Skip to main content
sharethis

ไทย-กัมพูชา บรรลุข้อตกลงการจ้างแรงงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสองประเทศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา-ไทย ว่าตามที่ได้รับรายงานจาก นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุมร่วมกับ ดร.เส็ง ศักดา (H.E.Seng Sakda) อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ที่โรงแรมอังกอร์พาราไดซ์ จ.เสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 19-21 เมษายน 2566 ซึ่งภายหลังการประชุมดังกล่าวทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ การออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย แรงงานกัมพูชาสามารถเดินทางไปทำเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ พระตะบอง และบันเตียเมียนเจย กรณีแรงงานกัมพูชาไม่มีเอกสารเดินทาง สามารถขอเอกสารข้ามแดนได้ที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำราชอาณาจักรไทย เพื่อเดินทางไปกัมพูชาเพื่อขอบัตรแรงงานกัมพูชาในต่างแดน (Overseas Cambodia Worker Card : OCWC) และเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services ได้ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะแจ้งข้อมูลของแรงงานกัมพูชาที่จำเป็นต้องจัดทำเอกสาร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลเพื่อพิจารณาออกเอกสารเดินทาง (TD) ฉบับใหม่

นายสุชาติยังกล่าวถึงรายงานผลการประชุมวิชาการว่า สำหรับการปรับปรุงแก้ไขเอ็มโอยูว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชานั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้การตรวจสุขภาพในประเทศต้นทางต้องกำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศผู้รับ โดยแรงงานจะต้องตรวจสุขภาพจากประเทศต้นทางก่อนที่แรงงานจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย สำหรับการแก้ไขบทเฉพาะกาล ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ประเทศผู้รับสามารถปรับขั้นตอนการบริหารจัดการแรงงานโดยเน้นที่การคุ้มครองสิทธิ และประโยชน์ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดที่กระทบต่อนโยบายและประสิทธิภาพในการจัดส่งแรงงานในส่วนของการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนแรงงานกัมพูชา (Cambodian Migrant Workers Supporting Center) ในประเทศไทย ฝ่ายไทยรับทราบและจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนการเสนอให้ใช้ระบบการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งและรับแรงงานกัมพูชาตาม MOU ผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ฝ่ายไทยเห็นด้วยในหลักการในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ ในประเด็นอื่นๆ ฝ่ายกัมพูชาจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้แรงงานกัมพูชาสามารถเข้ามาทำงานในฤดูเก็บเกี่ยวในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร

ด้านนายไพโรจน์กล่าวว่า ผลจากการประชุมระดับวิชาการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในครั้งนี้ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนต่างๆ แก่แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ได้รับการดูแลคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสากล อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง/ผู้ประกอบการในประเทศไทย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และที่สำคัญจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศอีกด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/4/2566

ก.แรงงาน ห่วงแรงงานไทยในซูดาน เผชิญความไม่สงบ จ่อให้ความช่วยเหลือหากมีเหตุฉุกเฉิน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มีความห่วงใยคนไทยและแรงงานไทยที่พำนักในซูดาน หลังสถานการณ์ความไม่สงบในซูดานจากการปะทะกันระหว่างกองทัพซูดานกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ Rapid Support Forces (RSF) ในกรุงคาร์ทูม และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ขอให้พี่น้องแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศซูดานเฝ้าระวัง ไม่ออกนอกเคหสถาน ติดตามสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างทันท่วงที หากมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นต้องอพยพกลับประเทศไทยก็ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ กต.อย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือของกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้มีเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อน กรณีคนงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนและประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน เนื่องจากภัยสงคราม หรือปัญหาความไม่สงบหรือจากภัยธรรมชาติหรือเกิดโรคระบาด ซึ่งทางการของประเทศนั้นๆ ประกาศกำหนดแล้ว ในการไปทำงานในต่างประเทศตามขั้นตอนของกฎหมายอีกด้วย

นายสุชาติกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ เดือนมีนาคม 2566 คาดว่าปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ยังคงทำงานอยู่ในประเทศสาธารณรัฐซูดาน จำนวน 6 คน เป็นชายทั้งหมด ในจำนวนนี้ไปทำงานเป็นพนักงานขับรถเครน 3 คน ควบคุมเครื่องจักร 1 คน ช่างซ่อมบำรุง 1 คน และช่างไฟฟ้าทั่วไป 1 คน สมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 3 คน และไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก 3 คน

ทั้งนี้ คนไทยและแรงงานไทยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางการสื่อสารที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนด หมายเลขฉุกเฉิน (09-6165-7120, 09-6352-0513, 09-6352-9015) รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้เปิดช่องทางการติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือที่หมายเลข +201 0194-01243 หรืออีเมล์ consular.cai@mfa.go.th

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/4/2566

ไทย-กัมพูชา เปิดโต๊ะถกความร่วมมือ “แรงงาน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2 ประเทศ

20 เม.ย. 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน นำคณะผู้แทนฝ่ายไทย เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา-ไทย กับ นายเส็ง ศักดา (H.E.Seng Sakda) อธิบดีกรมแรงงานและฝึกอาชีพ กระทรวงแรงงาน แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการกัมพูชา เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือและข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานกัมพูชามาทำงานในประเทศไทย โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมโรงแรมอังกอร์ พาราไดซ์ จ.เสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา

นายไพโรจน์กล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา-ไทยในครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เสนอประเด็นต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องการออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย ซึ่งในเรื่องนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยขยายระยะเวลาการยื่นเอกสารประจำตัวถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 และในกรณีที่ทางการกัมพูชาประสงค์ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเพื่อออกเอกสารประจำตัวให้แก่คนต่างด้าวให้มีหนังสือร้องขอผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยมีระยะเวลาดำเนินการจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 มีแรงงานกัมพูชาดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวนทั้งสิ้น 265,000 ราย ในจำนวนนี้ มีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีเอกสารประจำตัว โดยฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายกัมพูชาเร่งรัดการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดเก็บข้อมูลแรงงาน การออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชา เพื่อให้แรงงานสามารถมีเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 และได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ

นายไพโรจน์กล่าวว่า ฝ่ายไทยยังได้เสนอเรื่องการปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในประเด็นการกำหนดให้ตรวจประวัติอาชญากรรมและการตรวจสุขภาพในประเทศต้นทางก่อนที่แรงงานจะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย และบทเฉพาะกาลที่ฝ่ายไทยเสนอเพิ่มเติมเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อนโยบายและประสิทธิภาพในการจัดส่งแรงงานของทั้งสองประเทศ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางปกติได้ และหากอนาคตเกิดวิกฤตการณ์ที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการจัดส่งแรงงานมีข้อขัดข้อง จึงเสนอให้เพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อที่จะได้บริหารจัดการได้ทันท่วงที

“ผลจากการประชุมระดับวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือและข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนแก่แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ได้รับการดูแลคุ้มครองตามมาตรฐานสากล อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง/ผู้ประกอบการในประเทศไทย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศอีกด้วย” นายไพโรจน์กล่าว

ขณะที่นายเส็งกล่าวว่า ได้เสนอเรื่องการปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา การแจ้งข้อมูลให้ฝ่ายกัมพูชาทราบ กรณีแรงงานได้รับการขยายระยะเวลาสัญญาจ้างงานอีก 2 ปี การจัดตั้งศูนย์สนับสนุนแรงงานกัมพูชา (Cambodian Migrant Workers Supporting Center) ในประเทศไทย โดยฝ่ายกัมพูชามีความประสงค์ที่จะจัดตั้งศูนย์สนับสนุนแรงงานกัมพูชาขึ้นในประเทศไทยซึ่งในเรื่องนี้ฝ่ายไทยจะนำประเด็นไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้ของการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว และการเสนอให้ใช้ระบบการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งและรับแรงงานกัมพูชาตาม MOU ผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย

“กัมพูชาและไทยมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลไทยได้ดูแลแรงงานกัมพูชาที่ไปทำงานในประเทศไทย เนื่องจากขณะนั้นแรงงานได้รับผลกระทบจึงต้องเดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมาก และทางการไทยได้อำนวยความสะดวกดูแลเพื่อให้แรงงานกัมพูชาได้กักตัวตามมาตรการสาธารณสุข ทั้งก่อนและหลังเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งการตรวจคัดกรองโควิดและฉีดวัคซีนให้แรงงานกัมพูชาที่ไปทำงานในประเทศด้วย ซึ่งทางการกัมพูชาต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานที่ดูแลแรงงานกัมพูชาเป็นอย่างดี” นายเส็งกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/4/2566

แรงงานไทยในมาเลย์แห่กลับข้ามแดนฉลองรายอ

จากการตระเวนตรวจสอบที่บริเวณด่านพรมแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามเมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย พบว่าตั้งแต่ในช่วงเช้าที่ผ่านมา มีชาวไทยมุสลิมที่มีภูมิลำเนาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่เดินทางข้ามแดนไปขายแรงงานยังเมืองต่างๆ ของรัฐกลันตัน ได้ทยอยเดินทางข้ามแดน เพื่อมาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลรายออีดิ้ลฟิตรี ทำให้บรรยากาศที่บริเวณด่านพรมแดน อ.สุไหงโก-ลก เนืองแน่นไปด้วยฝูงชนที่ยืนต่อคิวในการประทับตราหนังสือเดินทางเข้าประเทศ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/4/2566

นายจ้างฮ่องกงเจรจาไทย ดึงแรงงานดูแลผู้สูงอายุ-ช่าง-วิศกร ป้อนธุรกิจ

19 เม.ย. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายอัลกิ้น-เช้ง ไหว่ ก๊อง ประธานสภาองค์การนายจ้างฮ่องกง และนายจาตุรนต์ ไชยะคำ กงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง พร้อมด้วยคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและหารือแนวทางการขยายตลาดแรงงานทักษะไทยไปทำงานฮ่องกงป้อนภาคธุรกิจที่มีแผนการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจนเยี่ยมชมการฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน และวิทยาลัยการแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

รมว.แรงงาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ตนและคณะได้เดินทางไปเยือนฮ่องกงอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และได้หารือประเด็นการขยายตลาดแรงงานไทยในฮ่องกง ซึ่งสมาพันธ์นายจ้างฮ่องกงยินดีต่อความร่วมมือระหว่างไทยกับฮ่องกง ในวันนี้สมาพันธ์นายจ้างฮ่องกงจึงได้มาเยี่ยมคารวะและหารือในประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือการนำเข้าแรงงานไทยกึ่งทักษะฝีมือ ที่ฮ่องกงมีความต้องการ อาทิ ตำแหน่งผู้บริบาลผู้สูงอายุ ช่าง และวิศกร เป็นต้น

ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันผลักดันการลดขั้นตอนและกระบวนการนำเข้าแรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของอุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงาน รวมทั้งการนำเข้าแรงงานที่มีทักษะสูงจากประเทศไทย เช่น นายจ้าง AH NGAU ENGINEERING LTD. ขออนุญาตจัดส่งแรงงานช่างเชื่อมท่อแรงดันสูงมาทำงานในฮ่องกงที่โรงไฟฟ้า Black Point Station Hong Kong ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงใน Lung Kwu Tan เขต New Territories ดำเนินการโดยบริษัท CLP Group (China Light and Power) ซึ่งโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และบริษัทดังกล่าวเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาพันธ์นายจ้างฮ่องกง

ตลอดจนการขยายฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อรองรับความต้องการและความผันผวนในตลาดโลก อาทิ บริษัท KGK ซึ่งเป็นบริษัทท็อป 5 ในการผลิตจิวเวอรี่ส่งออกทั่วโลก ได้ตัดสินใจขยายฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อการส่งออก โดยมีความต้องการฝึกทักษะแรงงานที่มีทักษะสูง

ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวในลักษณะประชารัฐ โดยมีกระทรวงแรงงาน สภาอาชีวศึกษา วิทยาลัยช่างทองหลวง และ บริษัท KGK ร่วมมือกันดำเนินโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล และยังมีหน่วยงาน Talent Connect ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาผู้มีความสามารถด้านการจัดการและการทำงานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เข้ามาร่วมหารือและพร้อมสนับสนุนการจัดหาคนและพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของนายจ้างในฮ่องกงด้วย

โอกาสเดียวกันนี้ รมว.แรงงาน ยังได้นำประธานสภาองค์การนายจ้างฮ่องกงและคณะ เยี่ยมชมการฝึกอบรมหลักสูตรการยกระดับฝีมือแรงงาน สาขาการประกอบอาหารไทย อาหารจานเดียว และสาขานวดหินร้อน ระยะเวลาการฝึกหลักสูตร 30 ชั่วโมง ที่วิทยาลัยการแรงงาน กระทรวงแรงงาน

โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีความพร้อมและมีศักยภาพทั้งหลักสูตร เครื่องมือ รวมทั้งมีศูนย์ฝึกเป็นสถานที่รองรับการฝึกอบรมทักษะฝีมือ up-skill/re-skill และพัฒนาทักษะด้านภาษา ตลอดจนมีสถานทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาต่าง ๆ ตามความต้องการของนายจ้างอีกด้วย

“ผลจากการที่สมาพันธ์นายจ้างฮ่องกงได้มาเยือนประเทศไทยและเยี่ยมชมการฝึกยกระดับทักษะแรงงานไทยในครั้งนี้ จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้กระชับความร่วมมือกับฮ่องกงให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ไทยได้แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมในการฝึกยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยก่อนจัดส่งไปทำงานในฮ่องกงตามที่นายจ้างต้องการ เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสไปทำงานในฮ่องกงเพิ่มมากขึ้น คนไทยได้มีงานทำ มีโอกาสพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้น และนำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย” รมว.แรงงาน กล่าว

ด้านประธานสภาองค์การนายจ้างฮ่องกงกล่าวว่า มีความพึงพอใจกับการได้เดินทางมาเยี่ยมชมการฝึกอบรมหลักสูตรการยกระดับฝีมือแรงงาน และต้องขอชื่นชมในความพร้อมทั้งหลักสูตร สถานที่ เครื่องมือ และบุคลากรของไทยที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะแรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือโดดเด่น

สมาพันธ์นายจ้างฮ่องกงมีความต้องการหลายสาขา อาทิเช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงสาขาช่างต่าง ๆ เนื่องจากขณะนี้ฮ่องกงกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ และกำลังขยายฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรม

“แรงงานไทยเป็นเป้าหมายหนึ่งที่นายจ้างฮ่องกงต้องการ ผมมั่นใจว่าผลจากการเจรจาในวันนี้ จะเกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งลักษณะดังกล่าวถือเป็นสถานการณ์ที่ win-win ทั้งคู่ ทำให้แรงงานไทยได้มาทำงานในฮ่องกงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็จะส่งผลดีกับบริษัทในฮ่องกงที่สามารถจ้างงานทำให้ธุรกิจเติบโต ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไป”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/4/2566

มีผลแล้ว พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่ หนุน WFH ลูกจ้างปฏิเสธหลังเวลางานได้

18 เม.ย. 2566 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8 พ.ศ.2566 ได้ประกาศใช้แล้วในวันนี้ หลังได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 19 มี.ค. 2566

ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ สนับสนุนการทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม มีสาระสำคัญให้นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างนำงานในทางการที่จ้างที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบการหรือนอกสำนักงานของนายจ้าง ไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ ได้

โดยลูกจ้างและนายจ้างอาจตกลงในรายละเอียด เช่น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา การลา ขอบเขตหน้าที่ของลูกจ้าง การกำกับควบคุมของนายจ้าง ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็น อันเนื่องจากการทำงาน

ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าทางใดๆ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน

ลูกจ้างซึ่งทำงานที่บ้าน หรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ มีสิทธิและอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานต่างๆ เช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการหรือสำนักงานของนายจ้างด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 18/4/2023

ขาดแคลนแรงงานพุ่งกว่า 3 แสนคนหลังท่องเที่ยวฟื้น “ส.อ.ท.” แนะรัฐเร่งแก้

ส.อ.ท.เผยไทยยังคงขาดแคลนแรงงานกว่า 3 แสนคนหลังท่องเที่ยวฟื้นตัวหนุนเศรษฐกิจกลับมาเติบโต ทำให้ความต้องการแรงงานทั้งท่องเที่ยวบริการ อุตสาหกรรม และก่อสร้างต้องการเพิ่มขึ้น แนะรัฐเร่งแก้ไขความล่าช้าการนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU เพื่อลดแรงงานผิดกฎหมายทะลักเข้ามา รวมถึงหนุนทำให้แรงงานที่ผิดกฎหมายถูกกฎหมาย ส่งสัญญาณค้านการเมืองทั้งการหาเสียงหรือรัฐบาลใหม่ไม่แทรกแซงขึ้นค่าจ้าง

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายแรงงาน เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่ยังคงเติบโตมาจากการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยราว 25-30 ล้านคน ทำให้ภาคอุตสาหกรรม บริการ ที่เกี่ยวข้องมีการเติบโตตาม ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวบริการ อุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 3 แสนคนและหากยังไม่ได้รับการแก้ไขแนวโน้มจะขาดแคลนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ส.อ.ท.จึงสนับสนุนรัฐบาลที่จะมีการจัดหาแรงงาน จากประเทศเพื่อนบ้าน (แรงงานต่างด้าว) เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายที่อยู่ในไทยปัจจุบันกลับมาถูกกฎหมาย

“ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทยมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้แรงงานในระบบทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนถูกเลิกจ้างเพราะธุรกิจหลายอย่างทยอยล้มโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ แรงงานเหล่านี้จึงต้องกลับภูมิลำเนา ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวแรงงานบางส่วนกลับมาแต่บางส่วนก็ไม่ได้กลับเพราะเปลี่ยนอาชีพไปแล้ว” นายสุชาติกล่าว

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่างานประเภท 3D ได้แก่ สกปรก หรือ Dirty, อันตราย หรือ Dangerous และงานที่มีลักษณะยากไม่มีเกียรติ หรือ Difficult คนไทยจะไม่ทำส่งผลให้ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวมาอย่างต่อเนื่องและเมื่อเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวจึงทำให้ความต้องการแรงงานเหล่านี้กลับมาเพิ่มขึ้น แต่การนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านภายใต้มาตรการ MOU ของไทย สัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านมายังคงต้องใช้เวลาพอสมควร รัฐบาลไทยจำเป็นต้องปรับปรุงและประสานกับประเทศต้นทางที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น

ปัญหาความล่าช้าในขั้นตอนการนำเข้าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาแรงงานผิดกฎหมายยังคงทะลักเข้ามาทำให้ปัจจุบันคาดว่าแรงงานผิดกฎหมายมีประมาณ 5.5 แสนคน ซึ่งกระทรวงแรงงานพยายามที่จะพิจารณาทำให้แรงงานที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ไม่ว่าจะด้วยการลักลอบเข้ามา หรืออยู่เกินเวลาที่กำหนด กลับมาให้ถูกกฎหมาย ซึ่ง ส.อ.ท.สนับสนุนมาตรการดังกล่าวเพื่อให้สามารถใช้แรงงานเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอันจะเป็นการสร้างความมั่นคงต่อประเทศชาติและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

"ส.อ.ท.เองสนับสนุนแนวนโยบายของกระทรวงแรงงานที่จะทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายขณะนี้ถูกกฎหมาย และทำอย่างไรที่จะนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้มีมากและเร็วกว่านี้ นอกเหนือจากประเทศที่มีการลงนาม MOU ในการนำเข้าแล้วน่าจะมองเพิ่มเติมไปยังประเทศอื่นๆ อีก" นายสุชาติกล่าว

สำหรับกรณีที่ขณะนี้พรรคการเมืองต่างๆ กำลังหาเสียงเลือกตั้งและมีการนำประเด็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาหาเสียงนั้น นายสุชาติกล่าวว่า ส.อ.ท.ยืนยันจุดยืนเสมอว่าการเมืองไม่ควรที่จะมาแทรกแซงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ว่าจะเป็นช่วงระหว่างหาเสียงหรือแม้กระทั่งเวลาได้จัดตั้งรัฐบาลมาบริหารประเทศแล้วก็ตาม เพราะการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอยู่แล้ว และภายใต้มาตรา 87 เองได้กำหนดให้การพิจารณาค่าจ้างเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง พิจารณา เพราะหากบิดเบือนย่อมกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 16/4/2566

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net