Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์หวังรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีให้ได้ภายในเดือน ก.ค. 2566 หากล่าช้ากระทบภาคการลงทุน การจัดทำงบประมาณปี 2567 และเศรษฐกิจภาพรวม 

9 ก.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ บางจากปิโตรเลียม (บางจากคอร์ปอเรชัน) และ อดีตประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ อสมท เปิดเผยว่าความล่าช้าในการเลือกนายกรัฐมนตรี และ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีหลังทราบผลการเลือกตั้งมาเป็นเวลาร่วมสองเดือนแล้วย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาคการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ นักลงทุนและประชาคมโลกเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย จาก ระบอบสืบทอดอำนาจจาก คณะรัฐประหาร คสช นั้นมีอุปสรรคและมีความไม่ปรกติอยู่ ทำให้ นักลงทุนสถาบันตั้งคำถามต่อมาตรฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยไทย และ ตั้งข้อสงสัยต่อรัฐธรรมนูญกติกาสูงสุดว่าเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ ฉะนั้น สมาชิกรัฐสภาจึงควรร่วมมือกันในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ภายในเดือน ก.ค. นี้ภายใต้เจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

หากเดือน ส.ค. ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารประเทศจะกระทบต่อการแก้ปัญหาต่างๆให้กับประชาชน ประเทศสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและเกิดความล่าช้าในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ตามที่ 8 พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยเฉพาะนโยบายทางด้านสวัสดิการที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ การเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และ การปะทุขึ้นของปัญหาหนี้สินในภาคธุรกิจ การขาดสภาพคล่องของกิจการต่างๆ ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มศักยภาพ หากจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในปลายเดือนกรกฎาคม งบประมาณปี 2567 จะล่าช้า 2-3 เดือน ยังไม่กระทบเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากนัก แต่หากการจัดตั้งยืดเยื้อไปถึงเดือนกันยายนหรือตุลาคม เราจะมีรัฐบาลรักษาการที่ไม่มีอำนาจเต็มบริหารประเทศนานถึง 6-7 เดือน โครงการลงทุนขนาดใหญ่มีผลผูกพันงบประมาณหลายปีจะไม่สามารถดำเนินการได้เลย โครงการหลายส่วนอาจต้องชะลอออกไปไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน คุณสมบัติและความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน  
 
กลต. และ ตลาดหลักทรัพย์ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ นักลงทุนผู้ถือตราสารของบริษัท stark ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ หรือ หุ้นสามัญได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก แล้วยังส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินไทยซบเซาลงจากการขาดความเชื่อมั่นต่อบริษัทจดทะเบียนและขาดความเชื่อถือต่อข้อมูลทางการเงินและระบบการตรวจสอบ ผู้สอบบัญชีและระบบการจัดอันดับเครดิตอีกด้วย หากปล่อยให้สถานการณ์ความไม่เชื่อมั่นลุกลามไปมากจะแก้ไขยากขึ้น จึงต้องดำเนินการด้วยความฉับไวและเด็ดขาด แม้นว่า ทาง กลต จะได้ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Corporate Governance Code (CG Code) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติให้คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียน แต่เห็นได้ชัดว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงเสนอให้มีการปฏิรูประบบกรรมการบริษัทจดทะเบียน ระบบผู้สอบบัญชีภายนอก ระบบตรวจสอบ การควบคุมภายใน และ การบริหารความเสี่ยง รวมทั้ง ระบบการจัดอันดับเครดิตให้มีมาตรฐานดีขึ้น  หลักปฏิบัติการดูแลกิจการที่ดี หรือ CG code นี้ต้องเน้นการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เน้นไปที่การสร้างตัวเลขผลกำไรระยะสั้นเพื่อหวังผลการสร้างราคาหุ้นอย่างฉาบฉวย คณะกรรมการบริษัทควรต้องกำกับดูแลกิจการให้นำไปสู่ผล (Governance Outcome) ด้วยการประกอบกิจการอย่างมีจริยธรรม มีความเป็นมืออาชีพ เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดไม่ใช่แค่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ นอกจากนี้ควรต้องทำให้กิจการสามารถแข่งขันได้ มีผลประกอบการที่ดีและมีความยั่งยืนในระยะยาว ต้องเป็นบริษัทที่เป็น Good Corporate Citizenship สามารถปรับตัวได้กับพลวัตต่างๆ ปัญหาของตลาดทุนไทยไม่ใช่หลักปฏิบัติและแนวปฏิบัติ เพราะสิ่งเหล่านี้ได้มีการพัฒนาขึ้นมาแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การดำเนินการตามหลักปฏิบัติให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้น กลต และ ตลาดหลักทรัพย์ ต้องช่วยกันสอดส่องดูว่า มีบริษัทจดทะเบียนแห่งไหนที่ไม่ปฏิบัติตาม หลัก CG Code และ เปิดเผยให้ นักลงทุนได้รับทราบ

การดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเหมาะสมมีความสำคัญอย่างยิ่ง คณะกรรมการต้องจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ คณะกรรมการตรวจสอบต้องติดตาม กำกับดูแลไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ขึ้นในองค์กร ป้องกันการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและการทำธุรกรรมกับผู้มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับบริษัทในลักษณะที่ไม่สมควร คณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบต้องให้มีการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่ชัดเจน และ สื่อสารในทุกระดับขององค์กรและต่อคนนอกเพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติได้จริง มีระบบการร้องเรียนและชี้เบาะแสกรณีมีการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบมีความรับผิดชอบในการดูแลให้ระบบการจัดทำรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่างๆ ถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และ แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ คณะกรรมการต้องทำให้กิจการสามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง ให้เกิด Corporate Resilience อย่างเช่น  ภายใต้บริบทที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นเช่นนี้ เราจะได้เห็นการลงทุนหรือการขยายกิจการที่ไม่สมเหตุสมผลชัดเจนขึ้น เราจะได้เห็นบริษัทจดทะเบียนที่ตกแต่งบัญชีได้ง่ายขึ้น จึงเป็นความรับผิดชอบของนักลงทุนเองด้วยที่ต้องลงทุนด้วยความระมัดระวังรอบคอบและศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจ ระบบข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนจึงต้องโปร่งใส ถูกต้อง ชัดเจนเพื่อให้นักลงทุนสามารถนำไปใช้ในการลงทุนได้อย่างเหมาะสม คณะกรรมการควรติดตามดูแลความเพียงพอของสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ในภาวะที่กิจการประสบปัญหาทางการเงิน คณะกรรมการควรกำกับให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ตอนนี้ นักลงทุนต้องคอยตรวจสอบดูว่า บริษัทหรือหุ้นที่ท่านลงทุนอยู่นั้นมีคณะกรรมการบริษัทมีคุณสมบัติและการทำงานเป็นไปตาม CG Code หรือไม่ เพราะจะช่วยให้ท่านนักลงทุนไม่ต้องสูญเงินออมเงินลงทุนเช่นกรณี หุ้น Stark กรณี  หุ้น Earth กรณี หุ้น Polar กรณี หุ้น IFEC หุ้นเหล่านี้เคยติดอันดับหุ้นร้อนเก็งกำไร มีการสร้างข้อมูลทางการเงินเท็จ ทั้งสร้างหนี้เทียม ธุรกรรมเทียมเช่นเดียวกับ Stark  

รศ.ดร.อนุสรณ์  กล่าวต่อว่าความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ทำให้ไม่สามารถจับตัวผู้ประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้ ทำได้เพียงการอายัดทรัพย์สิน สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุน ผู้ออมเงิน จำนวนมาก ไม่ควรปล่อยให้คนโกงลอยนวล คดีเงียบหายเหมือน กรณี Polar, IFEC และ EARTH ไม่มีความคืบหน้าใดๆในการดำเนินคดีกับผู้บริหารที่ร่วมกระทำการทุจริตจากนักลงทุน การทุจริตของบริษัทเหล่านี้ทำให้เกิดการล้มละลาย เงินและทรัพย์สินถูกผ่องถ่ายไปยังผู้บริหารระดับสูงที่ทุจริต สร้างความเสียหายทางการเงินและความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจแก่นักลงทุนรายย่อยหลายหมื่นคน กรณีสามบริษัทนี้มีการกล่าวโทษผู้บริหารจาก กลต ไปแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีมากนัก ความเชื่อมั่นย่อมไม่กลับคืนมา กรณี Stark ก็เช่นเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมได้ปล่อยให้ ผู้บริหารที่ทุจริตโกงเงินนักลงทุนหนีออกนอกประเทศเช่นเคย ปล่อยให้ นักลงทุนหลายหมื่นคนได้รับความเดือดร้อนโดยไม่มีการเยียวยา กรณี Stark ความเสียหายทางการเงินอาจทะลุ 1 แสนล้านบาท กระทบรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนของประเทศ ขณะนี้ สามารถอายัดทรัพย์สินของผู้ทุจริตกรณีหุ้น Stark ได้เพียง 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น และ ผู้ต้องหาได้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปยังบุคคลที่สามแล้ว จึงคาดว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ผู้เสียหายอาจต้องสูญเงินทั้งหมดจากกรณีทุจริตหุ้น Stark ดังกล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net