สุรีรัตน์ ตรีมรรคา: รัฐต้องมีนโยบายหนุนการทำงาน-สวัสดิการที่ดีให้คนสูงอายุ

เพื่อต้อนรับสังคมผู้สูงอายุในไทย ประชาไท ชวนคุยกับ 'สุรีรัตน์ ตรีมรรคา' นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้สูงอายุ เพื่อหาคำตอบอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องทำงานแม้เลยวัยเกษียณ และมีแนวทางยกระดับสวัสดิการอย่างไรบ้าง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระพวกเขา 

  • สถิติปัจจุบันของจำนวนประชากรไทยสำรวจเมื่อต้นปี 2565 พบว่าไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 12 ล้านคน โดยคนอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด 66 ล้านคน ถือว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่พบว่ายังมีผู้สูงอายุที่เลยวัยเกษียณที่ยังต้องทำงานอยู่จำนวนมาก
  • สุรีรัตน์ เผยการทำงานของผู้สูงวัย 2 ปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่ยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ผู้สูงวัยประสบปัญหารายได้อย่างมาก และอีกปัจจัยคือเพื่อสังคมและจิตใจ ตอบสนองคุณค่าการมีชีวิตอยู่ในตัวเอง
  • นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้สูงอายุ มองรัฐต้องมีนโยบายให้ภาคเอกชน หรือองค์กรท้องถิ่น สร้างงานที่เหมาะสมกับสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุ และต้องมีการปฏิรูปภาษี ตัดงบฯ เกี่ยวกับราชการ หรือไม่จำเป็น และมาเน้นให้สวัสดิการเพื่อสังคมมากขึ้น

ประชากรคนสูงอายุทั้งหลายในอดีตล้วนแล้วแต่เคยเป็นส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อถึงวัยเกษียณบางคนได้พักผ่อนอย่างที่ควรจะเป็นหรือแม้แต่ตามที่ตัวเองต้องการ

บางคนก็รู้สึกว่าตัวเองยังคงมีไฟในการทำงานและต้องการหางานทำที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายตน และคนอีกกลุ่มที่ยังต้องทำงานต่อไป เพราะมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพและครอบครัว ซึ่งอาจจะรวมไปถึงเรื่องของรัฐสวัสดิการที่ไม่ตอบสนองต่อคนสูงอายุเหล่านี้เท่าที่ควร

ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุเปิดเผยว่าสถิติผู้สูงอายุเมื่อ ม.ค. 2565 มีผู้สูงอายุสัญชาติไทย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 12,116,199 คน หรือร้อยละ 18.3 แบ่งเป็นชาย 5,339,610 คน และหญิง 6,776,589 คน หากแบ่งเป็นคนช่วงอายุ 60-69 ปี 70-79 ปี และ 80 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วงอายุ 60-69 ปี จำนวนประชากรเยอะที่สุด คือ 6,843,300 คน หรือร้อยละ 56.5 จากประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศ


สถิติผู้สูงอายุไทยปี 2565 (ที่มา: กรมกิจการผู้สูงอายุ)

งานวิจัยรายงานด้วยว่าในปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์แบบ โดยจะมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society)

หมายความว่าในปีนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่งสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว แม้ทางรัฐบาลจะออกมาบอกว่าได้เตรียมความพร้อมกับเรื่องนี้ไว้แล้วในอนาคต (รัฐบาลปรับแผนฯ รับมือ "สังคมสูงอายุระดับสุดยอด" อีกสิบปีข้างหน้า ผู้สูงอายุเกินหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด) แต่ในปัจจุบันก็ยังมีปัญหาตามมาอยู่เรื่อยๆ ทั้งในเรื่องของคนสูงอายุอยากทำงาน แต่ไม่มีที่ไหนรับ หรือคนที่ต้องทำงานอยู่เพราะไม่มีเงิน

การให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นประชากรหลักของชาติถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ การมีหลักความมั่นคงหรือเห็นคุณค่าต่อประชากรเหล่านี้สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลในวัยบั้นปลายชีวิต การได้ทำงานตามสุขภาพร่างกายและมีรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมอาจทำให้คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ดีขึ้น

โอกาสนี้ประชาไทสัมภาษณ์ "สุรีรัตน์ ตรีมรรคา" นักเคลื่อนไหวผู้ผลักดันบำนาญแห่งชาติ แก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและเรื่องของหลักประกันสุขภาพ ถึงเรื่องการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุยังทำงาน และรัฐควรปรับหรือสนับสนุนสวัสดิการให้ผู้สูงวัยอย่างไร

การทำงานของผู้สูงวัยยังจำเป็น ถ้าสวัสดิการยังไม่ดี

สุรีรัตน์ กล่าวว่า หากใช้คำตามรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่า ผู้สูงอายุคือคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปถือเป็นผู้สูงอายุ แล้วคนที่อายุเกิน 60 ปีที่ยังทำงานอยู่ในความเห็นตนถือว่าไม่เป็นปัญหาถ้ายังทำงานหรือมีงานให้ทำอยู่และเป็นงานที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคนก็เป็นเรื่องปกติ

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา นักสิทธิสำหรับผู้สูงวัย

ปัจจุบันสิ่งที่พบในสังคมคือไม่ว่าคนที่ทำงานมีเงินเดือนประจำแล้วออกจากงาน เพราะเกษียณกับคนที่เป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป ค้าขายหรือเกษตกร ก็ยังทำงานต่อได้เพราะว่ากำลังกายยังมีและมีรายได้เป็นของตัวเอง ซึ่งถือว่าควรจะมีงานทำด้วยซ้ำหลังจากอายุ 60 ปี

คำว่าผู้สูงอายุที่ทำงานหนักหากแปลความว่าทำงานในภาวะที่สุขภาพร่างกายไม่เหมาะกับตัวเองแน่นอนว่ามันเป็นปัญหา แต่เกษตกรที่พบเจอตอนนี้หลายคนอายุ 65-70 ปีก็ยังสามารถดูแลไร่นาหรือสวนของตัวเองได้ก็ยังถือว่าได้ทำงานที่เหมาะกับศักยภาพ วิถีชีวิต ความรู้ความสามารถที่มีอยู่เดิม

“ในท่ามกลางสังคมสูงวัยคนที่อายุหลัง 60 ปีตอนนี้ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงควรจะมีงานทำที่เหมาะสมกับตัวเองไปจนกว่าสุขภาพร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย เพราะว่าการมีงานทำมีรายได้เป็นของตัวเองมันจะทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมสูงวัยของไทยที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการบำนาญที่ดี” สุรีรัตน์ กล่าว

‘เศรษฐกิจ สังคม จิตใจ’ 2 สาเหตุที่คนสูงวัยยังต้องทำงาน

สุรีรัตน์ กล่าว สาเหตุที่คนสูงอายุยังต้องทำงานอยู่มองได้ 2 ส่วน ประกอบด้วย

1.เรื่องของเศรษฐกิจ เหตุเพราะผู้สูงอายุที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่มีระบบบำนาญของตัวเอง ฉะนั้น คนที่ไม่มีเงินเก็บหลังอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังจะต้องทำงานแน่นอนประกอบกับเบี้ยยังชีพที่รัฐให้ และรวมกับเงินที่อาจจะได้จากลูกหลานก็จะทำให้มีชีวิตอยู่ได้ในเชิงเศรษฐกิจ

2.เรื่องของสังคมและจิตใจ  คนอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ได้หมายความว่าจะต้องหยุดอยู่กับที่หรือไม่ต้องทำอะไร ซึ่งสภาพทางด้านจิตใจจะมีปัญหาแน่นอน เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเหงาและรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งอาจจะเกิดผลให้เกิดความซึมเศร้าและก็อาจจะทำให้ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายในวัยสูงอายุสูงขึ้นได้

ไม่มีสวัสดิการที่ดีถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนสูงอายุยังต้องทำงานอยู่

สุรีรัตน์ ระบุว่า การที่รัฐไม่มีสวัสดิการบำนาญให้กับประชาชน และรัฐไม่มีระบบสวัสดิการที่ดีทางด้านหลักประกันรายได้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องทำงาน จึงทำให้จะเลือกใช้สิทธิ์วิถีชีวิตแบบอื่นเป็นไปได้ยากจึงทำให้ต้องทำงานอยู่

Covid-19 กระทบต่อกลุ่มคนจนและคนสูงอายุเป็นอย่างมาก

ในช่วงแรกของโรคระบาด Covid-19 ที่เน้นควบคุมการแพร่เชื้อ กักบริเวณคนติดเชื้อหรือคนที่เกี่ยวข้อง ทำให้คนทำมาหากินไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ คนจนและผู้สูงอายุจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้สูงอายุที่พึ่งพิงรายได้จากลูกหลานจะมีปัญหาเรื่องลูกหลานไม่มีเงินหรือรายได้ที่เพียงพอ 

“ฉะนั้นในช่วงวิกฤตโควิดก็ส่งผลกระทบสูงต่อผู้สูงอายุ ทั้งในฐานะที่เป็นกลุ่มเปราะบางในการรับเชื้อ เพราะเมื่อรับเชื้อโควิดแล้วก็จะป่วยหรือมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนอื่น” 

สุรีรัตน์ กล่าวต่อ ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่ยากจนไม่มีเงินเก็บไม่มีรายได้และไม่มีสวัสดิการ คือไม่ต้องไปทำงานตามที่รัฐบาลบอกว่าให้ Work from home (WFH) ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าไม่มีนายจ้าง จ่ายเงินไม่เหมือนข้าราชการ ซึ่งข้าราชการไม่ว่าจะเผชิญวิกฤตโควิดแบบไหน ก็ยังไม่มีประกาศว่าจะต้องลดค่าตอบแทนลงหรือลดเงินเดือนลง ฉะนั้นคนจนกับคนสูงอายุก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ ในเรื่องนี้

ต้องหนุนภาคเอกชน-องค์กรท้องถิ่น สร้างงานที่เหมาะกับผู้สูงวัย

สุรีรัตน์ กล่าว คนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ยังมีความสามารถในการทำงานที่เหมาะสม ฉะนั้นจะต้องมีนโยบายที่จะสนับสนุนในภาคธุรกิจเอกชน องค์กรส่วนท้องถิ่นซึ่งมีศักยภาพในการสร้างงาน อาจจะต้องมีการสร้างงานสำหรับคนสูงอายุเป็นลักษณะของพาร์ตไทม์ที่เหมาะสม เช่น งานปลูกต้นไม้หรือดูแลต้นไม้ งานทำความสะอาดถนน งานบริการดูแลต้อนรับ ซึ่งควรจะขยายตำแหน่งงานให้ผู้สูงอายุอย่างน้อยเป็นรายได้ส่วนหนึ่งจากงานพาร์ตไทม์เหล่านี้

ยกระดับเบี้ยยังชีพ 3,000 บาทต่อเดือน

ต้องมีการสร้างระบบสวัสดิการที่ดีทันที ซึ่งระบบสวัสดิการหลังอายุของคนสูงวัยในปัจจุบัน ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพจะมีระบบหลักประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่ทุกคนไปโรงพยาบาลได้อยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งรัฐจัดเป็นสวัสดิการให้

“จะต้องยกระดับปรับเบี้ยยังชีพที่รัฐจ่ายแค่ 600 บาทให้มันเป็นระบบบำนาญพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้ทางเราก็อ้างอิงอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน เพราะว่าการคำนวณเส้นความยากจนจะอยู่ที่ประมาณนั้น”

มีการสร้างระบบที่ทุกคนในปัจจุบันทำงานเริ่มต้นมีรายได้ที่จะทำให้ทุกคนมีการออมเงินเพื่อที่จะมีระบบบำนาญของตัวเอง มีนายจ้างร่วมจ่าย ถ้าไม่มีนายจ้างร่วมจ่าย รัฐบาลต้องร่วมจ่าย ปรับกองทุนการออมแห่งชาติซึ่งก็คือกองทุนบำนาญหรือกองทุนการออมเพื่อบำนาญต้องยกระดับให้มีแรงจูงใจมากขึ้น รัฐจะต้องกระตุ้นให้ประชาชนร่วมออมให้มากขึ้น เพื่อที่จะมีบำนาญของตัวเองแล้วเสริมกับบํานาญพื้นฐาน

เพิ่ม VAT นำมาเป็นสวัสดิการ

ในขณะเดียวกันอีกนโยบายที่ต้องปรับคือเรื่องระบบภาษีโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะว่าภาษีมูลค่าเพิ่มทุกคนมีส่วนร่วมในการจ่าย ควรที่จะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อจะเอามาเป็นสวัสดิการ ซึ่งต้องมีการระบุอย่างชัดเจนว่าการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเอามาใช้ในการจัดสวัสดิการโดยเฉพาะเรื่องระบบบำนาญให้กับประชาชนบำนาญพื้นฐาน

รีบแก้ไข ก่อนเรื้อรัง

สุรีรัตน์ ระบุว่า จะคิดเฉพาะเรื่องระบบบำนาญหรือระบบผู้สูงอายุอย่างเดียวไม่ได้ต้องคิดในภาพรวม นโยบายของรัฐต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจนในเบื้องต้นว่า ถ้าจะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนฉะนั้นมันมีวงจรของมัน จะต้องมีการจัดสวัสดิการการศึกษา สวัสดิการสุขภาพ แล้วก็สวัสดิการบำนาญไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่จะยกระดับคนรุ่นปัจจุบันที่กำลังเรียนหรือทำงานอยู่ไม่ให้เป็นภาระในการที่จะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นคนในครอบครัวของตัวเอง ในเชิงของนโยบายนั้นจะต้องมองภาพรวมไม่ใช่ขายแค่เพียงนโยบายอันใดอันหนึ่ง เพราะมันไม่มีพลังในการที่จะแก้ปัญหาเรื้อรัง ซึ่งมันเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด

และในเรื่องของการปรับระบบภาษี ระบบการจัดการเรื่องงบประมาณแผ่นดินใหม่ ให้ความสำคัญกับสวัสดิการมากกว่าเรื่องอื่นที่ยังไม่จำเป็น ตัดรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบข้าราชการลง ซึ่งอาจจะต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างกระทรวงกลาโหม หรือกระทรวงอื่นๆ ที่มีจำนวนคนข้าราชการมากเกินไป ก็ต้องปรับลดงบประมาณ เพื่อที่จะเอางบประมาณเหล่านี้มาจัดสวัสดิการทางสังคม ซึ่งถ้าได้รับการยกระดับ ปัญหาเรื้อรังจะค่อยๆ ได้รับการแก้ไข ก็น่าจะยกระดับสังคมไปด้วยกัน

อ้างอิง

สถิติผู้สูงอายุ สัญชาติไทย และ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มกราคม 2565

หมายเหตุ - ผู้รายงานข่าวชิ้นนี้ คือ ฐิติยา มณีรัตน์ ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ขณะนี้กำลังฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท