'สมชัย' ร้องเอาผิด 'ประยุทธ์–พีระพันธุ์' ใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์การเมือง ลงพื้นที่แฝงหาเสียง

  • 'สมชัย' ร้อง กกต. เอาผิด 'ประยุทธ์–พีระพันธุ์' ใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ทางการเมือง ลงพื้นที่แฝงการหาเสียง อย่างน้อย 16 ครั้ง ใน 18 จังหวัด 'ชูวิทย์' ยื่น กกต. ยุบ 'ภูมิใจไทย' รับเงินบริจาค หจก.บุรีเจริญฯ นอมินี 'ศักดิ์สยาม' 
  • 'ชาติพัฒนากล้า' ยื่นศาลปกครอง ร้องเพิกถอนประกาศ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เช่นเดียวกับ 'ประชาธิปัตย์' ร้อง กกต. ทบทวนการแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. 

17 มี.ค.2566 ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้งวันนี้ (17 มี.ค.) นอกจาก สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่ข่าวเรื่อง "การนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)"  โดย ชี้แจงขั้นตอนและกระบวนการนับคะแนน หลังปิดการลงคะแนน (อ่านรายละเอียดที่ : กกต.แจงขั้นตอนนับคะแนน และรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ) ยังมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญประกอบด้วย

'สมชัย' ร้อง กกต. เอาผิด 'ประยุทธ์–พีระพันธุ์' ใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ทางการเมือง ลงพื้นที่แฝงการหาเสียง

สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทยและอดีต กกต. ยื่นคำร้องต่อกกต. ขอให้ตรวจสอบกรณีการลงพื้นที่ตรวจราชการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเอื้อประโยชน์ทางการเมือง โดยสมชัย กล่าวว่าได้นำข้อมูลตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2565  ซึ่งเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งพีระพันธุ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันพีระพันธุ์ก็มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  มีหน้าที่ในการจัดตารางลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งพบว่ามีการลงพื้นที่ตรวจราชการจำนวน 16 ครั้ง ใน 18 จังหวัด แอบแฝงการหาเสียง โดยนำว่าที่ผู้สมัครของพรรครวมไทยสร้างชาติมาร่วมลงพื้นที่ด้วย

สมชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้นำทรัพยากรของรัฐ เช่น การใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศจำนวน 8 เที่ยว และเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกจำนวน 18 เที่ยว รวมถึงเกณฑ์ข้าราชการ และชาวบ้าน มาต้อนรับ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารคอยรักษาความปลอดภัย ซึ่งการตรวจราชการแต่ละครั้งตนมองว่าไม่เหมาะสม เป็นการใช้งบประมาณ และทรัพยากรของรัฐตรวจราชการจอมปลอม

อดีต กกต. กล่าวด้วยว่า เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องเข้ามากำกับดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ขณะเดียวกันต้องกำกับดูแลไม่ให้ข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง ตามมาตรา 78 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไรก็ตามเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ และพีระพันธุ์ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติ วันนั้นก็จะถือว่าทำผิดกฎหมายตามมาตรา 132 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. โดยระบุว่า ผู้สมัครผู้ใดกระทำความผิดก่อนหน้าการประกาศผลเลือกตั้ง กระทำการอันใดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต และเที่ยงธรรม กกต.สามารถให้ใบส้มได้  หรือเพิกสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง 1 ปี และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งบัญชีรายชื่อ ก็ถอดออกจากบัญชีรายชื่อได้ ซึ่งความผิดดังกล่าวครอบคลุมประกาศ กกต.ในช่วง 180 วัน โดยผู้ที่ประสงค์จะเป็นผู้สมัคร ให้ถือว่าเป็นผู้สมัคร นอกจากนี้ถ้าพบว่ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น ไม่มีการห้ามปรามสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคการเมืองได้  รวมถึงตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และดำเนินคดีอาญา ซึ่งในกรณีนี้จะครอบคลุมในกรณียุบสภา

'ชูวิทย์' ยื่น กกต. ยุบ 'ภูมิใจไทย' รับเงินบริจาค หจก.บุรีเจริญฯ นอมินี 'ศักดิ์สยาม' 

ขณะที่อีกความเคลื่อนไหว ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบการรับบริจาคเงินของพรรคภูมิใจไทยเข้าข่าย ขัด มาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ และให้กกต.พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคภูมิใจไทย  

ภาพจากเพจ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

โดย ชูวิทย์ ตั้งโต๊ะแถลงว่า ตามมาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โอนหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ประมาณ 190 ล้าน ให้ ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์  เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนนั้น ไม่ได้เป็นการโอนหุ้นจริง เพราะจากการตรวจสอบศุภวัฒน์ไม่มีรายได้ ไม่มีการยื่นเสียภาษี จึงถือเป็นการโอนหุ้นให้นอมินีที่เป็นพนักงานในบริษัทถือแทน ศักดิ์สยามยังเป็นเจ้าของบริษัทดังกล่าว และการที่บริษัทดังกล่าว ได้รับงานจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งศักดิ์สยาม ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคมอยู่นั้น จึงเป็นการรู้อยู่แล้ว แต่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้บริษัทดังกล่าวได้รับงานกว่า 104 โครงการ 1,500 ล้านบาท โดยมอบอำนาจให้นอมอนี นำเงินที่ได้บริจาคให้พรรคภูมิใจไทยหลายครั้ง เงินดังกล่าวจึงได้มาโดยมิชอบ ดังนั้นศักดิ์สยาม ในฐานะเลขานุการพรรคภูมิใจไทย จึงรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเงินมาจากไหน ทั้งนี้การศักดิ์สยามและพรรคภูมิใจไทยรับเงินบริจาคจาก หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และศุภวัฒน์ จึงเข้ามาตรา 72 ซึ่งเปรียบเหมือนต้นไม้พิษ ผลไม้ก็เป็นพิษ

ชูวิทย์ ระบุด้วยว่า มั่นใจว่าหลักฐานที่ยื่นต่อ กกต.วันนี้สามารถยุบพรรคภูมิใจไทยได้ 100% จึงยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองให้ทำการตรวจสอบและให้ กกต.พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคภูมิใจไทย   เรื่องดังกล่าวควรที่จะต้องดำเนินการแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง    อย่างไรก็ตามหากเรื่องดังกล่าวดำเนินการไม่ทันก่อนการเลือกตั้งหรือ กกต.มีการยกคำร้อง ก็จะเดินหน้าต่อในฐานะประชาชน โดยจะรณรงค์ต่อสู้ให้ประชาชนไม่เลือกพรรคภูมิใจไทย  ซึ่งเชื่อว่าสามารถทำลายคะแนนของพรรคภูมิใจไทยได้เป็นกอบเป็นกำ และจะเป็นการต่อสู้ที่สนุกเพราะพรรคภูมิใจไทยจิ้มไปตรงไหนก็มีแต่หนอน

 

'ชาติพัฒนากล้า' ยื่นศาลปกครอง ร้องเพิกถอนประกาศ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กทม.

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึง การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ.2561 มาตรา 27 (1) กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้ “รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง” ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าการแบ่งเขตที่ออกมา มีการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขต (อำเภอ) หลัก มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ อาทิ เขตเลือกตั้งที่ 8 ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้องของเขตหลักสี่ และแขวงลาดยาว แขวงจตุจักร แขวงจอมพล ของเขตจตุจักร , เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย แขวงอนุสาวรีย์ของเขตบางเขน และแขวงจันทรเกษม แขวงเสนานิคม ของเขตจตุจักร และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ และยังมีเขตเลือกตั้งอื่นๆ ที่เป็นการรวมเฉพาะแขวง โดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 8,9,12,13,17,18,19,21,26,27,28,29, และ 30 ซึ่งเป็นการรวมแขวงต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ได้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 27 (1) ถือเป็นการกระทบสิทธิประชาชน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะการแบ่งเขตใหม่ 33 เขตครั้งนี้ เหมือนกับการแบ่งเขตเลือกตั้งเดิมเพียง 4 เขตเลือกตั้งเท่านั้น

อรรถวิชช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามมาตรา 27(1) ยังกำหนดหลักการสำคัญเรื่อง “การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน” แต่ปรากฏว่าการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร มีเขตเลือกตั้งที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อนเพียง 4 เขตเลือกตั้งเท่านั้น ถือเป็นการแบ่งเขตที่ไม่ได้ยึดถึงหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงขอให้ศาลปกครองพิจารณาวิธีการชั่วคราวโดยเร่งด่วน เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง

'ประชาธิปัตย์' ร้อง กกต. ทบทวนการแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. 

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตั้งข้อสังเกตการแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. ว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวออกมาว่า กกต. กำลังจะเคาะประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ รวมถึงใน กทม. ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา กกต. ได้ออกแบบเขตเลือกตั้งใน กทม. มากถึง 12 แบบ โดยออกแบบชุดแรก 5 แบบ ออกแบบชุดที่สอง 3 แบบ ออกแบบชุดที่สามอีก 4 แบบ ล่าสุดทราบว่า กกต. จะมีการประชุมกัน แล้วจะเคาะแบบที่ 1 ของชุดที่ 3 ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าเป็นการออกแบบเขตเลือกตั้งใน กทม. ที่ขัดกฎหมายเลือกตั้ง จึงอยากฝากให้ กกต. พิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งบนพื้นฐานที่เป็นไปตามที่กฎหมาย ระเบียบอย่างเคร่งครัด  และไม่คำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง รวมถึงดำเนินการอย่างสุจริต เที่ยงธรรม ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ขอเรียกร้องให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง

ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงหลักการแบ่งเขตเลือกตั้งตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้งและท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ของ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 33 เขต มี 13 เขตเลือกตั้งที่เป็นการรวมแขวง (ตำบล) เพียงบางส่วนมาประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง อาทิ เขต 9 มีเขตบางเขน (ยกเว้นแขวงท่าแร้ง) เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจันทรเกษม และแขวงเสนานิคม) และเขตหลักสี่ (เฉพาะแขวงตลาดบางเขน) หรือในบางเขตมีการตัดแขวงออกมาจากเขตถึง 5 เขต เพื่อมาประกอบเป็นเขตเดียว ซึ่งตนเห็นว่าการแบ่งเขตในลักษณะดังกล่าว นอกจากไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังไม่เป็นธรรมต่อประชาชน และผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เป็นการแบ่งเขตที่พยายามจะตัดคะแนนผู้ที่ทำพื้นที่มาก่อนหน้า โดยตัดเขตออกเป็นส่วน ๆ แล้วไปรวมกับแขวงของเขตอื่น ๆ เพื่อให้เหลือพื้นที่เดิมของผู้ที่ทำพื้นที่ก่อนหน้าให้เหลือน้อยที่สุด ทำให้ประชากรกว่าร้อยละ 80 ของแต่ละเขตจะได้เจอกับผู้สมัครที่ตนเองอาจจะไม่เคยรู้จักเลยทั้งหมด ส่งผลให้ได้ผู้แทนที่ไม่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ และสร้างความสับสนให้กับผู้ลงคะแนน ตนจึงขอเรียกร้องให้ กกต. ทบทวนการแบ่งเขต ให้เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นธรรมกับผู้สมัคร และประชาชนในพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่น และความโปร่งใสในการเลือกตั้ง เพราะหาก เริ่มต้นการเลือกตั้งด้วยความด่างพร้อยเช่นนี้ ประชาชน จะเกิดข้อกังขาในการทำหน้าที่ ของ กกต. ได้ว่า จัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริตและเที่ยงธรรมจริงหรือไม่ ในท้ายที่สุดไม่ว่า กกต. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ผู้สมัครประชาธิปัตย์พร้อมสู้ทั้ง 400 เขต

ที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, สำนักข่าวไทย, เฟซบุ๊ก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และสมชัย ศรีสุทธิยากร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท