Skip to main content
sharethis

ผู้ลี้ภัยการเมืองชุมนุมที่ปารีส ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลฝรั่งเศส แจงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะการใช้ ม.112 การบังคับสูญหาย และการสลายการชุมนุมเอเปค หวังสนับสนุนการเคลื่อนไหวในประเทศ


26 พ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วานนี้ (25 พ.ย.) ที่บริเวณหน้าโบสถ์แซงก์ออกุสติน กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเวลา 15.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในฝรั่งเศสรวมตัวกันชุมนุม และยื่นหนังสือถึง เอมมานูเอล มาครง ในฐานะประธานคณะมนตรียุโรปที่ไปร่วมประชุมเอเปค และประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพื่อชี้แจงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขอให้ฝรั่งเศสช่วยสนับสนุนประเด็นสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในไทย 

บรรยากาศการชุมนุม

หนังสือกล่าวถึง 'เอมมานูเอล มาครง' ในฐานะประธานคณะมนตรียุโรป เข้าร่วมประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีการพูดถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในไทย

ในหนังสือของผู้ลี้ภัยการเมือง มีการแจกแจงปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทยในประเด็นต่างๆ อาทิ การสลายการชุมนุมม็อบ18พฤศจิกา65 การดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน และการบังคับสูญหายนับตั้งแต่ คสช.ทำรัฐประหารปี 2557 

หนังสือระบุว่า ขณะมีประชุม รัฐบาลไทยโดยกองกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนปฏิบัติการขัดขวางทำร้ายร่างกาย ยิงปืนกระสุนยาง ทุบตี และจับกุมประชาชนไทยผู้เดินขบวน 'ม็อบราษฎรหยุด APEC2022' ไปยื่นหนังสือ ได้รับบาดเจ็บนับสิบคน ถึงกับตาบอดคนหนึ่ง

หนังสือของผู้ลี้ภัยการเมือง ระบุต่อว่า มันไม่ใช่เพียงแค่การปราบปรามรุนแรงจากตำรวจที่เกิดต่อเนื่องมา 3 ปีเท่านั้น หากยังปราบปรามด้วยกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีบทลงโทษสูง 3 ถึง 15 ปี 

ข้อความในหนังสือระบุต่อว่า ผู้ที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และประท้วงรัฐบาลเผด็จการ ต้องหลบหนีมาประเทศเพื่อนบ้าน และหลายคนต้องเผชิญชะตากรรมถูกบังคับสูญหาย ทำให้หลายคนต้องลี้ภัยมาที่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องดังกล่าว

หนังสือทิ้งท้ายด้วยการขอบคุณที่ประเทศฝรั่งเศส ที่รับผู้ลี้ภัยการเมืองไทยและให้คนไทยมาอยู่อาศัย และหวังว่าฝรั่งเศสจะส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

สำหรับบรรยากาศการชุมนุม มีผู้ลี้ภัยการเมืองหลายรายมาชูป้ายเขียนด้วยมือเป็นข้อความภาษาฝรั่งเศสต่างๆ

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นการสลายม็อบ18พฤศจิกา65 ขบวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม ‘ราษฎรหยุด APEC2022’ ทำกิจกรรมเดินขบวนจากลานคนเมืองไปที่ที่ประชุม APEC ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือถึงตัวแทนเอเปคชาติต่างๆ แต่ระหว่างเดินอยู่ที่ถนนดินสอ ได้ถูกตำรวจควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. ทำการสกัด และใช้กำลังทำร้ายและใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน อาทิ โล่-กระบอง และแก๊สน้ำตา เข้าสลายการชุมนุม จนทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงสื่อมวลชนอย่างน้อย 4 ราย นอกจากนี้ 1 ในผู้ได้รับบาดเจ็บ ‘พายุ บุญโสภณ’ นักกิจกรรมรณรงค์สิทธิที่ดิน ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนถึงขั้นพิการการมองเห็น

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อ 18 ก.ค. 2563-31 ต.ค. 2565 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อย่างน้อย 1,864 คน จากจำนวน 1,145 คดี ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ขณะที่คดีประมวลอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยมีโทษจำคุก 3-15 ปี มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 220 คน ใน 239 คดี 

นอกจากนี้ นับตั้งแต่คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) นำโดย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกบังคับสูญหาย จำนวน 6 คน โดยกรณีล่าสุด คือเมื่อ มิ.ย. 2563 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หายตัวไปจากที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ล่าสุดยังไม่ทราบชะตากรรม 

ทำไมต้องยื่นหนังสือถึง ‘มาครง’

จรัล ดิษฐาภิชัย ประธานสมาคมผู้รักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน และเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวถึงการยื่นหนังสือและการชุมนุม เพราะต้องการเปิดโปงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยให้ประเทศฝรั่งเศสได้รับทราบ และแม้ว่ามาครง จะไปร่วมประชุมเอเปค ในฐานะประธานมุขมนตรียุโรป และไม่ใช่สมาชิกเอเปค แต่ก็ควรรับรู้และรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกห้องประชุม โดยเฉพาะเหตุการณ์การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงม็อบ18พฤศจิกา65 จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย

อนึ่ง จรัล ระบุว่า โดยขั้นตอน การไปยื่นหนังสือถึงประธานาธิบดีไม่สามารถยื่นกับมือได้ โดยต้องส่งไปรษณีย์ หรืออีเมล หรือใช้วิธีการชุมนุมและยื่นหนังสือขึ้นไป นอกจากนี้ ตำรวจะไม่ให้ประชาชนไปชุมนุมหน้าทำเนียบประธานาธิบดี แต่จะให้ไปชุมนุมบริเวณใกล้ๆ แทน ขณะที่ประเทศไทย ผู้ชุมนุมยังคงสามารถไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ ซึ่งตำรวจฝรั่งเศสแนะนำให้ชุมนุมบริเวณที่แซงก์ออกุสติน ซึ่งห่างจากทำเนียบประธานาธิบดีราว 1 กิโลเมตร

ประธานสมาคมผู้รักประชาธิปไตยฯ กล่าวถึงการชุมนุมวันนี้มีการเตรียมโปสเตอร์ไปชู ปรากฏหลายข้อความ เช่น 'คุณมาครง ที่คุณไปจับไม้จับมือมา ที่คุณไปคุยมาเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม เขาไม่ได้เป็นรัฐบา่ลประชาธิปไตยเหมือนฝรั่งเศส' 'ยกเลิก 112' หรือ 'ยกเลิกระบอบ'

สำหรับความคาดหวัง ประธานสมาคมผู้รักประชาธิปไตยฯ เผยว่าเขาอยากให้การชุมนุมเหมือนเป็นการประสานหนุนช่วยกับการเคลื่อนไหวในประเทศ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มาชุมนุมในช่วงเอเปค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งจรัล ชี้ด้วยว่าการประชุมเอเปค ไม่เหมือนการประชุมที่อื่นๆ ที่ไม่มีพื้นที่ให้ภาคประชาชน ซึ่งต่างจากการประชุมของธนาคารโลก ASEM COP27 ที่มีเวทีภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม คู่ขนานไปกับผู้นำประเทศ

กรณีที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการยื่นหนังสือ เนื่องจากประธานนาธิบดี มาครง เคยใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมของเสื้อกั๊กเหลือง จนทำให้มีผู้พิการการมองเห็น หรือถูกระเบิด แต่จรัล มองว่า เขาไม่ได้ไปเพื่อขอร้องให้มาครง ให้ช่วยประเทศไทย แต่ต้องการไปบอกข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย และเขาย้ำว่าการประท้วงครั้งนี้ไม่ได้ไปประท้วงมาครง กลับกัน เป้าหมายจริงๆ คือที่รัฐบาลไทยมากกว่า

ท้ายสุด จรัล กล่าวในฐานะประธานผู้ลี้ภัยประชาธิปไตยไร้พรมแดนว่า อยากให้รัฐบาลฝรั่งเศสตระหนักและสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย และดูแลปกป้องไม่ให้คนไทยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนนี้จะส่งผลดีโดยอ้อมต่อประเทศฝรั่งเศส 

"ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน ก็จะไม่มีคนมาอยู่ฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศสวันนี้ก็มีการสำรวจความคิดเห็นกันว่า ฝรั่งเศส รับพวกเข้าเมือง 'migrant' มากเกินไป ก็คงจะหลายล้าน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดประเทศต่างๆ เคารพประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มันก็จะเป็นประโยชน์เรื่องการเมืองทำมาค้าขาย มันก็จะเป็นประโยชน์คือประเทศยุโรป ไม่ต้องรับผู้ลี้ภัย"

 

"มันเป็นผลประโยชน์ที่อาจจะมองไม่เห็น และอาจไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่ว่าถ้าประเทศไทย เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลเคารพสิทธิมนุษยชนแล้ว มันก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศฝรั่งเศสด้วย" จรัล ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net