Skip to main content
sharethis

กิจกรรม "ยืนหยุดขัง 112 ชั่วโมง" เข้าวันที่ 3 คนยังมาร่วมยืนคับคั่งระหว่างกิจกรรมตำรวจ สน.ปทุมวันแจ้งเลิกชุมนุมแต่คนยังยืนกันต่อ ส่วนราชทัณฑ์แจงอาการ "ตะวัน-แบม" ล่าสุดไม่มีแรง คลื่นไส้ ปัสสาวะจากการขาดอาหารและน้ำ เตรียมส่ง รพ.ธรรมศาสตร์แล้ว

24 ม.ค.2566 ลานหน้า หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร กลุ่มประชาชนรวมตัวกันร่วมกิจกรรม "ยืนหยุดขัง 112 ชั่วโมง" ที่เริ่มมาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 23 และจะสิ้นสุดในวันที่ 26 ม.ค.นี้ เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ที่พวกเธอประกาศไว้ในการยื่นถอนประกันตัวเองเมื่อ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา

ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของทะลุวัง ประกอบด้วย

1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระ ปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง และ

3. พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116

ระหว่างที่กิจกรรมดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้เมื่อเวลา 15.30 น. ตำรวจ สน.ปทุมวันเข้าไปในพื้นที่กิจกรรมและมีการประกาศให้คนที่มาทำกิจกรรมเลิกการชุมนุมโดยระบุว่าไม่ได้มีการแจ้งจัดชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ก่อนจัดชุมนุม 24 ชั่วโมงตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยให้เลิกชุมนุมภายใน 30 นาที่หลังเจ้าหน้าที่ประกาศ และประกาศดังกล่าวลงชื่อ พ.ต.อ.ภัทรพงศ์ อินวรรณา ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน

อย่างไรก็ตามกิจกรรมยังคงดำเนินต่อไปโดยในช่วงค่ำมีการเล่นดนตรีจากกลุ่มนักกิจกรรมทะลุฟ้าด้วย

ทะลุฟ้า จัด ‘ยืน หยุด ขัง’ 112 ชม. หวังส่งเสียงถึงสังคม มีคนกำลังเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อความยุติธรรม

ราชทัณฑ์จะส่งตัว ‘ตะวัน-แบม’ รักษา รพ.ตำรวจ แต่ทั้ง 2 ปฏิเสธ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเมื่อ 15.30 น. รายงานว่าวันนี้ทางกรมราชทัณฑ์แจ้งกับทนายความว่าจะส่งทานตะวันและอรวรรณที่อดอาหารและน้ำเป็นวันที่ 7 ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่ทั้งสองปฏิเสธ และต้องการให้ส่งตัวไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ยินดีรับตัวทั้ง 2 คนไว้รักษา

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลา 18.30 น. ผู้สื่อข่าวสอบถามไปทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความฯ เพื่อติดตามความคืบหน้า เจ้าหน้าที่แจ้งว่ายังไม่ได้รับคำตอบจากกรมราชทัณฑ์ว่าจะส่งตัวทั้งสองไป โรงพพยาบาลธรรมศาสตร์หรือไม่

ต่อมาเวลา 18.19 น. ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ออกจดหมายข่าวถึงเรื่องนี้โดย สิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงอาการของทั้งสองคนที่เริ่มอดอาหารและน้ำมาตั้งแต่เย็นวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุดรองอธิบดีฯ ได้รับข้อมูลจากวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่าทั้งสองคนมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปากแห้ง คลื่นไส้ ปัสสาวะได้เพียงเล็กน้อย ซึ่งอาการทั้งหมดเกิดจากการอดน้ำและอาหารต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นวันที่ 7 และยังคงปฏิเสธยาและสารน้ำทางหลอดเลือด แม้ว่าจะแจ้งว่ารู้สึกไม่ไหว แต่ยังยืนยันจะอดอาหารและน้ำและปฏิเสธรับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

สิทธิระบุอีกว่าจากที่ทั้งสองประสงค์จะไปรักษาตัวโรงพยาบาลข้างนอก เมื่อนึกถึงความปลอดภัยแล้วทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้เตรียมเอกสารและความพร้อมส่งตัวทั้งสองคนไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้รับการตอบรับจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เมื่อ 17.41 น. ที่จะรับทั้งสองคนไปรักษาต่อ

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ จึงได้ควบคุม ดูแล โดยจัดทีมแพทย์ พยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) คอยดูแลใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขังที่อดอาหาร (Standard Operating Procedure for fasting Prisoners Measures : SOPs)” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุในจดหมายข่าว

พิธา ก้าวไกลเยี่ยม ตะวัน-แบม

วันนี้เมื่อ 13.20 น. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ทวีตแจ้งทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าวันนี้เขาได้เยี่ยมทานตะวันและอรวรรณ ยังพบว่าทั้งสองคนมีจิตใจเข้มแข็งแต่ร่างกายไม่สู้ดีนัก พร้อมกับแจ้งเรื่องที่ศาลไม่ถอนประกันทรงพล หรือ ยาใจ ทะลุฟ้า คดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์

พิธาระบุอีกว่า ทั้งสองคนได้ฝากขอบคุณคนข้างนอกและยืนยันให้ปล่อยเพื่อนเรา

รมต.ยุติธรรมไม่เข้าใจ ตะวัน-แบม ต้องการอะไร

เดอะ สแตนดาร์ด รายงานว่าวันนี้สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวถึงการอดอาหารของทานตะวันและอรวรรณว่าศาลได้เคยให้ทั้งสองคนได้ประกันตัวโดยกำหนดเงื่อนไขให้สวมกำไล EM และต้องกักบริเวณ ทำให้มีความรู้สึกไม่เต็มใจจึงขอถอนประกันเมื่อประกันแล้วจึงต้องกลับเข้ามาอยู่ในเรือนจำ

สมศักดิ์กล่าวอีกว่าตนเองไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ทั้ง 2 คนต้องการมากกว่านี้คืออะไร เพราะศาลได้ให้ประกันตัวไปแล้ว แต่ติดเงื่อนไข ส่วนเรื่องการขอประกันตัวเป็นเรื่องของศาลไม่เกี่ยวกับหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ ส่วนหน่วยงานที่ดูแลอยู่ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยทั้ง 2 คน ที่อดข้าวอดน้ำให้ดี ส่วนเรื่องที่ทั้งสองคนต้องการออกไปรักษาโรงพยาบาลนอกสังกัดราชทัณฑ์นั้น ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังสามารถรักษาดูแลอย่างเต็มที่ก็ควรรักษาไปก่อน ถ้าโรงพยาบาลไม่ไหวจึงอนุญาตให้ไปรักษาโรงพยาบาลนอก

สมศักดิ์ได้ตอบประเด็นที่ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่มีนักการเมืองมาร่วมแสดงออกด้วยว่าแต่ละพรรคมีความชอบออกงานสังคมแตกต่างกันไป บางคนชอบทำงานให้มีความเปนรูปธรรมมีความแตกต่างกัน ประเทศเรามีอิสระเสรีในการแสดงออก รักใครชอบใครก็แสดงออกไม่ว่ากัน และเรื่องคดีก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลไม่ได้อยู่ที่กรมราชทัณฑ์ แต่ได้กำชับให้กรมราชทัณฑ์ดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่อย่าให้มีอะไรผิดพลาด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net