เปิดแผนปฏิรูปกองทัพของสภากลาโหมปรับลดทหารยศสูงให้เหลือ 50% ในปี 70 ปรับลดทหารเกณฑ์ต่อเนื่อง เลิกแผนเสริมสร้างกองพลทหารราบที่ 7 และกองพลทหารม้าที่ 3 ช่วยประหยัด เผยมีคนสมัครใจสมัครทหารมากเป็นสัญญาณดีสำหรับการเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจเข้าเป็นทหาร
31 พ.ค.2566 สื่อหลายสำนักรายงานถึงผลการประชุมสภากลาโหมวันนี้ที่มีประเด็นเรื่องแผน “ปฏิรูปกองทัพ” โดยในการประชุมครั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธานที่ประชุม
พ.อ.จิตนาถ ปุณโณทก รองโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงถึงแผนดังกล่าวดังนี้
- มีการปรับปรุงโครงสร้างให้กองทัพมีขนาดกะทัดรัด คล่องตัวทันสมัย เช่นการยุติแผ่นการเสริมสร้างกองพลทหารราบที่ 7 และกองพลทหารม้าที่ 3 ของกองทัพบก รวมถึงการปรับลดกำลังทหารพรานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1,656 อัตรา ประหยัดได้ 600 ล้านบาท
- ปรับลดนายทหารชั้นยศสูงเพื่อลดงบประมาณด้านกำลังพลลง 50% ในช่วงปี 2570 และในช่วงปี 2560-2564 มีการปิดบรรจุกำลังพลแล้วกว่า 8,000 นาย ประหยังบได้ 1,500 ล้านบาท และเมื่อถึงปี 2570 จะสามารถปรับลดได้ประมาณ 12,000 นาย ประหยัดงบได้ 2,900 ล้านบาท
- การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการ ปัจจุบันมีความต้องการพลทหาร ปีละประมาณ 90,000 นาย และกำลังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้สมัครใจเข้าเป็นทหาร ประมาณ 35,000 นาย ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาไปสู่การใช้ระบบการสมัครใจเข้าเป็นทหารได้ในอนาคต
- นำกำลังพลสำรองมาปฏิบัติหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราวตามสัญญาจ้าง 4 ปี และเตรียมการบรรจุข้าราชการพลเรือนกลาโหมในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ รวมถึงเตรียมกำลังพลสำรองเพ่อรองรับสถานการณ์ยามวิกฤตและยามสงคราม
พ.อ.จิตนาถยังกล่าวอีกว่าที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ระยะที่ 2 เพื่อให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ ใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพกองทัพและเสริมสร้างหน่วยให้มีความสมบูรณ์ พร้อมรบ ในห้วงระยะ 5 ปี เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ โดยแบ่งแผนพัฒนาออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่
- กลุ่มดำรงสภาพความพร้อมรบ เพื่อให้กองทัพมีความพร้อมในระดับความต้องการต่ำสุด และให้อุปกรณ์ของกองทัพสามารถใช้งานตามมาตรฐานของอุปกรณ์นั้น รวมทั้งการจัดหาให้ครบตามอัตราการจัดยุทโธปกรณ์และการจัดหาทดแทน
- กลุ่มขยายขีดความสามารถ เพื่อเพิ่มเติมขีดความสามารถของอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- กลุ่มเสริมสร้างความทันสมัย เพื่อให้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และรูปแบบภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป
ในรายงานข่าวยังมีการระบุถึงคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เน้นย้ำว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแผนที่ทำอยู่แล้วไม่ได้เกี่ยวว่าใครจะมาหรือไป