‘4 ผู้ลี้ภัยคดี ม.112’ มองจุดยืนพรรคการเมืองเรื่อง ม.112 อย่างไร ชวนสำรวจหลากเฉดความคิดของผู้ลี้ภัยการเมืองจากหลายมุมของโลก ได้แก่ ใจ อึ๊งภากรณ์ จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จรรยา ยิ้มประเสริฐ จากฟินแลนด์ กฤษฎา เอเค่น จากแคนาดา และ ตั้ง-อาชีวะ จากนิวซีแลนด์
น่าผิดหวัง ประนีประนอมเกินไป
“มันเป็นกฎหมายของเผด็จการ คุณจะแก้แค่ไหนมันก็ไม่ดีขึ้นหรอก”
ใจ อึ๊งภากรณ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองคดี ม.112 จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแก้ไขหรือยกเลิก 112 ของพรรคการเมืองในรายการของจอม เพชรประดับ ออกอากาศทางยูทูบช่อง @jomvoicechannel เมื่อ 24 มี.ค. 66
ภาพจากวิดีโอรายการผู้ลี้ภัยการเมืองมอง“การเลือกตั้งปี 66” อย่างไร..?
ออกอากาศทางยูทูบช่อง @jomvoicechannel
ขณะที่กฤษฎา เอเค่น ผู้ลี้ภัยการเมืองคดี ม.112 จากประเทศแคนาดา พูดถึงข้อเสนอแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกลว่า “น่าผิดหวัง” และคิดว่าเป็นความพยายามจะประนีประนอมระหว่างเสียงเรียกร้องของประชาชนกับผู้มีอำนาจ ไม่ได้มีการที่จะแก้ไขถึงใจกลางของปัญหาจริง ๆ
“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีเยาวชนออกมาประท้วง ตรงนี้เนี่ยแหละ ถ้าให้เหตุว่าต้องรอบริบท นี่แหละคือจังหวะ ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วจะเป็นตอนไหนที่จะเสนอยกเลิก ม.112” กฤษฎากล่าวถึงเหตุผลที่พรรคการเมืองมักอ้างบริบทว่าสังคมไทยยังไม่พร้อม
ส่วนประเด็นที่อีกฝั่งมักบอกว่า “การยกเลิก 112 เป็นเรื่องสุดขั้ว”
ใจ มองว่าสังคมไทยเวลานี้เป็นสังคมที่สุดขั้วอยู่แล้ว พวกอนุรักษ์นิยมมันทำให้สังคมไทยสุดขั้ว สุดขั้วในแง่ของการที่คนหนุ่มสาวหรือประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะแล้วถูกจับเข้าคุก อันนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องสุดขั้วถ้าเทียบมาตรฐานสากล
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Giles Ji Ungpakorn
ขณะที่กฤษฎาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ระบุว่า เรื่องนี้ว่าอยู่ที่ใช้มาตรฐานไหนในการมอง ถ้าใช้มาตรฐานไทยก็อาจจะใช่ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นเป็นเรื่องทั่วไปมาก ไม่ว่าจะเรื่อง ม.112 ให้สัตยาบรรณศาลไอซีซี หรือรัฐสวัสดิการ พรรคการเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทั้งหมดก็คงมีความเห็นว่ามาตรานี้ไม่ควรมีอยู่ แล้วยังพูดต่อไปถึงเรื่องการยุบพรรคว่าไม่ว่าจะไทยรักไทยมาจนถึงเพื่อไทยหรืออนาคตใหม่ต่อให้คุณไม่เสนอเรื่อง ม.112 ถ้าผู้มีอำนาจต้องการจะยุบเขาก็ยุบพรรคคุณอยู่ดี
ข้อเสนอก้าวไกลพอไหว ส่วนเพื่อไทยยังไม่ชัด
ด้านจรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ลี้ภัยการเมืองคดี ม.112 จากประเทศฟินแลนด์ พูดถึงเรื่อง ม.112 และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่า
“เราไม่แตะเรื่องของสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ เราไม่พยายามผลักดันข้อเสนอ 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของเยาวชนไม่ได้” จรรยา เห็นว่าต้องยกเลิก ม.112
ที่มา: เฟซบุ๊ก Junya Yimprasert
“สิ่งที่มันศักดิ์สิทธิ์กว่ารัฐธรรมนูญในประเทศไทยคือ ม.112 สิ่งที่ทำให้เราลดทอนอำนาจประชาชนไปเรื่อย ๆ ความเท่าเทียมกันในสังคมเกิดขึ้นไม่ได้ก็เพราะมาตรานี้ คุณไม่พูดเลยได้ยังไงไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่แล้วที่ต้องผลักดัน”
จรรยา กล่าวเพิ่มเติมถึงพรรคการเมืองว่า เป็นเรื่องที่ต้องมีการผลักดัน หลาย ๆ พรรคตอนนี้เรามีพรรคที่บอกว่าแก้ ม.112 พรรคสามัญชน พรรคก้าวไกลมี เราเคยเปิด(ข้อเสนอแก้ไขของก้าวไกล)ให้เห็นแล้วว่ามีผังในเรื่องของการแก้ ม.112 ทำได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นผังที่ยังพอรับได้ พรรคเพื่อไทยยังไม่มีเรื่องนี้ ยังอ้ำๆ อึ้งๆ ยังบอกว่าให้เป็นเรื่องของกลไกของรัฐสภาอยู่ อันนั้นก็แน่นอนประเทศนี้คุณจะแก้ไขอะไรก็เป็นกลไกรัฐสภา แต่ถ้าคุณเป็นรัฐบาลแล้วคุณไม่มีนโยบายตรงนี้ให้เป็นกลไกรัฐสภาสภาเนี่ย ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเรียกร้องหรือว่ากล้าหาญมากกว่านี้ได้ไหม
ยังเชียร์เพื่อไทย แม้จุดยืน ม.112 กำกวม
ขณะที่ เอกภพ เหลือรา หรือ ตั้ง-อาชีวะ ผู้ลี้ภัยการเมืองคดี ม.112 จากประเทศนิวซีแลนด์ แสดงจุดยืนว่า เห็นด้วยเรื่องยกเลิก 100% การยกเลิกกฎหมายนี้ หรือว่าการแก้ไขถือว่าเห็นด้วยเพราะว่าโทษยังสูงเกินไป แล้วการตีความค่อนข้างตีความได้กำกวม
เอกภพ เหลือรา หรือ ตั้ง-อาชีวะ
เขากล่าวถึงพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยว่า แม้เขาจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ใช้อุดมการณ์นำ ใช้อุดมการณ์ความแน่วแน่ของของตัวผู้สมัครในหลาย ๆ คน เป็นตัวแฟลคชิปเลยว่าจะต้องมีการแก้ไข ม.112
ตั้ง อาชีวะกล่าวถึงจุดยืนการแก้ ม.112 ของพรรคเพื่อไทย ระบุว่าตัวเขาเองโดนคดี ม.112 ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วเห็นท่าทีของรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจนของในเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่อง ม.112 คือเขาจะไปเน้นในเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า
“คือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่อ้างฝั่งประชาธิปไตย อย่างน้อยเนี่ยเขาต้องมีจุดยืนแสดงแสดงสักนิดนึงนะครับว่ากฎหมายตรงเนี้ยมันมีปัญหาอยู่นะ” ตั้ง อาชีวะกล่าว
พร้อมกันนี้ยังได้แสดงความเห็นต่อข้อโจมตีของฝั่งอนุรักษ์นิยมที่พยายามบอกว่าคนดีๆ ก็ไม่เห็นโดน ม.112 มีแต่ฝั่งสามกีบที่พอโดนคดี ม.112 แล้วอยากจะแก้ไข เพราะฉะนั้น ม.112 จึงไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นพวกสามกีบเองต่างหากที่ทำให้เป็นปัญหา
“แม้แต่กระทั่งนิวซีแลนด์ก็เป็นประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์นะครับแต่ในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเนี่ยหรือแม้แต่กระทั่งการล้อเลียน การพูดถึงก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกติมากนะครับ แล้วก็ไม่มีใครมาฟ้องกันมั่วๆ ด้วย”
เขายืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องปกติของโลกประชาธิปไตย แล้วก็เป็นสิทธิที่พึงทำได้
ข้อเสนอไทยภักดี = ภัยต่อประชาธิปไตย
ตั้ง อาชีวะกล่าวถึงการเสนอให้แก้ไขม.112 เพิ่มความคุ้มครองสถาบันฯ ของพรรคไทยภักดี ระบุว่าเขาไม่เห็นด้วยกับในสิ่งที่ฝั่งขวาจารีตนิยมที่มาพยายามจะเพิ่มโทษหรือแม้กระทั่งพยายามจะขยายกฎหมายให้มันไปครอบคลุมถึงพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ รวมถึงคำว่าสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะไปรวมกับอดีตกษัตริย์ที่สวรรตคตไปแล้วด้วย ซึ่งเขามองว่าหากคนเหล่านี้มีปากมีเสียงในสภาจะยิ่งเป็นภัยต่อฝั่งประชาธิปไตย
นอกจากนี้ เขาขอบคุณคนรุ่นใหม่และพรรคการเมืองที่พยายามจะเสนอการแก้ไข ม.112 อีกครั้ง
ส่วนตัวเขานั้นลี้ภัยแล้ว ไม่หวังกลับไทย แต่แค่ไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้กับใครอีกในอนาคต