Skip to main content
sharethis
  • เลขาฯ เป็นธรรม ยันพรรคไม่เกี่ยวข้อง กิจกรรมที่ แม่ทัพภาค 4 ฟ้องนักศึกษา  และพร้อมใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในการปกป้องผู้ถูกดำเนินคดี โดยชี้ด้วยว่า ข้อกล่าวหารุนแรงเกินไป รวมถึงยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน
  • คณะทำงานย่อยสันติภาพชายแดนใต้ ทำสรุปร่างแรกประกอบข้อมูลการจัดทำนโยบายรัฐบาล รับห่วงประเด็นสื่อสารในพื้นที่ หวั่นใช้อำนาจ-กฎหมาย เหนือความยุติธรรม

26 มิ.ย.2566 จากกรณีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 มอบอำนาจให้ พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผอ.สกส. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ฯลฯ เข้าแจ้งความเอาผิดทางกฎหมายต่อขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ พรรคการเมือง และนักการเมือง ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดเสวนา เรื่อง การกำหนดอนาคตตนเองในสันติภาพปาตานี และมีการจัดให้มีการจำลองการลงประชามติกำหนดอนาคตตนเองในสันติภาพปาตานี ในข้อหาร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อันเข้าลักษณะที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงของสังคม นั้น

กัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang' ยืนยันว่า พรรคเป็นธรรมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และพร้อมใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในการปกป้องผู้ถูกดำเนินคดี โดยชี้ด้วยว่า ข้อกล่าวหารุนแรงเกินไป รวมถึงยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน

เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ระบุว่า ตนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณีดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นมีฮากิม พงติกอ อดีตรองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ถูกดำเนินคดีด้วย แม้ทางพรรคจะยืนยันไปแล้วว่า ฮากิม ไปร่วมกิจกรรมนี้ในนามส่วนตัว เพราะไม่มีหนังสือเชิญมาถึงพรรค แต่ทางพรรคก็พร้อมให้การช่วยเหลือทางด้านกฏหมาย รวมถึงนักศึกษาที่ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ และเห็นว่าข้อกล่าวหารุนแรงเกินไป รวมถึงยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน เพราะจากที่ฟังการชี้แจงจากผู้จัดกิจกรรมในวันนั้น พบว่าจัดในสถาบันการศึกษา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และการจัดทำแบบสอบถามก็ไม่ใช่การทำประชามติแบ่งแยกดินแดนอย่างที่มีความพยายามบิดเบือน และใส่ร้ายว่าพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งยืนยันว่าพรรคเป็นธรรม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากจะมีการกล่าวหาก็จะดำเนินคดีฟ้องกลับแน่นอน

"การร้องทุกข์กล่าวโทษ ยังพุ่งเป้ามาที่พรรคเป็นธรรม ทั้งๆ ที่ในงานวันนั้นมีการเชิญพรรคก้าวไกล และพรรคประชาชาติมาด้วย จึงอาจต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย และแน่นอนว่าหากมีการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมในกรณีนี้ ผมก็พร้อมใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในการปกป้องทุกคน" เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ระบุ

ฉวยโอกาสช่วงรอรัฐบาลใหม่ แจ้งข้อหากระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน

สำนักข่าวไทยรายงานด้วยว่า พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนการประชุมคณะทำงานย่อยของ 8 พรรคร่วมในเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ ที่ทำการพรรคประชาชาติ ถึงกรณีการแจ้งความกลุ่มขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ นักกิจกรรมทางการเมือง และนักการเมืองนั้นว่า การพูดคุยเรื่องรูปแบบการเมืองการปกครองมีได้ในทุกมิติ ทุกที่  ซึ่งเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ในการแสดงออกทางความคิดเห็น  บางประเทศเอาเรื่องนี้มาออกแบบเป็นกฎหมายอาญา ก็ต้องแก้ไข ถ้าหมิ่นประมาทผู้ใดผู้หนึ่ง หรือขัดต่อกฎหมายใด ต้องมาคุยกัน หากผิดทางแพ่งก็ฟ้องทางแพ่ง แต่การตั้งหลักดำเนินคดีอาญากับผู้ที่แสดงความเห็นนั้นไม่ได้

ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า การแสดงออกมีหลายรูปแบบ เราเคยแสดงออกในการรณรงค์เรื่องการป้องกันการทรมานอุ้มหาย ก็เคยคดีจากทาง กอ.รมน. ซึ่งสุดท้ายเขาก็ถอนแจ้งความ ครั้งนี้จึงมองว่าสุดท้ายคดีนี้ก็คงถอนฟ้อง แต่การตั้งหลักฟ้องในขณะที่รอรัฐบาลใหม่ เป็นการฉวยโอกาสที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในการใช้สิทธิเสรีภาพ

ต่อกรณีคำถามที่ว่าการแจ้งข้อหากบฏ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ  มาตรา 1 กับกลุ่มนักศึกษานั้น ส่งผลอย่างไรนั้น พรเพ็ญ ระบุว่า การตั้งข้อหาลักษณะนี้มีมา 18 ปีแล้ว ในคดีความมั่นคงกว่าพันคดี ทนายต้องต่อสู้ว่าไม่ใช่ข้อหากบฏ โดยคดีนี้น่าสนใจ  เพราะไม่มีข้อหาเรื่องความรุนแรง แต่เป็นเรื่องของความคิดเห็นทั้งหมด มีหลายขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องฝ่าไปให้ได้ ทั้งตำรวจ ศาล กอ.รมน. จะเลือกไม่สั่งฟ้องก็ได้

“เราอยู่ในประเทศที่ล้าหลัง ที่ต้องการประชาธิปไตยในการก้าวข้ามความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การเอาคดีแบบนี้มาให้นักกิจกรรมคงเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อทำให้กลัว แต่ในยุคนี้คงยากแล้ว รวมถึงการใช้ความรุนแรงก็ไม่ใช่ทางออก เหมือนกับการฟ้องคดีมาตรา 112  ที่ฟ้องไปก่อน  ทำให้เราไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการออกแบบการแก้ไขปัญหาได้” ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว

คณะทำงานย่อยสันติภาพชายแดนใต้ ทำสรุปร่างแรกประกอบข้อมูลการจัดทำนโยบายรัฐบาล รับห่วงประเด็นสื่อสารในพื้นที่ หวั่นใช้อำนาจ-กฎหมาย เหนือความยุติธรรม

ขณะที่วันนี้ การประชุมคณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 3  ซึ่งเป็นคณะทำงานย่อย ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ที่พรรคประชาชาติ มีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล , พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร และก่อแก้ว พิกุลทอง จากพรรคเพื่อไทย, ชวลิต วิชยสุทธิ์ จากพรรคไทยสร้างไทย และพลโทพงศกร รอดชมภู ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อยากให้ที่ประชุมวันนี้  สรุปร่างแรกเพื่อเตรียมพร้อมการจัดทำนโยบายรัฐบาลเนื่องจากตามไทม์ไลน์จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นก็จะเป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลก็ต้องจัดทำนโยบายเพื่อแถลงต่อสภา  โดยต้องรวบรวมข้อมูลจากคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อประกอบการจัดทำนโยบาย

ส่วนแผนการลงพื้นที่ของคณะทำงานฯ เพื่อรับฟังข้อมูลและพบปะประชาชน พ.ต.อ.ทวี จะนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมหัวหน้า 8 พรรคการเมือง ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้   เพราะตอนนี้มีประเด็นเรื่องการสื่อสารในพื้นที่ รวมไปถึงเรื่องกระบวนการสันติภาพ  ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะมีการใช้อำนาจ การใช้กฎหมายอยู่เหนือความยุติธรรม  ขณะเดียวกันตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคำถามลักษณะเดียวกับขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ และอาจดูแหลมคมกว่าด้วย  แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นมีคนฟังแค่ 80 คน กลับถูกดำเนินคดี เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net