Skip to main content
sharethis

 

เปิดรัฐธรรมนูญ ม.103 และคำอธิบายประกอบ ระบุเหตุให้ นายกฯ ยุบสภาฯ ได้ด้วยเหตุ ขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ, ต้องการฟังเสียงประชาชนเมื่อมีปัญหาสำคัญ หยั่งความนิยมที่ประชาชนยังมีต่อพรรคการเมืองของรัฐบาลเพื่อดำเนินนโยบายที่สำคัญๆ แต่ไม่ระบุให้ยุบเพื่อให้ผู้สมัคร ส.ส.เลี่ยงเป็นสมาชิกพรรค 90 วัน

โจทย์ทางการเมืองโจทย์หนึ่งขณะนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะตัดสินใจยุบสภาฯ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่เมื่อไหร่ หลังเวลาล่วงมาใกล้ถึงอายุสภาหมดอายุในวันที่ 23 มี.ค.นี้อยู่แล้วนั้น เพราะหลายฝ่ายประเมินกันเป็นเสียงเดียวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจยุบสภาฯ เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตนเองสังกัดเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น เพิ่งตั้งใหม่ ร่วมทั้งมีส.ส.ที่เพิ่งย้ายเข้ามาสังกัดจำนวนมาก หากไม่ยุบสภาฯ จะติดเงื่อนไขหากต้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง แต่หากยุบสภาจะเหลือข้อจำกัดนี้แค่ 30 วัน 

อย่างไรก็ตามอำนาจในการยุบสภาของนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 103 ว่า

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียว

ภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

อีกทั้งในเปิดเอกสาร ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ พ.ค.62 นั้น หน้า 179-180 ที่อธิบายมาตรา 103 เพิ่มเติมว่า บัญญัติไว้เพื่อกำหนดอำนาจในการยุบสภา และ เงื่อนไขในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

คำอธิบายประกอบ ระบุว่า

บทบัญญัติเกี่ยวกับการยุบสภามีบัญญัติมาแต่ดั้งเดิมในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475(มาตรา 35) เป็นต้นมา การยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นเครื่องมือในการคานอำนาจระหว่าง ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะเดียวกันการยุบสภาก็เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อส่งคืนอำนาจให้ ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในรัฐสภาหรือปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรค ร่วมรัฐบาลรวมทั้งการยุบสภาเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน เช่น รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายที่เป็นนโยบายสำคัญ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับ หลักการของร่างกฎหมายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีอาจดำเนินการให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้และเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ นายกรัฐมนตรีคนเดิมได้กลับมาเป็นรัฐบาล จึงเสนอร่างกฎหมายเดิมที่ เคยเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการของร่างกฎหมายนั้นอีก จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุนั้นอีกไม่ได้ แต่การยุบสภาไม่จำเป็นต้องกระทำเพราะเหตุที่เกิดความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเสมอไป การยุบสภาอาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากฝ่ายบริหารต้องการฟังเสียงประชาชนเมื่อมีปัญหาสำคัญ หรือหยั่งความนิยมที่ประชาชนยังมีต่อพรรคการเมืองของรัฐบาลเพื่อความมั่นใจในการที่จะดำเนินนโยบายที่สำคัญๆ ต่อไปก็ได้

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้เปลี่ยนหลักการใหม่ โดยกำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปก่อน ส่วนวันเลือกตั้ง จะเป็นวันใดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ตามที่ได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 102 ดังนั้น ความในวรรคสาม แห่งมาตรานี้จึงได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษาภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภามีผลใช้บังคับ โดยวันเลือกตั้งที่กำหนดต้อง ไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน แต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ

เหตุที่กำหนดระยะเวลาวันเลือกตั้งยาวกว่าการเลือกตั้งทั่วไปกรณีอายุของสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามมาตรา 102 ที่กำหนดไว้สี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ ก็เนื่องจากเหตุการณ์การยุบสภาไม่มีความแน่นอนดังเช่นการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร จึงให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง สามารถกำหนดระยะเวลาของวันเลือกตั้งให้ยาวขึ้นได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองมี ความพร้อมในการเลือกตั้งและไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาความลักลั่น ในทางปฏิบัติ ดังที่มีคำอธิบายในมาตรา 102 แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net