Skip to main content
sharethis

อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง 'เวฟ' ชาวนนทบุรี วัย 30 ปี ข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ จากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กวิจารณ์เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 จากภาษีประชาชนของบริษัท 'สยามไบโอไซน์' เมื่อปี 2564 โดยมีนพดล กลุ่ม ศชอ. เป็นผู้ร้องฯ 

 

13 มิ.ย. 2566 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (13 มิ.ย.) ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก พนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของ "เวฟ" (นามสมมติ) ชาวนนทบุรี วัย 30 ปี ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการแชร์และโพสต์ข้อความประกอบในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องการผลิตวัคซีนจากภาษีประชาชน ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 2564

คดีนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในช่วงก่อนการสั่งฟ้อง โดยพบว่าคดีมี นพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา โดยเดิมสำนวนคดีเป็นของ สน.บางพลัด แต่ถูกโอนย้ายมาที่ บก.ปอท. และเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 “เวฟ” ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเองที่ บก.ปอท. เขาให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน และไม่ได้ถูกควบคุมตัวไว้

ตามตะวัน ยอแสงรัตน์ พนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 จําเลยได้เผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ทางเว็บไซต์เฟซบุ๊ก โดยแชร์ภาพและข้อความเป็นสาธารณะ ปรากฏภาพของรัชกาลที่ 10 และมีข้อความในภาพระบุตั้งคำถามถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทสยามไบโอไซน์

โจทก์กล่าวหาว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยอาจจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง จําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทยตามประมวลกฎหมายอาญา

หลังศาลอาญารับฟ้อง เวฟ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และทนายความได้ยื่นประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกัน โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ส.ค. 2566
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net