Skip to main content
sharethis

 

  • พลงฮิตส่วนใหญ่ของไทยในปี 2022 เป็นเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง ‘คนรักเก่า’ มากที่สุด ซึ่งพูดถึงด้วยอารมณ์ ‘คิดถึง’ มากที่สุด และพบในกลุ่มเพลงอินดี้มากกว่าประเภทอื่น ในจำนวนนี้เพลงส่วนใหญ่เป็นการคิดถึงคนรักเก่าที่ทิ้งตนเองไป
  • รูปแบบความรักที่ได้รับความนิยมในเพลงป๊อปยอดนิยมนี้ ก็ยังจำกัดอยู่เพียงแค่ความรักแบบคู่รักเท่านั้น โดยไม่พบเพลงที่พูดถึงความรักในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พี่น้อง หรือมิตรภาพของเพื่อนอยู่เลย
  • เพลงร็อกมีเนื้อหากล่าวถึงความสัมพันธ์ในแบบ ‘คนรัก’ มากที่สุด แต่ที่น่าสนใจก็คือเป็นการกล่าวถึงด้วยอารมณ์ความรู้สึก ‘ตัดพ้อ’ มากกว่าจะเป็นการแสดงความรัก ส่วนอารมณ์ ‘รัก’ ในเพลงร็อก มักเป็นรูปแบบความรักที่จริงจังมากกว่าความรักแบบสดใสวัยรุ่น อย่างการพูดถึงชีวิตคู่ 
  • เพลงฮิปฮอปเป็นเพลงแนวเดียวที่ปรากฏอารมณ์ ‘ใคร่’ เพลงที่ปรากฏอารมณ์ใคร่เกือบทุกเพลงมักพูดถึงผู้หญิงที่เข้ามามีเพศสัมพันธ์ด้วย เพราะตัวเองรวย พร้อมแฝงคำก่นด่าและเกทับว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าผู้ชายคนอื่น
  • เพลงลูกทุ่งมีอารมณ์ตัดพ้อมากที่สุดจากทุกแนวเพลง เรื่องราวในการตัดพ้อมีตั้งแต่ตัดพ้อถึงรูปลักษณ์ สถานะทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงวาสนาความลำบากของชีวิต
  • เพลงฮิตที่ระบุสเปกถึงหุ่นทุกเพลงล้วนมาจากศิลปินชาย และไม่พบเพลงของศิลปินหญิงที่ระบุหุ่นของคนที่ชอบเลย ในขณะที่เมื่อกล่าวถึงสเปกด้านนิสัยก็ล้วนมาจากเพลงของศิลปินหญิง และไม่พบศิลปินชายที่ระบุสเปกคนที่ชอบด้วยนิสัยเลย 
  • เพลงที่ปรากฏคำเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งหมด 10 เพลง ในจำนวนนี้เป็นเพลงฮิปฮอป 8 เพลง เพลงร็อก และเพลงลูกทุ่ง อย่างละ 1 เพลง  โดยเกือบครึ่งของเพลงที่พูดเรื่องเซ็กส์ พูดถึงในความสัมพันธ์แบบ ‘นอกใจ’

 

อะไรที่ทำให้เพลงๆ หนึ่ง ฮิตติดชาร์ต อะไรที่ทำให้เพลงๆ หนึ่งที่เปิดในผับบาร์ขึ้นมาทีไร ไม่ว่าเพลงนั้นจะเก่าจะใหม่แค่ไหน แต่ก็จะมีคนตะโกนร้องไปพร้อมกัน อะไรที่ทำให้เพลงๆ หนึ่งมีคนฟังแล้วร้องไห้ มีคนฟังแล้วยิ้มตาม หรือแม้กระทั่งฟังแล้วอยากส่งให้อีกคนได้ฟัง มันเป็นเพราะเราแชร์อารมณ์บางอย่างที่อยู่ในเพลงนั้นร่วมกันรึเปล่า และอารมณ์แบบไหนล่ะที่คนส่วนมากแชร์ร่วมกันผ่านบทเพลง จนทำให้เพลงนั้นฮิตติดชาร์ตเป็นที่สนใจของคนหมู่มาก มันอาจจะเป็นอารมณ์ร่วมที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือบางทีก็อาจจะเป็นอารมณ์ร่วมแห่งยุคสมัย 

Rocket Media Lab ชวนสำรวจเพลงไทยยอดนิยมในปี 2022 ที่ได้รับการจัดอันดับจาก YouTube Music เพื่อดูว่าในช่วงปีที่ผ่านมาความรัก ความสัมพันธ์ หรือรูปแบบอารมณ์แบบใดซ่อนอยู่ในบทเพลงที่เราแชร์ร่วมกัน จนทำให้เพลงๆ นั้นกลายเป็นเพลงดังแห่งยุคสมัย

 

เพลงฮิตไทยพูดถึงความสัมพันธ์แบบไหนกัน

รายงานชิ้นนี้สำรวจจากเพลงฮิตที่จัดอันดับโดย YouTube Music ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิงเพลง ที่รวบรวมเพลงและมิวสิกวิดีโอจาก YouTube ซึ่งในปี 2022 เป็นแพลตฟอร์มที่มีคนไทยใช้กว่า 42.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 61.1% ของประชากรไทยทั้งหมด โดยเลือกสำรวจอันดับเพลงฮิตประจำปี 2022 ใน 5 ประเภทเพลย์ลิสต์ รวมทั้งหมด 260 เพลง ได้แก่

  • Thai Pop Hits 2022 : เพลงป๊อป จำนวน 50 เพลง
  • Thai Rock Hits 2022 : เพลงร็อก จำนวน 55 เพลง (ตัดเพลงซ้ำกับเพลงป๊อป 1 เพลง)
  • Thai Hip Hop Hits 2022 : เพลงฮิปฮอป จำนวน 53 เพลง (ตัดเพลงซ้ำกับเพลงร็อก 1 เพลง ลูกทุ่ง 1 เพลง)
  • Thai Indie Hits 2022 : เพลงอินดี้ จำนวน 55 เพลง (ตัดเพลงซ้ำกับเพลงป๊อป 1 เพลง)
  • Lukthung Hits 2022 : เพลงลูกทุ่ง จำนวน 47 เพลง (ตัดเพลงซ้ำที่เป็นเพลงคัฟเวอร์หรือเพลงที่นำมาร้องใหม่ 2 เพลง)

จาก 260 เพลง ที่นำมาสำรวจ ในจำนวนนี้มีเพลงที่เนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ 28 เพลง จึงเหลือเฉพาะเพลงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ จำนวน 232 เพลงที่นำมาใช้ในการสำรวจในรายงานชิ้นนี้ 

พื้นที่ทางเพศบนเพลงฮิตรวม : ความสัมพันธ์ที่มี ‘ผู้ชาย’ เป็นคนเล่าเรื่อง

เพลงติดอันดับยอดนิยมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ทั้งหมด 232 เพลงเป็นผลงานจากศิลปินเดี่ยว 117 คน ศิลปินคู่ 12 คู่ ศิลปินกลุ่ม 48 วง และศิลปินที่ร่วมร้อง (Feat.) 42 คน รวมทั้งหมด 387 คน โดยไม่นับศิลปินซ้ำ ซึ่งเมื่อนำมาแยกเป็นสัดส่วนชาย หญิง และ LGBTQIAN+ จะได้ ดังนี้

  • ศิลปินชาย 338 คน (87.34%)
  • ศิลปินหญิง 46 คน (11.89%)
  • ศิลปิน LGBTQIAN+ 3 คน (0.78%) 

เมื่อนำเพลงฮิต 232 เพลงมาแบ่งโดยใช้เพศของศิลปินที่ขับร้องเป็นตัวตั้ง จะมีสัดส่วน ดังนี้

  • เพลงที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินชาย 176 เพลง (75.8%)
  • เพลงที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินหญิง 51 เพลง (21.9%)
  • เพลงที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปิน LGBTQIAN+ 5 เพลง (2.1%)

เรียกได้ว่าพื้นที่ในเพลงฮิตยังเป็นพื้นที่ที่ศิลปินชายมีสัดส่วนที่มากกว่าศิลปินหญิงอย่างเห็นได้ชัด และมีศิลปิน LGBTQIAN+ เพียง 3 คนเท่านั้นที่มีเพลงติดอันดับในการจัดอันดับเพลงฮิตของ YouTube Music ในปี 2022 ในครั้งนี้ ได้แก่ พัด สุทธิภัทร สุทธิวาณิช (Zweed n' Roll), เขื่อน ภัทรดนัย และแอนท์ มนัสนันท์ กิ่งเกษม (LANDOKMAI) และเมื่อสำรวจเพลงฮิตโดยแบ่งตามเพศของศิลปิน ก็ยังพบว่าเพลงฮิตเกือบทั้งหมดมาจากมุมมองของ ‘ศิลปินชาย’ ในการเล่าเรื่องและถ่ายทอดอารมณ์ในความสัมพันธ์ โดยอารมณ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินชายมากที่สุด คืออารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ (26.14%) ส่วนในศิลปินหญิงจะพบอารมณ์ ‘แอบรัก’ และ ‘ตัดพ้อ’ มากที่สุดในสัดส่วนที่เท่ากัน (7.3%) และในศิลปิน LGBTQIAN+ ที่พบจำนวน 5 เพลง ได้แก่ อารมณ์ ‘รัก’ – ​เพลงก่อนนอน (Uncle Ben feat. แอนท์ LANDOKMAI), ‘ตัดพ้อ’ – โลกใบเก่า (Zweed n' Roll), ‘คิดถึง’ – Tsuki (LANDOKMAI), ‘ถูกทิ้ง’ – ช่วงเวลา (พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, Zweed n' Roll) และ ‘แอบรัก’ – หากเธอเคยรักใคร (Waii, เขื่อน)
ไม่ว่ายุคไหนๆ คนไทยก็ยังคิดถึงแฟนเก่า 

จากเพลงฮิต 260 เพลงในปี 2022 เมื่อนำเฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ จำนวน 232 เพลง นำมาจัดรูปแบบสถานะความสัมพันธ์ของตัวละครที่ถูกกล่าวถึงในเนื้อหาของบทเพลง จะสามารถแบ่งได้ 8 สถานะ ดังนี้

  1. คนรักเก่า (เคยรักกัน/จากไป/แยกทาง/โดนทิ้ง/ลาจาก) – 35.3% 
  2. คนรัก (ข้างกัน/รัก/มีเธอ/ที่รัก) – 33.1% 
  3. คนที่ตัวเองแอบรัก (อยากรู้จัก/หวั่นไหว/ถูกใจ/แรกเจอ) – 18.9% 
  4. ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด (คืนนี้/แก้เบื่อ/fun) – 3.8% 
  5. เฟรนด์โซน (เพื่อน) – 2.5%
  6. คนคุย (ตอบแชท/คุยกัน) – 2.5%
  7. นอกใจ (แฟนคนอื่น) – 1.7%
  8. โสด (ฉัน/ตัวเอง) – 1.7%

นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในเพลง และนำมาจัดประเภทของอารมณ์ โดยยึดตามวงล้อแห่งอารมณ์ของ ศ.ดร.โรเบิร์ต พลัทชิค (Robert Plutchik) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาผู้เสนอแนวทางการจำแนกอารมณ์พื้นฐาน เป็น 8 อารมณ์ แยกเป็นกลุ่มอารมณ์เชิงบวกและอารมณ์เชิงลบ โดยอารมณ์ที่ปรากฏในเพลง สามารถแยกได้ทั้งหมด 4 วงล้อ 11 อารมณ์ ดังนี้ 

  1. วงล้อแห่งความสุข
    • รัก (รัก/ชอบ/มีแค่เธอ/ดูแล/ข้างกัน) – 15.9%
    • แอบรัก (แอบมอง/อยากเป็นแฟน/หลงรัก/จีบ) – 14.6%
    • ใคร่ (คืนนี้/sex) – 4.3%
    • กลับมารักตัวเอง (รักตัวเอง/เป็นตัวเอง/กอดตัวเอง) – 1.7%
    • รอวันที่จะได้เจอความรัก (รอ/สักวัน/ใครคนนั้น) – 0.8%
  2. วงล้อแห่งความเสียใจ
    • ตัดพ้อ (น้อยใจ/ไร้ค่า/ไม่คู่ควร/รู้อยู่เเก่ใจ) – 25.8%
    • คิดถึง (คิดถึง/ฝังใจ/ลืมไม่ลง/นึกถึง) – 21.9%
    • ถูกทิ้ง (ลา/จะไป/จากไป/หมดใจ)– 3.4%
    • รู้สึกผิด (ขอแก้ไข/สำนึกผิด/แก้ตัว) – 1.2%
  3. วงล้อแห่งความโกรธ
    • โดนหลอก (ตัวสำรอง/แทนที่/แอบคบ/โกหก/หลอก) – 6.9%
  4. วงล้อแห่งความกลัว
    • กังวล (ยังรักอยู่ไหม/กลัว/ยังไม่พร้อม/รับได้ไหม) – 3%

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าเพลงฮิตส่วนใหญ่ของไทยในปี 2022 เป็นเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง ‘คนรักเก่า’ มากที่สุด 82 เพลง (35.3%) โดยเป็นการพูดถึงด้วยอารมณ์ ‘คิดถึง’ มากที่สุด 51 เพลง (61.4%) ซึ่งพบในกลุ่มเพลงอินดี้มากกว่าประเภทอื่น จำนวน 20 เพลง (39.2%) และพบในกลุ่มเพลงฮิปฮอปรองลงมา จำนวน 10 เพลง (19.6%) ในจำนวนนี้มีเพลงที่ระบุว่าคิดถึงคนรักเก่าที่ทิ้งตนเองไปกว่า 39 เพลง (76.4%) ตัวอย่างเช่น “เพราะในวันที่เธอจากไป โลกหยุดชะงัก” – วิเศษ (MaxMillor) และมีเพียง 1 เพลงเท่านั้น (1.9%) ที่ระบุว่าตัวเองเป็นคนทิ้งคนรักเก่าเอง ได้แก่ “อยากจะเห็นว่าเธอมีความสุข จะได้รู้ว่าฉันนั้นทำถูกที่ปล่อยมือของเธอ” – แพ้ความอ่อนแอ (Silly fools) 

อันดับสอง คือเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง ‘คนรัก’ 77 เพลง (33.1%) ซึ่งเป็นการพูดถึงด้วยอารมณ์ ‘รัก’ มากที่สุด จำนวน 37 เพลง (48.6%) และพบในกลุ่มเพลงอินดี้มากกว่าเพลงประเภทอื่นเช่นเดียวกัน จำนวน 12 เพลง (32.4%) และพบรองลงมาคือกลุ่มเพลงป๊อป 9 เพลง (24.3%) แต่ปรากฏน้อยที่สุดในเพลงลูกทุ่ง ที่พบเพียง 2 เพลงเท่านั้น ได้แก่ เพลง เนื้อคู่ (ลำเพลิน วงศกร, เบลล์ นิภาดา) และเพลง หยุดเวลาไว้ตรงนี้ได้บ่ (ต่าย อรทัย) 

ตามมาด้วยอันดับสาม เพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง ‘คนที่ตัวเองแอบรัก’ จำนวน 44 เพลง (18.9%) โดยถูกพูดถึงในอารมณ์ ‘แอบรัก’ มากที่สุด 29 เพลง (65.9%) พบในเพลงป๊อปมากที่สุด 15 เพลง (51.7%) รองลงมาคือเพลงลูกทุ่ง จำนวน 7 เพลง (24.1%) ครึ่งหนึ่งของอารมณ์แอบรักนี้ (51.7%) เป็นการแอบรักคนรู้จัก หรือการเผลอใจให้คนที่เคยพบเจอกันหลายครั้งแล้ว เช่น เพลง 17 (Dept) ในท่อนที่ร้องว่า “ไม่เคยคิดเลยว่าต้องมีใจให้คนที่ไม่เคยนึกถึง” และในเพลงที่เหลือ (48.2%) เป็นการแอบรักคนแปลกหน้าตั้งแต่แรกพบ เช่นเพลง I JUST WANNA PEN FAN YOU DAI BOR ? (สิงโต นำโชค)

ในสถานะความสัมพันธ์แบบคนที่ตัวเองแอบรัก นอกจากจะพบอารมณ์แอบรักแล้ว ยังพบอารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ มากถึง 14 เพลง (31.8%) โดยจะพบการตัดพ้อคนที่ตัวเองแอบรักในเพลงลูกทุ่งมากที่สุด (35.7%) รองลงมาในเพลงอินดี้ (28.5%) ตามด้วยเพลงร็อก (21.4%) และพบน้อยที่สุดในเพลงป๊อป (14.2%)

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือมีเพลงแอบรัก 6 เพลง (20.6%) ที่ระบุว่าจะ ‘เปย์’ ของต่างๆ เพื่อให้ได้หัวใจคนที่แอบชอบมา มีตั้งแต่ เงิน บ้าน เพชรพลอย ชาเนล (แบรนด์) รถซูเปอร์คาร์ ไปจนถึงการให้เงินเป็นคริปโต จากเพลง ทักครับ (Lipta feat. GUYGEEGEE) ที่ออกมาในปี 2022 ซึ่งในปีเดียวกันนี้จากการรายงานของ Chainalysis บริษัทวิเคราะห์บล็อกเชน พบว่าประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับ 8 ประเทศที่มีการใช้งานคริปโตมากที่สุด เพลงนี้จึงไม่เพียงสะท้อนเพียงแค่ ‘วิถีปฏิบัติ’ ในการ ‘จีบ’ กันของคนหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัย แต่ยังสะท้อนให้เห็นรูปแบบของสังคมในยุคปัจจุบันที่เริ่มเปิดรับการใช้งานแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีไว้อีกด้วย

อันดับที่ 4 ‘ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด’ พบจำนวน 9 เพลงจากเพลงทั้งหมด (3.8%) มีทั้งความสัมพันธ์แบบข้ามคืน (One Night Stand) หรือ ความสัมพันธ์แบบเพื่อนที่สามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้โดยไม่ผูกมัด (Friend with Benefits) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ต้องการความรัก ในจำนวนนี้ปรากฏอารมณ์ ‘ใคร่’ มากที่สุด 6 เพลง (66.6%) โดยอารมณ์ใคร่ทุกเพลงล้วนอยู่ในกลุ่มเพลงฮิปฮอป เช่น “เพียงมองตาเธอก็รู้ดี มีแต่เราที่รู้กันว่าจะทำอย่างไรในคืนนี้ กลิ่นน้ำหอมเธอเย้ายวน บวกกับฟีโรโมนที่คลุ้งไกล ดึงดูดฉัน” – ฟีโรโมน (BlackHeart feat. 2TFLOW) หรือ “ห้องข้างๆ เดินมาบอกว่าให้ เบาๆ หน่อยได้มั้ยอะ เสียงมันดังทะลุกำแพงแบบว่าหนูทนไม่ไหวอะ ถ้าพี่เย็ดคนนั้นเสร็จแล้วมาเย็ดหนูต่อได้มั้ย” – วิสกี้ (1LIFE) 

ถัดมาที่สถานะความสัมพันธ์แบบ ‘เฟรนด์โซน’ พบเพลงที่พูดถึงสถานะนี้ จำนวน 6 เพลง (2.5%) เป็นสถานะของเพื่อนที่แอบรักเพื่อน แต่ยังไม่สามารถข้ามเส้นเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นมากกว่าเพื่อนได้ มักอยู่ในเพลงป๊อปเป็นส่วนใหญ่ พบ 4 เพลง (66.6%) อยู่ในเพลงร็อกและเพลงลูกทุ่งรองลงมา อย่างละ 1 เพลง (33.3%) ครึ่งหนึ่งของเพลงในสถานะเฟรนด์โซนนี้เป็นอารมณ์ ‘แอบรัก’ เช่น เพลง เป็นได้ทุกอย่าง (UrboyTJ) ที่บอกว่า “อยากให้เป็นมากกว่านั้น งั้นต้องเป็นแฟนกันแล้วปะ เป็นให้เธอได้นะก็ฉันเป็นได้ทุกอย่าง” ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะมีความสุขกับสถานะเฟรนด์โซนเสมอไป โดยอีกครึ่งของสถานะนี้เป็นอารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ เพราะแม้จะทำทุกอย่างแล้วแต่ก็ยังไม่ได้คบกันเช่นเพลง เกินปุยมุ้ย (เอ้ย จิรัช) ที่บอกว่า “เป็นให้เธอทุกอย่างแล้ว เธอไม่เคยมีฉันบ้างเลยหรือเธอ”

อันดับที่ 6 คือเพลงที่มีเนื้อหาความสัมพันธ์แบบ ‘คนคุย’ มีจำนวน 6 เพลง (2.5%) ซึ่งเป็นสถานะที่อยู่ระหว่างเรียนรู้กันและกันก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปเป็นคนรัก โดยพบอารมณ์ ‘แอบรัก’ และ ‘กังวล’ อย่างละ 2 เพลงเท่ากัน (33.3%) ซึ่งอารมณ์กังวลนั้น เป็นการกังวลเพราะตัวเองยังไม่กล้าเปิดใจให้รักครั้งใหม่ และไม่มั่นใจว่าคนที่คุยอยู่จะรับได้ไหม ได้แก่ เพลง ตลอดไปไม่มีจริง (Mirrr feat. อ๊ะอาย 4EVE) และเพลง ศรัทธาในรัก (MAN’R) อารมณ์อื่นๆ ที่พบในสถานะคนคุย ได้แก่ 'โดนหลอก' และ 'ตัดพ้อ' อย่างละ 1 เพลง (16.6%)

ถึงกระนั้นก็ยังพบความสัมพันธ์ในลักษณะ ‘นอกใจ’ ปรากฏอยู่บ้าง จำนวน 4 เพลง (1.72%) ส่วนใหญ่เป็นอารมณ์ ‘ใคร่’ (75%) พบในกลุ่มเพลงฮิปฮอปทั้งหมด แต่มักอยู่ในลักษณะเกทับ ก่นด่าด้วยคำหยาบคาย มากกว่าจะเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างจริงจัง เช่น “ถ่ายรูปแฟนมึงเก็บไว้เป็นระทึก ตอนที่อมเห็นเธอ choke กูบอก ฮึ้บ” – Fast&Furious (1MILL) และอีก 1 เพลง พบในเพลงลูกทุ่งด้วยอารมณ์ ‘โดนหลอก’ ได้แก่ “เธอมากับผัว เธอตั๋วกับอ้ายว่าโสด ผัวเธอฮู้มันคงสิโกรธ อย่าโทษว่าอ้ายเป็นคนบ่ดี” – เธอมากับผัว (Owen feat. Jack Wc, Man’r) 

สุดท้ายเพลงที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ในสถานะ ‘โสด’ เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของเพลง เป็นการพูดคุยกับตนเอง ไม่พบการกล่าวถึงตัวละครอื่น พบในอารมณ์ ‘รอวันที่จะได้เจอความรัก’ มากที่สุด (50%) ส่วนอีก 2 อารมณ์ที่พบได้แก่ ‘ตัดพ้อ’ และ ‘กลับมารักตัวเอง’ 

เพลงป๊อป : วนอยู่กับการแอบรักและคิดถึงแฟนเก่า

จากการสำรวจเพลงป๊อปที่ติดอันดับเพลงยอดนิยมในปี 2022 จำนวน 49 เพลง (ตัดเพลงที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ออก) พบว่าเป็นเพลงที่มีเนื้อหาว่าด้วยความสัมพันธ์ของ ‘คนที่ตัวเองแอบรัก’ มากที่สุด 17 เพลง (34.6%) และเป็นการกล่าวถึงด้วยอารมณ์ ‘แอบรัก’ (30.61%) รองลงมาเป็นเพลง ‘รัก’ สำหรับสถานะ ‘คนรัก’ และเพลง ‘คิดถึง’ สถานะ ‘คนรักเก่า’ ในสัดส่วนที่เท่ากัน (18.37%) 

ถึงอย่างนั้น รูปแบบความรักที่ได้รับความนิยมในเพลงป๊อปยอดนิยมนี้ ก็ยังจำกัดอยู่เพียงแค่ความรักแบบคู่รักเท่านั้น โดยไม่พบเพลงที่พูดถึงความรักในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พี่น้อง หรือมิตรภาพของเพื่อนอยู่เลย และมีเพลงรักเพียง 2 เพลงที่มีมิวสิควิดีโอสื่อถึงคู่รักเพศเดียวกัน ได้แก่ เพลง แค่เธอ – Jeff Satur และ ชอบป่ะเนี่ย – Mai Davika 

ในส่วนของอารมณ์ที่ปรากฏในเพลงป๊อป พบว่านอกจาก ‘แอบรัก’ ที่มีมากที่สุดแล้ว ยังปรากฏอารมณ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ‘กังวล’ (8.16%) โดย 3 ใน 4 เพลง เป็นการกังวลเกี่ยวกับคนรัก ทั้งกังวลว่าจะเสียคนรักไปและกังวลว่าคนรักจะยังไม่ลืมคนเก่า เช่น “เธอลืมเขาได้จริงใช่ไหม ทำใจได้จริงหรือเปล่า เธอยังนึกถึงวันเก่าใช่ไหมเธอ” – ลืมได้จริงใช่ไหม (NUM KALA feat. ส้ม มารี) ส่วนอีก 1 เพลง กังวลเกี่ยวกับสถานะคนคุย เพราะตัวเองยังไม่พร้อมเปิดใจ ได้แก่ ตลอดไปไม่มีจริง (Mirrr feat. อ๊ะอาย 4EVE) 

เพลงร็อก : ชาวร็อกก็มีหัวใจ ทำไมโดนหลอกมากที่สุด

จากการสำรวจเพลงร็อกที่ติดอันดับเพลงยอดนิยมในปี 2022 จำนวน 43 เพลง (ตัดเพลงที่ไม่ไม่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ออก) พบว่า มีเนื้อหากล่าวถึงความสัมพันธ์ในแบบ ‘คนรัก’ มากที่สุด จำนวน 18 เพลง (41.8%) แต่ที่น่าสนใจก็คือเป็นการกล่าวถึงด้วยอารมณ์ความรู้สึก ‘ตัดพ้อ’ (38.39%) มากกว่าจะเป็นการแสดงความรัก เช่น “ให้เธอออกไปให้เธอห่างไกลคนไร้ค่า ใกล้ฉันเธอเองก็มีได้เพียงน้ำตา ขอเธออย่าเสียเวลากับฉันเลยดีกว่า ทิ้งฉันไปเถอะ” – ส่งเธอออกไป (COCKTAIL) 

ส่วนอารมณ์ ‘รัก’ ในเพลงร็อก มักเป็นรูปแบบความรักที่จริงจังมากกว่าความรักแบบสดใสวัยรุ่น อย่างการพูดถึงชีวิตคู่ หรืออุปสรรคที่อยากฝ่าฟันไปพร้อมกับคนรัก เช่น “ขาดเธอไปเมื่อไหร่คงจบสิ้นกัน อยากให้สองเราเดินอยู่เคียงข้างกันไปจนวันสุดท้าย” – ขอตายก่อน (Instinct) หรือ “บนเส้นทางที่ขวากหนามไม่ปราณีกับชีวิต แต่ยังมีคนข้างหลังที่เราต้องไปต่อเพราะเธอ” – แสงหิ่งห้อย (New Travelers) 

ขณะเดียวกันในอารมณ์รักของเพลงร็อก ยังพบเพลงที่แฝงความเชื่อและการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คนรักไม่เปลี่ยนใจ จากเพลง นะหน้าทอง (โจอี้ ภูวศิษฐ์) ท่อน “ฉันจึงเป่าคาถาเพื่อให้เธอหลงใหล ให้ทองที่แปะหน้าฉัน ทำให้เธอคลั่งไคล้” โดยนะหน้าทองนั้นเป็นหนึ่งในคาถาชุดเมตตามหานิยมที่คนไทยในชนบทคุ้นเคยตั้งแต่อดีต ซึ่งเพลงนี้ก็ได้ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมการทำนะหน้าทองกลับมาเป็นกระแสให้พูดถึงอีกครั้ง

อันดับสองคือรูปแบบความสัมพันธ์ในสถานะ ‘คนรักเก่า’ มีจำนวน 14 เพลง (32.5%) ซึ่งถูกพูดด้วยอารมณ์ ‘คิดถึง’ มากที่สุด 8 เพลง (57.1%) รองลงมาอารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ 3 เพลง (21.4%) ในจำนวนนี้มีจุดร่วมกันคือ ตัดพ้อคนรักเก่าที่มาทิ้งกันไป หรือไปมีคนรักใหม่แล้ว เช่น “อยากจะไปก็อยากจะไปจะเข้ามาเริ่มทุกอย่างทำไม” – Drivethru (SMEW) หรือในท่อน “ยินดีที่เธอและเขารักกัน จากฉันผู้ไม่มีความหมาย” – มีความสุขมากๆ นะ (BIG ASS) อารมณ์อื่นๆ ที่พบในสถานะนี้ ได้แก่ ‘โดนหลอก’ พบ 2 เพลง (14.2%) และ ‘รู้สึกผิด’ พบน้อยที่สุด 1 เพลง (7.1%) 

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ในเพลงร็อกมีอารมณ์ ‘โดนหลอก’ ปรากฏอยู่มากที่สุดเมื่อเทียบกับในแนวเพลงอื่น จำนวน 7 เพลง (16.28%) เรื่องราวในการโดนหลอกคือหลอกว่ารักและโดนสวมเขาเพราะมีมือที่ 3 เข้ามาในความสัมพันธ์ เป็นการโดนหลอกจากทั้งสถานะ ‘คนคุย’ เช่น “เพียงแค่หยอก อย่าจริงจัง มันเป็นแค่เพียงเธอหยอก น่ะขำขำ เธอบอกว่าล้อเล่นหรอก” – ผีหยอก (HANGMAN TREES) ‘คนรัก’ ในท่อน “ที่เธอทำแค่เสแสร้ง แกล้งทำเป็นรักฉันเธอก็รู้ว่าแม่งไม่ใช่เรื่องจริง” – เสแสร้ง (Paper Planes feat. MOON) ‘คนรักเก่า’ ในท่อน “กลายเป็นคนโง่โง่ ที่ถูกเธอหลอกเงียบเงียบ กลายเป็นคนอย่างเขาที่เข้ามาแทนฉัน” – กำหมัด (Paper Planes) ไปจนถึงจาก ‘ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด’ อย่างในเพลง “ก็ต่างคนต่างมากหลอกต่างบอกว่าไม่มีใคร” – ผีเห็นผี (L.กฮ.)

เพลงฮิปฮอป : เซ็กส์ เงิน และคำด่า

จากการสำรวจเพลงฮิปฮอปที่ติดอันดับเพลงยอดนิยม ปี 2022 จำนวนทั้งหมด 41 เพลง (โดยตัดเพลงที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ออก) พบว่ามีเนื้อหากล่าวถึงความสัมพันธ์รูปแบบ ‘คนรักเก่า’ มากที่สุด 16 เพลง (39.02%) และเป็นการกล่าวถึงด้วยความอารมณ์ ‘คิดถึง’ มากที่สุด (62.5%) รองลงมาคือความสัมพันธ์ในรูปแบบ ‘คนรัก’ จำนวน 11 เพลง (26.83%) โดยกล่าวถึงด้วยอารมณ์ ‘รัก’ มากที่สุด 8 เพลง (72.73%) และอีก 3 เพลงเป็นอารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ เพราะไม่อยากเสียคนรักไป โดยในจำนวนนี้มี 1 เพลงที่ระบุว่าจะยอมให้คนรักไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ คือเพลง อะไรฉันก็ยอม (SARAN feat. Pondering, WHALJAY, SLOWVXNZ) ในท่อน “เธออยากไป call กับเขาก็ call ฉันยอมเธอได้ทุกเรื่อง เธออยากไปนอนกับเขาก็นอน”

นอกจากนี้ในเพลงฮิปฮอป ยังเป็นเพลงแนวเดียวที่ปรากฏอารมณ์ ‘ใคร่’ พบจำนวน 10 เพลง (24.39%) ซึ่งมีแรงดึงดูดทางเพศ หรือเซ็กส์เป็นตัวขับให้เกิดความสัมพันธ์โดยปราศจากความรัก และพบในเนื้อหาของเพลงที่มีรูปแบบความสัมพันธ์ในสถานะ ‘ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด’ มากที่สุด 6 เพลง (60%) และความสัมพันธ์แบบ ‘นอกใจ’ ที่กล่าวถึงการไปมีเซ็กส์กับแฟนคนอื่น จำนวน 3 เพลง (30%) เช่น “กูเหมือน Chandelier แฟนมึงเข้ามาเลีย” – Fast&Furious (1MILL) และยังพบในสถานะความสัมพันธ์แบบ ‘คนที่ตัวเองแอบรัก’ อีกด้วย จำนวน 1 เพลง (10%) ในเพลง Victoria's Secret (DIAMOND MQT) เช่น “ถ้าไม่เป็นที่รัก แค่อยากจะ Fuck ได้รึป่าว” 

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าเนื้อหาในเพลงที่ปรากฏอารมณ์ใคร่เกือบทุกเพลงมีจุดร่วมกันคือ พูดถึงผู้หญิงที่เข้ามามีเพศสัมพันธ์ด้วย เพราะตัวเองรวย พร้อมแฝงคำก่นด่าและเกทับว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าผู้ชายคนอื่น จนผู้หญิงบางคนถึงขั้นนอกใจแฟนมามีความสัมพันธ์กับตัวเอง และบางเพลงยังปรากฏคำพูดในเชิงลดทอนคุณค่าผู้หญิง เช่น “สาวสาวขี้คันชอบมาให้เกา” – ยิกยิก (POKMINDSET feat. SpriteDer SPD) มีเพียงเพลง Victoria's Secret (DIAMOND MQT) ที่ไม่ได้พูดถึงผู้หญิงในเชิงเข้ามามีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่ก็ยังพูดถึงความรวย และพร้อมจะใช้เงินซื้อสิ่งของมาเปย์เพื่อให้ได้หัวใจคนที่แอบรักมาอยู่ดี

เพลงอินดี้ : 70% มีแต่เพลงเศร้า ทำไมอินดี้แล้วต้องช้ำรัก 

จากการสำรวจเพลงอินดี้ที่ติดอันดับเพลงยอดนิยม ปี 2022 จำนวนทั้งหมด 55 เพลง พบว่ามีเนื้อหากล่าวถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบของสถานะ ‘คนรักเก่า’ มากที่สุด 26 เพลง (47.27%) ซึ่งเป็นการกล่าวถึงด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบ ‘คิดถึง’ มากถึง 20 เพลง (76.92%) โดยกลุ่มเพลงอินดี้มีเนื้อหาเพลงคิดถึงคนรักเก่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับในแนวเพลงอื่น รองลงมาคืออารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ 5 เพลง (19.23%) และ ‘รู้สึกผิด’ จำนวน 1 เพลง (3.85%)

นอกจากเพลงอินดี้จะมีเพลงในอารมณ์คิดถึงคนรักเก่ามากที่สุดแล้ว ยังมี ‘เพลงรัก’ มากที่สุดอีกด้วย โดยเป็นเพลงที่กล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ในสถานะ ‘คนรัก’ 20 เพลง (34.55%) และเป็นการกล่าวถึงด้วยอารมณ์ความรู้สึก ‘รัก’ 12 เพลง (60%) ตามมาด้วย ‘ตัดพ้อ’ 6 เพลง (30%) และ ‘ถูกทิ้ง’ 2 เพลง (10%)

อีกสิ่งที่น่าสนใจในเพลงอินดี้คือรูปแบบความสัมพันธ์ในสถานะ ‘คนที่ตัวเองแอบรัก’ นั้นถูกพูดถึงด้วยอารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ ด้วยความเสียใจ (66.67%) มากกว่าจะเป็นอารมณ์ ‘แอบรัก’ (33.33%) โดยเพลงตัดพ้อคนที่แอบรักเกือบทุกเพลงพูดในเชิงเปรียบเทียบตัวเองกับบุคคลที่ 3 ว่าตัวเองนั้นสู้เขาไม่ได้ ไม่ว่าจะรักเท่าไหร่ก็แพ้คนในใจเธออยู่ดี เช่น “ต่อให้ฉันรักเธอมากแค่ไหนก็แพ้เขาอยู่ใช่ไหม” – ต่อให้...ก็แพ้ (loserpop) หรือ “เพราะฉันโคจรวนรอบตัวเธอ ส่วนเธอก็มองแต่เขาเล่าเออ ตะวันผู้พร้อมไปด้วยเลิศเลอ ต่างจากฉัน” – ฉันคือดวงจันทร์ (MONICA) มีเพียงเพลง ขยะอวกาศ (Funky Wah Wah, Win Sqweez Animal) ที่ไม่ได้พูดถึงบุคคลที่ 3 แต่ก็ยังตัดพ้อว่าไม่คู่ควรกับคนที่ตัวเองแอบรักอยู่ดี อย่างในท่อน “เธออยู่บนดาวที่แสนไกล ที่รักคงไปไม่ถึงเธอ”

อีกทั้งในเพลงอินดี้ ยังมีเพลงที่กล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ในสถานะ ‘โสด’ ที่มีเนื้อหาในอารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ อีกด้วย อย่างเพลง ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง (เรนิษรา) และ ‘กลับมารักตัวเอง’ ได้แก่ เพลง โอบกอด (STUCKCRAZY) ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเชิงบวก ให้กำลังใจตัวเอง และสนับสนุนให้รักในการเป็นตัวของตัวเอง อย่างท่อน “โอบกอดตัวเองไว้อย่าแตกสลายเพราะใครอีกเลย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้ใครมารักเรา”

เพลงลูกทุ่ง : หนุ่มสาวชาวลูกทุ่งที่มีแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจ 

จากการสำรวจเพลงอินดี้ที่ติดอันดับเพลงยอดนิยม ปี 2022 จำนวนทั้งหมด 44 เพลง (โดยตัดเพลงที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ออก) จะพบว่ามีเนื้อหากล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ในสถานะ ‘คนรักเก่า’ มากที่สุด 15 เพลง (34.09%) ซึ่งเกินครึ่งกล่าวถึงด้วยอารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ 8 เพลง (53.33%) โดยในจำนวนนี้มี 6 เพลง (75%) ที่ตัดพ้อเพราะรู้สึกต่ำต้อย เปรียบเทียบตัวเองกับบุคคลที่ 3 ไม่มีค่าพอจนโดนคนรักเก่าทิ้งไป เช่น “เขาสนสั่นผู้ดี เขานั่นเป็นลูกเศรษฐี เขากิน Whiskey กูกินเหล้าขาว” – วัยรุ่นทำทรง (STS73) หรือ “เป็นแค่คนบ้านนอกคอกนาเตะฝุ่นอยู่น่าบ้าน สิให้ไปเทียบกับเขาอ้ายคงเป็นได้แค่จัณฑาล” – ขี้เหล้า (ฝ้ายเมฆะ feat. ทรงเจ้าพ่อ)

ในกลุ่มเพลงลูกทุ่งนั้นพบอารมณ์ตัดพ้อ มากถึง 20 เพลง (45.45%) นับว่าพบมากที่สุดจากทุกแนวเพลง นอกจากการตัดพ้อสถานะคนรักเก่าแล้ว ยังพบอารมณ์ตัดพ้อในอีกเกือบทุกสถานะความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานะ ‘คนรัก’, ‘คนที่ตัวเองแอบรัก’ รวมถึง ‘เฟรนด์โซน’ อีกด้วย เรื่องราวในการตัดพ้อมีตั้งแต่ตัดพ้อถึงรูปลักษณ์ตัวเองว่า ทำงานตากแดดจนผิวคล้ำดำ ทำให้ไม่หล่อสู้คนอื่น เช่น “บ่หล่อหน้าตาบ่ดีหน้าดำปี้ปี้คือจังขี้ถ่าน” – คนกระจอก (บุ๊ค ศุภกาญจน์) ตัดพ้อว่าตัวเองไม่มีฐานะ ผู้หญิงคงไม่ชอบ เช่น “เธอมีแต่ของแพงๆ ฉันมีเพียงหม้อท่อม” – ข้าราชการข้าวราดแกง (วงเบบี้ดั๊ก) ไปจนถึงตัดพ้อในวาสนาความลำบากของชีวิต เช่น “พ่อแม่มึงสร้างให้ มึงก็อยู่สบายไม่เดือดร้อนไร แต่กูเองมึงต้องเข้าใจ กูไม่มีอะไรเหมือนคนอื่นเขา” – พ่อแม่สร้างให้ (โอ๋ ตะวัน)

อีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจในกลุ่มเพลงลูกทุ่งคือในรูปแบบความสัมพันธ์ในสถานะ ‘คนที่ตัวเองแอบรัก’ ที่มีจำนวน 12 เพลง (27.27%) โดยเป็นการกล่าวถึงด้วยอารมณ์ ‘แอบรัก’ 7 เพลง (58.33%) เป็นการแอบรักที่เกือบครึ่ง (42.86%) แฝงความกังวลว่าตัวเองจะไม่คู่ควรกับคนที่แอบรัก และบางเพลงยังพูดถึงสีผิวที่คล้ำด้วยความกลัวว่าอีกฝ่ายจะไม่ชอบ พบทั้งในเพลงของศิลปินชาย และศิลปินหญิง เช่น “เป็นคนผมสั้นผิวบ่ขาวสักลายเต็มแขน อยากเป็นแฟนกับเจ้าสิได้บ่” – แนะนำโต (น้ำแข็ง ทิพวรรณ) หรือ “พี่คนตัวดำโอ้ว่าแม่งามขำจะสนใจหรือเปล่า” – ชอบหม้ายกับบ่าวคนนี้ (หนวด จิรภัทร, นิล แทมมะริน) และยังพบเพลงที่ระบุว่าจะใช้คุณไสย์ทำให้สมหวังกับคนที่ชอบอีกด้วย คือเพลง คุณไสย์เสกฮัก (เนสกาแฟ ศรีนคร) ในท่อน “สิให้น้องเล่นของหรือสิฮักน้องดีดี น้ำมันพรายหรือดินเจ็ดผีป่าช้า”

รูปร่างหน้าตาแบบไหนที่ใครๆ ก็อยากจะรัก 

จากเพลงฮิตติดอันดับยอดนิยมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ จำนวน 232 เพลง พบเพลงที่มีการระบุสเปกคนที่ชอบทั้งหมด 50 เพลง (21.5%) โดยใน 1 เพลงอาจมีการระบุมากกว่า 1 สเปก สามารถนำสเปกทั้งหมดมาแบ่งประเภทได้เป็น 4 ประเภท คือ หน้าตา หุ่น นิสัย และบุคลิก โดยพบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

หน้าตา : ชอบคนสวย แต่ต้องสวยแบบพิมพ์นิยม 

เพลงฮิตที่มีการระบุสเปกประเภทหน้าตา มีจำนวน 33 เพลง ซึ่งในจำนวนนี้มี 17 เพลง (53.13%) ระบุว่าชอบคนที่ความสวย โดยรูปแบบความสวยที่ถูกกล่าวซ้ำมากกว่ารูปแบบอื่น นั่นคือ ‘ความสวยแบบพิมพ์นิยม’ เช่น ต้องผมยาว หน้าคม เซ็กซี่ เช่นในเพลง KIMINOTO (SPRITE feat. YOUNGOHM) ที่ระบุว่า “เธอน่ะสวยเหมือน Jessie Reyez” เพลง Very Very Small (YOUNGOHM) ท่อน “เธอดูเหมือนดารา in the night show” หรือเพลง SuperCarCare (TATTOO COLOUR feat. D Gerrard) ที่ว่า “สว่างวับมาแต่ไกล หยั่งกะดาววิทยาลัย” โดยหากลองเสิร์ชคำว่าดาวมหาวิทยาลัย จะพบภาพความสวยในกรอบภาพตายตัว (stereotype) อย่างชัดเจน 

ถัดมาคือชอบคนน่ารัก จำนวน 13 เพลง (39.3%) เช่นเพลง โต๊ะริม (NONT TANONT) ที่ร้องว่า “ก็เธอดันน่ารักซะสาแก่ใจ” หรือ ไม่รู้ว่าลูกสาวใครก็น่ารักจังหว่า – ชอบหม้ายกับบ่าวคนนี้ (หนวด จิรภัทร, นิล แทมมะริน)

นอกจากนี้ยังมีสเปกชอบลูกครึ่ง 1 เพลง (3%) ในเพลง I JUST WANNA PEN FAN YOU DAI BOR? (สิงโต นำโชค) ในท่อน “หน้าตาลูกครึ่งไทย America อ้ายบอกเลยว่าโดนอกโดนใจ” และชอบคนหมวย อีก 1 เพลง (3%) ในเพลง อาหมวยหาย (THE TOYS) ท่อน “ยังไงก็เป็นอาหมวย Baby ตาเล็กกำลังดี” 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ในเพลงที่มีการระบุสเปกในด้านหน้าตาส่วนใหญ่มักจะอยู่ในเพลงที่ถูกถ่ายทอดโดยศิลปินชาย โดยใน 33 เพลงที่ระบุสเปกประเภทหน้าตา มีเพลงของศิลปินชายมากถึง 27 เพลง (78.7%) และเป็นศิลปินหญิง 6 เพลง (18.1%) โดยในศิลปินหญิงมีเพลงที่ระบุสเปกถึงความสวย 1 เพลง ได้แก่ “ไม่เคยจะเห็นว่ามีใครงามได้เกินกว่าเธอ – ฉันคือดวงจันทร์ (MONICA) สเปกน่ารัก 4 เพลง เช่น “มองทีไรก็น่ารักและสดใส” – เกินต้าน (PiXXiE) หรือในท่อน “แต่เจ้าตาฮักคักอีหลี เบิ่งดีดีตรงสเปกหลาย” – แนะนำโต (น้ำแข็ง ทิพวรรณ) ส่วนอีก 1 เพลง คือสเปกชอบคนหล่อ ได้แก่ เพลงอกหัก บ่กล้าบอกผัว ที่ร้องว่า “แอบรักคนหล่อ รักคนหล่อ” 

หุ่น : เซ็กซี่ ตัวเล็ก คือหุ่นที่ผู้ชายยังคงเลือกมอง 

เพลงที่ระบุสเปกถึงหุ่น รูปร่าง มีทั้งหมด 6 เพลง ซึ่งใน 4 เพลง (60%) ชอบคนที่หุ่นดี ‘เซ็กซี่’ ได้แก่เพลง อย่าจับเลย (TWOPEE feat. YOUNGOHM), MUSE (PUN feat. Davii), ยิกยิก (POKMINDSET feat. SpriteDer SPD) และเพลง แพ้ทางสาวเฒ่า (เนม สุรพงศ์) อย่างในท่อน “สวยเซ็กซี่ ขยี้สายตา” ส่วนอีก 2 เพลง (40%) ระบุว่าชอบคนที่ ‘ตัวเล็ก’ ได้แก่เพลง อาหมวยหาย (THE TOYS) และ วิสกี้ (1LIFE) ในท่อน “เหล็กจัดฟันตัวเล็กๆ ปากชมพูอ่อเป็นกระจับ” โดยเพลงฮิตที่ระบุสเปกถึงหุ่นทุกเพลงล้วนมาจากศิลปินชาย ไม่พบเพลงของศิลปินหญิงที่ระบุหุ่นของคนที่ชอบเลย

นิสัย : ใจดี เอาใจใส่ อบอุ่น มีเวลาให้ สเปกที่ผู้หญิงมองหา

มีเพลงที่ระบุนิสัยคนที่ชอบทั้งหมด 3 เพลง โดยนิสัยที่ปรากฏซ้ำคือ ใจดี เอาใจใส่ อบอุ่น มีเวลาให้ ได้แก่เพลง เอาปากกามาวง (Bell Warisara), ชอบป่ะเนี่ย (Mai Davika) และ คนหรือไมโครเวฟ (Bell Warisara) ตัวอย่างเนื้อเพลงเช่น “ชอบที่เธอใจดี น่ากอด และชอบเอาใจทุกเรื่องตลอด” หรือ “ไม่เคยหาย ตอบไลน์ไว โทรเมื่อไหร่ก็รับนะ ที่ดูแล เอาใจใส่ ทำให้ฉันคนเดียวมะ” ที่น่าสนใจคือเมื่อพูดถึงสเปกด้านนิสัย ทั้ง 3 เพลงล้วนมาจากศิลปินหญิง และไม่พบศิลปินชายที่ระบุสเปกคนที่ชอบด้วยนิสัยเลย

บุคลิก : สเปกทรงซ้อ เริ่มปรากฏให้เห็นในเพลงฮิต

เพลงที่ระบุสเปกถึงบุคลิกที่ชอบ มีจำนวน 4 เพลง โดยมีบุคลิกที่น่าสนใจคือ ‘ทรงซ้อ’ ในเพลง Skrrt (F.HERO, BamBam) ในท่อน “ถ้าเธอทำตัวเป็นทรงซ้อ so that's thug love” ซึ่งเป็นศัพท์ที่เริ่มได้รับความนิยมในปี 2022 เห็นได้บ่อยผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ TikTok ทรงซ้อเป็นคำเรียกเหมารวมผู้หญิงที่มีบุคลิกชอบใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมแบบเข้าชุด ใส่สร้อยทองห้อยพระเครื่อง นิยมทำศัลยกรรมตามจุดต่างๆ ของร่างกาย และยังชอบใส่ชุดนอนออกไปนอกบ้านอีกด้วย 

บุคลิกอื่นๆ ได้แก่ ‘ดูดี’ ซึ่งมีเพลงที่ระบุว่า “เธอช่างดูดี luxury girl” – ทรงอย่างแบด (Paper Planes) เป็นความดูดีแบบหรูหรา สวยสง่างาม ส่วนที่เหลือคือบุคลิก ‘ติสท์’ และ ‘ฉลาด’ ปรากฏในเพลง เธอทำให้ฉันกลายเป็นเด็ก (SARAN feat. THAOWANZ) ที่ร้องว่า “ใช่ผมรู้มันโคตรพีค เธอเป็นคนที่โคตรติสท์ เธอต่างกับผมสิ้นเชิงเธอฉลาดผมโง่ชิบ” ซึ่งคำว่าติสท์มักใช้พูดถึงคนที่มีอารมณ์และจินตนาการทางศิลปะในแบบศิลปิน ถือเป็นสเปกที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม และไม่ค่อยถูกพูดถึงในเพลงสักเท่าไร 

เซ็กส์ ยา ฯลฯ 

จากเพลงไทยที่ติดอันดับเพลงยอดนิยม ปี 2022 ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ทั้งหมด 232 เพลง พบเพลงที่ปรากฏคำเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งหมด 10 เพลง หรือคิดเป็น 4.3% ในจำนวนนี้เป็นเพลงฮิปฮอป 8 เพลง (80%) เพลงร็อก และเพลงลูกทุ่ง อย่างละ 1 เพลง (20%) โดยเกือบครึ่งของเพลงที่พูดเรื่องเซ็กส์ (40%) พูดถึงในความสัมพันธ์แบบ ‘นอกใจ’ พบ 4 เพลง เช่น “เมียมึงร่านเอง โดนกูเย็ดอีก” – EGO (BUNG G! feat. BigBest.eastside, Alzwxrd) หรือในท่อน “นึกว่าเจ้าบ่ทันมีไผ ในคืนแสงจันทร์ ไสว ตัวอ้ายเผลอใจไปนอนกับนาง” – เธอมากับผัว (Owen feat. Jack Wc, Man’r) ซึ่งเป็นการนำเสนอภาพความสัมพันธ์แบบนอกใจที่ผูกไว้กับความตื่นเต้น สนุก ยิ่งไปกว่านั้น ทุกเพลงในความสัมพันธ์แบบนอกใจนี้ เล่าเรื่องคล้ายกันคือ ‘ผู้หญิง’ จะเป็นคนที่นอกใจแฟนมามีความสัมพันธ์กับตนเอง ทั้งยังสนับสนุนความเจ้าชู้ของผู้ชายว่าเป็นสิ่งที่แสดงความเป็นชายได้อย่างดี 

รองลงมา เซ็กส์ถูกพูดถึงในสถานะความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด จำนวน 3 เพลง (30%) ได้แก่ “ระวังเลอะผ้าปูพี่แพง พาเธอขึ้นรถแรง I’m a fuck her very nice” – วิสกี้ (1LIFE) หรือ “เราอาจจะยังได้ fuck กัน แต่มันคงไม่ใช่รักแน่ๆ” – เทอจะไป – FIIXD feat. Lazyloxy และ “เห็นเธอมองพี่อยากสอดกล้อง บาร์สุดท้ายให้มันจบที่ห้อง” – ยิกยิก (POKMINDSET feat. SpriteDer SPD) โดยในเพลง วิสกี้ และ ยิกยิก มีจุดร่วมกันคือ การสร้างภาพให้ผู้ชายเป็นคาสโนวา เพียงแค่มีเงินผู้หญิงก็จะอยากมีเพศสัมพันธ์ด้วย รวมถึงมีการใช้คำพูดที่ดูหมิ่นเพศหญิง และมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ โดยจะเห็นชัดเจนในท่อน “คนมันเหล่ท่อสาวเลยมาอ่อย…เห็นเธอคิ้วท์คิ้วท์ คิดว่าเอวน่าจะพริ้ว” – ยิกยิก (POKMINDSET feat. SpriteDer SPD)

ส่วนเพลงที่เหลือ พบในสถานะ ‘คนรัก’ 2 เพลง (20%) เช่นในท่อน “แทบไม่อยากจะหายใจตอนรู้ว่าเธอไปเยกัน” – อะไรฉันก็ยอม (SARAN feat. Pondering, WHALJAY, SLOWVXNZ) และ ‘คนรักเก่า’ 1 เพลง (10%) ท่อน “I remember when u ride on my D” – ขี้เหงา (T!NE)

ดื่มเพื่อลืมเธอ : 24.2% ใช้แอลกอฮอล์ บุหรี่ ช่วยให้ลืมบาดแผลจากคนรักเก่า

จากเพลงไทยที่ติดอันดับเพลงยอดนิยม ปี 2022 ทั้งหมด 260 เพลง พบเพลงที่กล่าวถึงแอลกอฮอล์ สารเสพติด หรือการพนัน ทั้งหมด 33 เพลง คิดเป็น 12.6% ในจำนวนนี้เป็นเพลงฮิปฮอป 24 เพลง (72.7%) เพลงลูกทุ่ง 8 เพลง (24.2%) และเพลงร็อก 2 เพลง (6%) โดยในแต่ละเพลงอาจพบการกล่าวถึงสารเสพติดมากกว่า 1 อย่าง ซึ่งมีเพลงที่พูดถึงแอลกอฮอล์ มากถึง 20 เพลง รองลงมาคือบุหรี่ และกัญชา อย่างละ 9 เพลงเท่ากัน เพลงที่พูดถึงยาเสพติด 7 เพลง การพนัน 2 เพลง และมีเพลงที่พูดถึงกระท่อม จำนวน 1 เพลง 

ที่น่าสนใจคือจาก 33 เพลง มี 8 เพลง (24.2%) ที่ระบุว่าใช้แอลกอฮอล์ บุหรี่ เพื่อให้ลืมคนรักเก่า เช่น “จริงๆ ฉันไม่ค่อยชอบนิโคติน แต่ว่าตอนที่โดนทิ้งเหมือนพระเจ้าเอาให้สูบ” – มีทุกอย่าง (ZENTYARB feat. Saran), “หยิบแก้วขึ้นมามองตาแล้วชน ดื่มเพื่อลืมใครสักคน” – ชนแก้ว (GAVIN.D) หรือในท่อน “ความเจ็บปวดเยียวยาด้วยขวดเหล้า” – เมารัก (หมวยเล็กนิ๊ปปี้ feat. ต้าร์ หูเติบ) นอกจากนี้ จากการ ‘ปลดล็อกกระท่อม’ ออกจากยาเสพติดประเภท 5 ในช่วงปี 2021 ทำให้กระท่อมเริ่มปรากฏในเนื้อเพลง อย่างในเพลง “ลองมารักกับเด็กกินท่อมคนนี้ จะไม่ทำให้เสียใจ” – ข้าราชการข้าวราดแกง (วงเบบี้ดั๊ก)

แล้วเพลงอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ พูดถึงอะไร ?

จากเพลงไทยที่ติดอันดับเพลงยอดนิยม ปี 2022 ทั้งหมด 260 เพลง มีเพลงที่ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ จำนวนทั้งสิ้น 28 เพลงนั้น เป็นเพลงฮิปฮอป 12 เพลง (42.8%) เพลงร็อก 12 เพลง (42.8%) เพลงลูกทุ่ง 3 เพลง (10.7%) และเพลงป๊อป 1 เพลง (3.5%) หากลองพิจารณาเนื้อของเพลงเหล่านี้ จะพบอารมณ์ที่แยกย่อยได้ 7 อารมณ์ ได้แก่ ‘อวดรวย ด่า’ พบ 8 เพลง (28.57%) ซึ่งทั้งหมดนี้ปรากฏในเพลงแนวฮิปฮอป เช่น “กูไม่รู้หรอกนะว่ามึงเป็นเด็กใครฮะ แต่ถึงจะบ่นควยไรมึง มึงเอ็ดไรนัก ไอสัส อยู่นิ่งๆ ปากมึงอะเก็บไปซะ” – โกโรโกโส (SARAN feat. DIAMOND MQT, JONIN) เรียกได้ว่าเพลงฮิปฮอปยังคงเป็นพื้นที่ให้ผู้ชายเอาชนะซึ่งกันและกัน ข่มความเป็นลูกผู้ชายเหนือกว่าโดยใช้เงินเป็นตัววัด

ถัดมาคืออารมณ์ ‘ปลุกใจ’ 6 เพลง (21.43%) พบในเพลงร็อกเป็นส่วนใหญ่ มีเนื้อหาไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้กับชีวิต แต่ก็ยังพบในเพลงฮิปฮอป อย่างเพลง Mirror Mirror (F.HERO, MILLI feat. Changbin of Stray Kids) ที่พูดถึงการปลุกความมั่นใจแก่ตัวเองในกระจก ตามมาด้วยอารมณ์ ‘สอนใจ’ และ ‘ให้กำลังใจ’ อย่างละ 5 เพลงเท่ากัน (17.86%) โดยในเพลงสอนใจมีเพลง ไอ้สอง (TaitosmitH feat. เบน ชลาทิศ) ที่มีเนื้อหาถึง LGBTQIAN+ พูดถึงตัวละคร ไอ้สอง ที่เกิดมาเป็นเพศชายแต่ไม่ได้อยากเป็นผู้ชาย โดยเพลงได้บอกว่า “ถึงใครจะมอง แต่ตัวเราเอง ไม่แคร์ ไม่สน เพราะว่านี่แหละคือความจริง จะตุ๊ด จะเกย์ จะชาย จะหญิง ยังไงก็ได้อยู่ที่ใจเรา” อารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ 2 เพลง (7.14%) นอกจากนี้ยังมีการ ‘ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์’ ได้แก่เพลง คาถาขุนแผน (กานต์ ทศน) และ ‘หนีซอมบี้’ ได้แก่เพลง ซอมบี้มูฟวี่ (TangBadVoice)

บทสรุป : ความสัมพันธ์เปลี่ยนแต่ค่านิยมยังไม่เปลี่ยน

จากการสำรวจเพลงฮิตที่จัดอันดับโดย YouTube Music ในปี 2022 ทั้งหมด 260 เพลง จะเห็นได้ว่า มีเนื้อหาที่กล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความหลากหลายสอดคล้องไปกับภาวะที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันมากขึ้น เช่น รูปแบบความสัมพันธ์แบบเฟรนด์โซน Friends With Benefits คนคุย หรือแม้แต่เรื่องราวความสัมพันธ์ของ LGBTQIAN+  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของกระแสสังคมที่มีต่อการถ่ายทอดเรื่องราว เนื้อหา ในอุตสาหกรรมดนตรี

แม้ว่าเราจะพบการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสถานะรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาลงไปก็จะพบว่าในความเปลี่ยนแปลงนั้นยังคงแฝงไปด้วยค่านิยมแบบเดิมที่มีกรอบตายตัว ไม่ว่าจะเป็นเพลงป๊อปที่รูปแบบความสัมพันธ์จำกัดอยู่เพียงแค่ความรักแบบคู่รักเท่านั้น โดยอาจเป็นเพราะว่าเพลงป๊อปมีความเป็นเพลงกระแสหลักของสังคมมาแต่ไหนแต่ไร มีกลุ่มผู้ฟังที่กว้างซึ่งอาจจะรวมถึงเด็กและเยาวชนอีกด้วย และได้รับความนิยมในคนหมู่มาก เพลงป๊อปจึงมักจะถูกสร้างด้วยเนื้อหาที่ ‘ใส’ มากกว่าหมวดหมู่อื่นๆ และเมื่อเป็นการกล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์แบบคู่รักจึงเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘ใส’ ที่สุด ที่เหมาะสมจะอยู่ในเพลงป๊อป

นอกจากนี้ในเพลงฮิปฮอป ยังเป็นเพลงแนวเดียวที่ปรากฏอารมณ์ ‘ใคร่’ ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กส์ ยาเสพติด และมีการใช้คำหยาบคาย อันกลายเป็นลักษณะเฉพาะของฮิปฮอปไปแล้ว เช่นเดียวกันกับเพลงลูกทุ่ง ที่แม้จะมีการกล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้น แต่ก็มีกรอบอันเป็นลักษณะเฉพาะของตนเองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ในลักษณะการตัดพ้อ ที่ยึดโยงไปยังรูปลักษณ์ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง ซึ่งเป็นรูปแบบของเพลงลูกทุ่งที่พบได้มาแต่ไหนแต่ไร

ไม่เพียงแค่เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดในบทเพลงที่ยังคงแฝงไปด้วยค่านิยมที่ตายตัวและติดอยู่ในกรอบของหมวดหมู่เพลงนั้นๆ รายละเอียดที่ปรากฏในเพลงก็ยังทำให้เห็นค่านิยมที่มีกรอบตายตัวเช่นเดียวกัน เช่น เพลงฮิตที่ระบุสเปกถึงหุ่นทุกเพลงล้วนมาจากศิลปินชาย และไม่พบเพลงของศิลปินหญิงที่ระบุหุ่นของคนที่ชอบเลย ในขณะที่เมื่อกล่าวถึงสเปกด้านนิสัยก็ล้วนมาจากเพลงของศิลปินหญิง และไม่พบศิลปินชายที่ระบุสเปกคนที่ชอบด้วยนิสัยเลย หรือแม้แต่การบรรยายสเปกของผู้ชายในบทเพลงที่ให้คุณค่ากับความสวย ก็ยังคงเป็นความสวยในแบบพิมพ์นิยมด้วยกรอบค่านิยมที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง 

อ้างอิง

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-music-hits-2022 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net