Skip to main content
sharethis

คปช.53 นำโดย ธิดา แกนนำ นปช.และทีมทนายความเสนอแนวทางในการผลักดันคดีผู้เสียชีวิตจากสลายชุมนุมปี 53 เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนำคนผิดมาลงโทษ พร้อมทวงถามพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้มีนโยบายในเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้และลงนามใน ICC

10 ธ.ค.2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ คณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 หรือ คปช.53 จัดเวทีแถลงจ่าวแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มเพื่อติดตามและผลักดันให้คดีของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์สลายชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เมื่อปี 2553 ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ธิดา ถาวรเศรษฐ์แกนนำ นปช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของ คปช.53 ว่าการทำให้ความจริงของเหตุการณ์ครั้งนั้นปรากฏและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถูกเบี่ยงเบนและหยุดชะงักไปตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดในเวลานั้นลอยนวลพ้นผิด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประจานประเทศไทยต่อนานาประเทศอย่างมาก

คปช.จึงหวังที่จะติดตามและทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น ที่ปัจจุบันมีเพียง 30 รายที่เข้าสู่การไต่สวนการตายของศาล และยังเหลืออีกกว่า 60 รายที่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีกทั้งคดีของผู้เสียชีวิต 30 รายก็ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาคดีอาญาเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด คปช.จึงต้องการติดตามและผลักดันให้คดีของพวกเจาเจ้าสู่กระบวนการยุติธรรมในประเทศและศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC ให้ได้เพื่อยุติการลอยนวลพ้นผิดของเจเาหน้าที่ที่ ออกมาเข่นฆ่าประชาชนมือเปล่า

ธิดา ถาวรเศรษฐ ภาพโดย กันต์ แสงทอง

แกนนำ นปช.กล่าวว่า คปช.จะประกอบด้วยญาติของผู้เสียชีวิต คนเสื้อแดงที่ต้องการความยุติธรรม เครือข่ายทนายความที่ให้ความข่วยเหลือทางคดีแก่คนเสื้อแดงมาตลอด นักวิชาการและองค์กรที่ให้ความช่วยเหลิฝือแก่ผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่ปี 2553 และแนวร่วมอื่นๆ ที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิต

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของ คปช. ธิดาระบุว่า มีทั้งหมด 8 ข้อคือ

  1. รวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตทั้งที่เข้าสู่กระบวนการไต่สวนการตายแล้วและที่ยังไม่เข้าเพื่อเรียกร้องให้คดีของคนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นต้น
  2. มีคณะศึกษาการดำเนินคดีโดยใช้กระบวนการภายในประเทศเพื่อให้การดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองเดินหน้าไปได้
  3. ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายให้สามารถนำทหารที่กระทำความผิดกับพลเรือนเข้าสู่การพิจารณาในศาลยุติธรรมแทนการใช้ศาลทหาร
  4. รวบรวมคดีของคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมดำเนินคดีแต่ศาลกลับมีคำพิพากษายกฟ้องในภายหลังเช่น คดีของกลุ่มชายชุดดำที่ถูกจับกุมคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีแต่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวหลังกศาลยกฟ้อง เพื่อให้พวกเขาได้รับการเยียวยาและรื้อฟื้นคดีที่กระบวนการพิจารณาไม่เป็นธรรม
  5. รวบรวมข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เพื่อยื่นเรื่องต่อ ICC ซึ่งแนวทางมีดังนี้
  6. เรียกร้องต่อพรรคการเมืองและสังคมไทยเพื่อผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการแก้ไขกฎหมายเพียงแค่มีนักการเมืองที่เซนชื่อรับรองให้ ICC เข้ามาพิจารณาเฉพาะคดีนี้ได้เพราะไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศใดๆ
  7. เรียกร้องพรรคการเมืองผลักดันแก้ไขกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาต่างๆ ร่วมถึงธรรมนูญกรุงโรมด้วย ซึ่งธิดาย้ำว่าการแก้ไขกฎหมายนี้ไม่ได้กระทบต่อมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญของไทยแต่อย่างใด
  8. เสนอให้พรรคการเมืองตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อชำระคดีความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2553 เพื่อไม่ให้ทิศทางของคีดไม่เปลี่ยนไปมาตามผู้มีอำนาจที่เข้ามามีอำนาจในแต่ละช่วงเวลา

แกนนำ นปช.ย้ำถึงพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยว่า ในช่วงใกล้การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ พรรคการเมืองจะต้องชัดเจนว่ามีนโยบายและผลักดันให้คดีของผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำในระยะสั้นและดำเนินการผลักดันตามข้อ 5-7 ที่ต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นเรื่องในระยะยาวต่อไป รวมถึงฝากประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งช่วยกันทวงถามกับนักการเมืองในพื้นที่ของตัวเองว่าจะมีการผลักดันในเรื่องเหล่านี้หรือไม่

ธิดากล่าวถึงกำหนดการหลังจากนี้ว่าเบื้องต้นทาง คปช.จะเดินทางไปทวงถามกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุต่างๆ เพื่อเร่งรัดคดี โดยขอให้ติดตามทางแฟนเพจของ คปช.ต่อไปว่าจะดำเนินการเมื่อใด

ภาพโดย กันต์ แสงทอง

โชคชัย อ่างแก้ว ตัวแทนทนายความที่เข้าร่วม คปช. และในฐานะทนายความที่ช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้เสียวิตจากเหตุการณ์กล่าวว่าหลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 วันนี้ก็เป็นเวลา 12 ปีแล้วและการรวมตัวกันครั้งนี้เป็นการต่อสู้ครั้งใหม่ของคนเสื้อแดงซึ่งเป็นประเด็นหลัก เขาที่เป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในการทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดง นอกจากการสูญเสียของคนเสื้อแดงแล้วผู้เสียชีวิตที่มีรายชื่อในอนุสรณ์สถานแห่งนี้ก็ล้วนต่อสู้เพื่อประเทศชาติและสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ก็เป็นการทำเพื่อชาติบ้านเมืองเหมือนกันภายในกรอบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและเขาจะทำให้ถึงที่สุด

วิรุฬห์ พื้นแสน กล่าวในฐานะที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทยว่า ในคดีอาญาของพี่น้องที่เสียชีวิตไปเราได้ประสานกับพนักงานสอบสวนและทำให้บางคดีเข้าสู่ศาลได้แล้ว แม้ว่าจะยังมีคดีของผู้เสียชีวิตอีกกว่าครึ่งที่ยังไม่ไดรับการไต่สวนที่ตอนนี้ก้น่าจะต้องรื้อฟื้นขึ้นมาเข้าสู่การไต่สวนการตายและส่วนที่มีการไต่สวนไปแล้วก็นำเข้าสู่คดีอาญาต่อไปเพื่อหาผู้กระทำผิดทางอาญาไม่ว่าจะเป็นระดับบนหรือล่าง

เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวว่า คปช.นี้เป็นก้าวแรกของการหยุดไม่ให้ทหารมาเข่นฆ่าประชาชนไทยอีกต่อไป และประชาชนไทยทั้งประเทศต้องสามัคคีกันไม่ให้ฝ่ายผู้มีอำนาจและอนุรักษ์นิยมใช้ทหารมาฆ่าประชาชนเพราะถ้าทำไม่สำเร็จก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกเพราะผู้มีอำนาจสามารถทำได้โดยไม่สนใจชีวิตของประชาชน และยังต้องเอาพวกนักรัฐประหารมาลงโทษตามกฎหมายด้วย

เหวงยังย้ำให้คนเสื้อแดงช่วยกันถามย้ำกับนักการเมืองที่ตัวเองจะเลือกให้ร่วมกันผลักดันนโยบายของพรรคการเมืองในการหยุดการใช้ทหารออกมาเข่นฆ่าประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องด้วยมือเปล่าอีกหรือไม่และจะผลักดันให้คดีของผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมปี 2553 เดินหน้าด้วยหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net