Skip to main content
sharethis

'ประชาธิปัตย์' แนะ 3 แนวทางขึ้นค่าแรงอย่างยั่งยืน พร้อมเสนอหลักคิด 'ค่าจ้างเพื่อชีวิต' - 'พรรคเสมอภาค' ชี้ค่าแรง 600 บาท ทำได้เมื่อเศรษฐกิจเติบโตทั้งระบบ - 'นฤมล' ชูนโยบายด้านแรงงาน 'สร้าง ยก ให้' ก้าวข้ามค่าแรงขั้นต่ำ


ที่มาภาพประกอบ: sommerfelder (Pixabay License)

11 ธ.ค. 2565 Voice online รายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทว่า การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ประกาศโดยพรรคการเมืองต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่ละครั้งส่งผลทั้งด้านบวก ด้านลบ หลายมิติ โดยปกติการขึ้นค่าแรงย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานต้องการเป็นพื้นฐาน ขณะที่ผู้ประกอบการมักจะมีความเห็นไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน

โดยทั่วไป ค่าแรงขั้นต่ำ กำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างที่มี 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง การคิดค่าจ้างขั้นต่ำจะดูจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยอาจพิจารณาเพิ่มเติมด้วยอัตราสมทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี

หลักคิดของการขึ้นค่าแรง ควรจะพิจารณาจากรายได้ที่เพียงพอต่อการดูแลครอบครัวคือรวมคู่สมรสและบุตรอีก 1-2 คน จึงจะถือว่าคำนึงถึงการมีชีวิตที่พออยู่ได้ของแรงงานอันเป็นเป้าหมายหลักของหลักคิด “ค่าจ้างเพื่อชีวิต”

อย่างไรก็ดีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรอยู่บนพื้นฐาน 3 ประการคือ

1.ต้องบริหารราชการให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ มีอัตราการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2.ต้องพัฒนาศักยภาพของผู้ใช้แรงงานทุกระดับอย่างจริงจัง โดยเน้นพัฒนาทักษะที่ผู้ประกอบการต้องการโดยเฉพาะการทำหน้าที่ที่ใช้ฝีมือ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยทุกประเภท

3.ต้องขจัดการทุจริต คอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง เพื่อทำให้นักธุรกิจ ผู้ประกอบการเอกชน ไม่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ จ่ายค่าหัวคิว หักเปอร์เซ็นต์ จะได้นำเงินจากการจ่ายใต้โต๊ะมาจ่ายเป็นค่าแรงงานเพิ่มขึ้นได้

การดำเนินการบนพื้นฐาน 3 ประการนี้ หากทำให้เกิดผลสำเร็จได้เท่าไหร่ก็จะทำให้เราสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ผู้ใช้แรงงานได้เพิ่มมากขึ้น อันเป็นเป้าหมายของทุกพรรคการเมืองที่อยากเห็นแรงงานไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น

'พรรคเสมอภาค' ชี้ค่าแรง 600 บาท ทำได้เมื่อเศรษฐกิจเติบโตทั้งระบบ

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านางรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค แสดงความคิดเห็นกรณีมีฝ่ายการเมืองเสนอนโยบายจะขึ้นค่าแรงวันละ 600 บาทว่า สามารถทำได้เมื่อผู้ประกอบการ บริษัท ห้างร้าน กิจการร้านค้ารายใหญ่รายย่อยทุกประเภทมีรายได้มีกำไรเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกวันนี้ ก็ควรจะเกื้อกูลแบ่งปันผลกำไรให้แก่ลูกจ้างที่เป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของนายจ้างซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-5 ปีฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันนี้รายได้และรายจ่ายไม่สัมพันธ์กันเลย เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคก็ขึ้นราคาสร้างความยากลำบากให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ดังนั้นการเสนอนโยบายเพิ่มค่าแรงเป็นวันละ 600 บาทขึ้นไป ต้องช่วยเหลือฝ่ายนายจ้างให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างแข็งแรงมั่นคง อย่าปั้นแต่งสถิติตัวเลขที่สวนทางกับความเป็นจริงจะทำให้เศรษฐกิจพังทั้งระบบ เพราะการประกาศขึ้นค่าแรงแล้วจะไม่สามารถลดค่าแรงลงได้ ประกอบกับสินค้าอุปโภคบริโภคทุกอย่างก็มีความจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นตามค่าแรงเป็นเงาตามตัว

นางรฎาวัญ กล่าวอีกว่า ฝ่ายนโยบายของพรรคเสมอภาคได้พิจารณานโยบายด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และสังคมไทยมีการเกิดลดลงประชากรวัยทำงานก็จะลดลงตามไปด้วย ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นจะต้องพัฒนายกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทย(Skilled Labour) ให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนจากต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นและสามารถส่งออกแรงงานมีฝีมือเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วโลกด้วย นอกเหนือจากการปรับตัวให้สอดคล้องกับกิจการที่จะหันไปใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI แทนแรงงานซึ่งจะใช้แรงงานที่มีทักษะเท่านั้น นอกจากนี้ก็ต้องไม่ละทิ้งแรงงานทั่วไป( Unskilled Labour) ที่ไทยเรายังต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก

ส่วนการป้องกันปัญหาการแย่งชิงคนเก่งด้วยการซื้อตัวพนักงานลูกจ้างที่มีทักษะฝีมือแรงงานสูง (War for Talent) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยตรง ก็ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ให้มีความรับผิดชอบต่อกัน (Civil Society) ของทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างด้วย

"สำหรับนโยบายที่จะฟื้นเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบได้นั้นพรรคเสมอภาคมองว่า รัฐบาลจะต้องช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย โดยเฉพาะการลดต้นทุนด้านพลังงานทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าซึ่งรัฐบาลนี้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 14% สร้างภาระให้แก้ผู้ประกอบการและประชาชนทุกคน พรรคเสมอภาคมั่นใจว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจคุณค่าจากฐานรากด้วย 5 ฟันเฟืองของพรรคเสมอภาคจะสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนแทบทุกสาขาอาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรมและประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยจะต้องผลักดันให้ฟันเฟืองแรกหมุนเคลื่อนได้ นั่นก็คือส่งเสริมสนับสนุนการเกษตรปลอดภัย เกษตรอุตสาหกรรมและทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือเกษตรกรมีสิทธิร่วมกำหนดราคาขายคู่กับพ่อค้าได้ตามกฎหมาย พรรคเสมอภาคได้ร่างกฎหมายไว้แล้ว รายได้จะสะพัดเข้าสู่ฟันเฟืองที่ 2+3+4 คือ กลุ่มSMEs กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ส่งออก และรายได้จะไหลเข้าสู่ระบบการคลังของประเทศ เศรษฐกิจก็จะฟื้นทันที รัฐบาลก็จะมีรายได้จำนวนมากมาจัดสรรเป็นสวัสดิการประชาชนได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมทั่วถึงและยุติธรรม ถ้าได้โอกาสเป็นรัฐบาลพรรคเสมอภาคเราทำได้จริง" นางรฎาวัญ กล่าว

'นฤมล' ชูนโยบายด้านแรงงาน 'สร้าง ยก ให้' ก้าวข้ามค่าแรงขั้นต่ำ

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าวันที่ 10 ธ.ค. ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ Facebook ส่วนตัว ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ระบุถึงประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้างถึงเรื่องค่าแรง ซึ่งควรพิจารณาให้ดีว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ควรเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ซึ่งคงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันในหลายภาคส่วน ภายใต้เงื่อนไขว่า สงคราม รัสเซีย ยูเครน หรือ สงครามการค้าจะทุเลาความขัดแย้งลง เรื่องค่าแรง ปัจจุบันก็มีบางอาชีพที่ได้ค่าแรงเกิน 600 ต่อวันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาดแรงงาน ที่แรงงานคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เราไม่ควรจะถกเถียงกันที่ตัวเลขขั้นต่ำ เพราะมันฉาบฉวย แต่เราควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานให้ทักษะ มีฝีมือ มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรือ New S-curve นโยบายด้านแรงงานที่ไม่ฉาบฉวย คือ “สร้าง ยก ให้” เพื่อเร่งพัฒนาคุณภาพฝีมือและคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สร้างการสร้างคุณภาพของคนในชุมชน ด้วยการเตรียมความพร้อมทักษะฝีมือเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในช่วงเปราะบาง และต้องพยายามผลักดันคนในชุมชน เพื่อดันคนในชุมชนออกไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ และหารายได้เสริม

ยกการยกระดับแรงงานเป้าหมายให้เป็นแรงงาน ที่เป็นฐานเศรษฐกิจคุณภาพ ต้องยกระดับคนในแต่ละชุมชนให้มีความรู้ และทักษะแรงงานตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือแรงงานให้การให้โอกาสกับกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในแต่ละชุมชน เข้าถึงการพัฒนาฝีมือไม่ว่าจะด้านใดก็ตามให้เหมาะกับคนในชุมชนกลุ่มนั้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานได้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่างๆ หากแรงงานมีทักษะ ก็จะมีทางเลือก มีอาชีพ และก็จะมีรายได้ที่สามารถจุนเจือครอบครัว ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท้ายสุดคือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวของคนไทยทั้งแผ่นดิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net