Skip to main content
sharethis

กกต. แจงพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน​ 4 ล้านฉบับเป็นเหตุผลด้านเทคนิค สำรองเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกหน่วย - ส่วนกรณีไม่มีการติดตั้งเครื่องติดตาม GPS บนหีบบัตร เพราะเห็นว่าระบบของไปรษณีย์ไทยน่าจะเพียงพอแล้ว

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 สื่อหลายสำนักอาทิ Voice online และ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่าสืบเนื่องจากกรณีข้อสงสัยในการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือก​ (กกต.) ระบุว่าการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินนั้นพิมพ์ในลักษณะนี้ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ในปีนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง กว่า 52 ล้านคน แต่ที่ กกต. จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งมากถึง 57 ล้านใบ คือ เกินมา 4 ล้านใบ เป็นเหตุผลด้านเทคนิค 

1. กกต. นำจ่ายบัตรเลือกตั้งเป็นเล่ม ไม่ได้เป็นฉบับ โดยเล่มสุดท้ายจะเป็นการสำรองให้กับทุกหน่วยเลือกตั้ง ทั้ง 95,000 หน่วย โดยบางหน่วยอาจจะใช้บัตรเลือกตั้งสำรอง 1-2 ฉบับ แต่ก็จะถือว่าเสียไปแล้วทั้งเล่ม ซึ่งสำรองในส่วนนี้ 2 ล้านฉบับ ​ 

2. เป็นบัตรเลือกตั้งสำหรับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่วันเลือกตั้งสามารถเพิ่มชื่อลงคะแนนได้ที่หน่วยที่ตนเองปฏิบัติภารกิจซึ่งมี 10 กว่าคนต่อหน่วย ทั้ง 95,000 หน่วย รวมแล้วอีก 2 ล้านฉบับ 

3. ส่วนอีกประมาณ 1 ล้านฉบับ ก็จะเป็นการสำรองในลักษณะเดียวกันกับการจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีถึง 400​ เขตเลือกตั้ง เช่นเดียวกันกับการสำรองบัตรเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่อยู่ในบางพื้นที่ ที่ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ ยกตัวอย่างเช่นประเทศซูดาน ซึ่งมีคนไทยได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวน 94 คน กกต.ได้ส่งบัตรเลือกตั้งไปให้ 100 ใบ เมื่อไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งในประเทศนั้นได้ บัตรเลือกตั้งก็ไม่ได้ถูกส่งกลับมาที่ไทย ก็จะต้องใช้บัตรสำรองที่ กกต.จัดเตรียมไว้ให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ต้องเดินทางกลับไทย นี่คือ เรื่องการบริหารจัดการเพื่อที่จะไม่ให้การเลือกตั้งมีปัญหาและอุปสรรค ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

นายแสวงยืนยันว่า กกต. มีมาตรการในการดูแลบัตรเลือกตั้ง โดยมีกระบวนการที่สามารถตรวจสอบได้ว่าบัตรเลือกตั้งถูกใช้ไปเท่าไหร่ ขอให้ทุกคนสบายใจ และไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้

ส่วนกรณีไม่มีการติดตั้งเครื่องติดตาม GPS บนหีบบัตร จะมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยในการขนส่งและเก็บรักษาหีบบัตรหรือไม่ นายแสวงตอบว่าความจริงแล้ว มีกระบวนการ ทางไปรษณีย์ มีสายรัดหีบและหมายเลขที่ระบุชัดเจน รวมทั้งการเซ็นต์รับมอบทุกขั้นตอนอยู่แล้ว คิดว่าระบบเพียงเท่านี้ ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการเลือกตั้งแล้ว 

เมื่อถามว่าจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในการรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าหรือไม่ ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ชี้แจงว่า รถที่ขนส่งเข้ามาในศูนย์คัดแยก จะถูกสังเกตการณ์ด้วยกล้องวงจรปิด 21 ตัว ผู้ที่จะงเข้าพื้นที่ได้ต้องได้รับการอนุมัติจาก กกต. ช่องทางเข้าออกมีเพียงทางเดียวเท่านั้น และต้องใช้การแสกนใบหน้า ซึ่งสามารถติดตามวิธีการทำงานให้ทุกคนเห็น ยืนยันทุกอย่างเป็นไปด้วยความโปร่งใส ชัดเจน

เมื่อถามถึงความจำเป็นต้องมีการติด GPS บนทุกหีบบัตร ดนันท์ กล่าวว่า รถขนส่งบัตรทุกคันมีการติด GPS ทั้งหมด ทุกหีบบัตรเลือกตั้งที่ขนส่งเข้ามาในรถ ผ่านการตรวจนับโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของ กกต. ตำรวจ และไปรษณีย์ไทย ก่อนขนขึ้นรถต้องถูกผนึกด้วยสายรัดหีบบัตรทุกช่องทาง สายรัดมีการลงรหัสหมายเลขชัดเจน ซึ่งต้องตรงกับรหัสของรถ อาจจะมีการเปิดรถเพื่อนำหีบบัตรออกมา ต้องมีการตรวจนับทั้งหมดโดยเจ้าหน้าที่ กกต. อยู่รับมอบทุกพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net