Skip to main content
sharethis
  • อรรถวิชช์ พรรคชาติพัฒนากล้า ชี้การแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. แบบที่ 1-2 ซึ่งเป็นการรวม-แยกย่อยแขวง ขัด ม.27 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ปี’61 ที่อนุญาตให้รวมเฉพาะอำเภอ หรือเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อน หวั่นเอื้อประโยชน์บางพรรค 
  • ‘เพื่อไทย’ เผยการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. แบบที่ 1-2 ขัดมาตรา 29 พ.ร.ป.ฯ เผยทำคนสับสน บัตรเสียเยอะขึ้น เปิดช่องทุจริต หากยังดึงดัน ก็พร้อมสู้ในกติกาที่ไม่เป็นธรรม


14 มี.ค. 2566 ทีมสื่อพรรคชาติพัฒนากล้า รายงานวันนี้ (13 มี.ค.) บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก  อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร 4 รูปแบบ ที่กำลังจะหมดเขตรับฟังความเห็นประชาชนวันพรุ่งนี้ (13 มี.ค. 66) ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของ กกต. ภายในสัปดาห์นี้ โดยการแบ่งเขตที่ กกต. กทม. นำเสนอมา 4 รูปแบบ พบว่ารูปแบบที่ 1 และ 2 เข้าข่ายผิดกฎหมาย ขัดกับ มาตรา 27 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 เนื่องจากกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์  “ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง” และ “การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน” เป็นเรื่องหลักในการแบ่งเขต 

แต่การแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 และ 2 กลับใช้วิธีรวมตำบล (แขวง) ต่างๆ มาประกอบเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ โดยเขตเลือกตั้ง กทม. ทั้งหมด 33 เขต 

รูปแบบที่ 1 มีการแบ่งแขวงต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ถึง 27 เขต และมีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อนเพียง 4 เขต 

รูปแบบที่ 2 มีการรวมแขวงต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ถึง 30 เขต และมีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเพียง 2 เขตเท่านั้น 

ตัวอย่างเขตจตุจักร การแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบที่ 3 และ 4 กำหนดให้เขตจตุจักรทั้งเขตเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องทั้งหลักการรวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง และหลักการเคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อน เหมือนการเลือกตั้งปี 2554 และ 2557 ค่าเฉลี่ยจำนวนประชาชนก็มีส่วนต่างไม่ถึง 10% 

แต่รูปแบบที่ 1 และ 2 กลับแยกร่างเขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตบางเขน โดยแยกเอาเฉพาะแขวงจันทรเกษม และแขวงเสนานิคม ของเขตจตุจักร ไปรวมกับแขวงท่าแร้งของเขตบางเขน และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ มารวมเป็นเขตใหม่ เกิดความวุ่นวายสับสน และเป็นแบบนี้เกือบทุกเขตเลือกตั้ง 

“การแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 และ 2 นอกจากผิดกฎหมายชัดเจนแล้ว ยังสร้างความสับสนให้ประชาชนที่คุ้นเคยกับเขตเลือกตั้งเดิม เขาไม่ได้เลือกผู้แทนของเขตเลือกตั้งเดิมเคยทำงานในพื้นที่มา ขณะที่รูปแบบที่ 3 และ 4 เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุด เพราะมีเขตเลือกตั้งที่ถูกแยกแขวงเพียง 8 เขต โดยเฉพาะรูปแบบที่ 3 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเดิมที่คุ้นเคยมาก่อนถึง 17 เขตเลือกตั้ง” อรรถวิชช์ กล่าว

รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ระบุต่อว่า การรวมแขวงจากเขตต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ เป็นหลักการพิศดาร นอกจากไม่สอดคล้องกับกฎหมายแล้ว ยังพบรูปร่างของเขตที่พยายามคดเข้าไปรวมบางแขวงที่ไม่เข้ากัน มีรูปร่างประหลาด ซึ่งหลักวิชาการเรียกการแบ่งเขตที่รูปร่างคล้ายตัว ‘Salamander’ (ซาลาแมนเดอร์) เป็นการแบ่งเขตเพื่อความได้เปรียบ-เสียเปรียบ แบ่งเขตเพื่อกำหนดผลการเลือกตั้งไว้แล้ว ที่เรียกว่า “Gerrymandering” ซึ่งรูปแบบที่ 1 และ 2  เข้าใจว่า กกต. กทม. พยายามยึดระเบียบ กกต. ที่กำหนดให้ส่วนต่างระหว่างจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. ไม่ควรเกินร้อยละ 10 แต่หลักการนี้เป็นเพียงระเบียบเท่านั้น ซึ่งมีสถานะต่ำกว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่กำหนดให้ยึดหลักการรวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง และการเคยเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อน 

ท้ายสุด อรรถวิชช์ ขอให้ กกต. ที่กำลังจะพิจารณาเคาะเขต ยึดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการเลือกตั้งในภายหลัก หากตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย จะกระทบต่อการเลือกตั้ง

สำหรับ "Gerrymandering" เว็บไซต์ iLaw อธิบายว่า คือเทคนิคในการแบ่งเขตเลือกที่จงใจแบ่งเพื่อให้พรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคน หรือประชาชนบางกลุ่ม ได้เปรียบการเลือกตั้ง ในขณะที่คนกลุ่มที่เหลือมีโอกาสชนะน้อยลง 

‘เพื่อไทย’ ยันพร้อมสู้ในกติกาที่ไม่เป็นธรรม

ทีมสื่อเพื่อไทย รายงานวันนี้ (14 มี.ค.) เวลา 10.30 น. พรรคเพื่อไทยนำโดย วิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกรุงเทพมหานคร (กทม.), ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. เขตลาดกระบัง และจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. เขตคลองสามวา ร่วมแถลงข่าวกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. ที่ขัดกับ พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ

(ขวา-ซ้าย) วิชาญ มีนชัยนันท์ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และจิรายุ ห่วงทรัพย์

วิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 33 เขต เป็นที่จับจ้องของทุกพรรคการเมือง ดังนั้น พื้นที่การแบ่งเขตต้องคำนึงถึงกฎหมาย ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2561 มาตรา 29 ที่ต้องคำนึงถึงการยึดเขตปกครองเป็นหลัก ต้องยึดโยงในการเดินทางให้ความสะดวกกับประชาชนมากที่สุด รวมถึงต้องแบ่งเขตที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จะต้องไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชน แบบที่ 1 เป็นแบบที่เหมาะสม 

ทั้งนี้ ครั้งที่แล้วเพื่อไทยได้ท้วงติง กกต.ไปแล้ว โดยยืนยันว่าแบบที่ 1 และ 2 จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นเขตเลือกตั้งรวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนประชากร ยกตัวอย่าง กรณีเขตมีนบุรี เขตฝั่งธนบุรี ทำให้เกณฑ์ประชากรการเลือกตั้งมีความสับสนวุ่นวาย เขตเดียวแต่มีการแบ่งแขวง ส.ส.และประชาชนไม่ได้อะไร ซึ่งจะสร้างความสับสนให้กับผู้อำนวยการเขต ข้าราชการ ที่จะต้องไปดูแลในพื้นที่การเลือกตั้งด้วย 

“การจัดแบบนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้บัตรเสียเยอะที่สุด การแบ่งเขตแบบที่ 1-2 หากมีคนไปร้องเรียนแล้วประกาศผลการเลือกตั้งไม่ได้ การเลือกตั้งอาจจะกลายเป็นโมฆะ ถ้าเกิดเช่นนี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะรับผิดชอบอย่างไร” วิชาญ กล่าวทิ้งท้าย

จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ไปตีตนไปก่อนไข้ แต่เป็นการให้ข้อสังเกตต่อ กกต.ที่จะออกกฎระเบียบหลังจากนี้ ตนยกตัวอย่างเขตคลองสามวามี 5 แขวง วันนี้ 2 แขวงถูกผลักไปที่เขตหนองจอก ทั้งนี้ การคิดคำนวณหน่วยเลือกตั้ง และการนับคะแนนหน่วยเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องทำให้ชัดเจนว่าจะนับคะแนนที่ใด นอกจากนี้ กรณีบัตรเสียจะเกิดปัญหาอย่างมาก จะเป็นการตัดสิทธิประชาชน พรรคเพื่อไทยพร้อมลงในสนาม แม้เคยโดนความไม่สะดวกในกติการการเลือกตั้งมาตลอด 15 ปี

จิรายุ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการเลือกผู้แทนราษฎรไม่มีเหตุผลกลใดที่จะต้องเปลี่ยนแปลงมากไปกว่านี้ ฝากไปถึง กกต. หากประกาศเป็นเช่นนั้นจริง ขอให้ได้ประชาสัมพันธ์ประชาชน และเน้นย้ำข้าราชการ ตำรวจ หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน

“พรรคเพื่อไทยพร้อม ไม่ว่าท่านจะมัดมือ มัดแขน ปิดหู ปิดตา ล่ามโซ่เอาไว้ เราจะไปยืนในที่สว่าง ให้กับพี่น้องประชาชนใน กทม.เลือกทั้ง 33 เขต” จิรายุ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นความกังวลใจของผู้ที่ทำงานทางการเมืองส่งไปถึง กกต. กทม. ที่มีการแบ่งเขตการเลือกตั้งของกรุงเทพฯ 4 แบบ โดย กกต. เลือกแบบที่ 1 จาก 6 แบบ ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยได้แสดงความคิดเห็นและพรรคการเมืองอื่นได้ส่งความคิดเห็นไป กกต.ให้เลือกแบบที่เหมาะสม และเป็นธรรมมากที่สุด 

ส.ส.เพื่อไทย วิจารณ์การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ล่าสุด ออกแบบมาใหม่อีก 4 แบบ ถือเป็นกระบวนการที่อาจไม่ชอบมาพากล และพิลึกพิลั่น เพราะว่าตามหลักการแบ่งเขต ควรอ้างอิงกบ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 ตามมาตรา 29 ที่การแบ่งเขต จะต้องเป็นการรวมเขตที่เป็นเขตใหญ่ๆ เข้าด้วยกัน ยึดหลักการมีพื้นที่ติดต่อกัน เพื่อที่จะให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่การรวมแขวงเข้าด้วยกัน มิเช่นนั้น ส.ส.จะกลายเป็น ส.ส.แขวงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อน ความลำบาก ความสับสนให้กับประชาชนที่จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นอย่างมาก และขอตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นช่องทางที่ผู้ที่ไม่มีความโปร่งใส หรือตั้งใจทุจริตการเลือกตั้งจะเกิดช่องโหว่ในการกระทำการนั้นๆ ได้ อย่างล่าสุดที่มีข่าวบัตรประชาชนใบเดียว แต่มีหลายรายชื่อ ซึ่งน่าสงสัยว่าเหตุใดเกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว

ส.ส. กทม. เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า การแบ่งเขตของ กกต. เข้าทางกลุ่มผู้มีอำนาจเป็นหลักหรือไม่ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น กกต.ยังกลับหลังทัน ที่จะทำประโยชน์ให้คิดถึงส่วนรวมของประชาชนส่วนใหญ่ให้มากกว่าคิดถึงประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง กกต.เป็นองค์กรอิสระที่จะต้องไม่อยู่ภายใต้อำนาจใดๆ วันนี้ศักดิ์ศรีของการกระทำของท่านจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ประชาชนจะให้ความเคารพ และยอมรับ อยู่ที่ตัวท่านเอง การแบ่งเขตจะต้องเป็นไปโดยหลักของประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด

"ขอให้ กกต.ได้คำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างสูงสุด สำหรับแบบที่พรรคเพื่อไทยเห็นว่า มีความเห็นและเป็นไปได้คือแบบที่ 3 แบบที่ 4 เรายังหวังว่า กกต.จะรับฟังความคิดเห็นเหล่านี้ หาก กกต.ยังไม่เห็นความสำคัญของประชาชน เราพร้อมที่จะลงการเลือกตั้งในกฎกติกาที่ กกต. กำหนด" ธีรรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net