Skip to main content
sharethis

กกต. แจงข่าวลือยกเลิกรายงานคะแนนเลือกตั้งไม่เป็นความจริง ยืนยันรู้ผลไม่เป็นทางการวันเลือกตั้งไม่เกิน 23.00 น. ผ่าน ECT Report มั่นใจโปร่งใส เป็นธรรม - ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ เตรียมร้องศาลปกครองให้การแบ่งเขต จ.สุโขทัย เป็นโมฆะ ชี้แบ่งพิสดารเอาหลายตำบลมายำรวมเป็นเขตเลือกตั้ง

18 มี.ค. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการนับคะแนน การรวมผลคะแนน และการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านทาง ECT Report ว่าตามที่มีผู้แสดงความคิดเห็นตามสื่อโซเชียลเกี่ยวกับการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป สำนักงาน กกต. จะไม่มีการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ หรือจะทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ต้องรอไปอีก 5 วัน หรือการนับคะแนน การรวมคะแนน มีความโปร่งใสหรือไม่เพียงใด ว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวไม่ได้อยู่บนฐานของความเป็นจริงและข้อกฎหมาย อาจก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชนได้ จึงขอให้ข้อมูลที่ถูกต้อง 

นายแสวงยืนยันว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 นี้ สำนักงาน กกต. มีการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการอย่างแน่นอน โดยผ่านระบบ ECT Report เป็นการรวมคะแนนและการรายงานผลคะแนนจากแบบ ส.ส. 5/18 เหมือนการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งแบบ ส.ส. 5/18 จะประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง คือ จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาแสดงตน จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับจัดสรร จำนวนบัตรที่ใช้ไป จำนวนบัตรดี จำนวนบัตรเสีย จำนวนบัตรที่ไม่เลือกผู้สมัครใด จำนวนบัตรที่เหลือ และจำนวนคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนหรือพรรคการเมืองได้รับ โดยเรียงตามหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งแบบ ส.ส. 5/18 นี้ จะมีลายมือชื่อคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทั้ง 9 คน ลงลายมือชื่อกำกับไว้ และปิดไว้ที่เลือกของทุกหน่วยเลือกตั้ง 1 ชุด ให้ประชาชนหรือพรรคการเมืองไว้ตรวจสอบ

ส่วนจะทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเมื่อใด นายแสวงกล่าวว่า จะทราบผลการรายงานอย่างไม่เป็นทางการไม่เกินเวลา 23.00 น. ของวันเลือกตั้ง โดยคะแนนแรกที่จะเข้าสู่ระบบ ECT Report ประมาณไม่เกินเวลา 19.00 น. หลังกรรมการประจำหน่วยกรอกแบบ 5/18 เสร็จ และปิดไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง และคะแนนต่อไปจากหน่วยเลือกตั้งอื่นก็จะทยอยเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจากสื่อต่างๆ ที่มาเชื่อมต่อกับระบบ ECT Report ได้อย่างต่อเนื่อง

นายแสวง ระบุว่าการนับคะแนน การรวมคะแนน และการรายงานผล มีความโปร่งใสหรือไม่ ขอเรียนว่า การนับคะแนน การขานคะแนน การขีดคะแนน การกรอกแบบ ส.ส. 5/18 และการปิดแบบ ส.ส. 5/18 ไว้ที่เลือกตั้ง กระทำการต่อหน้าท่ามกลางสายตาประชาชน ตัวแทนพรรคการเมือง ภาคประชาชน สื่อมวลชน ที่ร่วมสังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลา ส่วนการรวมคะแนนว่าจะเป็นไปตามแบบ ส.ส. 5/18 ที่ติดไว้ที่เลือกตั้งหรือไม่ ดังนั้น เรื่องนี้ประชาชน พรรคการเมือง ภาคประชาชน หรือสื่อมวลชน สามารถตรวจสอบความถูกต้องโดยเปรียบเทียบคะแนนกับแบบ ส.ส. 5/18 ที่เป็นคู่ฉบับกับฉบับที่ติดไว้หน้าที่เลือกตั้งได้ ซึ่งจะลงไว้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สำนักงานดำเนินการในลักษณะนี้

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ เตรียมร้องศาลปกครองให้การแบ่งเขต จ.สุโขทัย เป็นโมฆะ

มติชนออนไลน์ รายงานว่านายสัมพันธ์ ตั้งเบญจผล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สุโขทัย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงราชกิจจานุเบกษาประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ของจ.สุโขทัย ว่า ตนถือว่าเป็นการแบ่งเขตที่พิสดาร และไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายเลย ซึ่งการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.นั้น กฎหมายได้กำหนดวิธีการแบ่งไว้มาตราเดียว คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 27 คือ

1. สิ่งหนึ่งที่กฎหมายกำหนดในการแบ่งเขตเลือกตั้งคือ การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อน แต่จากการแบ่งเขตเลือกตั้งจ.สุโขทัยของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ในครั้งนี้ปรากฏว่า เขตเลือกตั้งที่ 3 กกต.นำเอาพื้นที่ของอำเภอศรีสำโรงและอำเภอเมืองไปรวมกับพื้นที่ของอำเภอทุ่งเสลี่ยมและอำเภอสวรรคโลก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา อำเภอเหล่านี้ไม่เคยอยู่ในเขตเลือกเดียวกันมาก่อน นี่คือการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. อันผิดต่อกฎหมายในข้อที่ 1

2. หลักของการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม มาตรา 27(1) คือ ให้รวมอำเภอต่างๆเป็นเขตเลือกตั้ง ถ้ารวมอำเภอแล้วมีราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ก็ให้แยกตำบลของอำเภอนั้นออก หมายความว่า ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต้องยึดเขตอำเภอเป็นหลักก่อน ในเขตนั้นเมื่อมีอำเภอหลักแล้ว จึงแบ่งย่อยตำบลของอำเภออื่นมาเสริม แต่การแบ่งเขต ส.ส.ของจ.สุโขทัยในครั้งนี้ กกต.กลับเอาแต่ละตำบลของหลายๆอำเภอมายำรวมกันในเขตเดียว โดยเฉพาะเขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 3 จึงผิดหลักการของกฎหมายอย่างยิ่ง

3. หลักกฎหมาย มาตรา 27(2) การแบ่งแยกตำบลนั้นให้คำนึงถึงชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะการเป็นชุมชนเดียวกัน การยิ่งแบ่งหลายอำเภอในเขตเลือกเดียว จึงเป็นการยิ่งขัดต่อกฎหมายมาตรานี้ เพราะลักษณะการเป็นชุมชนเดียวกัน โดนเฉพาะราษฎรในพื้นที่คุ้นชินกับการติดต่อราชการภายในอำเภอเดียวกันมากกว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งจึงต้องคำนึงถึงการแบ่งแยกอำเภอให้น้อยที่สุด และ 4. การแบ่งเขตเลือกตั้งในรูปแบบที่ 3 เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นไปตามกฎหมายมากที่สุด เพราะส่วนใหญ่เคยอยู่ในเขตเลือกเดียวกันมาก่อนเมื่อการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 และเป็นการแบ่งแยกอำเภอน้อยอำเภอมาก มีอำเภอหลักในแต่ละเขตเลือกตั้ง และนำตำบลอื่นมาประกอบเพื่อให้จำนวนราษฎรใกล้เคียง

“ผมไม่กลัวเลย ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นรูปแบบไหน เพราะผมลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องตลอด 9 ปี แต่การแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต.ต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายเป็นหลัก ไม่ใช่แบ่งตามใจตัวเองหรือตามใครสั่งมา เพราะฉะนั้นเมื่อการแบ่งเขตเลือกตั้งพิสดารแบบนี้ ผมจึงจำเป็นต้องพึ่งบารมีศาล โดยจะไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 17 ของ พ.ร.ป.ส.ส.ในวันจันทร์ที่ 20 มี.ค.นี้ ให้การแบ่งเขตของจ.สุโขทัยในครั้งนี้เป็นโมฆะ และหากศาลสั่งให้เป็นโมฆะ คงต้องฟ้อง กกต. ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กรณีปฏิบัติหน้าที่อันมิชอบ และไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป แล้วเจอกันที่ศาลปกครองสูงสุด”นายสัมพันธ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net