที่ มธ. รังสิต ตอนนี้หลายคนทราบเรื่องนี้มากขึ้น

“ประเด็นนี้แทบไม่เคยมีใครพูดถึงเลยก่อนปี 2563 แต่วันนี้ทุกท่านทราบเรื่องนี้แล้ว ตั้งแต่ปี 60 61 62 63 เราเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่จัดสรรให้กับพระมหากษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญ แต่มีการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเมื่อปี 2564 ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจ เรื่องโควิดด้วย ปรากฏว่า จัดสรรงบประมาณโดยตรงน้อยลง และปีนี้ 65 งบกำลังจะผ่านในอีก 2-3 วันข้างหน้า ปรากฏว่างบที่จัดสรรให้พระมหากษัตริย์โดยตรง ก็ลดลงถึง 4,000 กว่าล้าน ใครอยากรู้เรื่องนี้เพิ่มเติมไปอ่านที่ประชาไท” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าว

ในด้านกฎหมาย ยิ่งชีพ ระบุว่ามีกฎหมายหลายฉบับออกโดยรัฐบาลประยุทธ์ เช่น ออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจให้สถาบันกษัตริย์จำนวนมาก เช่น พ.ร.บ.สงฆ์ ปี 2560, 2561 พ.ร.บ.การจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ปี 2560, 2561 พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารในพระองค์ ปี 2560 และเรื่องที่สนใจมาก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลในปี 2562

ยิ่งชีพ ระบุว่า เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ 59 60 61 เรื่อยมา และแทบไม่เคยถูกพูดถึงเลย เพราะไม่มีใครกล้าพูด แต่ตอนนี้คนจำนวนมากทราบกฎหมายตัวนี้มากขึ้น และมากกว่านั้นมีการหยุดยั้งการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์ไปมากกว่านี้ได้ด้วย ซึ่งนี่คือคุณูปการของการเคลื่อนไหวทลายเพดานเมื่อ 2 ปีก่อน

เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นเรื่องยากมาก เพราะว่าต้องการรายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อเข้าชื่อแก้ไข รธน. แต่นับตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญที่ถูกท้าทาย 3 ครั้ง และมีร่างถึง 4 ฉบับที่กำลังเข้าชื่อเสนอโดยประชาชนนับแสนคน ขณะที่รัฐธรรมนูญ 60 ถูกแก้ไปแล้ว ไม่ใช่แก้ไม่ได้ ส.ว.ที่ตั้งมาเพื่อขวางทางการแก้ ก็ยอมอ่อนให้เกิดการแก้บ้างแม้มันจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ยิ่งชีพ ระบุว่า ปัจจุบัน มีคนที่ถูกตั้งข้อหา ม.112 จำนวน 208 คน จาก 227 คดี เมื่อ 10 ปีที่แล้วพูดเรื่องมาตรา 112 เราพูดเต็มที่ได้แค่แก้ไข พูดดังไม่ได้ วรเจนต์เสนอแก้ไข 112 ถูกต่อยที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา พอพูดถึงการมาตรา 112 เสียงที่เราได้ยินกลับมาจากผู้ปราศรัยคือ ยกเลิก 112 นอกจากนี้ ปีที่แล้ว มีการเปิดเว็บเข้าชื่อยกเลิก 112 มีเข้าชื่อจำนวน 200,000 คนในเวลาไม่กี่สัปดาห์

การอุ้มหายตั้งแต่ 2559-2563 มีผู้ถูกอุ้มหายอย่างน้อย 9 คน คนสุดท้ายคือวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ แต่ตอนนี้อย่างน้อยประชาชนยังหยุดปรากฏการณ์การอุ้มหายไปได้บ้าง

สมาชิกจากไอลอว์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าหลายกฎหมายมีความคืบหน้า แต่หลายกฎหมายที่สภาผ่านมติวาระที่ 1 แต่ยังกระท่อนกระแท่นอยู่ก็ยังมี โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ที่ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ขอยื้อไว้ก่อน เพราะว่ายังไม่อยากให้ออกมาเร็วเกินไป

สิ่งนี้สะท้อนว่าแม้ว่าจะผ่านมาแล้ว 2 ปี แต่เรายังมีอะไรต้องทำอีกเยอะ แม้คนหลายล้านจะรับทราบถึงปัญหา และร่วมกันปักธงชัยอันใหม่ของสังคมไทยไปแล้ว แต่ยังมีคนอีกหลายล้านยังไม่เข้าใจในธงอันเดียวกัน และเขายังไม่ได้คิดว่าจำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งเราจะหยุดแชร์ หยุดเรียนรู้ หยุดส่งต่อไม่ได้ และจะหยุดเชื่อในธงชัยอันใหม่ไม่ได้

สุดท้าย ยิ่งชีพ ชวนประชาชนจับตาการเลือกตั้งในปี 2566 เพราะรัฐบาลประยุทธ์ และฝั่งตรงข้ามทราบว่าจะแพ้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เขาจะหยิบกลไกกลเกมทุกอย่างขึ้นมาใช้ เพื่อทำให้เขาได้เปรียบและชนะ แต่การที่จะชนะได้มีแต่ประชาชนต้องแลนด์สไลด์ใส่ประยุทธ์ ทำงานหนักมากกว่าที่ผ่านมา และทุกคนในที่นี้ พร้อมจะช่วยกันเตรียมสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า ไปกาอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ประยุทธ์

“เราพร้อมเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง 66 ไปร่วมกันไล่ประยุทธ์ เปลี่ยนระบอบอำนาจนี้ ทุกคนเราไม่ลืมเป้าหมายของเรา ทุกคนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิก 112 สองสิ่งนี้จะเป็นไปได้ เลือกตั้งครั้งหน้าต้องแลนด์สไลด์ไล่ประยุทธ์ เท่านั้นใช่ไหม และเราไม่ลืมเป้าหมายระยะสั้น ประยุทธ์ตอนนี้ครบ 8 ปีแล้ว ไม่รู้ว่าจะทนอยู่ได้นานสักเท่าไร เป้าหมายระยะสั้น สั้นที่สุดๆ ทุกการชุมนุมต้องพูดเหมือนกัน ประยุทธ์ ออกไปๆ” ยิ่งชีพ ทิ้งท้าย

‘การรู้ว่าคนที่อยู่ในอำนาจมืดเป็นใคร คือชัยชนะของการต่อสู้ปี’63’

เวลา 19.22 น. ‘ปูน’ ทะลุฟ้า ขึ้นปราศรัยบนเวที ระบุว่า 10 ข้อเรียกร้องของแนวร่วมฯ เป็นการเปิดเพดานของการต่อสู้ ทำให้ประชาชนที่โดนกดขี่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ 

'ปูน' ทะลุฟ้า

ปูน ระบุต่อว่า แม้ว่าหลายคนอาจสงสัยว่า การต่อสู้ของประชาชนเมื่อไรจะชนะ แถมสู้ก็ถูกยัดคดีความทางการเมือง แม้ว่าข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อเรียกร้อง จะยังไม่สำเร็จ แต่แต่สำหรับเขา การต่อสู้เมื่อปี 2563 และประชาชนได้ทราบว่าคนที่อยู่ข้างหลังอำนาจมืด และคอยกดขี่ประชาชนคือใคร หมายความว่า ประชาชนได้ชนะการต่อสู้เมื่อปี 2563 แล้ว 

ปูน เรียกร้องให้ประชาชนไม่นิ่งเฉยและเกรงกลัว เพราะถ้าประชาชนไม่นิ่งเฉย เขาเชื่อว่าประชาชนจะสามารถโค่นเผด็จการไม่มีที่ยืนในแผ่นดินไทยแน่นอน 

“อยากให้ถามใจตัวเองดูลึกๆ ว่าเราอยากส่งต่อมรดกอัปยศให้กับลูกหลานเราหรือไม่ ถ้าเราไม่ออกมาสู้วันนี้... แล้วใครจะออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตยกัน” ปูน ระบุ

ปูน กล่าวขอบคุณ 10 ข้อเรียกร้องแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของความเป็นคน และมีความหวังที่จะทำให้คนเท่ากัน กล้าได้กล้าเสีย เพื่อที่จะพูด เพื่อแลกกับความถูกต้อง และอะไรคือสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ

ปูน อ่านบทกวีปิดท้ายเพื่อสื่อแทนความคิดของประชาชนคนหนุ่มสาวไปสู่วันที่มีประชาธิปไตย 

“เรามาไกลเกินกลับไปนับหนึ่ง ไม่อาจกราบซาบซึ้งแล้วข้างฝา 

ชักธงแดงแข็งขืนขึ้นเสียดฟ้า มวลประชาจะมีชัยไม่ช้านี้ (3 รอบ)” 

การแสดงเชิงสัญลักษณ์ ผู้ปราศรัยถูกหิ้วขณะอ่านข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน 

เวลา 20.00 น. จิ๊บ ธรรมศาสตร์ ขึ้นปราศรัยบนเวที ระบุว่า ที่แห่งนี้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ของธรรมศาสตร์ครั้งแรก และมีการเสนอข้อเรียกร้องที่เขย่าสังคมไทย และสะเทือนไปถึงผู้มีอำนาจชั้นฟ้า วันนั้น คือการเปิดข้อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกองคาพยพด้วยใจบริสุทธิ์ เพื่ออยากจะเห็น ‘คนเท่ากัน’ อย่างแท้จริง 

 

แต่ผ่านมา 2 ปี รัฐยังไม่ทำตามที่ประชาชนต้องการ และใช้กฎหมายคุกคามประชาชน ซึ่งจิ๊บ ระบุว่า ช่วงเวลาที่กำลังปราศรัยขณะนี้มีถูกแสดงออกทางการเมืองถูกคุมขังกว่า 30 คน 

จิ๊บ ระบุต่อว่า วันนี้ที่ได้กลับมายืนที่นี่อีกครั้ง เธอจะส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจชั้นฟ้า ฟังเสียงประชาชนอีกครั้ง ฟังในสิ่งที่ไม่อยากจะฟัง เพื่อพิสูจน์ว่า การปฏิรูปไม่เท่ากับการล้มล้างการปกครองอย่างที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจ

จากนั้น จิ๊บ ทำการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ขณะกำลังอ่านแถลงการณ์ ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เมื่อปี 2563 จากนั้น ก็มีชายชุดดำขึ้นมาพาตัวลงเวทีปราศรัย  

แถลงการณ์ยันเพดาน 3 ข้อเรียกร้อง ประยุทธ์ ลาออก-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เวลา 20.37 น. ตัวแทนนักกิจกรรมขึ้นอ่านแถลงการณ์ 10สิงหา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ มีรายละเอียดดังนี้

นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา 2516 การเคลื่อนไหวในช่วง 6 ตุลาคม 2519 เรื่อยมาจนกระทั่งการเคลื่อนไหวการต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. รวมไปถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในปี 2563 การต่อสู้เหล่านี้ แม้บ่อยครั้ง จะเริ่มต้นในพื้นที่มหาวิทยาลัย แต่ถึงที่สุด ผลลัพธ์แห่งการต่อสู้ของนิสิต นักศึกษา ได้ส่งผลกระเทือนออกไปในวงกว้าง ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือผลลัพธ์ที่ก่อตัวขึ้น มันคือความจริงที่ไม่อาจถูกปฏิเสธ นักเรียน นิสิต นักศึกษา พวกเขาคือส่วนหนึ่งของสังคม และดอกผลแห่งการต่อสู้ของพวกเขา คือหนึ่งในแรงสนับสนุนรากฐานของสังคมประชาธิปไตย 

ตัวแทนนักกิจกรรมอ่านแถลงการณ์

ย้อนกลับไปในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ ที่แห่งนี้ จิตวิญญาณแห่งนิสิตนักศึกษาได้ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พวกเรานักศึกษาและประชาชนได้มารวมตัวกัน ณ ที่นี่ เพื่อเรียกร้องและใฝ่ฝันถึงอนาคตของสังคมที่ดีกว่า พวกเราได้ประกาศการต่อสู้ ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ เพื่อหวังจะเห็นสังคมไทยที่ประชาชนเสมอภาค และอำนาจอธิปไตย เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่แนวทางการต่อสู้และข้อเรียกร้องของพวกเรา ได้ถูกชูขึ้นต่อหน้ารัฐบาลและผู้มีอำนาจ แน่นอนว่าตลอดการต่อสู้ที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงจำนวนมากเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังคงดำรงอยู่ 

วันนี้พวกเรานักศึกษาและประชาชนจึงได้มารวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้อีกครั้ง เพื่อประกาศเจตจำนงยึดมั่นและยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้อง ซึ่งประกอบไปด้วย 

  1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพต้องลาออก
  2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 
  3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย  

ภายใต้ช่วงเวลาของการต่อสู้ที่ยาวนาน แน่นอนว่าความท้อแท้ และความเหนื่อยล้า ย่อมเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่สามารถเกิดขึ้นได้ มันเป็นเรื่องปกติของการต่อสู้ที่ยาวนาน โดยเฉพาะเมื่อพวกเรากำลังต่อสู้กับ       
โครงสร้างอำนาจที่ใหญ่ที่สุด และฝังรากลึกอย่างมหาศาลในสังคมไทย แม้มันจะดูเหมือนการเดินทางบนพื้นที่เวิ้งว้าง และปราศจากจุดสิ้นสุด 

แต่อย่างไรก็ดี พวกเราขอยืนยันว่าในความเป็นจริงนั้น ชัยชนะจำนวนมาก ทั้งที่ถูกพูดถึง และยังไม่ถูกพูดถึงนี้ ทั้งหมดคือข้อยืนยันว่า พวกเราไม่ได้เดินอยู่ท่ามกลางความว่างเปล่า แต่เรากำลังมุ่งใกล้เป้าหมาย พอๆ กับปักหลักชัยไปตลอดเส้นทางการต่อสู้ของพวกเรา ทั้งหมดนี้คือข้อยืนยันถึงความเป็นรูปธรรมความสำเร็จในการเคลื่อนไหวเรียกร้องของพวกเรา แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงในสังคมประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาชั่วข้ามคืน และแม้จะมีบางส่วนที่ขบวนการเคลื่อนไหวยังไม่สำเร็จ แต่ในวันนี้พวกเราขอให้พี่น้องประชาชนทุกท่าน ลองนึกย้อนกลับไป ถึงวันนี้เมื่อ 2 ปีก่อน คือวันที่ คือวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ในช่วงระยะเวลาเพียง 2 ปี สังคมการเมืองไทยในวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในวันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีวันหวนกลับ อำนาจทั้งหลายในสังคมได้ถูกตั้งคำถาม ตั้งแต่อำนาจในระดับที่ใกล้ตัวที่สุดไปจนกระทั่งอำนาจที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน หรือแม้แต่อำนาจที่ไม่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหา ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมาก ออกมาร่วมเรียกร้อง และใฝ่ฝันถึงสังคมการเมืองที่ดีกว่า พวกเราขอยืนยันว่าสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว 

‘สนามการเลือกตั้ง’ ครั้งหน้าคือหลักชัยที่สำคัญ ที่ประชาชนจำเป็นต้องได้รับชัยชนะ

ตัวแทนนักศึกษา อ่านแถลงการณ์ต่อว่า ในบรรดาความสำเร็จทั้งหลาย ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของการเคลื่อนไหวต่อสู้ คือความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อของผู้คนในสังคม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งกำลังเกิดขึ้น และผลลัพธ์ของมันได้ผลิดอกออกผลแล้วในสังคมไทย ภาพสะท้อนที่สำคัญที่สุด คือ ผลลัพธ์จากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร พวกเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ดอกผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ คือชัยชนะที่เกิดขึ้นจริง และมันจะบานสะพรั่งขึ้นอีกครั้งภายใต้การเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นแล้ว ในวันนี้พวกเราจึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านร่วมกันมองการเลือกตั้งในครั้งนี้ ในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง อันเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุด ที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านจะออกมารวมพลังพร้อมกัน เพื่อเปิดประตูบานแรกสู่การอภิวัฒน์ทางสังคมการเมืองอย่างแท้จริง

ดังนั้น เราจึงขอประกาศหลักคิด 6 ประการ เพื่อเป็นรากฐานแก่ฝ่ายประชาธิปไตย ในการนำเราสู่ชัยชนะในสนามการต่อสู้ครั้งนี้                                 

  1. การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้งทั่วไป แต่มันคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในการเคลื่อนไหวต่อสู้ระลอกปัจจุบัน    
  2. การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงทั่วๆ ไป แต่มันคือปฏิบัติการทางการเมืองในการแสดงอำนาจเชิงจำนวนที่แท้จริงของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย 
  3. การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่เพียงการลงคะแนนเสียง แต่คือตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความเชื่อโดยรวมทั้งหมดของสังคมการเมืองไทย     
  4. การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการเลือกผู้แทน แต่มันอาวุธในการสลับขั้วอำนาจทางการเมืองที่ทรงพลังที่สุด ซึ่งไม่มีอาวุธใดสามารถทดแทนได้  
  5. การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง แต่เป็นการเปิดโครงสร้างโอกาสทางการเมือง และเป็นประตูบานแรกสู่การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
  6. การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง แต่มันคือหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การปฏิรูปในทุกองคาพยพของสังคมอย่างแท้จริง

ดังนั้น การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการต่อสู้ แต่มันคือจุดเริ่มต้นคือหลักชัยแรกที่พวกเราฝ่ายประชาธิปไตย จำเป็นต้องได้มา เพื่อให้ความมุ่งหวังของเราในการสร้างสรรค์สังคมแห่งประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค สามารถเกิดขึ้นจริงได้บนแผ่นดินแห่งนี้    

  

สุดท้ายนี้พวกเราก็ขอประกาศอย่างเป็นทางการ ณ ที่นี้อีกครั้ง ว่าสนามการเลือกตั้งคือหลักชัยที่สำคัญ ที่เราจำเป็นต้องได้รับชัยชนะ แต่การเลือกตั้งจะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการต่อสู้ ดังนั้น ในการชุมนุมครั้งต่อไป เราต้องวางแผนการต่อสู้ร่วมกัน เพื่อให้ได้รับหลักชัย และก้าวถัดไป คือเพื่อให้ได้ 3 ข้อเรียกร้องนั่นคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพ ต้องลาออก ต้องได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และที่สำคัญ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ “ต้องเกิดขึ้นจริง”     

หลังจากอ่านแถลงการณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชวนประชาชนร้องเพลง ‘เทียนหนึ่ง’ เวอร์ชันแปลง

หลังจากนั้น เป็นการแสดงดนตรีจากวง ‘สามัญชน’ ก่อนประกาศยุติการชุมนุมในเวลาต่อมา 

สำหรับกิจกรรม '10สิงหา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ' จัดในวัน เวลา และสถานที่เดียวกับการอ่านข้อเรียกร้อง 10 ข้อปฏิรูปสถาบัน เมื่อปี 2563 โดยข้อเรียกร้องมีรายละเอียดดังนี้

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก

6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

 

 

การแสดงดนตรีปิดท้ายโดยวงสามัญชน

หมายเหตุ - สำหรับภาพประกอบส่วนใหญ่ ถ่ายโดย สิริญาดา ลิ้มสุวัฒน์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันกำลังฝึกงานที่ฝ่ายมัลติมีเดีย ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net