Skip to main content
sharethis

ประชาไท ประมวลนโยบายค่าแรงขั้นต่ำของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี’62 จนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ละพรรคเคยเสนอค่าแรงขั้นต่ำที่เท่าไรบ้าง ตลอดจนชวนไปส่องข้อเสนอค่าแรงขั้นต่ำจากสหภาพแรงงาน และคณะทำงานฯ กมธ.การแรงงาน เคยเสนออย่างต่ำ 723 บาทต่อวัน บนหลักการค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต 

ส่องค่าแรงขั้นต่ำนับตั้งแต่ปี’56-65

ย้อนดูการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนับตั้งแต่ปี 2556-2565 โดยเมื่อปี 2555 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 จากพรรคเพื่อไทย เคยสร้างเสียงฮือฮา ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากก่อนหน้าอยู่ที่ 159-221 บาทต่อวัน บาท เป็น 300 บาท โดยมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ 1 ม.ค. 2556 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยใช้ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ จากก่อนหน้านี้ค่าแรงขั้นต่ำจะมีหลายอัตราขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ค่าครองชีพ เศรษฐกิจ และอื่นๆ ของแต่ละจังหวัด และเป็นการทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 จากพรรคเพื่อไทย

หลังจากนั้น หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี’57 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีการยกเลิกระบบค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ และเปลี่ยนมาใช้อัตราค่าจ้างตามจังหวัด หรือแต่ละจังหวัดจะมีค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากัน โดยจะมีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ราคาสินค้า และอื่นๆ 

เมื่อปี 2559 มีการปรับเงินค่าแรงขั้นต่ำแบ่งเป็น 4 อัตรา ได้แก่ 300 บาท 305 บาท 308 บาท และสูงสุดคือ 310 บาท โดยมีจังหวัดที่ค่าแรงปรับเยอะสุด 310 บาทต่อวัน คือ กรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล และภูเก็ต เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2560

ต่อมา เมื่อ มี.ค. 2561 มีการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ครั้งนี้แบ่งเป็น 7 อัตรา ได้แก่ 308 บาท 310 บาท 315 บาท 318 บาท 320 บาท 325 บาท และ 330 บาท โดยมีผลบังคับใช้ เมื่อ 1 เม.ย. 2561 โดยกลุ่มจังหวัดที่ได้รับการปรับค่าจ้างสูงสุด หรือ 330 บาท ได้แก่ ชลบุรี รองลงมาคือ 325 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล และฉะเชิงเทรา  

ถัดมา หลังการเลือกตั้งปี 2562 และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นรัฐบาล มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด 2 ครั้ง คือเมื่อ ปี 2563 และปี 2565 

ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง (ฉบับที่ 10) เรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อ 6 ธ.ค. 2562 มีการปรับขั้นจ้างขั้นต่ำตามแต่ละจังหวัด 10 อัตรา ได้แก่ 313 บาท 315 บาท 320 บาท 323 บาท 324 บาท 325 บาท 330 บาท 331 บาท 335 บาท และมากที่สุด 336 บาท โดยมีผลบังคับใช้เมื่อเดือน ม.ค. 2563 กลุ่มจังหวัดที่ได้ปรับค่าแรงเยอะสุดคือ ชลบุรี และภูเก็ต รองลงมา 335 บาท คือ ระยอง ขณะที่จังหวัดที่ปรับเพิ่มน้อยที่สุดคือ 313 บาท ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา บังคับใช้ 1 ม.ค. 2563

หลังจากนั้นผ่านไปกว่า 2 ปี เมื่อ 20 ก.ย. 2565 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง (ฉบับที่ 11) เรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำ มีการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำโดยคำนวณตามการเพิ่ม GDP ในแต่ละจังหวัด และภาวะเงินเฟ้อ แบ่งเป็น 9 อัตรา กลุ่มจังหวัดที่ปรับเพิ่มมากสุด คือ 354 บาท ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง เพิ่มเป็น 353 บาทต่อวัน ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับเพิ่ม 345 บาท คือฉะเชิงเทรา รองลงมาคือ 343 บาท 340 บาท 338 บาท 335 บาท 332 บาท และ 328 บาท ตามลำดับ ทั้งหมดปรับเพิ่มเฉลี่ย 5.02 เปอร์เซ็นต์ และเริ่มบังคับใช้ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา

ย้อนส่องนโยบายหาเสียงเลือกตั้งปี’62 พรรคการเมืองแต่ละพรรคเคยเสนอนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่เท่าไร

พรรคฝ่ายรัฐบาล

‘พปชร.’ ดันค่าแรงแรงงานมีฝีมือ เพิ่มเป็น 400-425 บาท ภายใน 3 ปี 

ย้อนไปการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เคยหาเสียงว่าจะดันค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานมีฝีมือ (Skilled Labour) 400-425 บาทต่อวันภายใน 3 ปี ขณะที่ค่าแรงของอาชีวะ เริ่มที่ 18,000 บาทต่อเดือน และเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี เริ่ม 20,000 บาทต่อเดือน 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมัย พปชร.จะมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 2 ครั้ง แต่ดำรงวาระจนจะหมดสมัยในปี 2566 ก็ยังไม่เห็นวี่แววที่นโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มถึง 425 บาทตามที่เคยหาเสียง 

‘ประชาธิปัตย์’ เสนอประกันรายได้ 1.2 แสนต่อปี-พรรคประชานิยม เสนอ 360 บาททั่วประเทศ

ในศึกการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้นนำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีการเสนอการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพียงเสนอนโยบายประกันค่าแรงขั้นต่ำ 120,000 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 400 บาทต่อวัน ยกตัวอย่าง หากพื้นที่ไหนคนทำงานได้ค่าแรงไม่ถึง 400 บาทต่อวัน รัฐจะช่วยชดเชยส่วนต่างให้จนครบ สมมติแรงงานได้เงินจากนายจ้าง 300 บาท รัฐจะชดเชยเติมให้ 100 บาท จนครบ 400 บาทต่อวัน ซึ่งนายจ้างจะไม่ต้องรับภาระในส่วนนี้   

รายงานของคณะทำงานฯ กมธ.การแรงงาน ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นโยบายนี้จะไม่ได้ครอบคลุมแรงงานทุกคน เพราะการได้รับสิทธิเงินส่วนต่างนี้ก็ต่อเมื่อเป็นผู้จดทะเบียนกับภาครัฐ เช่น เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ดังนั้น ถ้าเป็นแรงงานนอกระบบ จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ที่มีรายได้เดือนละ 1 หมื่นบาท หรือต่ำกว่าจะได้สิทธินี้ หรือใครก็ตามที่มีรายได้ไม่ต่อเนื่องก็สามารถได้รับสิทธินี้ เช่น ผู้ว่างงาน หรือระหว่างเปลี่ยนงานใหม่ 

ขณะที่พรรคประชานิยม เสนอที่ 360 บาทต่อวันทั่วประเทศ แต่ปัจจุบัน พรรคได้ยุบไปแล้วเมื่อปี 2563

พรรคฝ่ายค้าน

ปี’62 ‘สามัญชน’ เสนอค่าแรง 500 บาทต่อวัน บนหลักการค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต

เมื่อปี’62 เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน เคยเสนอนโยบายเป็นแพกเกจ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 500 บาทต่อวันทั่วประเทศ โดยอยู่บนฐานของแนวคิด ‘ค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต’ เสนอแก้กฎหมายทำงานแบบเหมาช่วง และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ 

ทั้งนี้ ‘ค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต’ (living wage) หมายถึงค่าแรงขั้นต่ำไม่ว่าแรงงานจะมีทักษะเท่าใดก็ตาม แต่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัว อย่างต่ำ 2 คน และสามารถเลี้ยงดูชีวิตตัวเองได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  

หาเสียงปี’62 ‘เพื่อไทย’ เสนอที่ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ-ปี’65 เสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันภายใน 2570

เมื่อ 6 ธ.ค. 2565 ในการประชุมสามัญของพรรค 'เพื่อไทย' แพทองธาร ชินวัตร ปัจจุบันประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประกาศหมุดหมาย 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ และหนึ่งในนโยบายที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุด คือภายในปี 2570 หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 600 บาทต่อวันทั่วประเทศ และเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี เริ่มต้น 25,000 บาท ซึ่งมากกว่านโยบายหาเสียงเลือกตั้งปี’62 ของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอที่ 400 บาทต่อวัน และเงินเดือน ป.ตรี เริ่มที่ 18,000 บาทต่อเดือน

แพทองธาร ชินวัตร ปราศรัยในการประชุมสามัญพรรคเพื่อไทย เมื่อ 6 ธ.ค. 2565

‘ก้าวไกล’ ปรับทันทีหากเป็นรัฐบาลที่ 450 บาทเท่ากันทั่วไทย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในที่ประชุมเครือข่ายผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ที่ศูนย์การเรียนรู้สหภาพโตโยต้าประเทศไทยเมื่อ 11 ธ.ค. 2565 ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้น 450 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และปรับขึ้นทันทีหากได้เป็นรัฐบาล โดยคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปี 

‘ก้าวไกล’ เสนอให้รัฐต้องช่วยแบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) โดยช่วง 6 เดือนแรก รัฐจะช่วยสมทบเงินประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง และสำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ งบประมาณที่ต้องใช้ต่อปีสำหรับเรื่องนี้ราว 16,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีระบบปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทุกปี โดยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ปี 2541 มาตรา 87 กำหนดให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นประจำทุกปี โดย 1. คำนึงถึงค่าครองชีพ และ 2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระหว่าง 2 ปัจจัยนี้ หากปัจจัยใดเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ก็ให้นำมาเป็นฐานในการคำนวณปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขั้นต้น ที่จะนำไปพิจารณาหารือในคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ในแต่ละปี 

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปเมื่อปี 2562 ‘อนาคตใหม่’ (ปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล) ไม่ได้มีการเสนอปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ เพียงแค่ระบุว่าเป็นการปรับขึ้นค่าแรงตามอัตราเงินเฟ้อ และอิงตามสถานการณ์

ที่มา: เว็บไซต์ คณะก้าวหน้า

ข้อเสนอค่าแรงจากฝั่งสหภาพแรงงาน-คณะทำงานฯ กมธ.การแรงงาน

‘เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน’-‘สมัชชาแรงงานแห่งชาติ’ เคยจี้รัฐบาล นำโดย พปชร.ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทต่อวันทั่วประเทศ

สมัชชาแรงงานแห่งชาติ และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เคยออกมาเรียกร้องให้พรรค พปชร. ปรับค่าแรงขั้นต่ำตามที่เคยหาเสียงไว้ที่ 425 บาทต่อวัน แต่ในรายละเอียดนั้น เครือข่ายแรงงานฯ มีการกำหนดกรอบระยะเวลาตายตัวว่า พรรค พปชร. ต้องปรับเป็น 425 บาทเท่ากันทั่วไทยภายใน ต.ค. 2565 และขึ้นเป็น 495 บาททั่วประเทศภายใน ม.ค. 2566

‘สมานฉันท์แรงงาน’ ขอที่ 492 บาททั่วประเทศ

เมื่อ 24 ม.ค. 2565 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) รวมกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เคยขอให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และให้มีการเริ่มใช้ภายในปี 2565 

ข้อเสนอของ คสรท. และ สรส. ระบุว่ามาจากการสำรวจของคนงานในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ราว 3,000 คน ทั้งประเด็นค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ผ่อนรถยนต์ ค่าโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ต ตลอดจนค่าเลี้ยงดูบุตรและครอบครัว จนได้เป็นตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 492 บาท

คณะทำงานฯ กมธ.การแรงงาน เสนออย่างต่ำ 21,688.75 บาทต่อเดือน บนหลัก ‘ค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต’

รายงาน "การสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน: ข้อเสนอการยกระดับค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า" จัดทำโดย กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงาน เคยเสนอค่าแรงขั้นต่ำบนหลักการ 'living wage' ไม่ควรต่ำกว่า 21,688.75 บาทต่อเดือน หรือ 723 บาทต่อวัน กรณีผู้ที่ไม่มีสมาชิกพึ่งพิงในครัวเรือน พร้อมระบุว่า 'เป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องทำทันที'

ข้อเสนอนี้มาจากการเก็บข้อมูลโดยการออกแบบเครื่องมือแบบสอบถาม โดยนำค่าครองชีพ หรือค่าใช้จ่ายจริงในชีวิตประจำวัน เป็นตัวตั้ง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโดยสารค่าเดินทาง และอื่นๆ จากนั้นให้ผู้นำสิทธิแรงงานช่วยกระจายแบบสอบถาม โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรรมจำนวนมาก จนได้ข้อมูลจำนวน 1,225 ตัวอย่าง จากนั้น เอาผลสำรวจมาคำนวณ 

ผลลัพธ์ทำให้เห็นว่าค่าครองชีพของครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกพึ่งพิง มีค่าใช้จ่ายอย่างต่ำ 21,688.75-23,687.75 บาทต่อเดือน หรือ 723-789 บาทต่อวัน คืออยู่ได้โดยชีวิตไม่ติดลบ ถ้ามีสมาชิกครอบครัวที่ต้องพึ่งพิง 2-3 คนอย่างน้อย รายจ่ายอยู่ที่ 30,118-32,117 บาทต่อเดือน หรือต้องได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 1,003-1,070 บาทต่อวัน 

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ มองว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ดีแรงงานต้องได้ค่าจ้างที่ทำให้เป็น ‘มาตรฐานการดํารงชีวิตที่มีคุณค่า’ หรือ ‘ชีวิตที่เจริญงอกงาม’ ซึ่งเป็นแนวคิดของอีริก โอลิน ไรท์ (Erik Olin Wright) นักสังคมวิทยามาร์ซกซิสต์ชาวสหรัฐฯ โดยมองว่าการทำงานต้องเติบเต็มคุณค่าของชีวิตตัวเองและต่อสังคม และต้องมีเงินเหลือใช้บริโภค พักผ่อน ปาร์ตี หรือไปเที่ยว มีเวลาว่างจัดการตัวเอง และต้องมีเวลาไปหาความรู้อีกด้วย 

อีริก โอลิน ไรท์ (ที่มา  Rosa Luxemburg-Stiftung )

ไม่นานมานี้ สหภาพคนทำงาน ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา เห็นด้วยกับแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่บนหลักการการดำรงชีวิต (living wage) เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัวได้ และเห็นด้วยตามแนวทางข้อเสนอการปรับขึ้นค่าจ้างของคณะทำงานฯ กมธ.การแรงงาน 

ยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่าเพิ่มค่าแรงแล้ว ธุรกิจล้มจริง

ด้วยข้อเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำที่สูงมากมากกว่า 2 เท่าจากพรรคเพื่อไทย เคยปรับไว้เมื่อ 2556 ทำให้มีการวิจารณ์ว่าอาจทำไม่ได้จริง และจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อประเด็นนี้ กฤษฎา มองว่า ประเด็นแรกไม่มีงานวิจัยที่แน่ชัดว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ล้ม และจากการสำรวจงานในต่างประเทศ ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ 

ที่ปัญหาเป็นแบบนี้เนื่องจากกระทรวงแรงงาน ไม่เคยเก็บข้อมูลสถิติว่ามีจำนวนแรงงานมากเท่าไรที่ได้ค่าจ้างมากกว่าหรือเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ โดยกฤษฎา เสนอว่า สำนักงานประกันสังคม ควรเป็นหน่วยงานหลักที่เก็บข้อมูลในส่วนนี้ โดยอาจให้สถานประกอบการ แจ้งรายได้ผู้ถูกจ้างตอนยื่นเงินสมทบประกันสังคม ม.33 จึงเป็นข้อสังเกตตามมาว่า การพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดช่วงหลังจากรัฐประหาร 2557 ใช้เกณฑ์ตัดสินจากอะไร เมื่อไม่มีข้อมูลสถิติ 

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ (คนที่ 2 จากซ้าย) ขณะพูดในวงสนทนา 'ค่าแรงและสิทธิแรงงาน ณ ห้องสมุด 1932 People Space คลองสาน (ที่มา เฟซบุ๊ก '1932 People Space library')

นอกจากนี้ หัวหน้าคณะทำงานฯ ระบุด้วยว่า ข้อมูลสถิติจะทำให้การคาดการณ์แม่นยำขึ้นว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการมากแค่ไหน  

ต่อมา หัวหน้าคณะทำงานฯ กมธ.การแรงงาน มองคล้ายกับข้อเสนอพรรคก้าวไกลว่า ถ้าผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบจริง รัฐต้องเข้าไปช่วย ยกตัวอย่าง หากรัฐบาลเห็นด้วยว่า ค่าแรงขั้นต่ำควรอยู่ที่ 492 บาทต่อวันตามข้อเสนอของ คสรท. แต่นายจ้างมีงบฯ จ่ายค่าจ้างเพียง 231 บาทต่อวัน ส่วนต่างที่หายไป รัฐอาจใช้มาตรอุดหนุนค่าจ้าง (wage susidy) เพื่อให้รายได้เพียงพอต่อมาตรฐานการดำรงชีวิต หรือมีสวัสดิการอะไรที่ทำให้ตัวเลขส่วนต่างเขยิบเข้ามาใกล้ขึ้น หรือออกมาตรการลดค่าครองชีพที่พอช่วยได้ 

หมายเหตุ - สมาชิกพึ่งพิงในครัวเรือนคือ คนกลุ่มนี้ไม่ได้ทำงานและมีรายได้ประจำ แล้วนอกเหนือจากการทำงานแล้ว ยังไม่มีเวลาใช้ในการหารายได้อื่นๆ 

ค่าแรงขั้นต่ำ หรือ minimum wage ตามหลักองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คือ ค่าจ้างแรกเข้าทำงาน เป็นการประกันรายได้พื้นฐาน ตั้งอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้แรงงานสามารถดํารงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดูแลตนเองได้แล้วต้องดูแลสมาชิกครอบครัวได้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยไม่อิงกับหลักเกณฑ์ทักษะ หรือมาตรฐานฝีมือ 

ขณะที่รัฐไทยนิยาม ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ เป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น

มีการแก้ไขภาพ กราฟิกเมื่อ 17 ธ.ค. 2565 เมื่อเวลา 5.01 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net