Skip to main content
sharethis
  • พรรคก้าวไกล และพรรคเป็นธรรม แถลงยื่นญัตติต่อสภาฯ ขอจัดตั้ง กมธ.แก้ปัญหาค่ายผู้ลี้ภัย และผู้หนีภัยสงครามจากเมียนมา โดยใช้กรอบกฎหมายที่มี เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
  • 'กัณวีร์' มองว่า ไทยต้องมีจุดยืนระหว่างประเทศที่สง่าผ่าเผย เปลี่ยนมุมมองต่อผู้ลี้ภัยจากภาระ-ภัยความมั่นคง สู่หุ้นส่วนการพัฒนาชาติไทย 'มานพ' เผยพร้อมหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หลังตั้ง ครม.

 

1 ก.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "The Reporters" รายงานวานนี้ (31 ส.ค.) ที่อาคารรัฐสภา และตัวแทน สส.ก้าวไกล นำโดย มานพ คีรีภูวดล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ธิษะณา ชุณหะวัน สส.กทม.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย กัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม แถลงข่าวการขอยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในประเทศไทย และผู้หนีภัยจากการสู้รบแนวชายแดนไทยพม่า 

มานพ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทยมากกว่า 70,000-90,000 คน กระจายอยู่ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 และคงอยู่ในสถานะที่ไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ เพราะประเทศไทยไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย สถานะของผู้ลี้ภัยจึงใช้คำว่าผู้พักพิงชั่วคราว

"ในระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย ชีวิตความเป็นมนุษย์ ความเป็นคน ในสถานะที่เป็นผู้ลี้ภัย อยู่อย่างยากลำบาก ซึ่งประเทศไทยต้องแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ได้" มานพ กล่าว

มานพ กล่าวต่อว่า ในบทบาทสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อที่จะสามารถดึงบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการระหว่างประเทศ เรื่องความมั่นคง และเรื่อง อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเป็นคณะกรรมการวิสามัญได้ เพื่อพิจารณาว่าจะแก้ไขปัญหาคนเหล่านี้ในระดับภายในประเทศอย่างไร จะร่วมมือกับนานาประเทศได้อย่างไร รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านต้นทาง จะร่วมมือกันอย่างไร 

กัณวีร์ สืบแสง พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยยังนิยามว่าประเทศไทยมีผู้ลี้ภัย 0 คน แต่ความจริงผู้หนีภัยอยู่ในไทยมากกว่า 91,000 คน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในแนวชายแดนมานานกว่า 43 ปีแล้ว เรายังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ความจำเป็นที่ต้องมีกรรมาธิการ เพื่อใช้กรอบของกฎหมายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการออกแบบกฎหมายนำไปสู่การแก้ปัญหา ยุติสุญญากาศทางกฎหมาย

กัณวีร์ เผยว่า ประเทศไทยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกลไกในการพิจารณาสถานะผู้ที่ไม่สามารถกลับสู่มาตุภูมิได้ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจะมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้า เป็นเพียงกลไกหนึ่งที่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพได้ จึงต้องแก้ไขด้วยกฎหมาย

"พี่น้องที่อยู่บริเวณชายแดน 91,000 กว่าคน นาน 43 ปี ยังไม่ทราบเลยว่าเขาจะอยู่อย่างไร เกิด แก่ เจ็บ และตายอยู่ในศูนย์พักพิงโดยไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังไม่นับถึงชาวอุยกูร์ที่ถูกขังลืมในห้องกัก ตม.นานถึง 9 ปี เป็นจำนวนเกือบ 50 คน หรือชาวโรฮิงญาที่หนีภัยประหัตรประหารมาเป็นคนไร้สัญชาติ จึงต้องมองเห็นแก่นของปัญหาคือการลี้ภัย หนีภัยประหัตประหาร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งและเร่งด่วนโดยใช้กรอบกฎหมาย" กัณวีร์ กล่าว 

กัณวีร์ ยังระบุว่า รัฐไทยต้องไม่มองผู้ลี้ภัยเป็นภาระในการดูแล ไม่ใช่ภัยความมั่นคง แต่ต้องผลักดันให้เขาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ให้เขาทำงาน จ่ายภาษีให้ประเทศไทย เป็นมนุษย์เหมือนเราทุกคน

"หากเราไม่มองมนุษย์เป็นมนุษย์แล้ว ประเทศไทยจะมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศยากจริงๆ ในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยจำเป็นต้องมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศอย่างสง่าผ่าเผย ต้องเป็นผู้นำ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม" กัณวีร์ กล่าว

กัณวีร์ ยังกล่าวว่า ตนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เป็นกรรมการอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยอมรับผู้ลี้ภัย และแสวงหาทางออก คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ลี้ภัย

มานพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราจะประสานภาคประชาชน ภาควิชาการที่มีประสบการณ์เรื่องนี้อย่างยาวนาน และจะดำเนินการในลักษณะเป็นคณะทำงาน ดำเนินการทำงานคู่ขนานไปก่อน เพื่อความรวดเร็ว ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับรองชัดเจนแล้ว คณะทำงานจะเข้าไปพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะไม่รอว่าการตั้งกรรมาธิการจะสำเร็จเมื่อใด เพราะเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ไม่ควรละเลยในประเด็นนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net