Skip to main content
sharethis

ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลประสานเสียงค้านเลื่อนใช้พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายที่ ครม.ชงออกเป็น พ.ร.ก.เข้าสภาตามที่ สตช.เสนอมาว่ายังไม่พร้อมเพราะยังต้องจัดหากล้องและฝึกอบรม พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมาทุกหน่วยงานที่ชี้แจงต่อ กมธ.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมฯ แจ้งว่าพร้อมใช้กฎหมายแล้วแต่ สตช.เพิ่งจะมาแจ้งเมื่อมกราคมว่ายังไม่มีงบจัดหากล้อง

28 ก.พ.2566 รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. .... ซึ่งจะเป็นการเลื่อนใช้ 4 มาตราของ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ได้แก่มาตรา 22-25 ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการติดกล้องบันทึกวิดีโอระหว่างการจับกุมสอบสวนและการตรวจร่างกายบุคคลที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่

สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอธิบายว่าแม้พรรคของเขาจะยังไม่ได้มีมติว่าจะให้อนุมัติการออกพ.ร.ก.ที่มาเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตรา พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย แต่ตัวเขาเองไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นี้ด้วยเหตุผลว่าพ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายที่รัฐบาล พรรคของเขาเสนอ และสภาแห่งนี้เสนอเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

อีกทั้งกฎหมายนี้ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้จะเป็นการเลื่อนบังคับใช้มาตรา 22-25 ที่กำหนดให้ตำรวจบันทึกภาพและเสียงระหว่างการตรวจค้น จับกุมควบคุมตัว และขัง พร้อมแจ้งฝ่ายปกครอง ทำบันทึกจับกุมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกควบคุมตัวให้ญาติและทนายความสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการซ้อมทรมานการอุ้มหายอุ้มฆ่าและการทำทุจริต ออกไปจนถึงวันที่ 1 ต.ค.2566

ส.ส.จาก ปชป.ยังกล่าวด้วยว่ากฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายนี้มีการเสนอมาเกือบ 10 ปีแล้วตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงวันนี้รัฐบาลก็เสนอเข้ามาอีกทั้งยังมีเหล่าสมาชิกสภาร่วมเสนอด้วย เพราะคำนึงถึงการทำตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ แล้วในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก็มีการเชิญหน่วยงานที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ไปชี้แจง ทุกหน่วยงานต่างก็ให้ความเห็นชอบ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานอื่นๆ

สุทัศน์กล่าวว่าหน่วยงานที่มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการปฏิรุปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนหน่วยงานที่ถูกเชิญมาก็ให้ความเห็นชอบกฎหมายไม่มีใครโต้แย้งหรือมีการท้วงติงเรื่องงบประมาณและวิธีปฏิบัติ แต่เมื่อต้นมกราคม 2566 ก็มีข่าวว่าจะเลื่อนใช้ 4 มาตรานี้ออกไปเขาในฐานะกรรมาธิการชุดนี้จึงได้เชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาชี้แจง ก็มีพล.ต.อ.สุรเชฐ หักพาลมาชี้แจงแทนซึ่งการชี้แจงนี้ถือว่ามีข้อผูกผันต่อคำชี้แจง เมื่อชี้แจงแล้วจะอ้างว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ทราบไม่ได้เพราะชี้แจ้งแล้วจะต้องไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และหน่วยงานอื่นๆ ต่างก็ไม่ได้บอกว่ามีปัญหาอะไรทั้งเรื่องบุคลากรและงบประมาณ

สุทัศน์กล่าวต่อว่าแต่คำชี้แจงเพื่อขอให้มีการออกพ.ร.ก.มาเลื่อนใช้พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายกลับถูกส่งมาจาก สตช.ผ่านกรมคุ้มครองสิทธิและไปต่อที่สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงยุติธรรม แล้วก็ถูกเสนอต่อไปที่ ครม. จึงมีข้อสงสัยว่าข้อมูลที่ ผบ.ตร.ส่งให้กรมคุ้มครองสิทธินั้นถูกต้องหรือไม่ แล้วข้อมูลที่เสนอต่อ ครม.นั้นสมบูรณ์แล้วหรือไม่และที่ ครม.เองได้ตรวจสอบข้อมูลที่รับมาแล้วหรือยัง

ส.ส.จาก ปชป.ยังตั้งคำถามต่อไปว่าช่วงเวลาหลังจากฎหมายผ่านแล้วก่อนจะมีการบังคับใช้มีเวลา 120 วันทาง สตช.ได้มีการดำเนินการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้างถึงมาอ้างได้ว่าไม่มีงบประมาณแล้วเพิ่งมาขอเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา

สุทัศน์ยังกล่าวด้วยว่าการถ่ายวิโอนั้นก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้กล้องที่วิเศษอะไรใช้กล้องมือถือก็ใช้ได้บันทึกภาพส่งให้อัยการหรือนายอำเภอก็ได้ จะมาอ้างว่ากลัวเจ้าหน้าที่ถูกฟ้องร้องถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่ผู้ถูกจับกุมจะต้องมีช่องทางในการสู้คดีอยู่ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมไหน แล้วทำไม สตช.ถึงไม่จัดอบรมและ สตช.ก็เคยมีช่วงที่ ผบ.ตร.ออกคำสั่งเมื่อปี 2564 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กล้องติดตามตัวให้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะมีการตรวจค้นจับกุมและสอบสวนด้วย จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้มา

สุทัศน์ยังกล่าวด้วยว่า พ.ร.ก.ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 เพราะ พ.ร.ก.ที่จะออกมาต้องเป็นกรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ไมได้เป็นเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วนแต่ประการใด ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงและความปลอดภัยสาธารณะ หรือภัยพิบัติตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญด้วย แต่การพิจารณาว่า พ.ร.ก.นี้จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยตัวเขาเองพร้อมจะร่วมลงชื่อเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและถ้ารัฐบาลไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเขาก็จะไปร่วมลงชื่อกับพรรคฝ่ายค้านหากจะมีการส่ง พ.ร.ก.นี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ส.ส. ปชป.กล่าวว่าถ้าสุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูยวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.นี้ขัดรัฐธรรมนูญแล้วใครจะรับผิดชอบเพราะมาตรา 157 เรื่องละเว้นปฏิบัติหรือปฏิบัติงานล่าช้า ผบ.ตร.อาจถูกยื่นฟ้องต้อง ปปช.และถูกสอบกรณีมีการยื่นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ต่อ ครม. เพราะขัดมาตรฐานจริยธรรม และ พ.ร.ก.ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กเพราะ ครม.จะต้องถวายคำแนะนำต่อเบื้องสูงเพื่อให้ลงพระปรมาภิไธยด้วย

สุทัศน์ยังกล่าวด้วยว่าหากมีการเลื่อนใช้มาตรา 22-25 ออกไปก็จะกระทบกับประชาชน และที่ผ่านมารัฐบาลก็เห็นชอบให้สัตตยาบรรณอนุสัญญาป้องกันการทรมานและบังคับบุคคลสูญหายหรือ CED การเลื่อนใช้พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายก็จะส่งผลให้การให้สัตตยาบรรณใน CED ก็ต้องเลื่อนออกไปด้วยซึ่งขัดต่อมติของ สนช. ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดกับที่กระทรวงการต่างประเทศดูแลส่วนนี้อยู่ เขาจึงยืนยันที่จะไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ที่จะมาเลื่อนการใช้ทั้ง 4 มาตราของพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายออกไป

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.เขตจังหวัดยะลา พรรคพลังประชารัฐ ได้กล่าวถึงความพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายและมีการปรับแก้ร่างกฎหมายจนมีการประกาศใช้เมื่อ 25 ต.ค.2565 แล้ว ซึ่งเขาก็ตั้งกระทู้ถามหลายครั้งถึงเรื่องนี้และเห็นว่ากฎหมายที่ออกมานี้ได้ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชนโดยเฉพาะกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังบังคับใช้กฎอัยการศึกแลพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่

อาดิลันกล่าวว่ากฎหมายทั้งสองฉบับที่ใช้อยู่ในพื้นที่นี้เป็นเรื่องที่ทำให้มีเรื่องร้องเรียนมาจากประชาชนมาโดยตลอดจากการมีประชาชนถูกควบคุมตัวไปโดยไม่รู้ว่าถูกเอาไปไว้ที่ไหน เรื่องซ้อมทรมาน ไปจนถึงมีการวิสามัญฆาตกรรม แต่เมื่อมีกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานแล้วก็นับว่าเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในรอบ 100 ปี ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองสิทธิประชาชน

ส.ส.ยะลา พปชร.กล่าวด้วยว่า มาตรา 22-25 ที่กำลังจะถูกเลื่อนบังคับใช้นั้นเป็นมาตราที่จะมาอุดช่องโหว่ของกฎหมายในเรื่องการควบคุมตัว ต้องมีการบันทึกภาพเสียงระหว่างการควบคุมตัว มีการตรวจร่างกาย

อาดิลันกล่าวเพิ่มเติมว่ามาตราที่ถูกเลื่อนเหล่านี้เป็นมาตราที่คุ้มครองประชาชนแต่การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างว่าไม่พร้อม แต่อย่างไรก็ตามมีหลายหน่วยงานที่ได้ไปชี้แจงต่อที่ประชุมของอนุกรรมการของกรรมาธิการปฏิรูปกระบวการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนว่ามีความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายฉบับบนี้แล้ว ทั้งกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม แม้แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็มี พล.ต.อ.สุรเชษ หักพาลเองก็มาบอกว่าถึงต้องใช้เครื่องมือจำนวนมากแต่ก็สามารถปฏิบัติตามกฎหมายนี้ได้โดยไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามพ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานนี้ได้

อาดิลันยังกล่าวด้วยว่าตัวเขาเองไม่เห็นด้วยกับเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22-25 ออกไปตามที่คณะรัฐมนตรีให้เหตุผลไว้ว่าการออกพ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมานี้เพื่อประโยชน์แก่ความปลอดภัยสาธารณะเพราะเขาเห็นว่าไม่ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองสิทธิที่ประชาชนรวมถึงการปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานโดยสุจริตตาม 4 มาตราในพ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ไม่สุจริตแล้วจะไปขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป

เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเหมือนแสงสว่างของการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายและ 4 มาตราที่จะถูกเลื่อนใช้ออกไปก็เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ และเธอก็คัดค้านการเลื่อนใช้มาตลอด และเธอรู้สึกว่ากฎหมายที่เป็นประโยชน์และคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนแล้วยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทำถูกกฎหมายถึงได้ออกมาบังคับใช้ได้ยาก

ส.ส.จากภูมใจไทยยังกล่าวด้วยว่าไทยเข้าร่วมและลงนามในกฎหมายระหว่างประเทศไว้นานกว่า 10 ปีแล้ว และยังมีประชาชนที่รอให้มีกฎหมายฉบับนี้รวมถึงครอบครัวโต๊ะมีนาของเธอที่รอมากว่า 68 ปีอีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังผ่านสภาโดยได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาถึง 287 เสียง และหลายหน่วยงานก็มาชี้แจงต่ออนุกรรมการของ กมธ.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมว่าพร้อมจะใช้กฎหมายนี้และมีความกระตือรือล้นอย่างยิ่ง

เพชรดาวกล่าวว่าจากที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ชี้แงมานั้นยังรับไม่ได้เพราะในมาตรา 22 ก็ยังมีข้อยกเว้นในกรณีที่ไม่สามารถบันทึกวิดีโอและเสียงได้ตลอดก็ให้บันทึกเหตุสุดวิสัยนั้นในบันทึกการควบคุมตัวอีกทั้ง มาตราที่เหลือ 23-25 ก็ไม่ได้ต้องใช้งบประมาณอะไร เพราะ 23 ก็เป็นเรื่องการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว

เพชรดาวกล่าวถึงงานวิจัยเรื่องการร้องเรียนถึงการปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในอังกฤษและสหรัฐฯ ด้วยว่าเมื่อเทียบกันระหว่างก่อนเจ้าหน้าที่มีการติดกล้องกับหลังเจ้าหน้าที่ติดกล้องแล้วจำนวนเรื่องร้องเรียนมีการลดลง 93%

“การเลื่อนไปทุกนาที ทุกชั่วโมง ทุกวัน มีความหมายกับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน การเลื่อนเป็นการซื้อเวลาความไม่ปลอดภัยของสาธารณะจะเกิดขึ้นถ้าเลื่อน 4 มาตราของหมวด 3 นี้ออกไป เหตุผลที่อ้างไม่ได้ฉุกเฉินไม่ได้เร่งด่วน ไม่ได้จำเป็นในการที่จะเลื่อน ดิฉันและพรรคภูมิใจไทยไม่อนุมัติและไม่เห็นด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ฉบับนี้”

เพชรดาวกล่าวว่าการติดกล้องยังอาจช่วยฟื้นศรัทธาที่มีต่อตำรวจกลับมาในวันที่ประชาชนเสื่อมศรัทธาแล้วได้บ้างและเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ถ้าไม่อยากทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net