ชาวคริสต์ในฟิลิปปินส์ไม่พอใจที่แดร็กควีน ปูรา ลูกา เวกา ทำการแสดงโดยแต่งตัวแบบพระเยซูพร้อมนำเสนอบทสวดภาวนา "the Lord's Prayer" ในแบบของตัวเอง ทำให้มีการฟ้องร้องต่ออัยการ และบางเมืองก็ระบุให้ลูกาเป็น "บุคคลที่ไม่พึงประสงค์" ซึ่งส่งผลกระทบต่อการงานของเขา เพื่อนของลูกาบอกว่าลูกาก็เติบโตมาในแบบชาวคริสต์และชอบแสดงออกถึงศรัทธาในแบบของตัวเอง
ปูรา ลูกา เวกา แดร็กควีน (ผู้แต่งกายข้ามเพศเพื่อการแสดง) ชาวฟิลิปปินส์ | ที่มาภาพ: IGpuralukavega
26 ส.ค. 2566 กลุ่มชาวคริสต์ในฟิลิปปินส์ฟ้องร้องแดร็กควีน (ผู้แต่งกายข้ามเพศเพื่อการแสดง) ที่ชื่อ ปูรา ลูกา เวกา ที่แต่งตัวเป็นพระเยซูในการแสดงที่แปลงบทสวดภาวนา "the Lord's Prayer" ให้เป็นรูปแบบเพลงร็อค
คำร้องต่ออัยการจากกลุ่มศาสนากล่าวหาว่า ปูรา ลูกา เวกา นักแสดงแดร็กอายุ 33 ปี ได้ทำการ "หมิ่นความเชื่อศาสนาและศาสดาของพวกเขา"
วิดีโอที่ลูกาแสดงเมื่อเดือน ก.ค. 2566 ที่ผ่านมากลายเป็นกระแสไวรัลที่มีผู้คนแชร์ไปทั่ว ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจ ในขณะที่ลูกาปกป้องสิ่งที่ตัวเองทำว่าเป็นการแสดงในฐานะศิลปะ อีกทั้งเขายังเคยแสดงเป็นพระเยซูมาตั้งแต่ก่อนหน้า "the Lord's Prayer" เวอร์ชั่นเพลงร็อคแล้ว
แต่กระแสที่ออกไปหลังจากที่ลูกาโพสต์คลิปลงทวิตเตอร์/เอ็กซ์ ก็สร้างความไม่พอใจให้กับชาวฟิลิปปินส์ที่มีศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่มีอำนาจนำในประเทศ มีผู้นำศาสนาและส.ส.บางส่วนกล่าวหาว่าการแสดงของลูกา "หมิ่นศาสนา"
เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ขบวนการ "ฟิลิปปินส์เพื่อพระเยซู" ที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้นำศาสนานิกายโปรแตสแตนท์ ได้ยื่นฟ้องต่อสำนักงานอัยการเป็นครั้งแรกกล่าวหาว่าลูกาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 201 ที่ระบุลงโทษการเผยแพร่หรือจัดแสดงสื่อลามกและการแสดงที่อนาจาร
การฟ้องร้องครั้งที่สองมาจากกลุ่มนิกายคาทอลิกที่ชื่อ "นาซารีน บราเธอร์ฮูด" ซึ่งทางอัยการยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำคดีนี้หรือไม่
ประเทศอดีตอาณานิคมสเปนอย่างฟิลิปปินส์มีศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีอำนาจนำ จากผลโพลเมื่อเดือน ก.พ. 2566 ที่ผ่านมาระบุว่าประชากรเกือบร้อยละ 80 ของประเทศเป็นชาวคริสต์
หลายวันหลังจากที่วิดีโอกลายเป็นกระแส มีพื้นที่ 11 แห่งในฟิลิปปินส์ รวมถึงเมืองหลวงกรุงมะนิลา กับเมืองเซบู ระบุให้ลูกาเป็น "บุคคลไม่พึงประสงค์" ซึ่งเป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์ว่าลูกาจะไม่เป็นที่ต้อนรับในเมืองเหล่านั้น ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ห้ามลูกาเดินทางเข้าเมือง แต่ก็จะส่งผลต่องานของเขา เช่น มีคลับบางแห่งยกเลิกงานโชว์ของเขา คนที่เป็นแดรกควีนอย่างลูกามีรายได้เลี้ยงชีพส่วนใหญ่มาจากการแสดงในคลับ
แดร็กควีนในประเทศฟิลิปปินส์นั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว และมักจะทำการแสดงส่วนใหญ่ในรูปแบบของนักแสดงตลก การสวมบทบาทเป็นนักร้องดาราดัง และคอยตบมุขปิดท้ายการแสดงตลกซึ่งมักจะมีการเล่นหัวผู้ชมด้วย
แต่กรณีของลูกานั้นเป็นแดร็กควีนรุ่นใหม่ที่วางตัวเองเป็นศิลปิน ผู้ที่ใช้การแสดงเป็นเครื่องมือในการทดสอบขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ทว่า บาทหลวง เจอโรม เซซิลลาโน โฆษกของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งฟิลิปปินส์ก็บอกกับสื่อว่าการแสดงออกถึงศรัทธาจะต้องมีความเคารพยำเกรงด้วย เซซิลลาโนบอกว่าถึงแม้ลูกาจะบอกว่ามันคือศิลปะ แต่สำหรับพวกเขาแล้วมันคือ "การลบหลู่ศรัทธา" และบอกว่าการกระทำในแบบของลูกานั้นเป็นการล่วงเกิน ไม่ว่าจะกระทำโดย ชาย หญิง หรือสมาชิกผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ตาม
ลูกาโต้ตอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการขอโทษคนที่รู้สึกว่าถูกล่วงเกินจากการแสดงนี้ แต่ก็ยังคงปกป้องสิทธิในการที่จะแสดงออกถึงศรัทธาในแบบของเขาเอง
ดุลซิเนีย ซูลูเอตา ผู้ที่ทำงานร่วมกับลูกากล่าวว่า สิ่งที่ผู้คนไม่เข้าใจคือ ลูกาเป็นคนที่เติบโตมาโดยมีพื้นเพมาจากศาสนาและยังคงแสดงออกถึงศรัทธาในแบบของตัวเอง
ซูลูเอตา เล่าอีกว่าพวกเขาทั้งสองคนต่างก็ถูกขู่เอาชีวิต ตัวซูลูเอตาเองถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับ "อาชญากรรม" เพียงเพราะเขาสนับสนุนลูกา พวกเขาได้รับข้อความจากบาทหลวงบอกว่าพวกเขาจะตกนรก
ก่อนหน้านี้ก็เคยมีศิลปินชาวฟิลิปปินส์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาว่าล่วงเกินคริสตศาสนามาแล้ว จากการแสดงหรือศิลปะของตัวเอง เช่นกรณ๊ปี 2554 มีศิลปินทัศนศิลป์ มีดีโอ ครูซ เผชิญความไม่พอใจจากศาสนจักรคริสต์นิกายคาทอลิก เพราะผลงานศิลปะการจัดวางที่เขาทำ มีการตรึงกางเขนและสัญลักษณ์ที่สื่อถึงองคชาตอยู่ด้วย
เรียบเรียงจาก
Pura Luka Vega: Philippine drag queen faces backlash for Jesus act, Yahoo, 18-12-2023