Skip to main content
sharethis

ส.ส.พรรคก้าวไกล เข้ารายงานตัวที่รัฐสภา ครบ 150 คน 'พิธา' ยืนยันเจรจากับ ส.ว.มีความคืบหน้า ได้เสียงมากพอเป็นนายกฯ มองการแก้มาตรา 112 ไม่เป็นอุปสรรคตั้งรัฐบาล และ ส.ว.มีความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น

 

27 มิ.ย. 2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (27 มิ.ย.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล 150 คน นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมายังอาคารรัฐสภา โดยรถบัส 3 คัน เพื่อรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยพร้อมเพรียงกัน โดย ส.ส. ทุกคนต่างสวมเสื้อยืดสีขาวที่มีข้อความว่า 'เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน'

บรรยากาศการรายงานตัวที่รัฐสภา ของพรรคก้าวไกล

ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการรายงานตัว พิธาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่าการเลือกวันนี้มารายงานตัว ก็เพราะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือวันที่ 27 มิ.ย. 2475 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ

ส.ส.พรรคก้าวไกลทุกคนในวันนี้ มีความตั้งใจที่จะเป็นผู้แทนราษฎรให้สมกับที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน มีความหลากหลายทั้งจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ต่อจากนี้จะมีกฎหมายที่ก้าวหน้ารอให้เราผลักดันอยู่จำนวนมาก รวมทั้งสิ่งที่เราพยายามผลักดันในสภาฯ ชุดที่แล้วแต่ยังไม่สำเร็จ ซึ่งพรรคก้าวไกลมีความมั่นใจว่ากระบวนการนิติบัญญัติต่อจากนี้จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้จริง

จากนั้น สื่อมวลชนได้ตั้งคำถามถึงกรณีการรวบรวมเสียง ส.ว. ว่ามีความกังวลใจหรือไม่ โดยพิธาระบุว่าตนไม่มีความกังวลใจ เพราะจากที่มีโอกาสได้พูดคุยกับ ส.ว. พบว่าหลายคนมีดุลพินิจ และการพิจารณาก็น่าจะเป็นไปตามบรรทัดฐานที่วุฒิสภาวางไว้เมื่อปี 2562 ว่าจะเลือกใครก็ตามที่รวบรวมเสียง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 251 คน ดังนั้น วุฒิสภาก็คงไม่อยากฝืนมติที่มาจากประชาชน และโดยภาพรวมการโหวตของ ส.ว. 250 คนก็น่าจะเป็นไปตามหลักการที่วุฒิสภายึดมา โดยไม่เกี่ยวว่าจะเป็นพิธาหรือไม่

ทั้งนี้ ตนยืนยันตามที่ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค เคยพูดไว้ว่าการรวบรวมเสียง ส.ว. มีความคืบหน้ามากแล้ว และเป็นไปในทางบวก ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลทำงานอย่างหนักเพื่อทลายกำแพงและสร้างความเข้าใจระหว่าง 2 สภาฯ มีการพูดคุยกันถึงหลายประเด็นที่เป็นข้อกังวลใจทั้งหมด แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของหลักการข้างต้น ที่พรรคก้าวไกลอยากให้วุฒิสภายึดถือเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ว่าจะเลือกจากผู้ที่มาจากประชาชนที่รวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฏรได้มากที่สุด ดังนั้น การรวบรวมเสียง ส.ว. ในเวลานี้มีความคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ และเพียงพอกับการให้ตนได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ที่ผ่านมา ไม่ใช่ ส.ว. ทุกคนที่จะมีโอกาสพูดกับสื่อมวลชนเท่านั้น

พิธา ยังตอบคำถามต่อไปของสื่อมวลชน เกี่ยวกับกรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าจะเป็นอุปสรรคหรือไม่ต่อการจัดตั้งรัฐบาล และจะมีการลดเพดานดังกล่าวลงหรือไม่ โดยพิธาระบุว่า การแก้ไขมาตรา 112 เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกล มีการพูดถึงอย่างชัดเจนก่อนจะมีการเลือกตั้งในเกือบทุกเวทีดีเบต จนมีการตกผลึกแล้วว่าการแก้ไขมาตรา 112 คือสิ่งที่จะเป็นทางออกให้กับสังคมไทย เพราะที่ผ่านมามีการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการดำเนินคดีกับเยาวชนมากมาย ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับสถาบันใดเลย

ดังนั้น เพื่อรักษาสิ่งที่เรารัก จึงต้องมีการแก้ไขให้เป็นไปตามบริบทของสังคม และมั่นใจว่าประเด็นนี้จะไม่ทำให้เส้นทางการตั้งรัฐบาลสะดุดลง ที่ผ่านมาข้อมูลจากหลายฝ่ายอาจทำให้คนเข้าใจผิดไปบ้าง แต่พรรคก้าวไกล ยืนยันเสมอมาว่า การแก้ไขไม่ใช่การยกเลิก และเท่าที่ได้คุยกับ ส.ว.หลายคน ก็ปรากฏว่ามีความเข้าใจมากขึ้นแล้ว ว่าเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่หากจะมีการหยิบยกกรณีนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นจริงจนกลายเป็นอุสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลก็น่ากังวลใจ เพราะนี่คือการเอาเสียงที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาปะทะกับสถาบันฯ โดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอันตรายอย่างยิ่ง ตนจึงขอร้องว่าอย่าเอาเรื่องของการแก้ไขมาตรา 112 มาเป็นข้ออ้างอีกเลย

พิธา ยังกล่าวต่อถึงกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.) ที่ให้อัยการสูงสุดชี้แจงว่าจะรับหรือไม่ รับคดีล้มล้างการปกครองจากกรณีพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขมาตรา 112 โดยระบุว่าเป็นเรื่องระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับอัยการสูงสุด ซึ่งไม่ได้น่ากังวลใจ อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายหนึ่งไม่เท่ากับการล้มล้างการปกครองแน่ๆ จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริงไปมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net