Skip to main content
sharethis
  • นิด้าโพลเผยผลสำรวจเลือกตั้ง 66 ครั้งที่ 3 ถาม 2,500 คน พบความนิยมแคนดิเดตนายก 'พิธา' แซง 'แพทองธาร' ส่วนความนิยมพรรคอันดับแรกยังเป็น 'เพื่อไทย' ทั้งปาร์ตี้ลิสต์และเขต
  • 'พิธา’ ย้ำโค้งสุดท้าย ฝ่าการเมืองสาดโคลนด้วยการเมืองแห่งความหวัง ชัยชนะของก้าวไกลจะพาสังคมไทยออกจากอดีตไปสู่อนาคต

3 พ.ค. 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 3” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-28 เม.ย. 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,500 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 3 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 35.44 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 2 ร้อยละ 29.20 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 14.84 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 6.76 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 5 ร้อยละ 3.00 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 6 ร้อยละ 2.48 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) อันดับ 7 ร้อยละ 1.80 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) อันดับ 8 ร้อยละ 1.68 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) อันดับ 9 ร้อยละ 1.36 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) อันดับ 10 ร้อยละ 1.32 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) และร้อยละ 2.12 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) และไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2 เดือน เม.ย. 2566 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า น.ส.แพทองธาร (อิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) และยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) และนายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 38.32 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 33.96 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 12.08 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 4.28 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 2.92 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 6 ร้อยละ 1.68 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 7 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.56 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 9 ร้อยละ 1.24 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 10 ร้อยละ 1.00 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า และร้อยละ 1.36 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคไทยภักดี พรรคกล้า พรรคเทิดไท พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคเศรษฐกิจไทย พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคประชากรไทย

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2 เดือน เม.ย. 2566 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติพัฒนากล้า และยังไม่ตัดสินใจ มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า พรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.92 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 35.36 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 12.84 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 3.32 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 2.36 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 6 ร้อยละ 1.68 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย อันดับ 7 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.28 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 9 ร้อยละ 1.24 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 10 ร้อยละ 1.00 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า และร้อยละ 1.40 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยภักดี พรรคประชาชาติ พรรคกล้า พรรคเทิดไท พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคเศรษฐกิจไทย และพรรคพลังสังคมใหม่

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2 เดือน เม.ย. 2566 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติพัฒนากล้า และยังไม่ตัดสินใจ มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า พรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.56 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.56 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.96 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.48 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.72 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.72 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.08 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.92 เป็นเพศหญิง

'พิธา’ ย้ำโค้งสุดท้าย ฝ่าการเมืองสาดโคลนด้วยการเมืองแห่งความหวัง ชัยชนะของก้าวไกลจะพาสังคมไทยออกจากอดีตไปสู่อนาคต

ขณะที่ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่สนับสนุน เชื่อว่าความนิยมในพรรคก้าวไกลที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง มาจากจุดยืนของเราที่ ‘ชัดและพร้อม’ กล่าวคือชัดในจุดยืน ‘มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง’ ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคทหารจำแลง ไม่ว่าประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือประวิตร วงษ์สุวรรณ และความพร้อมในการเป็นรัฐบาล จากการเสนอ 300 นโยบายพร้อมแผนงานขับเคลื่อนให้เป็นจริงภายใน 100 วัน ภายในหนึ่งปี และภายในหนึ่งสมัย เชื่อว่าทั้งสองเหตุผลนี้ ทำให้ประชาชนเห็นถึงความมุ่งมั่น ความตรงไปตรงมา และความใส่ใจในปัญหา จนเกิดความมั่นใจว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด ในการเป็นรัฐบาล ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เปลี่ยนประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิม การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต

พิธากล่าวต่อว่า แม้โพลเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง สิ่งที่สำคัญกว่าคือการพบปะประชาชนที่เวทีปราศรัยในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยให้มากที่สุด โดยในช่วงโค้งสุดท้าย พรรคก้าวไกลจะสู้อย่างเต็มที่ แม้รู้ว่าการเมืองแบบเก่าพยายามสาดโคลนสกปรก เล่นวิชามารใส่เรา อย่างที่เขาเคยทำกับพรรคอนาคตใหม่ แต่พรรคก้าวไกลยืนยันจะสู้ด้วยความจริงใจ ด้วยความสร้างสรรค์ ด้วยการเมืองแห่งความหวัง

“โคลนสาดโคลนไม่ช่วยอะไร ความมืดสู้ความมืดไม่ได้ ต้องใช้ความสว่างเข้าสู้ เราต้องไม่หลงกลและมีสมาธิกับการทำงานในช่วงโค้งสุดท้าย เดินหน้าหาเสียงเต็มที่ เหลือเวลาอีกเพียง 11 วัน ขอให้ผู้สมัคร ส.ส. ทุกคน ทีมงานจังหวัด อาสาสมัคร และหัวคะแนนธรรมชาติ จับมือกันเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ ขอให้ทุกคนขับเคลื่อนด้วยความหวังดีต่อประเทศที่เรารัก ชัยชนะของพรรคก้าวไกลจะเป็นชัยชนะของพวกเราทุกคน เป็นชัยชนะที่รัฐบาลก้าวไกลจะนำพาสังคมไทยออกจากอดีตเพื่อเดินหน้าไปสู่อนาคต” พิธากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net