กลุ่มผู้ชุมนุมร้อง กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ตรวจสอบกรณีตำรวจสลายการชุมราษฎรหยุด APEC2022

กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สผ. รับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม เรียกร้องตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC2022 ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ - 'ชัชชาติ' ยืนยันเป็นกลางขออย่าโยงการเมือง ดูแลทุกคนเท่ากัน เผยมีข้อมูล CCTV แต่ไม่มีใครขอ กทม.จะไปเยี่ยมคนเจ็บ แต่ ตร.กลับบ้านหมดแล้ว

21 พ.ย. 2565 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยผู้แทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน รับหนังสือจาก นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 18 พ.ย. 2565 เพื่อขอให้ กมธ.พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565
        
โดย นายบารมี กล่าวว่า การชุมนุมในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่สังกัดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 ณ บริเวณลานคนเมือง ถนนดินสอ และอนุสาวรีย์ประซาธิปไตย กรุงเทพมหานคร ขณะเคลื่อนขบวนเพื่อเดินทางไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์สถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิค หรือ APEC ประจำปี 2022 โดยปรากฎข้อเท็จจริงว่า การสลายการชุมนุมดังกล่าวกระทำโดยที่ยังมิได้มีคำสั่งของศาลที่มีเขตอำนาจให้เลิกการชุมนุมตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 21 และขัดต่อหลักปฏิบัติสากลว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การใช้ปืนกระสุนยางยิงใส่ร่างกายส่วนบนของผู้ชุมนุม จนส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการทางการมองเห็น รวมถึงมีการประทุษร้าย จึงขอให้ กมธ.นำกรณีนี้เข้าสู่การพิจารณา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาข้อสรุปในการดำเนินการต่อกรณีดังกล่าวต่อไป โดยขอให้เชิญบุคคลดังต่อไปนี้เข้าร่วมการประชุมด้วย ประกอบด้วย 1.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2.ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 3.ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน 4.ผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติการสลายการชุมนุม 5.ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม และ 6.ตัวแทนสื่อมวลชนผู้บันทึกเหตุการณ์ และตัวแทนสื่อมวลชนผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุม
         
ด้าน ประธาน กมธ.กล่าวว่า การชุมนุมสาธารณะ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ กมธ.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในวันพฤหัสบดี ที่ 24 พ.ย. 2565 โดยจะเชิญกลุ่มผู้ร้องเรียน รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้รับความเสียหาย และผู้เกี่ยวข้องจากเหตุการณ์ชุมนุมในวันดังกล่าว ร่วมให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อ กมธ.เพื่อตรวจสอบหาผู้กระทำความผิดต่อไป

'ชัชชาติ' ยืนยันเป็นกลางขออย่าโยงการเมือง ดูแลทุกคนเท่ากัน 

มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 12.10 น. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการเปิดพื้นที่ลานคนเมืองให้มีการชุมนุม ในช่วงการประชุมเอเปค

นายชัชชาติกล่าวว่า ทาง กทม.ได้มีการหารือกับฝ่ายความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เห็นด้วย ซึ่งตั้งแต่มีการอนุญาตให้ใช้ลานคนเมืองเป็น 1 ใน 7 ที่ชุมนุมสาธารณะ มีคนขอใช้ทั้งหมด 36 ครั้ง 14 ครั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง และอีก 22 ครั้งเป็นการทำกิจกรรมต่างๆ

“ที่ผ่านมาเป็นพื้นที่ให้คนแสดงออกได้ จากที่สังเกตสามารถลดความขัดแย้งบนท้องถนน รวมถึงปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจน โดยใช้พื้นที่ลานคนเมืองเป็นพื้นที่แสดงความแตกต่าง และทำให้การวางแผนบริหารจัดการต่างๆ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยืนยันว่าสิ่งที่ทำได้คิดอย่างละเอียดแล้ว อาจจะมีปัญหากรณีที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวออกไปจากพื้นที่ แล้วเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า หาก กทม.ปฏิเสธการใช้พื้นที่ชุมนุม ก็สามารถทำได้ง่ายมาก แต่จะเป็นการโยนภาระให้คนอื่น คนต้องไปชุมนุมบนถนน ยิ่งสร้างปัญหาและการรับมือยากลำบากมากขึ้นยิ่งอีก แต่อาจมีข้อผิดพลาดขึ้นบ้าง ถือเป็นบทเรียนที่ต้องพัฒนาขึ้น ปัญหาคือผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ไปยื่นหนังสือ ในอนาคต กทม.อาจจะจัดให้ 2 ฝ่ายมาเจอกัน เช่น หากมีการประชุมที่มีตัวแทนจากต่างประเทศมา ก็เชิญมาเจอที่ลานคนเมือง หรือจัดตัวแทนของผู้ชุมนุมไปยื่นหนังสือให้กับคนที่อยากเจอ เพื่อลดความขัดแย้ง ส่วนประเด็นของข้อเรียกร้องยังไม่เห็นความชัดเจนว่าต้องการอะไร ทาง กทม.จะเป็นตัวกลางช่วยสรุปประเด็น และทำข้อเสนอให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม

“เชื่อว่าการมีพื้นที่ชุมนุมเป็นสัดเป็นส่วนเป็นเรื่องที่ดี ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดลดลง การปะทะกันน้อยลง เพราะมีพื้นที่เป็นสัดส่วน มีช่องให้หายใจได้ มีคนคอมเมนต์เยอะว่าไม่ควรเปิดพื้นที่ชุมนุมให้ ผมเชื่อว่าเป็นวิถีทางที่เราคิดละเอียดแล้ว” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นไปตามแนวคิดของการประชุมเอเปคในครั้งนี้คือ Open Connect Balance เรามีการเปิดพื้นที่ให้ เชื่อมโยงคนทุกคนไม่ว่าจะมีความเห็นแตกต่างกันอย่างไร และหาความสมดุลระหว่างผู้เห็นต่าง

เมื่อถามว่า ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) จะยื่นหนังสือกับทางกระทรวงมหาดไทยให้มีการตรวจสอบการชุมนุมครั้งนี้ นายชัชชาติกล่าวว่า หากจะมีผู้ตรวจสอบก็ยินดี เพราะเรามาตามระบอบประชาธิปไตย เราไม่กลัวการตรวจสอบอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า กรณีที่ กทม.มีการจัดรถสุขาเคลื่อนที่ไปให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ด้านหน้า สน.ทุ่งสองห้อง นายชัชชาติกล่าวว่า น่าจะเป็นการร้องขอ ถ้าเกิดห้องน้ำไม่พอจะสร้างความเลอะเทอะ สร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด

“ไม่ได้สนับสนุนผู้ชุมนุม ยืนยันว่าดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นอย่าไปโยงประเด็นถึงเรื่องการเมือง มองว่าทุกคนก็เป็นคนกรุงเทพฯ ผู้สนับสนุนการประชุมเอเปคจะมาชุมนุมเราก็ไม่ขัดข้องอะไร บางเรื่องก็อย่าเอาไปเป็นเรื่องประเด็นการเมือง เราอยู่ตรงนี้ด้วยความเป็นกลาง เราไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง เราเป็นอิสระ และเชื่อว่าสิ่งที่ทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของกรุงเทพฯ ถึงแม้จะมีการกระทบกระทั่งกัน แต่ก็ไม่ได้บานปลายไปจนถึงกระทบกระเทือนต่อการประชุมเอเปค นี่คือยุทธศาสตร์ที่เราพยายามวางไป….ไม่ได้สนับสนุนม็อบอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดอยู่แล้ว เรายืนตรงนี้เป็นกลาง อย่าเอาไปโยงเป็นเรื่องการเมืองอะไร เราทำงานเมืองอยู่ เราดูแลงานเมืองให้เรียบร้อยที่สุด” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนของการดูแลผู้ชุมนุมผู้ที่ถูกจับกุมนั้น เป็นเรื่องของตำรวจในการให้ประกันตัว ในส่วนของ กทม.มีข้อมูลจากกล้อง CCTV แต่ไม่มีใครร้องขอมา ซึ่งได้มีการถามกับ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. ว่าจะมีการช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 ฝั่ง จะมีการไปเยี่ยม แต่ทางตำรวจกลับบ้านหมดแล้ว และทางผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา ทางแพทย์ยังไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม

“อยู่ตรงนี้ถือว่าเป็นผู้ว่าฯของทุกคน เราดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร เพราะผมต้องรับใช้ทุกคน หน้าที่เราคือประคองสถานการณ์การประชุมเอเปคให้เรียบร้อย ไม่ให้มีผลกระทบต่อการประชุม เชื่อว่าที่ผ่านมาเราทำได้ดีในระดับหนึ่ง มีพื้นที่ให้คนแสดงออกได้ เราเป็นตัวแทนของคนกรุงเทพฯ 5 ล้านคนไม่ใช่ตัวแทนของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” นายชัชชาติกล่าว

เมื่อถามว่า ในอนาคตหากมีผู้ชุมนุมมาขอใช้พื้นที่ตรงนี้ แล้วมีการออกนอกพื้นที่ จะทำอย่างไร นายชัชชาติกล่าวว่า พื้นที่สาธารณะตรงนี้ตามหลักแล้วไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่แจ้งให้ทราบ ตามกฎหมายอนุญาตให้คนมาแสดงออกแล้ว แต่อย่าให้เกิดความรุนแรง ต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่พูดไม่ให้ผิดกฎหมาย ส่วนการไม่อนุญาตให้ค้างคืน เพราะไม่อยากให้กิจกรรมไปรบกวนคนแถวนี้ แต่ถ้าเกิดค้างคืน แล้วเราไปไล่ออกนอกพื้นที่ ก็จะอาจจะกระทบต่อการประชุมเอเปค เป็นเรื่องที่พิจารณางานต่องาน

“หลักการเราให้เกียรติซึ่งกันและกัน เราคงไม่ได้เอากฎหมายมาถือมาไล่จับคน เราให้เกียรติคนมาแสดงความคิดเห็น เราก็หวังจะได้รับเกียรตินั้นกลับคืนมา สิ่งที่เกิดขึ้นคงต้องมาทบทวนกับฝ่ายความมั่นคง ว่าพื้นที่ตรงนี้มีอะไรต้องปรับปรุงหรือไม่” นายชัชชาติกล่าว

มติชนออนไลน์ ยังรายงานอีกว่าในตอนหนึ่ง นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนของการดูแลผู้ชุมนุมผู้ที่ถูกจับกุมนั้น เป็นเรื่องของตำรวจในการให้ประกันตัว ในส่วนของ กทม.มีข้อมูลจากกล้อง CCTV แต่ไม่มีใครร้องขอมา ซึ่งได้มีการถามกับ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. ว่าจะมีการช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 ฝั่ง จะมีการไปเยี่ยม แต่ทางตำรวจกลับบ้านหมดแล้ว และทางผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา (พายุ ดาวดิน) ทางแพทย์ยังไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม (อ่านข่าว งดเยี่ยม ‘พายุ’ เหยื่อกระสุนยาง ยังมีน้ำตาผสมเลือด ปวดแผล อ่อนเพลีย)

“อยู่ตรงนี้ถือว่าเป็นผู้ว่าฯของทุกคน เราดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร เพราะผมต้องรับใช้ทุกคน หน้าที่เราคือประคองสถานการณ์การประชุมเอเปคให้เรียบร้อย ไม่ให้มีผลกระทบต่อการประชุม เชื่อว่าที่ผ่านมาเราทำได้ดีในระดับหนึ่ง มีพื้นที่ให้คนแสดงออกได้ เราเป็นตัวแทนของคนกรุงเทพฯ 5 ล้านคนไม่ใช่ตัวแทนของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” นายชัชชาติกล่าว

เมื่อถามว่า ในอนาคตหากมีผู้ชุมนุมมาขอใช้พื้นที่ตรงนี้ แล้วมีการออกนอกพื้นที่ จะทำอย่างไร นายชัชชาติกล่าวว่า พื้นที่สาธารณะตรงนี้ตามหลักแล้วไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่แจ้งให้ทราบ ตามกฎหมายอนุญาตให้คนมาแสดงออกแล้ว แต่อย่าให้เกิดความรุนแรง ต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่พูดไม่ให้ผิดกฎหมาย ส่วนการไม่อนุญาตให้ค้างคืน เพราะไม่อยากให้กิจกรรมไปรบกวนคนแถวนี้ แต่ถ้าเกิดค้างคืน แล้วเราไปไล่ออกนอกพื้นที่ ก็จะอาจจะกระทบต่อการประชุมเอเปค เป็นเรื่องที่พิจารณางานต่องาน

“หลักการเราให้เกียรติซึ่งกันและกัน เราคงไม่ได้เอากฎหมายมาถือมาไล่จับคน เราให้เกียรติคนมาแสดงความคิดเห็น เราก็หวังจะได้รับเกียรตินั้นกลับคืนมา สิ่งที่เกิดขึ้นคงต้องมาทบทวนกับฝ่ายความมั่นคง ว่าพื้นที่ตรงนี้มีอะไรต้องปรับปรุงหรือไม่” นายชัชชาติกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท