Skip to main content
sharethis

กมธ.การกฎหมายฯ ร่อนหนังสือถึงนายกฯ จี้บังคับใช้ พ.ร.บ.ต้านซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ภายในกำหนด 22 ก.พ.นี้ ส่วนหน่วยงานที่อ้างไม่พร้อม ไม่ใช่ข้ออ้างชะลอการบังคับใช้กฎหมาย

 

19 ม.ค. 2566 สื่อเฟซบุ๊ก The Reporters รายงานวันนี้ (19 ม.ค.) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร นำโดย อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ และกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ร่วมกันแถลงถึงกรณีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ภายหลังราชกิจจานุเบกษากำหนดให้มีผลภายใน 22 ก.พ. 2566 

โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ภายในกรรมาธิการฯ ดังกล่าว เคยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทุกหน่วยงานให้คำยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566

อย่างไรก็ตาม ตำรวจแจ้งว่ามีเหตุขัดข้องโดยส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เป็นเหตุให้คณะกรรมาธิการฯ มีความกังวลใจ จึงทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยส่งเป็นหนังสือไปแล้ววันนี้ 

อาดิลัน ยังกล่าวถึงผลการประชุมกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งได้เคยยืนยันต่อที่ประชุมกรรมาธิการฯ ว่า ตำรวจมีความพร้อมจะบังคับใช้กฎหมาย แม้ว่าอุปกรณ์จะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ แต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นอุปสรรค โดยงบประมาณที่ตำรวจจำเป็นต้องใช้ประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อซื้อกล้องสำหรับติดตั้งให้เจ้าพนักงาน และตามสถานที่ต่างๆ ส่วนสำนักงานอัยการสูงสุดต้องใช้ 100 กว่าล้านบาท เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าควรต้องใช้งบกลางเพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งทุกหน่วยงานก็เห็นพร้อม

ในส่วนของกล้องติดตามตัวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกังวลนั้น แม้กฎหมายฉบับนี้จะกำหนดว่าให้ต้องบันทึกภาพเสียงทันที ตั้งแต่การควบคุมตัว จนกระทั่งปล่อยตัวกลับ หรือนำส่งพนักงานสอบสวน แต่กรณีความผิดซึ่งหน้า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างทาง แล้วอาจไม่ต้องบันทึกภาพเสียงก็ได้ เพราะเป็นเหตุจำเป็น มีข้อยกเว้นตามกฎหมายอยู่แล้ว

ด้านกมลศักดิ์ ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้กว่าจะผ่านสภาใช้เวลายาวนานมาก แต่เมื่อใกล้จะประกาศใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานกลับขอชะลอเวลา กรรมาธิการฯ ได้ประชุมแล้วเห็นว่ายังไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ทำให้ขยายเวลาได้ แม้จะออกเป็น พ.ร.ก.ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า พ.ร.ก. อีกทั้งเหตุผลที่อ้างมายังไม่เข้าองค์ประกอบของการออก พ.ร.ก.แต่อย่างใด 

ย้อนไปเมื่อ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ iLaw รายงานว่า สตช.เคยออกจดหมายถึงกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยเรื่อง 'ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565' โดยสาระสำคัญ คือการขอชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ต้านอุ้มหายฯ โดย สตช.ยกปัญหามาด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อ คือ กล้องสำหรับใช้ตามกฎหมายยังไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย และมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่ยังมีความคลุมเครือและยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net