Skip to main content
sharethis
  • ศาลพิพากษา 'ธนพร วิจันทร์' ผญ.นักปกป้องสิทธิฯและผู้นำสหภาพแรงงานมีความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 20,000 บาท แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี ขณะที่เจ้าตัวระบุยืนยันใช้สิทธิด้วยความชอบธรรมในการเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานทำหน้าที่แก้ปัญหาด้านสิทธิแรงงาน เตรียมยื่นอุทธรณ์สู้ต่อ 
  • ด้านตัวแรงงานประสานเสียง ผิดหวังกับกระทรวงแรงงานที่ต้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน แต่กลับเป็นคนมาแจ้งความฟ้องร้องแรงงาน พร้อมตั้งข้อสังเกตุมีตัวแทนของสหภาพแรงงานเป็นที่ปรึกษา รมว.แต่กลับเพิกเฉยต่อการที่ตัวแทนแรงงานถูกฟ้อง ขณะที่ PI จวกการฟ้องของกระทรวงแรงงานขัดกับหลักการร้ายแรงในปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

7 พ.ย.2565 องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่า วันนี้ ( 7 พ.ย.65 )ศาลแขวงพระนครเหนือนัดอ่านคำพิพากษา คดีที่ ธนพร วิจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯและผู้นำสหภาพแรงงานถูกกระทรวงแรงงานฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในกรณีที่ไปยื่นหนังสือติดตามทวงถามแนวทางในการเยียวยาแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด 19 เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2564 โดยมีตัวแทนแรงงานและผู้นำสหภาพแรงงานเข้าร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาในครั้งนี้ด้วย

ศาลใช้เวลาประมาณ 20 นาทีในการอ่านคำพิพากษาโดยระบุว่าธนพรกระทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพิพากษาลงโทษ จำคุก 1 เดือน  ปรับ 20,000 บาท แต่จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอลงอาญา 1 ปี ปรับ 20,000 บาท

ธนพร วิจันทร์

ธนพรให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลเสร็จสิ้นแล้วว่า เคารพต่อคำตัดสินของศาลที่มีออกมาแต่ก็ยืนยันว่าการที่เราเดินทางไปยื่นหนังสือกับกระทรวงแรงงาน เพราะกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนของแรงงานอยู่แล้ว และในช่วงสถานการณ์ขณะนั้นไม่ได้มีเฉพาะแค่องค์กรเครือข่ายแรงงานข้ามชาติที่ไปยื่นหนังสือเท่านั้น แต่มีกลุ่มสหภาพแรงงานอื่นๆ อีกหลายกลุ่มที่ไปยื่นหนังสือในลักษณะแบบเดียวกันและจำนวนคนมากกว่าพวกเราด้วยซ้ำ เราจึงมองว่าวิธีการแบบนี้คือการเลือกปฏิบัติที่จะแจ้งความ และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งทำได้ แต่ทำไมกลุ่มเราทำไม่ได้ ทำไมถึงต้องโดนฟ้องคดี

"และจริงๆ ที่เราโดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุการณ์ที่เกิดในวันนั้นไม่ใช่เรื่องของคดีนี้ด้วยซ้ำ แต่เป็นคดีที่กล่าวหาเราในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ที่บอกว่าเราไปช่วยเหลือซ่อนเร้นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกเรา แต่คดีไม่มีมูล ซึ่งก็เท่ากับกรมจัดหางานของกระทรวงแรงงานที่ฟ้องเราก็เป็นการฟ้องเท็จ และเมื่อเราไปรายงานตัวกลับเปลี่ยนเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ส่วนตัววิเคราะห์ว่าเขาเลือกที่จะจับใครที่เป็นฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้บริหารกระทรวงแรงงาน หรือรัฐมนตรีแรงงานคนปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้ตนก็จะสู้คดีให้ถึงที่สุดจะยื่นอุทธรณ์ไปตามกระบวนการ เราอยากสู้ให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้วคดีดังกล่าวนี้มันจะไปสิ้นสุดลงที่ใดและความยุติธรรมกับเรามันจะจบลงแบบไหน" ธนพร กล่าว 

ขณะที่ วิภา มัจฉาชาติ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแรงงานกลุ่ม TRY ARM ที่เข้าร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาในครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า ตนเคารพต่อคำพิพากษาของศาล ตนรู้สึกว่าคุณธนพรไม่ควรจะโดนคดีตั้งแต่ออกหมายเรียกแล้ว ซึ่งในกรณีของคุณธนพรที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาตินั้นเป็นคดีที่ตัดสินในระยะเวลาที่เร็วมาก สิ่งที่เราผิดหวังมากที่สุดคือเรามีที่ปรึกษาของรัฐมนตรีแรงงานเป็นถึงผู้นำสหภาพแรงงานตั้งหลายคน แต่ทำไมถึงปล่อยให้ผู้นำแรงงานด้วยกันถูกฟ้อง เพราะผู้นำแรงงานจะรู้ว่าการนำแรงงานไปยื่นขอความช่วยเหลือที่กระทรวงแรงงานจะต้องทำอย่างไร แต่ผู้นำแรงงานที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเองกลับเพิกเฉยกับกรณีนี้  สิ่งที่ตนสงสัยอีกเรื่อง คือ คดีที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีหลายคดีที่ถูกยกฟ้องเพราะรัฐบาลได้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 แต่ทำไมกรณีของธรพรถึงถูกตัดสินให้มีความผิด เราไม่ได้รับความยุติธรรมเลยในกรณีนี้ และเครือข่ายแรงงานของพวกเราก็พร้อมจะยืนเคียงข้างการต่อสู้ของคุณธนพรในทุกรูปแบบของการต่อสู้

ขณะที่เตือนใจ แวงคำ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เข้าร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาในครั้งนี้ด้วยให้สัมภาษณ์ด้วยเช่นกันว่า ยอมรับและเคารพการตัดสินของศาลที่มีออกมา แต่ก็รู้สึกเสียใจที่คุณธนพรถูกตัดสินให้มีความผิด เพราะวันนั้นตนก็เดินทางไปกับคุณธนพรเช่นกัน และไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรที่จะเป็นการสร้างความวุ่นวาย กระทรวงแรงงานก็อนุญาตให้พวกเราได้เข้าไปพูดคุยได้เข้าไปยื่นหนังสือ  เหตุการณ์ไม่น่าจะถึงขั้นต้องมาฟ้องร้องผู้นำแรงงานเพราะคุณธรพรไปในฐานะผู้นำแรงงานที่ไปเรียกร้องสิทธิของแรงงาน

"เราไปกระทรวงแรงงานเพื่อไปขอความช่วยเหลือกับกระทรวงแรงงาน แต่มาถูกฟ้องดำเนินคดีแบบนี้ ทำให้แรงงานทุกคนรู้สึกแย่มาก  คนงานเดือดร้อนไปเรียกร้องสิทธิ แต่กลับมาแจ้งความดำเนินดดี ทำให้ตนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมและไม่ยุติธรรม" เตือนใจ กล่าว 

ปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า การที่กระทรวงแรงงานฟ้องร้องสหภาพแรงงานที่พยายามอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติที่มาขอความช่วยเหลือในช่วงโควิด ทั้งๆที่สิ่งที่คุณธนพรทำควรจะเป็นหน้าที่กระทรวงแรงงานด้วยซ้ำ ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดในการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่ทำงานด้วยเงินจากภาษีประชาชน ที่สำคัญคือขัดกับหลักการร้ายแรงในปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่ประเทศไทยเองต้องดำเนินการตามปฏิญญานี้ โดยเฉพาะข้อ8 ในตัวปฏิญญาที่ระบุถึงสิทธิของนักปกป้องสิทธิฯ ที่ต้องทำงานได้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ในการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลของตนและการดำเนินงานที่เป็นสาธารณะ อีกทั้งสิทธิในการจัดทำข้อร้องเรียน วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ บทบัญญัติและการทำงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานสาธารณะ ให้บรรลุถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

“ที่ผ่านมามีความเห็นจากหลายภาคส่วนต่อการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลไทยที่มีการจำกัดสิทธิด้วยมาตรการหลายอย่างที่ตัวกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวางและไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยกระบวนการทางศาลและยังยากในการที่ทำให้เกิดการรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและเยียวยาผู้เสียหาย ตอนนี้อำนาจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่ประชาชนและนักปกป้องสิทธิฯ ยังถูกลงโทษตามอำนาจที่กว้างขวางภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่ฉุกเฉินแล้ว” ปรานม ระบุ

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมคดีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 1 พ.ย.2565 ระบุว่ามีประชาชนถูกฟ้องดำเนินทั้งหมด 1,447 คน และศาลได้ยกฟ้องอย่างน้อยแล้ว 35 คดี  และอัยการสั่งไม่ฟ้องอีกอย่างน้อย 30 คดี และคดีที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดแล้วอย่างน้อย 12 คดี 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net