Skip to main content
sharethis

ม.วิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐฯ จัดเสวนา “การอดอาหารประท้วง ทวงความยุติธรรม” เกี่ยวกับปัญหากระบวนการยุติธรรมคดี ม.112 หรือ คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ และการอดอาหารประท้วงของ ‘ตะวัน-แบม’ ในฐานะส่วนหนึ่งของการขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ร่วมพูดคุยโดยนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน อาจารย์มหาวิทยาลัยไทย-ม.วิสคอนซิน รวมถึงอดีตสื่อมวลชน

  • อัครชัย ชัยมณีการเกษ นักกฎหมายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหาเป็นพิเศษในการจัดการกับคดี ม.112 อาทิ การปฏิเสธไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับสิทธิประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดี ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณา บทลงโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปีต่อข้อหาซึ่งถือว่ารุนแรงจนผิดสัดส่วน รวมถึงการปฏิบัติต่อจำเลยคดี ม.112 อย่างไม่เคารพสิทธิมนุษยชน
  • เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล การพร้อมใจกันอดอาหารประท้วงของตะวัน-แบมควรถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและสังคม มิใช่ถูกมองแยกขาดจากขบวนการประท้วงในช่วงปี 63
  • ไฮนซ์ คลัก อาจารย์ด้านกฎหมาย ม.วิสคอนซิน-แมดิสัน แชร์ประสบการณ์ในฐานะอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประท้วงต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ช่วงปี 2513 ระบุว่ามีความคล้ายคลึงกันระหว่างการกระทำของรัฐบาลแอฟริกาใต้ในการจัดการกับผู้ประท้วงต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวกับวิธีที่รัฐบาลไทยใช้จัดการกับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์
  • จีรนุช เปรมชัยพร อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท กล่าวเน้นไปที่พลวัตรของการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยจำแนกเป็น 3 ยุคหลักๆ ได้แก่ ยุคแห่งความเงียบ ยุคแห่งความกลัว และยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง

ภาพจากการบันทึกไลฟ์ โดย Justice in Southeast Asia Lab

3 มี.ค. 66 มีกิจกรรมเสวนาออนไลน์เรื่อง “การอดอาหารประท้วงเพื่อความยุติธรรม” จัดโดย The Justice in Southeast Asia Lab (JSEALab) และ the Human Rights Program ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 66 เป็นวงพูดคุยเกี่ยวกับข้อขัดแย้งในประเทศไทยเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ การอดอาหารประท้วงของเยาวชนนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และความยากลำบากของหนทางสู่การปฏิรูปในประเทศไทย ร่วมพูดคุยโดย ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น ศาสตราจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน อัครชัย ชัยมณีการเกษ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จีรนุช เปรมชัยพร อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท และ ไฮนซ์ คลัก ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน

ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น จากแฟ้มภาพ

ในช่วงต้น ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น กล่าวอภิปรายสั้นๆ สรุปความถึงประวัติศาสตร์การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในประเทศไทย และพลวัตรการนำข้อหานี้มาใช้ที่มักขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่มันถูกประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2451 เธอยังพูดถึง ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ 2 นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยังคงอดอาหารประท้วงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

บังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม

“ผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตายมีสิทธิได้รับการประกันตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี แต่ทำไมผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์มักถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ” 

อัครชัย ชัยมณีการเกษ เป็นนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พูดถึงคดีประวัติศาสตร์หลายคดีที่มีผู้ต้องโทษคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์

เขาเน้นย้ำว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหาเป็นพิเศษในการจัดการกับคดี ม.112 อาทิ การปฏิเสธไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับสิทธิประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดี ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณา บทลงโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปีต่อข้อหาซึ่งถือว่ารุนแรงจนผิดสัดส่วน รวมถึงการปฏิบัติต่อจำเลยคดี ม.112 อย่างไม่เคารพสิทธิมนุษยชน

อัครชัย ชัยมณีการเกษ ภาพจากเว็บไซต์ Harvard Law School

ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

“การพร้อมใจกันอดอาหารประท้วงของตะวัน-แบมควรถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและสังคม มิใช่ถูกมองแยกขาดจากขบวนการประท้วงในช่วงปี 63”

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว เป็นอาจารย์ผู้ศึกษาความเคลื่อนไหวภาคประชาชน จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เธอเล่าถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อของตะวันและแบมในบริบทของการประท้วงและข้อเรียกร้องการปฏิรูประบอบการเมืองและสังคมไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบุว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ก่อรูปขึ้นจากความไม่พอใจของเยาวชนต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อต้นปี 2563 ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายกลางในประเทศไทยที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากลงคะแนนให้ในการเลือกตั้งปี 2562

นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความโกรธแค้นปะทุที่หมู่คนรุ่นใหม่ มีการชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเกิดขึ้นรายวัน ลุกลามไปสู่การลงถนนและข้อเรียกร้องปฏิรูปการเมืองและสังคมเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากแฟ้มภาพ

เบญจรัตน์ กล่าวว่าการประท้วงของคนรุ่นใหม่ได้จุดประกายให้สาธารณชนถกเถียงถึงปัญหาของกฎหมาย ม.112 ซึ่งนั่นคือความสำเร็จ ก่อนหน้านี้การอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวมักถูกจำกัดอยู่เพียงในหมู่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ปัจจุบันมีการนำเรื่องนี้ออกมาพูดในระดับสาธารณะมากขึ้น นอกจากนี้การถกเถียงในประเด็นที่อ่อนไหวในระดับสาธารณะเช่นนี้ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ในทุกระดับ ตั้งแต่พ่อแม่ผู้ปกครอง ลูก ไปจนถึงบรรยากาศในที่ทำงาน

ดอกผลของการประท้วงลงถนนที่ผ่านมาอาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทันที แต่มันได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยไปแล้วอย่างสิ้นเชิง จากแต่เดิมที่เรื่องสถาบันกษัตริย์เคยเป็นเพียงเรื่องซุบซิบแต่บัดนี้ถูกพูดถึงอย่างเปิดเผย

เบญจรัตน์ทิ้งท้ายว่าเราสามารถเห็นได้ว่าการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยมนั้นน่ากลัวเพียงใดต่อผู้ประท้วงรุ่นใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตยจากปฏิกิริยาที่อดกลั้นต่อการประท้วง

ตั้งคำถามกับเรื่องเล่า

จีรนุช เปรมชัยพร อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท กล่าวเน้นไปที่พลวัตรของการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยจำแนกเป็น 3 ยุคหลักๆ

จีรนุช เปรมชัยพร  

โดยยุคแรกตั้งแต่ปี 2549-2555 เธอเรียกช่วงเวลานี้ว่ายุคสมัยแห่งความเงียบ พร้อมตั้งข้อสังเกต 2 ข้อ อย่างแรกคือ จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการตีตราในที่สาธารณะ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถออกมาเปิดเผยตัวตนกับสื่อมวลชนได้ ส่วนข้อที่สองคือสื่อไทยไม่ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับ คดี ม.112 อย่างจริงจัง แต่มักอาศัยข้อมูลจากสื่อต่างประเทศ

ยุคที่สองเริ่มด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) - 2561 เธอบอกว่าเป็นช่วงที่บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวแผ่เข้าปกคลุมสังคมไทย คณะรัฐประหารใช้อำนาจปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตย ด้านกลุ่มนิยมเจ้าสุดโต่งก็มีความกังวลเรื่องปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์และมีการคุกคามฝ่ายประชาธิปไตยด้วย ในช่วงดังกล่าวสื่อมวลชนต่างก็หวาดกลัวที่จะเสนอข่าวในทิศทางที่ขัดแย้งกับรัฐบาลทหาร ถึงขั้นห้ามถามคำถามเมื่อจำเลยที่มีชื่อเสียงเสียชีวิตขณะถูกคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดี

ยุคที่สามซึ่งเป็นช่วงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา จีรนุชบอกว่าเป็นยุคแห่งการต่อสู้เรียกร้องความเปลี่ยนแปลง ผู้ประท้วงมีแอคทีฟ ปรากฏข้อเรียกร้องปฏิรูปโครงสร้างการเมืองและสังคมที่มีลักษณะตรงไปตรงมามากขึ้น

นอกจากนี้ ความสนใจของสาธารณชนก็ทำให้สื่อมวลชนก็มีความแอคทีฟมากขึ้นในการรายงานข่าวเกี่ยวกับกฎหมาย ม.112 และพูดถึงข้อถกเถียงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์อย่างเปิดเผยทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์

เห็นไทยในแอฟริกาใต้

“มีความคล้ายคลึงกันระหว่างการกระทำของรัฐบาลแอฟริกาใต้ในการจัดการกับผู้ประท้วงต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว และวิธีที่รัฐบาลไทยใช้จัดการกับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์”

ไฮนซ์ คลัก ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน แชร์ประสบการณ์ในฐานะอดีตนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ทำกิจกรรมประท้วงต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ช่วงปี 2513

เขาเล่าถึงไทม์ไลน์โดยย่อของการก่อรูปของขบวนการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวของแอฟริกาใต้ ตั้งแต่การก่อตั้งสภาแห่งชาติแอฟริกันในปี 2455 ผ่านการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนประสบความสำเร็จในที่สุดในปี 2537 

ไฮนซ์ คลัก ภาพจากเว็บไซต์คณะนิติศาสตร์ ม.วิสคอนซิน-แมดิสัน

ถ่ายโดย Beth Skogen

เขากล่าวว่า วิธีการทั่วไปวิธีหนึ่งคือการปิดปากสื่อผ่านกลไกทางกฎหมายต่างๆ สุดท้าย เขาอธิบายว่ารัฐบาลแอฟริกาใต้ในปัจจุบันกำลังรื้อฟื้นคดีเพื่อพิจารณาใหม่สำหรับคดีของนักเคลื่อนไหวที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของรัฐบาลในช่วงที่มีการแบ่งแยกสีผิว โดยมีอย่างน้อย 3 กรณีที่มีการเปลี่ยนสาเหตุการเสียชีวิตและประกาศว่านักเคลื่อนไหวถูกสังหาร

จากนั้นเป็นช่วงถาม-ตอบ ดำเนินรายการโดยไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องบทบาทของสื่อเป็นอย่างไรบ้างทั้งในประเทศไทยและแอฟริกาใต้

ไฮนซ์ คลัก อธิบายว่าทุกองคาพยพของสื่อในแอฟริกาใต้เปลี่ยนจากการอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ค่อยๆ มีเสรีภาพมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แม้ว่าสื่ออิสระยังคงต้องทำตามกฎกติกาที่รัฐกำหนดแต่ก็เริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน อาทิ การผลักดันเรื่องเล่าที่ตรงข้ามกับเรื่องเล่ากระแสหลักที่ผลักดันโดยรัฐบาล

เขากล่าวว่า “ช่องทางเล็กๆ น้อยๆ พื้นที่เล็กๆ เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนอื่นมีส่วนร่วมและทำให้การถกเถียงยังดำเนินต่อไป”

ด้านจีรนุชอธิบายว่าเมืองไทยมีประวัติศาสตร์ของสื่ออิสระมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหารในปี 2549 เห็นได้ชัดว่าสื่อกลายเป็นพรรคพวกของกลุ่มต่อต้านทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการรัฐประหาร

ในขณะเดียวกัน สื่อไทยก็สนับสนุนสื่ออิสระพม่าเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่บริหารโดยทหารของพม่า ในปัจจุบัน สื่อได้เปลี่ยนไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เธอเน้นย้ำว่าความสำคัญของสื่อออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้คนที่ไม่มีเงินทุนจำนวนมากสามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังผู้ชมทั่วโลก

“คนหนุ่มสาวได้เรียนรู้อะไรมากมายจากกลุ่มพันธมิตรชานม…พวกเขากลายเป็นสื่อเอง เป็นขบวนการที่ใช้สื่ออย่างชาญฉลาด ฉันคิดว่าตอนนี้รัฐบาลไทยรู้สึกว่าควบคุมสื่อได้ยาก”  จีรนุชทิ้งท้าย

จะทำอะไรได้บ้างเพื่อต่อต้านกลุ่มนิยมเจ้าสุดโต่งในประเทศไทยที่นำข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์มาใช้ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงฝั่งประชาธิปไตย รวมถึงเคสล่าสุดที่เยาวชนอายุเพียง 14 ปีได้รับหมายเรียก ม.112 

อัครชัยให้ความเห็นในด้านกฎหมายว่า “ประเด็นทางกฎหมายของ ม.112 คือ ใครจะสามารถเป็นผู้ยื่นฟ้องก็ได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับผลกระทบจากคำพูดก็ตาม”

ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าปัญหานี้มีต้นตอจากข้อเท็จจริงที่ว่ากฎหมาย ม.112 อยู่ในหมวดความมั่นคงของชาติในประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย ซึ่งหมายความว่าทุกคนสามารถร้องเรียนได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำหรือคำพูดของผู้ต้องหาก็ตาม

เขาเสนอว่าควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อมิให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ฟ้องได้

นอกจากนี้ เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วอัยการมีสิทธิพิเศษในการถอนฟ้อง หากรู้สึกว่าคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่สำหรับเฉพาะคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ พวกเขาจะไม่ทำเช่นนั้น

เขาเชื่อว่าอัยการควรใช้อำนาจนี้ได้ และไม่ดำเนินคดีกับผู้เยาว์เพราะไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ สำหรับคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ยังคงมีสถิติการฟ้องร้อง 100% แต่ในบางคดีที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย พวกเขาก็ไม่สั่งฟ้อง

จีรนุช มีข้อสังเกตว่าเมื่อก่อนคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ล้วนมีคำพิพากษาลงโทษ 100% แต่ล่าสุดก็มีบางคดีที่ผู้พิพากษาตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด

เบญจรัตน์ให้ความเห็นว่าสื่อมวลชนสามารถทำแคมเปญรณรงค์ สร้างความตระหนักรู้กับประชาชนว่ากฎหมายนี้มีปัญหาที่ตรงไหน และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนทั่วไปซื้อไอเดียร่วมกับนักเคลื่อนไหว

เธอกล่าวว่าบทบาทเชิงรุกของสื่อเป็นส่วนสำคัญที่ต้องทำคู่ขนานไปกับการเคลื่อนไหวอันแหลมคม เพื่อปลุกจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยให้กับสาธารณชน

ชมบันทึกการเสวนาฉบับเต็ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net