Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้เขียนนั่งมอง นอนมอง ข่าวหน้าฟีด ไม่ว่าจะสื่อใหญ่สื่อเล็ก Podcast หรืออะไรก็ตามแต่ “ฐานทัพสหรัฐ” จู่ๆ ก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างน่าเหลือเชื่อ บ้างก็โยงไปจนถึงการเมืองระดับนานาชาติ ต่างชาติจะเข้าแทรกแซง เราควรไปดู Geopolitics หรือ ประเทศอื่นๆ เสียบ้าง 

นี่คือวิธีคิดที่หลงยุคหลุดมาจาก 1965 อะไรๆ ที่ต้องมาคำนวน Geopolitics (ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง) การโยงการเมืองภายในเรื่อยเปื่อยเข้ากับการแทรกแซงต่างชาติ การเมืองระหว่างประเทศ จนเหมือนทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่กระจายไปทั่วบรรณบิภพในขณะนี้, ความตลกร้ายอย่างน่าเหลือเชื่อ เวลาข่าวทำนองนี้หรือบทความที่ปรากฏออกมานั้น มีแต่”สหรัฐ” ที่ดูเสมือนจะมีบทบาทฝ่ายเดียวในมหกรรมแทรกแซงการเมืองประหนึ่งเหมือนผีห่าซาตานที่พร้อมจะถูกปลุกมาใช้ได้เรื่อยๆ แต่ไม่ยักจะมีจีนในสมการเสียอย่างงั้น ?

น่าสนใจว่า บรรดาเหล่าอนุรักษ์นิยมที่ออกประกาศป่าวร้องถึงภัยอันตรายของอเมริกัน จักรรวรดินิยมอเมริกาที่จะมาครอบงำการเมืองไทย ผู้เขียนมองในด้านกลับ นี่เป็นยุทธวิธีปลุกความกลัวในอีกรูปแบบนึง

เป็นความกลัวที่ไม่อยู่ในฐานความจริง หรือจะเรียกว่า มโนทึกทักเอาเองก็ย่อมได้

ทำไมสหรัฐถึงอยากจะตั้งฐานทัพในไทย ? หากเราลองคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล จะพบว่า สหรัฐไม่มีความจำเป็นจะต้องมาตั้งฐานทัพในไทยเลย เครือข่ายฐานทัพสหรัฐในแปซิฟิกลากยาวจนถึงอินเดียเป็นเครือข่ายที่หนาแน่นพอสมควรอยู่ก่อนแล้ว วิธีคิดการ “ปิดล้อม” จีนของสหรัฐ ยกมาจากแนวคิดดั้งเดิมของตนเองยุคสงครามเย็น กล่าวคือ หากโซเวียตขยายอิทธิพลทางแผ่นดิน,สหรัฐก็จะสกัดกั้นจากทางทะเล ด้วยความได้เปรียบจากกองทัพเรือและฐานทัพต่างๆ โดยเครือข่ายฐานทัพของสหรัฐ ลากยาวตั้งแต่ญี่ปุ่นจนถึงมหาสมุทรอินเดีย เป็นตาข่ายล้อมรอบที่แข็งแรง ฐานทัพสหรัฐดั้งเดิมยังคงตอบโจทย์ความต้องการของสหรัฐในการเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมในการคานอำนาจกับจีนที่แผ่ขยายอิทธิพลเต็มสูบในภูมิภาคนี้ (ที่ฮายิ่งกว่าคือกลุ่มอนุรักษ์นิยมพยายามโจมตีสหรัฐในเรื่องการขบายอำนาจแต่มองว่าจีนที่กำลังทำแบบเดียวกันไม่เป็นไรและเป็นมหามิตรเสียแบบนั้น) 

เมื่อมองไปรอบนอกประเทศไทย จะพบว่าสหรัฐมีตัวเลือกที่หลากหลายกว่ามากในการตั้งฐานทัพ เช่น ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้สามารถเข้าถึงพื้นที่พิพาท ทะเลจีนใต้ได้ง่ายกว่าตั้งฐานทัพในอ่าวไทยเป็นไหนๆ และประเทศเหล่านี้ เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มีปัญหากับจีนโดยตรงเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ ภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมรวมไปถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอย หากมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเลือกสองประเทศนี้ย่อมไม่แปลกที่น่าขันคือ สหรัฐแถลงเปิดกรอบความร่วมมือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework ) ซึ่งเป็นร่างทรงของ CPTPP พลเอกประยุทธ์ ฮีโร่ของอนุรักษ์นิยมก็ไปร่วมการประชุมและนำไทยเป็นส่วนนึงของ IPEF เสียด้วย (ข่าวที่ว่า: https://www.bangkokpost.com/business/2314522/us-unveils-asia-pacific-trade-framework-with-thailand-among-starting-list-of-members)   กล่าวได้ว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมพูดถึงภูมิศาสตร์การเมืองเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองพูดแต่อย่างไรเลย เสมือนใช้คำศัพท์วิชาการเพื่อสร้างความกลัวไปอย่างนั้น  
ประเด็นต่อมาคือการโยงไปถึงว่า ก้าวไกลชนะการเลือกตั้งเราจะเป็นแบบยูเครน

กลุ่มอนุรักษ์นิยมในขณะนี้มีวิธีคิดส่งต่อกันว่า ประเทศไทยของเราจะกลายเป็นแบบยูเครน เป็นสมรภูมินองเลือดส่งคนไทยไปตายแทน พร้อมด้วยประโยคว่าเราต้องเข้าใจ ภูมิศาสตร์การเมือง

ดังที่บอกไปแล้วกลุ่มอนุรักษ์นิยมพูดถึงภูมิศาสตร์การเมืองเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองพูด สงครามยูเครนเป็นมากกว่าการแย่งชิงพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ แน่นอนเรามิอาจปฏิเสธได้ถึงความสำคัญของมัน แต่สงครามยูเครนมีมิติที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่นในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมหรืออื่นๆ  การมองสงครามยูเครนด้วยมิติเดียวแต่ขาดการวิเคราะห์รอบด้าน เช่นเป็นทาสอเมริกัน แล้วใช้วิธีคิดแบบเดียวกันนี้ มองกลับมายังไทยแล้วโยงเป็นตุเป็นตะว่า ไทยจะกลายเป็นยูเครน สะท้อนถึงความไม่เข้าใจสงครามในยูเครนอย่างถ่องแท้, ไม่เข้าใจวิธีคิดที่ตนเองกำลังพูด, ไม่เข้าใจสถาณการณ์โลกตามความจริง

เพราะถึงที่สุดแล้ว อนุรักษ์นิยมไทยไม่เข้าใจอะไรเลยนอกจากการหยิบยืมศัพท์วิชาการและปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองล้วนๆ 

 
  
    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net