Skip to main content
sharethis

อาร์ติเคิล 19 ออกรายงานสถานการณ์สิทธิในการชุมนุมของประเทศไทยช่วง 63-64 เรียกร้องยุติการใช้กำลังสลายชุมนุมโดยสงบและใช้คดีปิดกั้นเสรีภาพ วงเสวนาสะท้อนภาพการใช้ความรุนแรงและกระบวนการกดปราบรุนแรงกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เมื่อ 15 ธ.ค.2565 อาร์ติเคิล 19 องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิการแสดงออกระหว่างประเทศเปิดตัวรายงาน “ประเทศไทย : การปฏิเสธการเรียกร้องประชาธิปไตย” สรุปสถานการณ์สิทธิในการประท้วงในประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนาที่เล่าถึงการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกพรรคเพื่อไทย ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มฟื้นฟูประเทศไทยและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล อกนิษฐ์ หอรัตนคุณ นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์การเมืองของสิทธิมนุษยชนและขบวนการเคลื่อนไหวในไทย พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ร่วมขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563

53-63 เรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนกันก็ถูกปราบเหมือนกัน

ขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกพรรคเพื่อไทย เริ่มจากการกล่าวถึงตัวเองว่าเป็น 1 ในเหยื่อจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์เมื่อปี 2553 เนื่องจากพ่อของเธอขัตติยะ สวัสดิผลหรือเสธ.แดงถูกยิงเสียชีวิตที่แยกศาลาแดงถึงแม้ว่าคดีการเสียชีวิตของพ่อจะยังไม่ได้ถูกสรุปว่าเกิดจากการสลายชุมนุม แต่ในเวลานั้นเจ้าหน้าที่ทหารเข้ากระชับพื้นที่และเข้าไปตามตึกสูงในพื้นที่แล้ว เธอเป็นเหยื่อจากรัฐจากรัฐเช่นเดียวกับผู้ที่ออกมาชุมนุมในปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์อาจจะต่างกันผู้ชุมนุมเหล่านี้คือเหยื่อที่ออกมาชุมนุมแล้วถูกดำเนินคดีคดี ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ บางคนต้องติดกำไลอีเอ็ม

ขัตติยาเปรียบเทียบต่อไปว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อ 12 ปีที่แล้วกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นในปี 2563 ก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะความไม่พอใจที่รัฐบาลไทยรักไทยที่มีการออกนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์ถูกรัฐประหารและถูกยุบพรรคไป จนถึงวันที่มีการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้นมาในค่ายทหาร ทำให้มีคนออกมาชุมนุมประท้วง ส่วนการชุมนุมในปี 2563 เกิดจากบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลประยุทธ์ทั้งการบริหารสถานการณ์การระบาดจากโควิดและเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ และความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทำให้คนออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออกและยุบสภาแต่พวกเขากลับถูกจับกุมดำเนินคดี

เธอกล่าวถึงการสลายการชุมนุมปี 2553 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ว่า รัฐบาลใช้คำสวยหรูอย่างการ “ขอคืนพื้นที่” โดยใช้ข้ออ้างว่าขอให้ผู้ชุมนุมกลับไปชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าแห่งเดียวเพราะแยกราชประสงค์เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ แต่ทั้งที่ในการชุมนุมไม่มีความรุนแรงเลยกลับใช้กำลังสลายการชุมนุม ในเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลร่วมกับภูมิใจไทยไม่สามารถรับมือการชุมนุมได้จึงตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา

เวลานั้นรัฐบาลทำลายความชอบธรรมการชุมนุมของคนเสื้อแดงเหมือนที่ทำกับการชุมนุมในปี 2563 ในเวลานั้นรัฐบาลใช้เรื่องผังล้มเจ้า ชายชุดดำ มากล่าวหาโดยเฉพาะการนำเรื่องสถาบันกษัตริย์มาเป็นข้ออ้างตลอด แม้ว่าการชุมนุมจะไม่ได้มีความรุนแรงแต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับใช้อาวุธสงครามเหมือนผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้ายมาสลายชุมนุม แต่จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจริงๆ นอกจากเท่าที่ติดตามได้ ส่วนคดีของคนเสื้อแดงยังไม่คืบหน้าเจ้าหน้าที่ที่ก่อเหตุไม่ถูกดำเนินคดีโดยรัฐได้ช่วยปกปิดความผิดที่เกิดขึ้น แต่คนเสื้อแดงยังถูกดำเนินคดีบางคนยังอยู่ในเรือนจำบางคนเสียชีวิตในเรือนจำไป

หลังเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 2553 ผ่านไปหนึ่งปี พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วได้ให้การดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในเวลานั้นและยังตั้งกองทุนมาช่วยเหลือคดีทางการเมือง คดีของผู้ชุมนุมกำลังเดินไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็วและยังพบอีกว่าบรรดาผู้เสียชีวิตไม่มีเขม่าดินปืนแต่อย่างใดจึงไม่เป็นไปตามที่พวกเขาเคยถูกกล่าวหาว่ามีการใช้อาวุธ

แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2557 จนมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดให้มีส.ว.แต่งตั้งเข้ามาจนกระทั่งมีการเลือกตั้งในปี 2562 และด้วยสถานการณ์ต่างๆ ทั้งเรื่องโควิดและการยุบพรรคอนาคตใหม่ จนทำให้เกิดกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจออกมาเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก การชุมนุมที่ขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ จากการเป็นแฟลชม็อบมาจนถึงม็อบทวงคืนอำนาจราษฎร ซึ่งไม่ต่างจากคนเสื้อแดงในปี 53 เลยจนกระทั่งการชุมนุมถูกรัฐบาลสลายชุมนุม

การชุมนุมของเยาวชนที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 ที่ผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่งยังคงสวมชุดนักเรียนมาร่วมชุมนุม ก่อนถูกตำรวจเข้าสลายการชุมนุมในช่วงหัวค่ำ แฟ้มภาพ

“การสลายม็อบจะดีจะเลวให้ดูผู้นำในสมัยนั้น ผู้นำรัฐบาลในมันคือคนที่มีส่วนร่วมกับ ศอฉ.ในปี 53 ตอนนี้กลายมาเป็นนายกฯ กลายมาเป็นรองนายกฯ เพราะฉะนั้นการสลายการชุมนุม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันย่อมไม่ต่างกัน” ขัตติยายกตัวอย่างถึงเหตุการณ์สลายชุมนุมวันที่ 16ต.ค.2563 ที่แยกปทุมวัน ที่มีการใช้สารเคมีฉีดใส่ผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนทั้งที่บางคนยังใส่ชุดนักเรียนและมีเพียงร่ม ที่เรียกได้ว่าพวกเขาไปชุมนุมตัวเปล่าแต่กลับไม่มีการเจรจาจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ขัตติยากล่าว่าเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องดูแลการชุมนุมและอำนวยความสะดวกไม่ใช่การมาสลายชุมนุมตราบใดที่การชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบภายใต้กรอบกฎหมาย แต่การสลายชุมนุมนี้กลับมีการใช้ความรุนแรงทั้งการใช้กระสุนยางแก๊สน้ำตาที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลและจากลักษณะการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ยังประสงค์ให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ แล้วเมื่อมีการจับกุมผู้ชุมนุมยังมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอีกหลายข้อหาทั้งมาตรา 112 และ 116 ที่เรียกได้ว่าเป็นการใช้นิติสงคราม

ขัตติยากล่าวว่าเวลาผ่านมา 12 ปีแล้วแต่รัฐไม่เคยเปลี่ยนความคิดการรับมือผู้ชุมนุมกลับใช้ความรุนแรงมากขึ้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ขัดกับมาตรฐานของการจัดการดูแลชุมนุม และเธอยังเปรียบเทียบทิ้งท้ายถึงบรรยากาศที่แตกต่างกันในการชุมนุมของทั้งสองช่วงเวลาไว้ว่า

“แต่การชุมนุมเมื่อปี 2553 กับตอนนี้แตกต่างกันเพียงว่าวันนั้นเป็นคนต่างจังหวัดแต่ตอนนี้เป็นคนหนุ่มสาวที่เป็นคนเมืองทำให้ความชอบธรรมในการปลุกความเกลียดชังจากคนเมืองให้เห็นด้วยกับการสลายม็อบมันยาก เพราะฉะนั้นทำยังไงให้สลายม็อบไปได้อย่างรุนแรงก็คือการปลุกความเกลียดชังกับตัวเจ้าหน้าที่ที่มาดูแลม็อบ คนเหล่านี้เหมือนถูกปลูกฝังมาว่าคนที่อยู่ตรงข้ามคุณเป็นศัตรูแล้วทำยังไงก็ได้เอาให้ตาย ความรู้สึกหรือบรรยากาศระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐมันจะไม่เหมือนตอนปี 53 ที่เหมือนถูกบังคับมา”

ตำรวจเลือกปฏิบัติกับม็อบปฏิรูปสถาบันฯ

ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด กล่าวถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้านี้ว่าการจะมีการเลือกตั้งที่เป็นไปโดยอิสระและเป็นธรรมได้จะต้องมีภาคประชาสังคมเข้มแข็งโดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์

อย่างไรก็ตามชลธิชาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นแล้วมีการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บนท้องถนนได้เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้เห็นและการชุมนุมเหล่านี้ยังแตะในปัญหาเชิงโครงสร้างอีกหลายเรื่องไปจนถึงเรื่องสิทธิทางเพศและความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่ตอนปี 2557 ช่วงหลังรัฐประหารเมื่อมีการจัดชุมนุมกันแล้วแต่มีคนร่วมกันไม่มากนักด้วยปัญหาหลายปัจจัยรวมถึงหลังการรัฐประหารยังมีการส่งเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามแกนนำเสื้อแดงเป็นจำนวนมาก

ชลธิชากล่าวต่อไปว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นมักเป็นแบบฉับพลันมากขึ้นโดยความสำเร็จของการชุมนุมเหล่านี้มาจากการใช้โซเชียลมีเดียในการชักชวนและขยายความคิดอุดมการณ์ออกไป ไปจนถึงรูปแบบการสื่อสารในที่ชุมนุมที่ใช้ทั้งเรื่องล้อเลียน สนุกสนานและมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็พบว่าตัวเองต้องเจอกับช่องว่างระหว่างวัยกับคนที่ออกมาทำกิจกรรมด้วยเหมือนกันเช่นการใช้คำศัพท์เฉพาะกลุ่มต่างๆ เพราะการต้องหาทางสื่อสารในเรื่องสถาบันกษัตริย์ยังถูกจำกัดด้วยกฎหมาย

ผู้ร่วมตั้ง DRG ยังกล่าวถึงประสบการณ์ในฐานะที่เป็นผู้เคยจัดชุมนุมด้วยว่า การดันเพดานเสรีภาพนี้ยังรวมถึงความยากลำบากในการแจ้งจัดชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยเพราะในตอนปี 2557 การจัดชุมนุมแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายการจะขอใช้ถนนเพียงเลนเดียวยังทำได้ยากทั้งที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ตำรวจห้ามได้แต่มีหน้าที่ต้องจัดการจราจรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับคนทั่วไป ไปจนถึงกรอบของเรื่องสันติวิธีที่ขยับขยายมาจากเดิมที่แค่ใช้คำหยาบในที่ชุมนุมก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์แล้วหรือการสาดสีก็ยังเคยเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นสันติวิธีหรือไม่

ทั้งนี้ชลธิชายังเน้นย้ำว่า แม้เพดานของการชุมนุมที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐก็คงยังไม่ยอมให้พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้และยังควบคุมอยู่ในทุกมิติ

นอกจากนั้นชลธิชายังได้เล่าถึงการชี้แจงจากทางฝ่ายตำรวจว่าพวกเขาได้อธิบายขั้นตอนสลายชุมนุมเอาไว้ว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลแล้วทั้ง แต่ตำรวจอาจจะไม่ทราบว่ายูเอ็นเขายังมีคอมเม้นท์ทั่วไปออกมาอีกที่ช่วยอธิบายแนวการรับมือชุมนุมและจัดประเภทว่าอะไรเป็นการชุมนุมสาธารณะบ้าง เช่นเรื่องการเจรจาที่หายไปในช่วงหลังเพราะการชุมนุมแบบฉับพลันไม่มีช่องต่อ แต่แล้วตำรวจก็ข้ามไปใช้ความรุนแรงทั้งการใช้กระสุนยางและอุปกรณ์ต่างๆ จนมีผู้เสียชีวิตจากการใช้กระสุนยางด้วยหลังจากได้รับบาดเจ็บแล้วต้องรักษาอยู่นานหลายเดือนก่อนเสียชีวิต

ชลธิชายังกล่าวถึงอีกปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐยังเลือกปฏิบัติต่อการชุมนุมที่พูดประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่มักจะถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงหรือแม้กระทั่งการยั่วยุจากเจ้าหน้าที่และชี้เป้าผู้ชุมนุมไว้เพื่อเข้าจับกุม แต่เมื่อเป็นประเด็นอื่นๆ เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ได้ปฏิบัติด้วยวิธีเดียวกัน ซึ่งเธอตั้งข้อสงสัยว่าตำรวจไทยฝึกกันอย่างไรเพราะการดูแลการชุมนุมไม่สามารถเอาตำรวจทั่วไปมาทำได้ จะต้องมีการฝึกเป็นการเฉพาะ

ชลธิชายังกล่าวถึงกรณีการสลายชุมนุมของราษฎรหยุด APEC2022 ด้วยว่าได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วและกลับมาใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งการจะสลายชุมนุมทางเจ้าหน้าที่จะต้องขอคำสั่งศาลแพ่งก่อนมาสลายการชุมนุม อย่างไรก็ตามตำรวจก็ไม่ได้ดำเนินการขอคำสั่งศาลมาก่อนแล้วหลังเหตุการณ์ถึงมาบอกว่าจะตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในปฏิบัติการแต่การตรวจสอบดังกล่าวก็เป็นกระบวนการภายในของตำรวจเอง

ผู้ร่วมตั้ง DRG ชี้ว่าในช่วงที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีแกนนำหลายคนที่ถูกดำเนินคดีแม้ว่าจะได้ประกันตัวออกมาแล้วแต่ต้องติดกำไลอีเอ็มที่ศูนย์ทนายความฯ ทำข้อมูลไว้ว่ามีอยู่กว่าแปดสิบคน และอีกปัญหาคือการตั้งเงื่อนไขประกันตัวหลายอย่างที่ไม่ได้สัดส่วนเช่นการกำหนดว่าไม่ให้ทำสถาบันกษัตริย์และศาลเสื่อมเสีย รวมถึงการห้ามโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการชุมนุมด้วย

กำไลอีเอ็มบนขาของนักกิจกรรมที่ร่วมกิจกรรม 'Let’s Unlock EM' แฟ้มภาพ 

ชลธิชากล่าวต่อว่าสำหรับตัวเธอเองที่ถูกดำเนินคดีอยู่แล้วหลายคดี เมื่อประกาศว่าสมัครเป็น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลอัยการก็เริ่มนำคดีที่อยู่ในชั้นอัยการฟ้องคดีต่อศาลทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยติดตามกับตำรวจและอัยการหลายครั้งว่าจะมีการฟ้องคดีหรือไม่เมื่อไหร่แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ และเมื่อฟ้องแล้วก็ต้องยื่นขอประกันตัวศาลก็สั่งให้ใส่อีเอ็มเป็นหนึ่งในเงื่อนไขประกันตัว

ชลธิชาชี้ว่าในทางกฎหมายแล้วการจะติดกำไลอีเอ็มจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวด้วย แต่กรณีของเธอคือถ้าไม่ยอมใส่ศาลจะไม่ให้ประกันตัวแม้ว่าเธอยินยอมเพิ่มเงินประกันตัวแล้วก็ตามแต่ศาลก็ไม่อนุญาตจึงมีทางเลือกเพียงแค่ใส่กำไลหรือจะต้องเข้าไปอยู่ในคุก

เธอยังกล่าวถึงการวางเงื่อนไขประกันตัวต่อว่า ศาลวางเงื่อนไขเอาไว้อย่างคลุมเคลือเช่นระบุว่าห้ามทำสถาบันกษัตริย์และสถาบันศาลเสื่อมเสีย แต่เมื่อถามให้ศาลอธิบายว่าแล้วการกระทำแบบไหนที่เรียกว่าทำให้เสื่อมเสียก็ไม่ได้คำตอบเช่นการวิจารณ์การตั้งเงื่อนไขประกันของศาลจะทำได้หรือไม่ แต่ศาลกลับบอกว่าหากทำแล้วถ้าตำรวจมีการตั้งเรื่องถอนประกันมาก็ต้องไต่สวน ซึ่งเธอมองว่าการตั้งเงื่อนไขแบบนี้ของศาลเป็นการสร้างบรรยากาศความกลัวในการแสดงความคิดเห็นหรือเรื่องการห้ามโพสต์ชวนชุมนุมอย่างนี้เท่าศาลตีความว่าการชุมนุมเป็นเรื่องผิดกฎหมายแล้วใช่หรือไม่

กำไลล่ามความคิดไม่ได้

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน กล่าวว่าการชุมนุมเมื่อปี 2563 ต้นเหตุของการออกมาชุมนุมคือเรื่องของความไม่เป็นธรรมในสังคมและในแต่ละยุคสมัยก็มีสถานการณ์ที่เอื้อให้พูดถึงกลไกอำนาจที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมมากน้อยกัน ซึ่งตัวเขาเองเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่ตอนยังเป็นนักเรียนมัธยมช่วงรัฐประหาร 2557 แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีการดำเนินคดีกับเด็กมัธยมเหมือนตอนนี้ที่อาจจะลดอายุของคนที่รัฐดำเนินคดีลงไปเรื่อยๆ ที่อาจจะไปจนถึงประถมในสักวัน แต่ในช่วงนั้นก็ยังมีคนออกมาร่วมกิจกรรมไม่มากนัก ส่วนตัวเขาเองเคยถูกกรรมการการเลือกตั้งขู่ฟ้องคดีช่วงทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญของฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

แกนนำคณะราษฎรกล่าวว่านอกจากการดำเนินคดีแล้วรัฐยังใช้ความรุนแรงทางกายภาพด้วย เช่น กรณีการอุ้มหายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ และเด่น คำแหล้ มาจนการอุ้มสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิวในช่วงปี 2562 นอกจากนั้นสิรวิชญ์ยังเคยถูกดักทำร้ายจนบาดเจ็บถึงขนาดที่ทุกวันนี้สายตายังคงมีปัญหาในการมองเห็น และการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ระหว่างลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา จนกระทั่งมีรัฐบาลประยุทธ์ในปัจจุบันก็นำมาตรา 112 มาใช้หลายครั้ง

พริษฐ์กล่าวว่าในปี 2563 รัฐขัดขวางการชุมนุมอย่างมากทั้งที่การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยและรัฐจะต้องอำนวยให้เกิดการชุมนุมได้อย่างสะดวก แต่กลับกันเมื่อมีการประกาศชุมนุมเจ้าหน้าที่รัฐนำรั้วเหล็ก บังเกอร์ กระสอบทรายมาวางขวางประหนึ่งเป็นพื้นที่สงครามจนกลายเป็นภาพจำไปแล้วว่าประชาชนกับรัฐเป็นศัตรูกัน ทั้งที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ควรต้องมาถามก่อนว่าผู้ชุมนุมต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

นอกจากนั้นฝ่ายรัฐยังเคยใช้ทหารเข้ามาร่วมปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วย ในเหตุการณ์มีผู้ชุมนุมถูกทำร้าย มีการใช้อาวุธทุบตี ไปจนถึงเมื่อมีการชุมนุมที่บริเวณรัฐสภาเมื่อ 17 พ.ย.2563 เมื่อมีผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมาชุมนุมเผชิญหน้ากันแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนกลับไม่ขัดขวางจนผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลสามารถใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุมคณะราษฎรแต่ตำรวจก็ไม่จัดการ อีกทั้งยังใช้กำลังกับผู้ชุมนุมฝ่ายคณะราษฎรอยู่ฝ่ายเดียว

การชุมนุมที่บริเวณรัฐสภาเกียกกายเมื่อ 17 พ.ย.2563 แฟ้มภาพ

พริษฐ์กล่าวต่อว่าฝ่ายรัฐยังใช้กฎหมายเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเห็นต่าง สำหรับตัวเขาเองมีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองจำนวนมากจนเลิกนับ หลายคดีเกิดในต่างจังหวัดก็ต้องเดินทางไปรายงานตัว บางครั้งตำรวจยังเรียกรายงานตัวซ้ำเพื่อไปถามคำถามเดียว ต่อมาเมื่อส่งอัยการสั่งฟ้องคดีแล้วศาลก็ไม่ให้ประกันตัวบางครั้งศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันก่อนจะเกิดการชุมนุมใหญ่ และการที่ศาลไม่ให้ประกันนี้รวมกันแล้วเขาต้องอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานกว่าปีทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา

แกนนำราษฎรกล่าวอีกว่าเมื่อยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล ศาลมักอ้างว่าเป็นคดีโทษหนักและเกรงว่าเขาจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานรวมถึงการออกไปทำความผิดซ้ำอีก แสดงให้เห็นว่าศาลชิงตัดสินไปก่อนแล้วว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายแล้วทั้งที่ยังไม่ได้มีการสืบพยาน อีกทั้งการถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีทำให้เขาต่อสู้คดีได้ยาก แล้วในการพิจารณาคดีศาลไม่ยอมเรียกหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยขอเข้ามาเพื่อใช้สู้คดีหรือศาลห้ามฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบ กระบวนการของศาลเหล่านี้เสมือนเป็นการมัดมือชก

พริษฐ์เล่าถึงปัญหาจากเงื่อนไขหลายข้อที่ศาลกำหนดไว้ก่อนจะให้ประกันตัวว่า ทำให้เขาต้องระมัดระวังในการจะทำสักอะไรอย่างหนึ่งมากแม้กระทั่งการมาร่วมเสวนาครั้งนี้เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าเงื่อนไขที่ศาลกำหนดเหล่านี้จะถูกตีความว่าอย่างไร อีกทั้งกำไลอีเอ็มก็เป็นภาระมากเพราะเมื่อกำไลแสดงอาการเสียก็จะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์หาทันที ไปจนถึงการเดินทางไปศาลในต่างจังหวัดหลายแห่งต่อเนื่องกันก็เป็นภาระเพราะไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้

“การใส่กำไลข้อเท้ากับนักเคลื่อนไหวต่างๆ คุณล่ามกำไลไว้ที่ข้อเท้าเราคุณคิดว่ามันล่ามความคิดที่มันกระจายอยู่ในสังคมได้เหรอ” พริษฐ์กล่าว

ขบวนการเยาวชนที่โดดเดี่ยวยังไปต่อได้ถ้ามีแรงหนุน

อกนิษฐ์ หอรัตนคุณ กล่าวถึงสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าช่วงนี้ลดลงจนถึงกับเงียบหายไปว่า หากดูสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมาตั้งแต่ต้นปี 2564 คือรัฐเริ่มใช้ความรุนแรงและเมื่อใช้แล้วได้ผลรัฐก็ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความเงียบที่เกิดจากการถูกใช้ความรุนแรงจะไม่ได้เป็นไปอย่างถาวร นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวก็จะมีช่วงขาขึ้นที่สถานการณ์การเมืองเอื้อให้คนออกมาร่วมกันเคลื่อนไหวกันได้เยอะเช่นเหตุการณ์วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ถูกอุ้มหายไปหรือกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ เปรียบได้เหมือนกับคลื่นหัวใจของคนที่มีขึ้นแล้วก็มีลงแล้วช่วงนี้ก็เหมือนเป็นช่วงอยู่ในเหวที่อาจจะกำลังไต่ขึ้นมาอยู่บ้างแต่เราก็ไม่รู้ว่าจะมีจังหวะทางการเมืองอะไรให้ขบวนการกลับขึ้นมาอีก

อย่างไรก็ตามอกนิษฐ์ก็ชี้ให้เห็นว่าการทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวกลับมาได้ไม่ใช่แค่เรื่องโอกาสอย่างเดียวแต่ยังเกี่ยวกับคนที่อยู่ในขบวนด้วย โดยขบวนการของหัวก้าวหน้าในไทยตอนนี้ก็สามารถเรียกได้ว่า “ซวย” โดยเขาอธิบายว่าเพราะในประวัติศาสตร์ของขบวนการหัวก้าวหน้าในไทยที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งในเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วล่มสลายไปไม่ได้รวมตัวเป็นขบวนกันต่อ เช่นขบวนการที่เกิดขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 2557 ที่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็เห็นคนมาร่วมไม่มากนักและรู้สึกโดดเดี่ยว

แต่ความโดดเดี่ยวของคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ยังเกิดขึ้นกับกลุ่มเคลื่อนไหวในประเด็นและพื้นที่อื่นๆ ของไทยด้วย เพราะเมื่อพวกเขาเกิดรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมขึ้นมาแล้วก็ออกมาแสดงออก แต่เมื่อได้ทำแล้วก็รู้สึกโดดเดี่ยวทันทีเพราะต้องเจอกับภัยคุกคามรอบตัวทั้งจากครอบครัวตัวเองจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้อาวุธ

“ขบวนการหัวก้าวหน้ในไทยประวัติศาสตร์สั้นมาก สั้นจนแบบเกิดมาได้ขนาดนี้ก็บุญมากแล้ว” อกนิษฐ์เทียบกับไต้หวันว่าขบวนการดอกทานตะวันที่เกิดขึ้นมาเมื่อปี 2014 ที่มีเยาวชนออกหน้าสื่ออยู่เสมอจริงๆ แล้วข้างหลังของขบวนการมีทั้งเอ็นจีโอ ขบวนการอื่นๆ หรือนักเคลื่อนไหวรุ่นก่อนๆ จนถึงอาจารย์ที่มาช่วยเต็มไปหมดจนถึงการวางยุทธสาสตร์ที่การทำงานมีคนจากหลายเจเนอเรชั่นมาทำด้วยกัน

นักวิจัยกล่าวว่าแต่ขบวนการเคลื่อนไหวในไทยไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเมื่อเกิดขบวนการขึ้นมาแล้วก็ไม่มีคนรุ่นอื่นมาช่วยเพราะคนรุ่นก่อนจะรู้สึกว่าตัวเองเคยแพ้มาก่อนไม่น่าจะมาช่วยได้ก็ขอเป็นกองหลังแทนแล้วคนรุ่นใหม่ก็สู้ไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของขบวนการเคลื่อนไหวในไทย เมื่อขบวนการไม่มีประวัติศาสตร์การจัดตั้งที่ยาวนานพอก็ทำให้เกิดความแตกแยกในขบวนการได้ง่าย เพราะเมื่อเกิดปัญหาของคนในขบวนการเคลื่อนไหวก็แตกแยกกันไปแล้วก็ไม่คุยกัน แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นความผิดของใครแต่เป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม อกนิษฐ์มองว่าในช่วงขาลงของการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบนี้ คนที่ทำงานกับสังคมทั้งหลายเช่นกลุ่มคนทำงานศิลปะที่มีพื้นที่อย่างแกลอรี่ยังสำคัญและเป็นหัวใจของการจัดตั้งมาก ในบริบทของไทยเวลาพูดเรื่องการจัดตั้งมักนึกถึงการเสวนามาร์กซิสหรือประเด็นทางสังคม แต่จริงๆ แล้วจะไปนั่งบ้านเพื่อนก็ได้หรือจะไปเล่นบอร์ดเกมก็ได้แล้วก็คุยเรื่องการเมืองไป แต่สิ่งที่ได้จากการจัดตั้งก็คือความเชื่อใจกัน ที่เอาคนที่คิดเหมือนกันมีอุดมการณ์เดียวกันอยากทำอะไรด้วยกันแล้วก็สนิทกันเกิดความเชื่อใจกันขึ้นมาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการจัดตั้ง นอกจากพื้นที่ทางศิลปะแล้ว คนที่ทำงานในอาชีพต่างๆ อย่างครู อาจารย์ แพทย์พยาบาล คนทำงานสร้างสรรค์จึงสำคัญมากเพราะพวกเขามีพื้นที่ แต่เท่าที่ได้สำรวจจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษามักจะบอกตรงกันว่าพวกเขาไม่มีสถานที่ให้มารวมตัวคุยหรือประชุมกันและปัญหานี้ไม่ได้เกิดแต่ในกรุงเทพ แต่ในภูมิภาคก็มีปัญหาตั้งแต่ปัญหาเรื่องการเดินทาง

นักวิจัยไดยกตัวอย่างพื้นที่ของคนทำงานศิลปะหรืองานสร้างสรรค์ นอกจากสถานที่อย่างแกลอรี่แล้วแต่ด้วยวิชาชีพของพวกเขายังสามารถนำเรื่องราวของนักกิจกรรมเยาวชนเข้าไปทำงานในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้อยู่แล้ว จะออกแบบหรือทำให้เยาวชนที่ตื่นตัวทางการเมืองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน

ประเด็นสุดท้ายที่อกนิษฐ์กล่าวถึงก็คือ การทำงานกับเยาวชนในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้นผลของการเคลื่อนไหวไม่ได้อยู่ไปตลอดเมื่อพวกเขาเติบโตไปพวกเขาจะไปทำงานการเมืองหรือทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องแบบนี้เป็นการคิดไปเองทั้งนั้น เพราะยังมีเงื่อนไขในชีวิตหลายอย่างทั้งเศรษฐกิจ สภาพทางจิตใจย่ำแย่ สภาพสังคมย่ำแย่เป็นเรื่องที่ว่ากันไม่ได้

“แต่ยังบอกได้ว่าการตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนเมื่อสองปีที่แล้วยังไม่จบ ยังเข้าไปช้อนหรือเข้าทำงานเข้าไปลงทุนลงแรงได้อยู่ คนที่ตื่นตัวทางการเมืองขึ้นมามีจำนวนมหาศาลแม้ว่าหลายคนจะปรับเข้าสู่ชีวิตจริงแล้วเช่นเจอสภาพหลังโควิดแล้ว เฮ้อ เหนื่อยชีวิต แต่ว่ามูฟเม้นท์เอฟเฟคต์ยังไม่จบคนทำงานหลายคนยังเข้าไปมีปฏิสัมิพันธืกับคนที่ตื่นตัวทางการเมืองเพื่อที่จะทำให้เขางอกงามขึ้นไปทำอะไรได้อีกมากในอนาคต” แต่นักวิจัยก็ชี้ว่าทั้งแหล่งทุนหรือคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนก็ต้องเข้าไปทำงานกับเยาวชนที่ตื่นตัวเหล่านี้ให้เต็มที่เพื่อที่ในอนาคตมันอาจจะเกิดผลลัพธ์บางอย่างขึ้นมาได้

สิ่งที่อกนิษฐ์กล่าวทิ้งท้ายไว้คือถ้าไม่ทำงานกับคนในขบวนการเคลื่อนไหวมากขึ้นปล่อยให้พวกเขาทำงานโดดเดี่ยว ทั้งที่พวกเขาโดดเดี่ยวมากอยู่แล้วและพวกเขาได้เค้นศักยภาพมาทำงานเต็มที่ภายใต้สภาวะที่ต้องถูกดำเนินคดีจำนวนหลายคดีแล้ว ดังนั้นคนที่ทำงานในส่วนอื่นๆ ของสังคมที่มีศักยภาพหรือทรัพยากรมากพอ เช่น นักข่าวอาจจะมาทำงานกับคนในขบวนการเพื่อให้คบวนการยังยืนระยะต่อไปได้มากขึ้นในสภาวะที่ไม่เอื้อต่อขบวนการหัวก้าวหน้า การรอโดยหวังว่าในอนาคตจะเกิดโอกาสขึ้นมาเองเป็นเรื่องที่คิดไปเองถ้าคนในสังคมยังไม่ทำอะไรไปมากกว่านี้

แก้กฎหมาย-นำเจ้าหน้าที่มาลงโทษ-ยุติใช้กำลังสลายชุมนุม

ข้อเท็จจริงจากวิทยากรที่ร่วมเสวนาครั้งนี้ส่วนหนึ่งได้ปรากฏอยู่ในรายงานของอาร์ทิเคิล 19 “ประเทศไทย : การปฏิเสธการเรียกร้องประชาธิปไตย”แล้ว และในรายงานยังได้ระบุถึงการใช้กำลังและอุปกรณ์ต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ในการปราบปราบการชุมนุมนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาอย่างเป็นปกติ เช่น ปืนกระสุนยาง รถฉีดน้ำ เป็นต้น ทั้งที่ในการชุมนุมเรียกร้องต่างๆ ในอดีตมักปรากฏการใช้น้อยครั้งกับเฉพาะบางสถานการณ์เช่นการสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการหรือคนเสื้อแดงในปี 2553 รวมถึงการใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาร่วมปฏิบัติการควบคุมฝูงชน

ในรายงานยังกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการชุมนุมอีกด้วยโดยระบุถึงการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในช่วงปี 2563 ที่กล่าวหาผู้ชุมนุมว่าเป็นคน “ชังชาติ” หรือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการ “ล้มล้างการปกครอง”

รายงานชี้ว่าการตอบโต้ของรัฐไทยต่อการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2564 นั้นเป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุมประกอบด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทั้งกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่ถูกประกาศใช้มาจำกัดความสามารถในการชุมนุมเพื่อจำกัดสิทธิในการชุมนุมและการสลายการชุมนุมมักมีความรุนแรงมากขึ้นตามกระแสการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยรัฐอ้างใช้เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปกป้องความมั่นคงของชาติและสถาบันกษัตริย์ไปจนถึงการดำเนินคดีทางกฎหมายกับแกนนำเพื่อหยุดการชุมนุม

อาร์ทิเคิล 19 ได้ระบุข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยไว้หลายประการโดยสรุปได้ว่า

  • แก้ไขพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิการชุมนุมให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงระเบียบในการต้องแจ้งชุมนุมล่วงหน้าที่ยุ่งยากและต้องเปิดเผยข้อมูลขั้นตอนการแจ้งชุมนุม อีกทั้งต้องทำให้การแจ้งชุมนุมทางออนไลน์สามารถทำได้ง่าย
  • ยกเลิกการดำเนินคดีข้อหาละเมิดข้อกำหนดและคำสั่งที่ออกภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุมและปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขัง
  • ต้องอำนวยความสะดวกแก่การใช้สิทธิในการชุมนุมและรับประกันว่าผู้ชุมนุมสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย และต้องยุติการติดตาม ข่มขู่คุกคามผู้ชุมนุมและสมาชิกครอบครัวของพวกเขา
  • ตำรวจและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่กำกับดูแลการชุมนุมจะไม่ใช้กำลังเกินควรและปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายขององค์การสหประชาชาติ และเมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้กำลังเกินควรจะต้องได้รับการตรวจสอบทันทีอย่างละเอียดและเป็นกลาง และต้องยุติการจับกุมใดๆ เพียงเพราะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม
  • รับประกันว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกขบวนการได้รับสิทธิชุมนุมและแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน และรัฐบาลต้องงดเว้นการแสดงความเห็นที่เป็นการตีตราต่อผู้ชุมนุมหรือการใช้สิทธิของพวกเขา เช่นการแสดงภาพว่าการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมเป็นภัยคุกคามต่อชาติ
  • สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายนั้นการใช้ปฏิบัติการปราบปราบผู้ชุมนุมจะต้องเกิดขึ้นเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นเช่นผู้ชุมนุมเป็นภัยคุกคามและอาจทำร้ายคนอื่น จะต้องปฎิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทุกมาตรฐาน
  • เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกคนจะต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน การลดระดับความรุนแรงและการอำนวยความสะดวกแก่การใช้สิทธิในการชุมนุม และต้องระบุตัวตนของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติการได้ด้วยชุดเครื่องแบบ
  • รับประกันว่าเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังเกินควรไม่ได้สัดส่วนจะต้องถูกตรวจสอบทำโทษทางวินัยและดำเนินคดีอย่างเหมาะสมรวมถึงคดีอาญา
  • ยุติการจับกุมและคุมขังบุคคลเนื่องจากการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสันติเพียงอย่างเดียวโดยทันทีและปล่อยตัวผู้ที่ยังถูกคุมขังทันทีและรับประกันว่าจะไม่มีใครถูกพรากเสรีภาพเว้นแต่เป็นการกระทำโดยสอดคล้องกับกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดและกฎหมายระหว่างประเทศ ไปจนถึงการยุติการข่มขู่คุกคามแกนนำและผู้ชุมนุมโดยทันที
  • สำหรับฝ่ายตุลาการจะต้องดำเนินการเพื่อยุติการดำเนินคดีอาญาต่อแกนนำ ผู้จัดและผู้เข้าร่วมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที และรับประกันว่าผู้เสียหายจากการถูกใช้ความรุนแรงโดยตำรวจะสามารถเข้าถึงกลไกยุติธรรมและเยียวยาได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net