Skip to main content
sharethis

เรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานในพม่าจาก "Visual Rebellion" ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเมืองและบริษัทธุรกิจพลังงานในพม่าหลังการรัฐประหาร หนึ่งในนั้นมี ปตท. ของไทยที่เข้าไปลงทุนในโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และ ปตท. ยังเป็นผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติหนึ่งเดียวจากโครงการยานาดาในอ่าวเมาะตะมะ พม่า

แหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา (Yadana) ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน ห่างจากชายฝั่งประเทศพม่าบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี 60 กิโลเมตร ถือเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ แหล่งก๊าซธรรมชาติกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์ท่ามกลางสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในของพม่าที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติคือธุรกิจที่ทำกำไรอันดับต้นๆ ให้แก่กองทัพพม่าผู้ก่อการรัฐประหาร

แผนที่โครงการแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาและแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งอื่นๆ ในพม่า

(ภาพจาก TotalEnergies)

การลงทุนในก๊าซธรรมชาติสร้างรายได้ให้กับประเทศพม่าได้อย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลงบประมาณปีล่าสุดของรัฐบาลพม่าระบุว่าภาคธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของพม่ามีมูลค่าสูงถึง 2,018 ล้านล้านจ๊าต (1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2563 โดยเกือบร้อยละ 80 ของมูลค่าดังกล่าวเป็นรายได้ที่มาจากแหล่งขุดเจาะนอกชายฝั่ง โดยมีโครงการขุดเจาะนอกชายฝั่ง 3 แห่งที่ดำเนินการโดยนักลงทุนต่างชาติและบริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพพม่า

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 TotalEnergies บริษัทด้านธุรกิจพลังงานสัญชาติฝรั่งเศสถอนการลงทุนออกจากโครงการขุดเจาะที่แหล่งยาดานา โดยให้เหตุผลว่ามี “ความเสื่อมถอยด้านสิทธิมนุษยชน” หลังเกิดการรัฐประหารในพม่าเมื่อ ก.พ. 2564 การถอนทุนของ TotalEnergies ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากองค์กรเอ็นจีโอ แต่สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่ากลับยังไม่ได้รับการแก้ไข หนึ่งปีต่อมา ประชาชนชาวพม่ายังคงถูกกดขี่ ขณะที่รัฐบาลทหารพม่ามีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในธุรกิจร่วมทุนด้านพลังงานกับนานาชาติ

ใน พ.ศ. 2538 TotalEnergies ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสชนะการประมูลที่จัดโดยรัฐบาลทหารพม่า และ 3 ปีต่อมา บริษัทได้เริ่มดำเนินการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในแหล่งยาดานา (มีความหมายว่า ‘ทรัพย์สมบัติ’ ในภาษาพม่า) ซึ่งเป็นแหล่งขุดเจาะหลักที่ตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า โครงการขุดเจาะนี้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ราว 770 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ร้อยละ 65 ของก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้จะนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าและส่งขายมาที่โรงแบ่งแยกก๊าซในภาคตะวันตกของไทยผ่านทางท่อส่งก๊าซใต้พื้นดินความยาว 346 กิโลเมตร บริเวณภูมิภาคตะนาวศรีของพม่า สำหรับก๊าซธรรมชาติส่วนที่เหลือจะส่งไปยังนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของพม่า ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้าเป็นประจำ และปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร

TotalEnergies เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแหล่งขุดเจาะยาดานา โดยถือหุ้นอยู่ร้อยละ 31.2 และมีผู้ถือหุ้นอื่นๆ อีก 3 ราย ได้แก่ Chevron จากสหรัฐฯ ปตท.สผ. จากไทย และ MOGE จากพม่า หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2564 นักเคลื่อนไหวชาวพม่าและองค์กรนานาชาติได้ร่วมกดดันให้กลุ่มนักลงทุนกระทำการบางอย่างเพราะพันธะทางธุรกิจของพวกเขาต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน หนึ่งปีต่อมา TotalEnergies จึงประกาศถอนการลงทุนซึ่งเป็นยุติสัญญาล่วงหน้า 5 ปีจากสัญญาเต็ม 30 ปี

เงื่อนไขการตัดสินใจถอนการลงทุนในครั้งนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวชาวพม่า เพราะการจัดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหม่ทำให้กองทัพพม่ามีสัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นซึ่งหมายความว่ากองทัพจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย EarthRights International (ERI) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านกฎหมายและพลังงานประเมินว่า MOGE อาจมีรายได้ถึง 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2564-2565 หลังจากราคาหุ้นต่อหน่วยที่ไทยจ่ายให้พม่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 65

ภายใต้สัญญาดังกล่าว หุ้นของ TotalEnergies ถูกแบ่งและกระจายไปให้ผู้ถือหุ้นที่เหลือโดยไม่ต้องซื้อขาย Chevron ได้รับส่วนแบ่งหุ้นจำนวนมากที่สุด และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 41.1 ขณะที่ ปตท.สผ. ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 37.08 ส่วน MOGE ถือหุ้นร้อยละ 21.8 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 15

"เพราะ TotalEnergies ถอนทุนและทิ้งหุ้นของตัวเอง MOGE จึงได้รับเงินเพิ่มขึ้น เราไม่เคยขอให้บริษัทต่างชาติละทิ้ง (การลงทุน) จากพม่า แต่เราเรียกร้องให้พวกเขาไม่จ่ายเงินให้คณะรัฐประหาร" อองออง (Aung Aung) ตัวแทนจากกลุ่ม Blood Money Campaign (BMC) กล่าวตำหนิ

สำหรับกลุ่ม BMC คือกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายการรณรงค์เพื่อปิดท่อน้ำเลี้ยงแก่ภาคพลังงานของพม่า ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของกองทัพพม่า

“การถอนทุนถือเป็นทางที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างมาก ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาเจรจาอะไรกับกองทัพ”

ตามข้อมูลในอดีตพบว่า TotalEnergies ไม่ใช่นักลงทุนหน้าใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในแหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติยาดานา ย้อนกลับไปในปี 2548 ผู้ลี้ภัยชาวพม่าจำนวน 4 คนยื่นฟ้องบริษัทแห่งนี้ที่ศาลประเทศเบลเยียมในข้อความร่วมกันกระทำความผิดกับกองทัพพม่า ฐานบังคับใช้แรงงานและกระทำการทารุณกรรมในระหว่างการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ แต่คดีดังกล่าวถูกยกฟ้อง

อองอองให้ข้อมูลว่าในช่วงทศวรรษที่ 1990 ที่พม่าปกครองโดยรัฐบาลทหาร กลุ่มต่อต้านอำนาจเผด็จการไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นเรื่องแหล่งรายได้หลักของนายพลและกลุ่มคนสนิทที่ปกครองประเทศ เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนวิธีการกดดันจะเป็นตัวพลิกเกมของการรัฐประหารในปัจจุบัน

ข้อมูลจาก Reuter Factbox ระบุว่าในปี 2562 TotalEnergies จ่ายเงินจำนวน 229.6 ล้านเหรียญสหรัฐแก่พม่า ซึ่งเงินจำนวน 178.6 ล้านเหรียญสหรัฐจากเงินจำนวนทั้งหมดนี้ถูกจ่ายให้แก่ MOGE ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ และเงินอีก 51 ล้านเหรียญสหรัฐถูกจ่ายเป็นภาษีให้แก่กระทรวงการคลังของพม่า

BMC เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ หยุดการจ่ายเงินให้ MOGE และเก็บรักษาเงินรายได้ทั้งหมดไว้ในบัญชีรับฝากและจ่ายเงินแบบมีเงื่อนไขตามคำสั่ง (Escrow Account) ซึ่งเป็นบัญชีทางเลือกที่บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้และเงินทั้งหมดจะถูกเก็บรักษาไว้จนกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะก้าวขึ้นมามีอำนาจ การตัดสินใจถอนการลงทุนจากพม่าของ TotalEnergies เป็นการเปิดทางให้โครงการยาดานาดำเนินการต่อแบบเดิมโดยที่รายได้ไหลเข้าสู่กระเป๋าของ MOGE

การประกาศถอนตัวของ TotalEnergies เมื่อเดือน ม.ค.ปีที่แล้ว (2565) ตามมาด้วยการที่สหภาพยุโรป (EU) ประกาศคว่ำบาตร MOGE ใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา การคว่ำบาตรนี้ประกอบด้วยการอายัดทรัพย์หรือระงับการเข้าถึงบัญชีธนาคารและการระงับการออกวีซ่าให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับ MOGE แต่ไม่มีมาตรการเปลี่ยนทิศทางการชำระเงินเข้าสู่บัญชีรับฝากและจ่ายเงินแบบมีเงื่อนไขตามคำสั่งตามคำแนะนำของ BMC

อย่างไรก็ตาม ตลาดได้บทเรียนจากเรื่องนี้ เพราะดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับโลกดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability World Index: DJSI) ประกาศให้ TotalEnergies ที่เพิ่งฟื้นตัวกลับมาเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีชื่ออยู่ในบัญชีของดัชนีดังกล่าว หลังจากถูกตัดชื่อออกไปเมื่อปี 2564 ในทางกลับกัน ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการยาดานากลับถูกตัดชื่อออกจากดัชนีดังกล่าวในปี 2565

ชาวพม่าเรียกร้องต่อกลุ่ม ปตท. (ภาพจาก Blood Money Campaign)

ปตท.สผ. เป็นบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทยที่ดำเนินธุรกิจพลังงานปิโตรเลียมแบบครบวงจร รูปแบบการทำธุรกิจของ ปตท. ถูกนำมาปรับใช้กับโครงการขุดเจาะยาดานาซึ่งบริษัทลูกในเครือ ปตท. เป็นผู้จัดการห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ตั้งแต่การสำรวจขุดเจาะ การแยกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพม่า ไปจนถึงการกลั่นและขายพลังงานในรูปแบบต่างๆ ให้แก่โรงไฟฟ้าในประเทศไทย

เกมภูมิศาสตร์การเมืองที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในก๊าซธรรมชาติได้เปลี่ยนจุดโฟกัสจากโลกตะวันตกมายังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านของพม่าหลายประเทศที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าอาจถูกมองว่าเป็น "ผู้สนับสนุนคณะรัฐประหาร"

นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 ประเทศไทยไม่มีจุดยืนที่เป็นรูปธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของกองทัพพม่า สมาชิกของรัฐบาลทหารไทยที่ก่อการรัฐประหารในปี 2557 กลับเดินทางไปพบกับผู้นำคณะรัฐประหารของพม่าอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่นำแผนแม่บทด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์การสหประชาชาติ (UN) มาปรับใช้ แต่กลับล้มเหลวเมื่อถึงคราวปฏิบัติจริง

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกรณีของประเทศไทย แต่จีนก็เช่นเดียวกัน โดยจีนเป็นผู้ดำเนินการท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบคู่ขนานจากรัฐยะไข่ ไปยังรัฐฉาน ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนจีน-พม่า

นอกจากบทบาทนักลงทุนในโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพม่าแล้ว ปตท.ของไทยยังเป็นผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติหนึ่งเดียวจากโครงการยานาดาในอ่าวเมาะตะมะ ก๊าซเหล่านั้นจะถูกนำไปขายต่อให้กับโรงผลิตไฟฟ้าในไทยเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย และร้อยละ 10 ของเชื้อเพลิงดังกล่าวนำเข้ามาจากแหล่งยาดานา

ผู้ประท้วงชาวพม่าเรียกร้องให้หยุดจ่ายเงินรายได้ในภาคพลังงานให้แก่คณะรัฐประหารพม่า

(ภาพจาก Blood Money Campaign)

เช่นเดียวกับกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิในประเทศไทย กลุ่ม Blood Money Campaign พุ่งเป้าไปที่ผู้ถือหุ้นที่เหลือในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่ม ปตท. พวกเขาเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม ปตท. ทั้งหมดซึ่งรวมถึงธุรกิจร้านกาแฟและสถานบริการน้ำมัน อย่างไรก็ตาม บทบาท 2 ด้านของ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับคณะรัฐประหาร บทบาททั้ง 2 ด้านนี้ทำให้การรับรู้ของสาธารณชนต่อการคว่ำบาตรบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทยเป็นเรื่องซับซ้อน

การยุติการซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากพม่าซึ่งเป็นแหล่งพลังงานราคาถูกที่สุดของไทยอาจทำให้ค่าไฟฟ้าในไทยสูงขึ้นสองเท่าเพราะก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีค่าดำเนินการที่สูงกว่า ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกก็เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

“แต่ก็พอจะเป็นไปได้เพื่อหาทางออก หากรัฐบาลไทยเลือกจุดยืนด้านการเมือง ตัดสินใจไม่เข้าไปในพม่าอีก และจัดหาวิธีการอุดหนุนราคาพลังงานที่สูงขึ้น ประเทศไทยมีศักยภาพในการหาแหล่งพลังงานอื่นๆ มาทดแทนเชื้อเพลิงนี้ การเปลี่ยนผ่านด้านเทคนิคอาจต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป” วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (Mekong Energy and Ecology Network:MEE-NET) กล่าวกับ Visual Rebellion

วิฑูรย์ระบุว่าประเด็นเรื่องก๊าซธรรมชาติจากพม่าคือยอดภูเขาน้ำแข็งที่เกิดจากการรวมศูนย์ขั้นรุนแรงของภาคพลังงานทั้งในไทยและพม่า การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากก๊าซธรรมชาติไปซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่พลังงานทดแทนรูปแบบอื่นๆ เช่น โรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับท้องถิ่นและโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก แต่รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจของทั้ง 2 ประเทศกลับบ่ายเบี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงและยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นอย่างมาก

“มันคือเรื่องการเมืองและธุรกิจ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลทหารพม่าใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นโครงการสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำกำไรสูง เนื่องจากข้อตกลงที่ไม่ชัดเจนกับนักลงทุนต่างชาติ

แถลงการณ์ของ TotalEnergies ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการตัดสินใจถอนการลงทุนในแหล่งยาดานาอาจแสดงให้เห็นถึงข้อกังวลบางส่วนด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวนี้เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าคลังก๊าซธรรมชาติในแหล่งยาดานากำลังใกล้หมดและอาจแห้งเหือดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน นักลงทุนจากชาติตะวันตกที่ยังอยู่แหล่งยาดานาคือ Chevron ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติด้านธุรกิจพลังงานจากสหรัฐฯ Chevron ประกาศว่าจะถอนการลงทุนจากพม่าตามรอย TotalEnergies แต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และรัฐบาลชุดปัจจุบันของสหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังไม่ได้บรรจุมาตรการคว่ำบาตร MOGE ในกฎหมาย เพื่อการสร้างพม่าให้เป็นปึกแผ่นด้วยความรับผิดชอบอย่างเข้มงวดของทหาร (The Burma Unified through Rigorous Military Accountability Act หรือ BURMA Act) ที่ผ่านการรับรองจากวุฒิสภาแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 กฎหมาย BURMA Act มีจุดประสงค์เพื่ออนุมัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สนับสนุนภาคประชาสังคมของพม่า ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อการกระทำที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนในพม่า

อย่างไรก็ตาม จนถึงทุกวันนี้ กลุ่ม ปตท. ของไทยยังไม่ได้แสดงออกถึงความพยายามในการถอนทุนออกจากพม่า ทั้งยังมีรายงานว่ากลุ่ม ปตท. จะเข้าซื้อหุ้นของ Chevron หากท้ายที่สุดแล้ว บริษัทจากแดนพญาอินทรีเลือกคว้าโอกาสในการดำเนินธุรกิจต่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นิทรรศการเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ไฟฟ้าใช้ไทยที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า

เดือนกันยายน 2565 กรุงเทพฯ (ภาพจาก Visual Rebellion)

ปตท.สผ. ไม่ตอบรับคำขอสัมภาษณ์ของ Visual Rebellion เกี่ยวกับเหตุผลที่บริษัทยังประกอบธุรกิจในแหล่งยาดานาท่ามกลางกระแสการคว่ำบาตรของนานาชาติ แต่บริษัทกลับเผยแพร่คำตอบบางส่วนในแถลงการณ์ต่อสาธารณชนบนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่กระทำโดยคณะรัฐประหารพม่า อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. อ้างว่าการดำเนินธุรกิจในแหล่งยาดานาต่อนั้นมีส่วนสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวของทั้งไทยและพม่า

ปตท. ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลความโปร่งใสด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับ MOGE สำนักข่าวรอยเตอร์ประเมินว่าการชำระเงินของ ปตท.สผ. แก่ MOGE อาจมีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระหว่างปี 2558-2562 โดยอ้างอิงจากข้อมูลตัวเลขที่ TotalEnergies และ ปตท.สผ.เปิดเผย

แถลงการณ์ของ ปตท.ไม่ได้กล่าวถึงข้อเสนอต่อสาธารณะจาก BMC เพื่อเปลี่ยนเส้นทางการชำระเงินไปยัง MOGE ไปยังบัญชีรับฝากและจ่ายเงินแบบมีเงื่อนไขตามคำสั่ง (Escrow Account) ซึ่งเป็นบัญชีทางเลือกที่บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้ และเงินทั้งหมดจะถูกเก็บรักษาไว้จนกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะก้าวขึ้นมามีอำนาจ

ไม่นานมานี้ สื่อท้องถิ่นของพม่ารายงานว่า กระทรวงกลาโหมของพม่าได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมทางการทหารและการฝึกซ้อมรบในเดือน ก.พ. 2566 ซึ่งจัดขึ้นร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และไทย

“การใช้มาตรการกดดันเชิงสาธารณะต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องยาก แต่อำนาจที่ทรงพลังที่สุดในโลกยังคงเป็นอำนาจของประชาชนและฉันเชื่อในพลังนั้น” อองออง กล่าว

สำหรับบทความที่มุ่งเน้นไปยังข้อมูลของ TotalEnergies สามารถอ่านได้จากรายงานของพันธมิตรสื่อฝรั่งเศส Mediapart และสามารถอ่านรายงานวิชาการเกี่ยวกับการพลวัตการเปลี่ยนผ่านอำนาจผ่านท่อส่งก๊าซจากพม่าสู่จีนและไทยได้ใน Researcher’s Republic

 

 

หมายเหตุ: ต้นฉบับบทความนี้เผยแพร่ใน Visual Rebellion เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2566 อ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net