Skip to main content
sharethis
  • สัมภาษณ์ 2 นักกิจกรรมปฏิรูปสถาบันฯ เล่าประสบการณ์เงื่อนไขการประกันตัว ที่มาพร้อมเงื่อนไข “กักบริเวณภายในเคหสถาน 24 ชั่วโมง” เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ได้รับอนุญาต ซึ่งทั้งสองคนยืนยันว่าไม่ต่างจาก “house arrest” แบบที่คนไทยเคยเห็นในบางประเทศ และเป็นมาตรการที่มาพร้อมกับการบังคับใช้ที่เข้มงวด บางครั้งถึงกับมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาดักเฝ้าถึงหน้าบ้าน
  • ด้านทนายความของทั้ง 2 ระบุว่าเป็นกรณี house arrest เดียวที่ตนเคยเจอในเมืองไทย พร้อมแสดงความกังวลว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลที่ศาลยังไม่ตัดสิน แถมยังเรียกร้องเงินชดเชยไม่ได้ด้วย 

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” พร้อมกำไล EM ที่คอยติดตามตำแหน่งของเธอตลอดเวลา

“มันก็เป็นความรู้สึกแปลกๆนะพี่ บ้านเราเหมือนกลายเป็นเรือนจำ ขังเราไว้อีกที” 

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” นักกิจกรรมอิสระ กล่าวเปรยขึ้นขณะกำลังสนทนากับผู้สื่อข่าว ณ บริเวณลานหน้าบ้านของเธอในย่านชานเมืองกรุงเทพ สายตาของเธอมองไปยังประตูบ้านบานใหญ่ บัดนี้ประตูบ้านสำหรับตะวัน ดูเหมือนจะมีไว้ขังเธอไว้ภายในเสียเอง

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ “เก็ท” ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากบ้านพัก

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ “เก็ท” เป็นนักกิจกรรมอีกคน ที่กล่าวว่าตนมีสภาพเหมือนเป็นนักโทษในบ้านตัวเองโดยปริยาย ทุกวันนี้เก็ทไม่กล้าแม้กระทั่งจะก้าวขาพ้นประตูบ้านออกไปที่ซอยหน้าบ้าน 

“เวลามีอาหารหรือของมาส่ง ผมก็บอกพี่ไรเดอร์ครับว่า พี่ๆ พี่มาส่งตรงประตูเลยได้มั้ย เพราะผมออกไปรับข้างนอกไม่ได้พี่” เก็ทเล่าขณะยืนพิงประตูบ้าน “บางคนเค้าก็งงนะ แต่ผมออกไปไม่ได้จริงๆ”

ทั้งเก็ทและตะวัน เป็นสองนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) และได้เคยถูกส่งเข้าเรือนจำมาแล้ว เพราะศาลปฏิเสธไม่ให้ประกัน ถึงแม้ต่อมาทั้งคู่ได้รับการประกันตัวออกมา หลังจากอดอาหารประท้วงข้างในเรือนจำเป็นเวลาหลายสัปดาห์ แต่การประกันตัวก็มาพร้อมกับเงื่อนไขที่สั่งห้ามออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลา เว้นแต่กรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล (หากเป็นกรณีเจ็บป่วยให้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ต่อศาลภายใน 3 วัน)

นอกจากนี้ คำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานดังกล่าว ยังบังคับใช้ด้วยมาตรการอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการติดกำไล EM ในกรณีของตะวัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สอดส่องตำแหน่งที่ตั้งของเธอตลอดเวลา 

ส่วนในกรณีของเก็ท เขาได้รับการยกเว้นไม่ต้องใส่กำไล EM เพราะมีอาชีพเป็นนักรังสีวิทยาที่โรงพยาบาล ซึ่งต้องทำงานกับเครื่องมือการแพทย์ที่ห้ามมีกระแสแม่เหล็กรบกวน แต่เก็ทก็ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบคอยติดตามเกือบทุกฝีก้าวแทน จนทุกวันนี้เขาไม่กล้าที่จะก้าวขาออกจากบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เพราะกลัวว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่ซุ่มดูอยู่ แล้วจะโดนเอามาเป็นข้ออ้างเพื่อทำเรื่องถอนประกันตัว

“รู้สึกว่านี่คือ house arrest ในความเป็นจริงเลย” ตะวันกล่าว ขณะที่เก็ทก็มองว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังพบเจอ ก็คือ house arrest เช่นกัน “เท่าที่ผมทราบ ตอนนี้ไม่น่าจะมีใครโดน house arrest แบบที่ผมและตะวันโดนแล้วนะ”

ผู้สื่อข่าวพิเศษของประชาไท เดินทางไปสัมภาษณ์เก็ทและตะวันถึงที่บ้าน เพื่อให้นักกิจกรรมทั้งสองคนเล่าถึงประสบการณ์การถูกกักบริเวณ ความรู้สึก อุปสรรคต่างๆ ที่เจอ และแนวคิดว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไรในอนาคต

ประชาไท: ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปว่า เงื่อนไขกักบริเวณนี้มาได้อย่างไร?

ตะวัน: โดนมาตั้งแต่ประกันตัวเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ค่ะ

ตอนที่โดนเงื่อนไขห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง ตอนแรกก็คิดว่าเดี๋ยวคงเปลี่ยนเงื่อนไข เพราะอย่างรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ก็เคยโดนเงื่อนไขแบบนี้เหมือนกัน ห้ามออกนอกบ้าน แต่เดือนเดียวเค้าก็ยกเลิก แต่พอครบเดือนเค้าไม่เปลี่ยนเว้ย เราเลยคิดว่าคงเป็นเพราะเค้าระวังช่วงวันเกิดรัชกาลที่ 10 (วันที่ 28 ก.ค.) เค้าคงห่วงว่าเราจะออกไปเคลื่อนไหวอะไรมั้ง แต่ผ่านไปแล้ว ก็ยังไม่ยกเลิก แถมต่อเงื่อนไขอีก … เลยงงแล้วว่าจะนานอีกแค่ไหน

ตะวันสนทนากับมวลชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ หลังได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 (ภาพ: แมวส้ม)

เก็ท: ผมได้ประกันตัว 31 พ.ค. ส่วนเงื่อนไขห้ามออกจากบ้าน มันมาจากตอนที่โดนสั่งฟ้องวันที่ 30 มิ.ย. เราก็เตรียมใจไว้แล้วแหละ… โหยพี่ พูดตรงๆ นะ ตอนนั้นผมไม่อยากไปใต้ถุนศาลเลย (ประชาไท: กลัวโดนติดคุกอีกรอบ?) ใช่ครับพี่ แล้ววันนั้นอัยการเค้าฟ้องเลย เลยต้องประกันตัว ตอนแรกเค้าเขียนไว้ในเอกสารว่า เงื่อนไข (ห้ามออกจากบ้าน) ระยะเวลา 1 เดือน แต่พอผ่านไป 1 เดือน ก็ไม่ปลด … ยังไม่มีวี่แววว่าจะปลดเงื่อนไขเลย 

ตอนแรก เราคิดว่าจะโดนแค่ใส่ EM เลยไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะรู้สึกว่าไปเรือนจำ ก็ขับเคลื่อนไรไม่ได้ ต่อให้อดอาหารประท้วงก็สร้าง impact อะไรไม่ได้ อย่างน้อยๆ อยู่ข้างนอกก็ทำไรได้เยอะกว่า แต่ปรากฏว่า EM มันรบกวนสัญญาณพวกเครื่องมือการแพทย์ เค้าก็ยอมนะ ไม่ต้องใส่ EM แต่มาพร้อมกับเงื่อนไขแปลกๆ ก็คือห้ามออกจากบ้าน 

แต่ได้ข่าวว่าศาลอนุญาตให้ไปเรียนหรือไปทำงานได้ไม่ใช่หรือ?

ตะวัน:  คือตอนนี้ศาลอนุโลมให้ไปเรียนได้ (ปัจจุบันตะวันศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา) แต่ก็ยังต้องส่งตารางเรียนให้ดู เช่น จันทร์ 09.00 ถึง 17.00 ตอนนี้เราเรียน จันทร์ พุธ ศุกร์ แล้วก็ให้แค่นั้นจริงๆ เรียนเสร็จต้องรีบกลับบ้านทันที เค้าให้เวลาเดินทางถึงแค่ 19.00 ไรแบบนี้ แล้วก็ให้ไปเรียนแค่นั้นด้วยนะ  

ครั้งนึงเคยออกไปกินข้าวที่ห้าง Mega Bangna มันก็อยู่ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยอะ เหมือนไปกินข้าวข้างนอกมหาลัย ปรากฏว่า ศูนย์ EM โทรมา ถามว่าทำอะไร เราก็บอกกินข้าว เราก็ตกใจนะ ทำให้มาสงสัยว่านี่เค้าตามอยู่ตลอดเวลารึป่าว เราแค่มานั่งกินข้าวตรงข้ามมหาลัยเอง บางทีเวลาเราขับรถ แล้วไปเส้นอื่น เพราะรถติด ศูนย์ EM ก็โทรมาถามว่า ไปไหน เห็นออกนอกเส้นทาง  

แล้วมันมีช่วงนึงที่ยังไม่เปิดเทอมด้วย ช่วงนั้นไปไหนไม่ได้เลย ประมาณหนึ่งเดือน ใช้ชีวิตไม่ได้เลย ออกไปกินเหล้าก็ไม่ได้ ส่วนใหญ่ให้เพื่อนมาหาที่บ้านแทน มาดื่ม นั่งคุยกัน แต่ส่วนใหญ่ก็นั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสือ เพราะบ้านเราอยู่ไกลด้วยไง จะให้เพื่อนมาตลอดก็ไม่ได้อะ เพื่อนยังแซวเลยว่า เฮ้ยนี่กรุงเทพจริงๆ หรือ เพราะไกลมาก (หัวเราะ)

ภาพ 'เก็ท' กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ขณะถูก ตร.ล้อมรถแท็กซี่ เมื่อ 1 พ.ค. 65

เก็ท: ก่อนหน้านี้ผมขอไร ได้หมดเลยนะ ขอไปทำงานก็ได้ แต่มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปเฝ้าถึงโรงพยาบาล โรงอาหารที่โรงพยาบาล อาหารจะออกแนวชีวจิตไงพี่ กินมากๆ เข้าทุกวัน มันก็เบื่ออะ (หัวเราะ) มีครั้งนึง ผมเลยออกไปกินข้าวข้างนอกตอนพักกลางวัน เค้าก็เข้ามาแสดงตัวเลยว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ ถามเราตรงๆ ว่า จะไปไหนครับ? เราก็งง ไรวะ แค่กินข้าวแค่นี้เอง

ตอนหลังมา ขอไปทำงานก็ไม่ได้ ศาลบอกว่าผิดเงื่อนไข เพราะไปสมัครงานก่อนโดยไม่ได้ขอศาล คือเราทำงานแบบเป็นพาร์ทไทม์ไง    โรงพยาบาลเค้าจ้างเป็นจ๊อบๆ ไป … คราวนี้เลยออกนอกบ้านไปไหนไม่ได้เลย … แล้วเราเป็น freelance เป็นพาร์ทไทม์อะ รายได้ส่วนนี้ของเราก็หายไป ค่าชดเชยก็ไม่มีให้

[อัพเดต: หลังจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ต่อมาเก็ทได้รับอนุญาตให้ไปทำงานได้ แต่ก็ยังเป็นการขออนุญาตแบบครั้งต่อครั้ง]

เจ้าหน้าที่เขาติดตามขนาดไหน?

เก็ท: นอกเครื่องแบบเค้าชอบมาซุ่มอยู่ตรงร้านขายของชำ กับปั๊มน้ำมันหน้าปากซอยบ้านผมเลยครับ แต่ถ้าวันไหนมีม็อบ เช่น วันสูญหายสากลที่ผ่านมา (30 สิงหาคม) มากันถึงหน้าบ้านเลย มีรถโตโยต้ามาซุ่มด้วย สนธิกำลังมากัน 4-5 คน มาคืนก่อนวันจะที่จะมีม็อบ เราก็ถ่ายรูปไว้จากกล้องวงจรปิดชั้นสอง อย่างวันก่อนมากัน 2 คนหน้าบ้านก่อน เราเห็นยืนซุ่มห่างๆ อีก 2 คน เราเลยแกล้งคุยโทรศัพท์เสียงดังๆ ให้เค้าได้ยินว่า เฮ้ยบอกพวกทะลุแก๊สว่ามาเอาระเบิดขวดที่นี่ได้เลยนะ 

คราวนี้เค้าเลยมากัน 6 คนเลย มายืนเฝ้าถึงหน้าบ้านเราเลย (หัวเราะ) 

คนแถวบ้านรู้ไหมว่าเราโดนกักบริเวณ? 

เก็ท: เวลาตำรวจเข้ามาในซอย ชาวบ้านก็แตกตื่นกันบ้างนะ เค้าดูออกอะว่าเป็นนอกเครื่องแบบ ตำรวจเค้าคงไม่เข้าใจว่า แถวนี้ก็ญาติผมทั้งนั้น เค้าส่องเรา เราก็ส่องเค้าได้ มีบ้านอื่นส่งรูปกล้องวงจรปิดมาให้ดูด้วยว่าเค้ามาซุ่มกันอยู่ตรงไหน คนแถวนี้เค้ารู้จักกันหมด ดูออกว่าใครเป็นคนข้างนอก ไม่คุ้นหน้าเข้ามา ก็เป็นที่สังเกตแล้ว 

แต่ป้าข้างบ้านเค้าก็ไม่ค่อยเชื่อครับ บอกว่า ไอ้เก็ทเนี่ยนะ มันเรียนราชวินิตนะ โรงเรียนเจ้านายนะ มันไม่ล้มเจ้าหรอก (หัวเราะ) ไอ้เก็ทที่พาหมาไปเดินเล่นในซอยเนี่ยนะ มันจะล้มเจ้าเลยหรอ ไม่เชื่อหรอก เค้ามีภาพความเข้าใจว่าเป็นขบวนการหัวรุนแรงไรแบบนี้ไงครับ แต่เราก็ไม่มีโอกาสอธิบายตัวเองอะไรกับเค้านะ เพราะผมออกนอกบ้านไม่ได้ (หัวเราะ)

คือมันก็สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนหรือชาวบ้านทั่วไป หลายๆ คนเวลาเค้าได้ยินคำว่า มาตรา 112 เท่ากับ “ล้มเจ้า” นี่คือความเข้าใจของหลายคนเลย 

เคยสงสัยหรือตั้งคำถามไหมว่าทำไมเราถึงโดนเงื่อนไขนี้แค่สองคน?

ตะวัน: เราก็แอบสงสัยเหมือนกัน ทำไมต้องขังเราไว้ 24 ชั่วโมงขนาดนี้? เค้าไม่ได้จำกัดแค่เงื่อนไข ห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมการเมืองไรแบบนั้นนะ เค้าห้ามทุกอย่าง อย่างวันก่อนเราอยากไปคอนเสิร์ต Demo ที่ลานคนเมือง ก็ไม่ให้ไป หนูทำอะไรไม่ได้เลย ไปเที่ยวกับเพื่อนก็ไม่ได้ ออกไปดูหนังก็ไม่ได้

รู้สึกว่านี่คือ house arrest ในความเป็นจริงเลย ทำไรต้องบอกเค้าตลอด แค่ออกนอกเส้นทางเวลาไปเรียน ก็โทรมาแล้ว ถ้าอยากไปไหน ทำอะไร ต้องเขียนเป็นคำร้องเป็นรูปธรรมเลยนะ อันนี้เคร่งยิ่งกว่าที่พ่อแม่ปฏิบัติกับเราอีก (หัวเราะ) ต้องขออนุญาตก่อนทำทุกอย่างในชีวิต 

แล้วทุกวันนี้เราไม่ได้มีสิทธิได้ชดเชยอะไรด้วย เพราะเค้าถือว่าให้ประกันตัวออกมาแล้ว งงๆ เหมือนกัน ประเทศนี้แปลกๆ

ตัวไปไม่ได้ เลยส่งกำลังใจไปแทน: ตะวันติดตามดูไลฟ์สดการชุมนุมทางการเมืองจากที่บ้าน

เก็ท: เราก็คิด ทำไมทำแบบนี้กับเรา ไอ้เงื่อนไข house arrest มีแค่สามคนเองที่โดน รุ้งด้วย แต่โดนอยู่แค่เดือนเดียวก็ปลด เราก็คิดสงสัยนะ คนอื่นๆ อย่างใบปอกับบุ้ง (ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และเนติพร เสน่ห์สังคม สมาชิกกลุ่มทะลุวัง) เคลื่อนไหวเหมือนกัน ไม่โดน house arrest แบบเรากับตะวัน เราก็งงเหมือนกัน 

เดาว่า ส่วนนึงเค้าคงกลัวพฤติกรรมหรือการสื่อสารแบบของเราเนี่ยแหละ เค้ากลัวการทำโพลของใบปอกับตะวันมาก เค้ากลัวจริงๆ เค้าน่าจะกลัวคำตอบมากกว่าคำถามอีก เพราะมันสร้างความสั่นสะเทือนต่อรากฐานของเค้านะ มันเห็นชัดๆ ว่าคนคิดอย่างไรบ้าง

จริงๆ วันที่โดนสั่งฟ้อง เราประเมินไว้แล้วว่า คงติดคุกอีกรอบแหละ เพราะมันสะเทือนเค้า เราไม่ได้แซะธรรมดาหนิ เราเอาข้อมูลข้อเท็จจริงมาพูด มันเลยสะเทือน (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าจะโดน house arrest แบบนี้ ผมเคยเห็นตะวันโดน เราก็คิดเหมือนกันว่า เอ๊ เราจะโดนแบบนี้ด้วยมั้ย แต่ก็ยังคิดด้วยว่า อย่างน้อยก็ยังดีกว่าในเรือนจำแล้วกัน

ด้านกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนักกิจกรรมทั้งสองคน กล่าวว่าเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน 24 ชั่วโมงแบบที่ตะวันและเก็ทเจอ ถือเป็นเรื่องที่แปลกมาก 

“การห้ามออกนอกเคหสถานบางทีก็ทำได้ครับถ้าเป็นกรณีผู้เยาว์ จำเลยเป็นผู้เยาว์ ห้ามออกไปมั่วสุม ไรแบบนั้น แต่ผมไม่เคยเห็นเค้าใช้กับคดีผู้ใหญ่นะ ผมเป็นทนายมาทั้งชีวิต 30-40 ปี ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้เลย” กฤษฎางค์กล่าว “แบบนี้เค้าเรียกว่า house arrest ครับ ใช่เลย”

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คำสั่งกักบริเวณในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นมาตรการที่เข้มงวดยิ่งกว่าเงื่อนไขการประกันตัวในคดีที่มีพฤติการณ์ร้ายแรงกว่าลูกความของเขาเสียอีก 

“ผมถึงพูดอยู่เสมอว่า แล้วทีคดีคนมีชื่อเสียง ถูกกล่าวหารุกป่าหรือข่มขืนคนอื่น ทำไมคุณไม่ออกเงื่อนไขเดียวกันแบบนี้บ้างล่ะ” ทนายกฤษฎางค์กล่าวให้สัมภาษณ์ “house arrest หรือการติดตามตัวตลอดเวลา มันเกินความจำเป็น เก็ทกับตะวันเจอคดีที่มาจากการแสดงความเห็นทางการเมือง มันคนละเรื่องกับคดีความผิดทางเพศเลย”

นอกจากนี้ กฤษฎางค์ยังกล่าวว่าตนรู้สึกกังวลอย่างยิ่งเพราะมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน สร้างภาระและตัดสิทธิ์โอกาสของผู้ต้องหาทั้งสองคนในหลายๆ ด้าน โดยที่ยังไม่มีคำตัดสินว่าผิดจริงตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด

“ในคดีอาญา ยังมีการชดเชยการขังในเรือนจำหลังยกฟ้องไปแล้ว แต่ถ้ากักบริเวณ ไม่มีพูดถึงการชดเชยนะครับ แล้วถ้าไม่ผิดล่ะ ใครจะชดเชยให้เค้า”

ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

เก็ท: ก่อนหน้านี้ ผมมีแผนจะไปเรียนต่อเป็น รังสีร่วมรักษา เป็นการรวมกันระหว่างวิชาการผ่าตัดกับรังสีวิทยาครับ … แต่ตอนนี้อยู่บ้าน เลยต่อยอดไรไม่ได้เลย ออกไปทำงานยังไม่ได้เลย เรียนก็ไม่ต้องพูดถึง แล้วมันต้องเรียนกับตัวอะ ออนไลน์ไม่ได้หรอกครับ 

มีเพื่อนบางคนบอกผมว่า เก็ทมึงก็เปิดคลินิกฉายรังสีที่บ้านเองไปเลยสิ ขอโทษนะครับ แค่เครื่องนึงก็หลักล้านแล้วนะครับ เราทำเองไม่ได้หรอก 

"ผมกล้าก้าวเท้าออกได้มากสุดแค่นี้แหละพี่" เก็ทกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ประตูหน้าบ้าน

เมื่อก่อนผมก็เที่ยวเยอะนะ อย่าง Ordinary Bar เราก็ชอบไป เพราะเจอเพื่อนนักกิจกรรมกันบ่อยๆ บางทีหลังชุมนุมเสร็จ ชอบไปข้าวสาร ไปช่างชุ่ย เราไม่ได้มีชีวิตเป็นนักเคลื่อนไหวการเมืองอย่างเดียว เรามีชีวิตเที่ยวเล่นตอนกลางคืนด้วย ตอนนี้เราก็รู้สึก fail นะ เพราะไปไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้เวลาเพื่อนๆ เค้าไปเที่ยวกัน เพื่อนๆ ก็ชอบ video call มา เหมือนให้เราไปเที่ยวด้วย

หนัง Marvel ก็ไม่ได้ดู ผมเป็นติ่ง Marvel ด้วยไง (หัวเราะ) อย่าง Dr. Strange, Thor ก็พลาดหมด อุตส่าห์รอมาตั้งแต่ตอนอยู่ในคุกเลย คุยกับทนายตลอดว่าออกไปเมื่อไหร่ จะไปดูหนัง แต่สุดท้ายเราออกไปดูไม่ได้ ผมพลาดไรไปหลายอย่างในชีวิตมาก

บรรยายความรู้สึกที่เจอการกักบริเวณแบบนี้หน่อย

เก็ท: ความรู้สึกแรกตอนนั้นคือ “อะไรวะเนี่ย” ผมเคยอ่านเรื่องอองซานซูจีสมัยเค้าโดน house arrest มาบ้าง เราก็เคยคิด โห อยู่ได้อย่างไรวะ ออกจากบ้านไม่ได้แบบนั้น ไม่เคยคิดเลยว่าจะโดนเข้ากับตัวสักวัน แล้วก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่ามีแบบนี้ในเมืองไทยด้วย 

ตะวัน: ความรู้สึกมันก็คือ เซ็งกับเหงาค่ะ ไม่ได้กังวลไรหรอก ตอนที่เราตัดสินใจว่าจะสู้ ตอนนั้นเราก็ทำใจไว้แล้วว่า พร้อมรับแรงกระแทกทุกอย่างที่จะตามมา คุกก็คุก แต่เซ็งที่ออกจากบ้านไม่ได้ เราก็คิดไม่ถึงว่าเค้าจะขังเราไว้ในบ้านแบบนี้

ตะวันเล่นกับสุนัขในบ้านตนเอง เธอกล่าวว่าสิ่งที่อยากทำเมื่อปลดเงื่อนไขห้ามออกนอกบ้านคือ "พาหมาไปเดินเล่น"

กังวลไหมว่าการที่โดนกักบริเวณไว้ตลอดจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว? 

ตะวัน: ไม่กังวลเลยเรื่องนี้ ต่อให้ด้วยเงื่อนไขอย่างไร โหดอย่างไร การเคลื่อนไหวก็สามารถออกแบบได้หมด ต่อให้เราอยู่บ้าน 24 ชั่วโมง เราก็มาออกแบบการเคลื่อนไหวให้สังคมสนใจได้อยู่ดี จริงๆ ที่ผ่านมา มันก็สร้างการต่อสู้ทางความคิดได้แล้ว เรายังต่อสู้ทางความคิดได้มากกว่านี้ สร้างความตระหนักรู้ (awareness) ความรู้ให้ประชาชน อย่างโพลเรื่องขบวนเสด็จ ก็เป็นตัวอย่าง เราไม่ได้บอกว่าต้องติดว่า “เดือดร้อน” อย่างเดียวนะ เราเปิดโอกาส เรารับฟัง ให้ผลมันออกมา แล้วให้สังคมได้เห็นเอง

แล้วขอเล่าหน่อย เรื่องโพล เอาจริงๆ เลยนะ เราออกแบบมาเพื่อให้หลีกเลี่ยงมาตรา 112 โดยเฉพาะเลยนะ เราคิดกันจริงๆ ว่า จะไม่โดนแน่นอน เพราะเราแค่ตั้งคำถามเฉยๆ เค้าก็ยังยัดข้อหาให้เราอีก ก็ไม่เป็นไร ทำให้สังคมได้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ว่า แค่ตั้งคำถามก็โดนดำเนินคดีแล้ว

เก็ท: อย่างไรก็เคลื่อนไหวต่ออยู่แล้ว ผมรู้สึกว่ามันยังพูดได้ และโชคดีที่มาเกิดในยุคนี้ มีคนพร้อมสู้ไปกับเราตั้งเยอะ ถ้าเกิดเร็วกว่านี้ 7-8 ปี ผมอาจจะไปนอนคุยกับรากมะม่วงไปแล้วก็ได้ 

แต่ผมก็ว่าการจัดม็อบอย่างเดียว คงไม่ work แล้ว สมัยนี้สังคมเค้าไม่ได้เสื่อมศรัทธากับผู้ปกครองอย่างเดียว เค้าเสื่อมศรัทธากับขบวนการด้วยก็ได้ เค้าอาจจะเสื่อมศรัทธากับวิธีนี้ (การชุมนุม) เพราะไม่เห็นว่าจะบรรลุผลไรได้ มีความรู้สึกว่า คนมาเป็นแสนแล้วก็ไม่เห็นชนะ ไปหน้าบ้านประยุทธ์ ไปถึงหน้าวัง ก็ไปมาแล้ว แต่ไม่เห็นจะทำไรได้ บางคนก็ถามผม เซ็นลงชื่อไปแล้ว ต้องเซ็นอีกกี่อัน เพราะงั้นม็อบคงไม่ work แล้ว 

เราเลยควรมาเปลี่ยนแนวทางกัน จากม็อบอย่างเดียว มามองว่ามันเป็นกึ่งๆเทศกาลดีกว่า จะทำตลอดยืดเยื้อไม่ได้ มันมีช่วงบูม มีช่วงแผ่ว คนเขาไม่ว่างกัน มีงานมีการต้องทำ เพราะงั้นเราอาจจะจัดแบบเดินขบวนกัน ทำ public awareness ไม่ต้องคนร่วมเยอะก็ได้ แต่ให้คนเห็นเยอะและให้คนรับรู้เยอะ 

แล้วมีวิธีรักษากำลังใจหรือแก้เหงาอย่างไรบ้าง? 

เก็ท: เพื่อนๆ นักกิจกรรมมากินหมูกะทะที่บ้านผมด้วยกันบ่อย เราก็เกรงใจเพื่อนนะที่ต้องมาหาเรา แต่เค้าก็บอกว่า ไม่เป็นไร ก็มึงไปไหนไม่ได้หนิ เค้ายังแซวๆ เราอยู่ว่า กว่าคดีจะเสร็จ หมูน่าจะหมดทั้งประเทศ เพราะกินกันบ่อย (หัวเราะ) เพื่อนเราดีจริงๆ โชคดีที่มีเพื่อนดี ตอนติดคุกก็มีเพื่อนมาเยี่ยมตลอด พอเราโดน house arrest เค้าก็มาหาเรา

ตุลาคมนี้จะมีเพื่อนต่างประเทศมาหาด้วย ตอนแรกจะบินไปหาเค้าไง แต่พอเราโดนแบบนี้  ไปไม่ได้ เค้าเลยบอกเดี๋ยวจะเป็นฝ่ายมาหาเราแทนแล้วกัน 

อยากทำอะไรเป็นอย่างแรกพอปลดเงื่อนไขนี้?  

ตะวัน: จะพาหมาไปเดินเล่น (หัวเราะ) ตอนนี้ก็คิดไว้ตลอดเวลาเลยว่า จะพาไปเดินเล่นที่ไหนบ้าง ระหว่างนี้ก็อุดอู้ไปในบ้านก่อนแล้วกัน บางทีเราก็คิดนะว่า กวนตีนเลยดีมั้ย (หัวเราะ) เขียนคำร้องวันละ 10 ใบ เช่น ขอพาสุนัขไปเดินเล่น ขอไปกินหมูกะทะ ดีมั้ย เคยคิดอยู่เหมือนกัน อยากรู้นะว่าถ้าทำแบบนั้น ศาลจะว่าอย่างไร 

[อัพเดต: หลังจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ตะวันเล่าว่าได้ลองขออนุญาตศาลเพื่อไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน 1 วัน และได้รับอนุญาต แต่เมื่อเดินทางกลับแล้วต้องกักบริเวณที่เคหสถานตามเดิม]

เก็ท: พาหมาไปเดินเล่นครับ มันแก่แล้ว เลี้ยงมาตั้งแต่เกิด ตอนเราอยู่ในคุกเราก็ฝากทนายให้ดูแลมันหน่อย นี่ตั้งแต่เราติดคุกก็หลายเดือนแล้วที่ไม่ได้พาไปเดินเล่น สงสารมัน 

ผมก็คิดนะ ขอศาลให้ขยายเขตกักบริเวณไปในซอยบ้านได้มั้ย อย่างน้อยๆ ก็จะได้พาหมาออกไปเดินเล่นได้บ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net