Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมไทยพบ ส.ส.กลุ่มประเทศสมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ EFTA ยื่นจดหมายขอให้การเจรจาเอฟทีเอ ต้องไม่มีข้อเรียกร้องที่ทำลายการสาธารณสุขและภาคเกษตรของไทย ห่วงผลกระทบทางลบจากข้อตกลงการค้าเสรีที่จะมีต่อการเข้าถึงยา การสาธารณสุข ความหลากหลายทางชีวภาพ และเกษตรกรรายย่อยในไทย 

12 ก.ย.2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจ FTA Watch ของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา เอฟทีเอ ว็อทช์ พร้อมด้วยองค์กรภาคีและตัวแทนสหภาพแรงงานได้ประชุมร่วมกับ ส.ส.กลุ่มประเทศ สมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ เอฟตา (EFTA ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ระหว่างเดินทางมาเยือนไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยและกลุ่มประเทศ EFTA ที่กำลังจะเริ่มขึ้น โดยการหารือ ใช้เวลา 1 ชม.30 นาที ภาคประชาสังคมไทยได้นำเสนอข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบทางลบจากข้อตกลงการค้าเสรีที่จะมีต่อการเข้าถึงยา การสาธารณสุข ความหลากหลายทางชีวภาพ และเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย 

ทางด้านตัวแทน ส.ส.กลุ่มประเทศ EFTA เน้นย้ำว่า การเจรจาครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดย ส.ส.จากลิกเตนสไตน์ระบุด้วยว่าได้ย้ำกับรัฐบาลไปแล้วว่า ต้องใส่ใจกับข้อห่วงกังวลของภาคประชาสังคมไทยเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งภาคประชาสังคมและภาควิชาการไทยย้ำมาโดยตลอดว่า จะไม่เข้าร่วม อนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991

ทั้งนี้ จดหมายที่เอฟทีเอ ว็อทช์และเครือข่ายได้ยื่นต่อ ส.ส.กลุ่มประเทศ EFTA มีเนื้อความสรุปได้ดังต่อไปนี้

ในวาระที่ คณะกรรมการที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มประเทศ EFTA ได้มาเยือนประเทศไทย พวกเราภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยา การสาธารณสุข ความหลากหลายทางชีวภาพ อธิปไตยทางอาหาร และการคุ้มครองผู้บริโภค ขอแสดงความกังวลต่อการเจรจาการค้าที่กำลังดำเนินอยู่ที่โดยที่หลายหัวข้อจะส่งผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อการสาธารณสุข ภาคเกษตรกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชนไทย

แม้ว่า ตั้งแต่ปี 2001 สมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ยอมรับปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุขที่ให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิในการปกป้องการสาธารณสุขโดยเฉพาะสร้างการเข้าถึงยาให้แก่ทุกคน แต่ที่ผ่านมา การเจรจาอฟทีเอทั้งกับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ล้วนมีการยื่นข้อเรียกร้องในข้อบททรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การลงทุน ที่จะทำลายกฎหมายภายในประเทศ ทำให้ยาราคาแพง ทำลายศักยภาพในการผลิตยาของประเทศ 

จากงานวิจัยผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจากข้อเรียกร้องจาก เอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ และ CPTPP ชี้ว่า ค่ายารักษาโรคของประเทศจะแพงมากกว่าแสนล้านบาทต่อปีจากข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าที่ WTO กำหนดอยู่ และประเทศไทยต้องพึ่งพายานำเข้าเพิ่มจากร้อยละ 71 เป็นร้อยละ 89 จากข้อบทการเชื่อมโยงการขึ้นสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยา และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อบทด้านการลงทุนจะจำกัดสิทธิของไทยในการออกนโยบายใช้กฎหมายเพื่อดูแลคุ้มครองประชาชน การออกกฎระเบียบควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจำกัดการใช้กลไกยืดหยุ่นในความตกลงของ WTO เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาที่ติดสิทธิบัตร 

ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการดูแลประชาชนให้ได้รับการดูแลรักษาที่ดีมีคุณภาพโดยไม่ล่มจม แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้จะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ หากถูกบังคับให้ซื้อยาในราคาแพงมากและขาดซึ่งการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ

อีกประการหนึ่ง ในข้อเรียกร้องจากเอฟทีเอต่างๆ ที่ให้ไทยต้องเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ทั้งที่ไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่เป็นไปตาม WTO แล้ว หากไทยถูกบังคับให้เข้าร่วม UPOV1991 จะทำให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายภายใน โดยต้องขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ และลดทอนสิทธิของเกษตรกรดังนี้

- ขยายระยะเวลาการผูกขาดจากที่กำหนดไว้ส่วนใหญ่จาก 15 ปี เป็น 20 ปี 
- ส่งผลกระทบต่อกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ 
- การเก็บรักษาพันธุ์พืชเพื่อปลูกต่อ การคัดเลือกพันธุ์ในแปลงปลูก และแลกเปลี่ยนระหว่างเกษตรกร ซึเป็นวิถีชีวิต และฐานรากของการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารของประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง
- จากการศึกษาพบว่าการเข้าร่วม UPOV1991 ทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องจ่ายในระยะยาวแพงขึ้น 3-4 เท่า

ดังนั้นจากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ภาคประชาสังคมไทยขอคัดค้านข้อเรียกร้องต่างๆในการเจรจาเอฟทีเอที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อการเข้าถึงยา การสาธารณสุข และภาคเกษตรกรรม ดังต่อไปนี้

Data Exclusivity การผูกขาดข้อมูลทางยาที่จะขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐขึ้นทะเบียนยา โดยอ้างอิง
ข้อมูลการทดลองทางคลินิกแม้ว่ายานั้นจะหมดสิทธิบัตรแล้วก็ตาม และจะยิ่งเป็นความซับซ้อนทางกฎหมายหากต้องประกาศบังคับใช้สิทธิหรือประกาศซีแอลจนไม่สามารถทำได้

Patent Term Extension การขยายอายุสิทธิบัตรมากกว่า 20 ปีตามที่กฎหมายไทยและ WTO กำหนด

Increase Patent Scope ขยายขอบเขตสิ่งที่จดสิทธิบัตรได้ไปยังรูปแบบสารเคมีใหม่ รูปแบบการใช้ใหม่ของยาเก่า ทั้งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยไม่มีนัยยะสำคัญ แต่สามารถได้สิทธิผูกขาดไปมากกว่า 20 ปี

Patent Linkage การเชื่อมโยงการขึ้นสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยาที่ขัดขวางการขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญของยาที่ติดสิทธิบัตร ทำให้ขัดขวางการวิจัยและพัฒนาช่วงเริ่มต้นของยาชื่อสามัญ รวมทั้งยาที่จะถูกประกาศซีแอล หรือยาที่หมดอายุสิทธิบัตร หรือถูกเพิกถอนสิทธิบัตรแล้วก็ตาม

Restrictions on Compulsory Licenses จำกัดการประกาศบังคับสิทธิเหนือสิทธิบัตร ทั้งที่เป็นมาตรการที่ได้รับการรับรองระดับนานาชาติเพื่อการเข้าถึงยา 

Restrictions on Parallel Imports ขัดขวางการนำเข้ายาติดสิทธิบัตรที่มีราคาถูกกว่าจากทั่วโลก

Investment Rules ข้อบทว่าด้วยการลงทุน ที่มีกลไกให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องรัฐภาคี เช่น ประเทศไทย ผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการ หากออกนโยบายสาธารณะด้านสาธารณสุข เช่น การประกาศซีแอล มาตรการลดราคายา นโยบายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ปกป้องสุขภาพประชาชน เพื่อไม่ให้ออกนโยบายเหล่านี้

Border Measures มาตรการชายแดนที่จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการยึดจับยาชื่อสามัญไม่ให้นำเข้า ส่งผ่าน หรือส่งออกยาชื่อสามัญ

Injuctiions คำสั่งศาลห้ามกระทำการ ซึ่งจะแทรกแซงความอิสระของระบบศาลและการยุติธรรมในการปกป้องสิทธิทางสุขภาพประชาชนเหนือผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติและในชาติ

Other IP Enforcement Measures กลไกการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ให้การรักษาพยาบาล และผู้ประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิตจำหน่ายและใช้ยาชื่อสามัญตกอยู่ในความเสี่ยงถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

UPOV1991 ที่บังคับให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายภายใน โดยต้องขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ ลดทอนสิทธิของเกษตรกรรายย่อยในการดำรงวิถีชีวิตและอธิปไตยทางอาหาร

ดังนั้น พวกเราเรียกร้องประเทศสมาชิก EFTA ต้องไม่ยื่นข้อเรียกร้องเหล่านี้ที่ส่งผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อการสาธารณสุข ภาคเกษตรกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชนไทยในการเจรจาเอฟทีเอกับไทย 

องค์กรที่ร่วมลงนาม
- มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
- มูลนธิชีววิถี (BIOTHAI)
- เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ประเทศไทย
- กลุ่มศึกษาปัญหายา
- ศูนย์วิชาการการพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา
- มูลนิธิบูรณะนิเวศ
- มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- กรีนพีช ประเทศไทย
- เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
- ชมรมเภสัชชนบท
- มูลนิธิสุขภาพไทย
- กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net