'คนรักษ์นครนายก' ค้าน ส.นิวเคลียร์ เก็บกากกัมมันตรังสี หวั่นนำซีเซียม-137 มาเก็บ

เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ ขอให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หยุดเก็บและรักษากากกัมมันตรังสี โดยไม่มีใบอนุญาต หวั่นนำซีเซียม-137 มาเก็บ ด้านนายอำเภอองครักษ์เผย ทางสถาบันฯ ระบุยังไม่มีพื้นที่เหมาะสมเพียงพอที่จะสามารถเก็บ ซีเซียม-137 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวได้

23 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ช่วงสาย ที่หน้าสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อ.องครักษ์ จ.นครนายก เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ ซึ่งเดลินิวส์ รายงานด้วยว่า มีประชาชนจาก จ.ปทุมธานีด้วย เดินทางมารวมตัวเพื่อคัดค้านหลังทราบข่าวมาว่าจะมีการนำสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ถูกหลอมระลายแล้วมาเก็บรักษาไว้ที่สถาบันฯ ดังกล่าว โดยหลังจากเมื่อหลายวันก่อนมีการตรวจสอบและค้นหาสารกัมมันตรังสีที่มีความอันตรายร้ายแรงที่โรงหลอมเหล็กที่ จ.ปราจีนบุรี จากนั้นจึงได้มีการเข้าตรวจสอบและควบคุมสารดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้วางแผนป้องกันอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้สารดังกล่าวรั่วไหลและแพร่กระจายออกไปในชั้นบรรยากาศ เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสโดยตรงและโดยอ้อม 

ตัวแทนกลุ่มดังกล่าวมอบหนังสือข้อเรียกร้องผ่าน พีระ การุญ นายอำเภอองครักษ์ เพื่อเป็นตัวแทนประชาชน ให้นำส่งหนังสือไปยังสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เกี่ยวกับข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่งเบื้องต้นนายอำเภอองครักษ์ ได้แจ้งกับกลุ่มผู้คัดค้านว่า จากกระแสข่าวจะมีการนำ ซีเซียม-137 จาก จ.ปราจีนบุรี มาเก็บที่สภาบันฯ อ.องครักษ์ นั้น ทางอำเภอไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด และได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้ว ซึ่งทางสถาบันฯ นั้น ได้แจ้งข้อมูลเบื้องต้นว่ายังไม่มีพื้นที่เหมาะสมเพียงพอที่จะสามารถเก็บ ซีเซียม-137 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวได้

นายอำเภอองครักษ์ กล่าวว่า สุดท้ายต้องรอให้ทางสถาบันฯ นั้น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ออกมาแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนกอีกครั้ง และอีกประเด็น ที่เป็นข้อเรียกร้องของประชาชน เรื่องที่ทางสภาบันฯ นั้น ไม่มีใบอนุญาตในการจัดเก็บสารเคมีต่าง ๆ นั้น จากข้อมูลเบื้องต้น ทางสภาบันฯ นั้น ได้รับอนุญาต จาก พ.ร.บ.ตามกฎหมายโดยตรงให้เป็นหน่วยงานที่ จัดเก็บ และทำลาย สารเคมีต่างๆ ซึ่งในช่วงก่อนหน้า ปี 2565 นั้น กฎหมายยังไม่ได้กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาต แต่ได้มี พ.ร.บ.อนุญาตให้เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการได้โดยตรง ต่อมาเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 นั้น ได้มีกฎหมายฉบับใหม่ออกมาว่า หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ที่จะขออนุญาตก่อสร้าง เพื่อจัดเก็บ หรือทำลายสารเคมีต่าง ๆ นั้นต้องขอใบอนุญาตจากส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน ในส่วนหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปก่อนหน้ากฎหมายฉบับใหม่ ให้ยื่นขอใบอนุญาตใหม่อีกครั้งภายใน 3 เดือน นับจากกฎหมายฉบับใหม่ได้ออกมาเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 เมื่อยื่นขออนุญาต ภายใน 3 เดือน แล้ว ทางหน่วยงานผู้อนุญาต มีอำนาจในการพิจารณา อีกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งขณะนี้ ทางสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ อ.องครักษ์ ก็ได้ยื่นขอใบอนุญาต ตามกฎหมายฉบับใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ก็ต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกใบอนุญาตมาให้ แต่หากไม่ได้รับใบอนุญาต ทางสถาบันฯ ก็จะไม่สามารถจัดเก็บ สารเคมีต่างๆ 

 

ขณะที่ แถลงการณ์ ของเครือข่ายคนรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติ มีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์ ขอให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยุติการดำเนินกิจการเก็บและรักษากากกัมมันตรังสี โดยไม่มีใบอนุญาต

เครือข่ายคนรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติ

วันที่ 22 มีนาคม 2566

จากการที่เครือข่ายคนรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติและประชาชนชาวนครนายกและปทุมธานีได้เข้าไปเห็นการเก็บกากกัมมันตรังสีอย่างประจักษ์ด้วยตาตนเองเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 จึงทำให้ทราบว่ามีการเก็บรักษากากกัมมันตรังสีอยู่จริงในอาคารเก็บรักษากากกัมมันตรังสี (Radioactive Waste Storage Building) หรือ อาคาร 22 ภายในสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ขณะที่พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มาตรา 80  กำหนดว่า “ผู้ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีต้องได้รับ 1. ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี 2. ใบอนุญาตก่อสร้างสถานที่ให้บริการจัดการกาก กัมมันตรังสี และ 3. ใบอนุญาตดําเนินการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี” เครือข่ายฯ ได้เรียกร้องเสมอมาให้ทาง สทน.ได้เปิดเผยใบอนุญาตการเก็บรักษากากกัมมันตรังสี แต่ก็ไม่เคยได้แสดงให้ประชาชนได้เห็นเลยตลอด กว่า 2 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ “การผลิต มีไว้ครอบครองหรือใช้ซึ่งพลังงาน ปรมาณูจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูที่มีกำลังตั้งแต่ ๒ เมกะวัตต์ ขึ้นไป” ต้องมีการรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง หรือ EHIA นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 58 ระบุว่า “การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียส่วนใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างสำคัญอื่น รัฐต้องแร่งดำเนินการ ให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่ประชาชนชาวนครนายก ไม่เคยได้รับรู้การจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA เหล่านี้ในการจัดเก็บรักษากากกัมมันตรังสีเลย

จึงขอให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและหน่วยงานที่กำกับดูแล สทน. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งให้ประชาชนชาวนครนายกโดยเร่งด่วนและหากเป็นความจริงตามที่ระบุมานี้ขอให้สั่งยุติการเก็บรักษากากกัมมันตรังสีไว้ในอาคารดังกล่าว

เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท