Skip to main content
sharethis

โฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย แจง 10 ประเด็น 'กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท' - ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ ไม่เกี่ยวกับบริษัทเอกชน ไม่สามารถเก็งกำไรได้ ปลอดภัย-โปร่งใส สูงสุด ด้าน ปชป. ตั้งคำถาม 5 ข้อ ชี้นโยบายส่งผลเสียต่อประเทศชาติ สร้างผลประโยชน์ทับซ้อนให้คนบางกลุ่มมากกว่าประโยชน์ประชาชน 'ไพบูลย์' สับนโยบายไปตายเอาดาบหน้า เจอทางตันในสภาฯ-ศาลรธน.

10 เม.ย.2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานต่อสื่อมวลชนว่า เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และกรรมการ เลขานุการ โฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ชี้แจงเพิ่มเติม 10 ประเด็น “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ดังนี้

1. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด สามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อ

2. เหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่มีการสร้างมูลค่า ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล

3. กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีผลกระทบใดๆทั้งสิ้นต่อความมั่นคงของระบบการเงิน ไม่เกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะไม่ใช่การสร้างสกุลเงินใหม่

4. กระเป๋าเงินดิจิทัล เงิน 10,000 บาท ลงถึงมือประชาชนทุกคน (16 ปี ขึ้นไป) ทุกบาททุกสตางค์ ใช้จ่ายจริง ซื้อของได้จริง ไม่มีการสูญหายของงบประมาณ ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรมตลอดเส้นทาง

5. กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่ใช่กรณีเดียวกับ Bitcoin Luna USDT ตามมีผู้กล่าวอ้าง เหล่านั้นออกโดยเอกชนและมุ่งหมายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไป ออกโดยรัฐบาล ไม่ใช่สกุลเงินคู่ขนานกับเงินบาท

6. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ไม่เกี่ยวกับการซื้อบริษัท ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ไม่เกี่ยวกับการลงทุน เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ทั้งหมดใช้งบประมาณจากภาครัฐและโอนตรงถือมือประชาชนทุกคน (16 ปีขึ้นไป) ง่ายๆและตรงไปตรงมา

7. กระเป๋าเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาด สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย ตรงข้ามกับวิธีเดิมที่ต้องซื้อในร้านใหญ่หรือกลุ่มทุน

8. กระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย เป็นระบบที่มีความโปร่งสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม

9. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ปัจจุบันระดับกำลังซื้อของประเทศตกต่ำ เศรษฐกิจตกต่ำกว่าศักยภาพมาก สภาวะดังกล่าวไม่นำสู่เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ได้ รวมทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัล สามารถจัดสรรเงินจากงบประมาณ ไม่มีการขึ้นอัตราภาษีใดๆ

10. พรรคเพื่อไทยสนับสนุน Central Bank Digital Currency (CBDC) และเดินหน้าพัฒนาร่วมกันธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับทุกคน เพื่อยกระดับระบบการเงินของประเทศเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล

ปชป. ตั้งคำถาม 5 ข้อ ชี้นโยบายส่งผลเสียต่อประเทศชาติ สร้างผลประโยชน์ทับซ้อนให้คนบางกลุ่มมากกว่าประโยชน์ประชาชน

เกียรติ  สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 

ขณะที่ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า เกียรติ  สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงนโยบายดังกล่าว โดยตั้งคำถาม 5 ข้อ ถึงพรรคเพื่อไทย และท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อนโยบายนี้ ดังนี้

1. พรรคประชาธิปัตย์มีความเชื่อว่า พรรคการเมืองต้องออกแบบนโยบายที่มีความรับผิดชอบ และเป้าหมายเศรษฐกิจต้องชัดเจน มีที่มาที่ไปของเงิน ไม่ใช่เงินมาจากไหนยังไม่ทราบ รวมถึงอยากถามถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยว่า “การนำเสนอนโยบายแบบนี้ทำได้ไหม ควรจะมีกฎกติกาอย่างไร ไม่ใช่ใครจะพูดอะไรก็ได้..??”

“วันหนึ่งบอกว่า 5 แสนล้านบาท อีกวันบอกเอาจากงบส่วนกลาง 30% หรือ 3 หมื่นล้านบาท ทุกอย่างไม่ตรงกัน และล่าสุดทราบว่าเขาได้ไปชี้แจง กกต.แล้ว คำถามจึงอยู่ที่ กกต. ว่า พรรคการเมืองเสนอนโยบายแบบนี้ได้หรือไม่ แล้วผลกระทบเป็นอย่างไร” เกียรติ กล่าว

2. พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการนำภาษีของประชาชนไปแจกคนรวย ซึ่งใน 55 ล้านคน มีคนที่ควรช่วย 10-15 ล้านคนเท่านั้น ที่เหลืออีก 35 ล้านคน ไม่ได้ต้องการเงินช่วยเหลือ การทำแบบนี้เป็นการเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยคนที่เขามีรายได้เพียงพออยู่แล้ว จะอ้างว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะมีอีกหลายวิธีที่ทำได้ การทำแบบนี้เป็นภาระงบประมาณ สร้างหนี้อย่างมากให้ประชาชนโดยไม่จำเป็น

3. ทำไมตั้งแต่อายุ 16 ปี ซึ่งถ้าอยากจะช่วยนักเรียนนักศึกษา ให้ช่วยคนที่กู้เงิน กยศ. ดีกว่า แบบนี้เห็นด้วย แต่ไม่เห็นด้วยถ้าจะช่วยนักเรียนที่ขับรถไปเรียน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองขับรถไปรับส่ง

4. ภาษีมีจำกัด ภาระของประเทศมีเยอะ การใช้เงินทุกบาทต้องเข้าเป้า ไม่ใช่กระจายเป็นเบี้ยหัวแตก ทำไมไม่ช่วยคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือคนที่มีเงินในบัญชีไม่ถึง 1 หมื่นบาท วิธีนี้ง่ายกว่าเงินถึงมือประชาชนทันที ไม่ต้องผ่านกระเป๋าดิจิทัลให้ยุ่งยาก

5. ทำไมต้องเป็นเงินดิจิทัล หรือเป็นเพราะบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด หรือ XPG เมื่อปี 2021 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งน่าสนใจว่า XPG กำลังเริ่มเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วแสนสิริก็เข้ามาซื้อหุ้น ทั้งที่ธุรกิจของแสนสิริส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ คำถามว่าทำไมพอดีกันแบบนี้  แล้วใครจะได้ประโยชน์กันแน่ ประชาชน หรือคนในครอบครัว เราเคยเห็นภาพนายกไปเจรจา FTA ที่พ่วงธุรกิจดาวเทียมไปด้วยทุกครั้ง ทำไมต้องบังคับให้คน 80% ของประชากรต้องใช้เงินดิจิทัล คนที่จะขายเงินสกุลดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวหรือไม่ ตนก็ไม่ทราบ 

นอกจากนี้ยังพบปัญหาร้านค้าพร้อมรับเงินดิจิทัลไหม. เวลาร้านค้าไปขึ้นเงินกับขึ้นกับใครได้จำนวนเต็มหรือโดนหักเท่าไหร่ ที่สำคัญเราทราบกันดีว่าเงินดิจิทัลมีความผันผวนมากในต่างประเทศได้รับผลกระทบมากมาย ใครรับความเสี่ยง ประชาชนรับได้ไหม แต่นโยบายนี้ บริษัทสกุลเงินดิจิตอลมีแต่รวยทันที

"เราต้องเห็นประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลักก่อน ซึ่งมีหลายวิธีที่ใช้เงินน้อยแต่ได้ผลมาก แต่วิธีนี้ใช้เงินมากแต่ได้ผลน้อย รั่วไหลได้มาก" ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ

'ไพบูลย์' สับนโยบายไปตายเอาดาบหน้า เจอทางตันในสภาฯ-ศาลรธน.

 ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ไทยโพสต์รายงานความเห็นของ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต่อนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทย โดย ไพบูลย์ กล่าวว่า ตนคิดว่ามีปัญหาร้ายแรงมาก จะทำให้เกิดปัญหาในข้างหน้า ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาด้วย เพราะการเสนอในลักษณะดังกล่าวเมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงต้องมีกฎหมายรองรับ แต่ปรากฏว่าไม่มีกฎหมายรองรับ เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับจะต้องนำเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา ซึ่งการแจกเงินในลักษณะหว่านแหไปทั่วหมด ขนาดมหาเศรษฐี คนร่ำรวย คนมีงานมีการทำ มีเงินหลายแสนก็ได้เงินเหมือนกันหมด เป็นแนวทางที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในนโยบายของพรรคการเมือง

ทั้งนี้ กระบวนการที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้จะต้องเสนอกฎหมายในสภา เชื่อว่าจะได้รับการต่อต้านในสภาอย่างมาก ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเชื่อว่าวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ซึ่งหากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกฎหมายนี้จะถูกยับยั้ง หรือหากผ่านไปเรื่องก็จะถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็คิดว่าศาลจะพิจารณาว่าไม่สามารถดำเนินการได้

นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องทำความชัดเจนให้กับประชาชนก่อน การหาเสียงในลักษณะที่ไปตายเอาดาบหน้า ตนไม่เห็นด้วย จะเป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ในส่วนของ พปชร. เราเสนอเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีกฎหมายรองรับไว้ชัดเจน เป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทุกคนในสังคมมีความประสงค์ที่อยากจะยกระดับให้บุคคลเหล่านั้นมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน ดังนั้น นโยบายของ พปชร.คือ ช่วยเหลือให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน ก้าวข้ามความยากจนให้ได้ เป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายที่รองรับทั้งสิ้น ซึ่งแตกต่างกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net