Skip to main content
sharethis

เมื่อ 5 ก.ย. 66 กลุ่มไรเดอร์ "Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน" ยื่นหนังสือถึง 'เพื่อไทย' ช่วยเร่งดำเนินการลงทะเบียนไรเดอร์ให้สามารถทำงานได้ถูก กม. และอยากให้รัฐพิจารณามอไซค์ 150-160CC (ยกเว้นมอไซค์บางประเภทอย่าง 'บิ๊กไบค์') สามารถใช้ทำงานรับ-ส่งสาธารณะได้ ซึ่งมีความเหมาะสมเรื่องการรับน้ำหนักผู้โดยสารชาวต่างชาติที่มีรูปร่างสูงใหญ่ และที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าต่างชาติมีแนวโน้มใช้บริการผ่านแอปฯ เยอะขึ้น

 

8 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 5 ก.ย. 2566 กลุ่มไรเดอร์ "Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน" นำโดย อรรถพล คล้ายพยัฆ เดินทางไปยื่นหนังสือสำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรี กทม. เพื่อขอพบนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ให้ช่วยแก้ปัญหาการลงทะเบียนให้ไรเดอร์ผู้ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร 4 ข้อเสนอ ประกอบด้วย 1. ขอให้มีการเร่งดำเนินการลงทะเบียน รวมถึงรายละเอียดขั้นตอนที่ซับซ้อนมากเกินไป 2. ขยายพื้นที่ลงทะเบียนให้ครอบคลุมจังหวัดอื่นๆ เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ นครปฐม นนทบุรี เป็นต้น 

ภาพบรรยากาศการเจรจาระหว่างไรเดอร์ และพรรคเพื่อไทย (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน)

ประการต่อมา 3. กฎหมายที่กำหนดขนาดปริมาตรความจุของกระบอกสูบของเครื่องยนต์ หรือ CC ในปัจจุบัน ให้เหมาะสมกับรูปร่างของผู้โดยสาร ซึ่งเดิมกรมขนส่งทางบก กำหนดว่า จักรยานยนต์รับ-ส่งสาธารณะที่นำมาจดทะเบียนต้องมี CC ไม่เกิน 125CC โดยกลุ่ม Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน เสนอว่า ควรมีการพิจารณาอนุญาตให้รถจักรยานยนต์รับ-ส่งผู้โดยสาร รุ่น 150-160CC (ยกเว้น มอเตอร์ไซค์บางรุ่น เช่น รถประเภทวิบาก และบิ๊กไบค์) ลงทะเบียนได้

เหตุผลที่เสนอเช่นนี้ อรรถพล คล้ายพยัฆ สมาชิกกลุ่ม Grab เคลื่อนที่เร็วฯ ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้โดยสารชาวต่างชาติใช้บริการเรียกรถจากแอปพลิเคชันเยอะขึ้น ซึ่งผู้โดยสารชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากอเมริกา หรือยุโรป มักมีรูปร่างสูงใหญ่ ทำให้รถจักรยานยนต์ขนาด 125 CC รับน้ำหนักได้ไม่ดีเท่ากับ 150-160 CC ซึ่งมีผู้โดยสารชาวต่างชาติติงมาบ้างว่าทำไมใช้รถจักรยานยนต์คันเล็ก 

นอกจากนี้ รถจักรยานยนต์ขนาด 150-160 CC มักขับขี่ใน กทม. ความเร็วอยู่ที่ 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น อีกทั้ง ช่วงที่ช่วงที่ผ่านมา จักรยานยนต์ประเภทนี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น มีระบบเบรก และความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารดีขึ้นอีกด้วย จึงอยากให้รัฐมีการกำหนดความเหมาะสมอีกครั้ง

ส่วนสุดท้าย คือข้อ 4 อยากให้รัฐเข้ามาเป็นคนกลาง ระหว่างไรเดอร์ และบริษัทแพลตฟอร์ม  

อรรถพล กล่าวถึงการเจรจากับตัวแทนพรรคเพื่อไทย ว่าทางพรรคฯ จะมีการนัดทางไรเดอร์คุยเป็นกิจจะลักษณะอีกครั้ง และจะคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกด้าน รวมถึงทางกระทรวงคมนาคม จากนั้น จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ในที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมต่อไป ทั้งนี้ ถ้าภายใน 2-3 อาทิตย์ ยังไม่มีความคืบหน้า ทางตัวแทนกลุ่มอาจมีการเดินทางเข้าไปติดตามเรื่องที่พรรคเพื่อไทยอีกครั้ง 

สำหรับกลุ่มไรเดอร์ 'Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน' มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือไรเดอร์ด้วยกัน แก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างไรเดอร์ และวินมอเตอร์ไซค์ เวลามีการกระทบกระทั่งเรื่องพื้นที่รับ-ส่งผู้โดยสาร รวมถึงนำปัญหาของไรเดอร์ ไปพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอีกด้วย 

หนังสือถึงพรรคเพื่อไทย จากกลุ่ม Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน 

ขอพบนายกฯ โดยตรง เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่ไรเดอร์ที่ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารพบเจอ ยกตัวอย่างเช่น 

  1. ขั้นตอนขอลงทะเบียนที่ล่าช้ามากเกินไป รวมถึงรายละเอียดขั้นตอนที่ซับซ้อนมากเกินไป พนักงานแต่ละท่านแจ้งข้อมูลไม่ตรงกัน และเงื่อนไขแต่ละสำนักงานแตกต่างกัน
  2. จังหวัดต่างๆ ที่ตอนนี้ยังไม่เปิดลงทะเบียน ควรให้ภาครัฐเร่งดำเนินการ เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม เป็นต้น เร่งดำเนินการของกรมขนส่ง บางจุดมีความไม่ชัดเจน และมันล่าช้า อยากให้ทุกมิติมันเสร็จสมบูรณ์ แต่ยังไม่อยากทะเลาะวิวาท 
  3. กฎหมายที่กำหนดขนาด CC ที่ในปัจจุบัน รถที่มีขนาดใหญ่เหมาะสมกับการรับผู้โดยสารมีขนาดอยู่ที่150-160CC (บางรุ่น) ยกเว้น รถประเภทวิบาก หรือทรงคล้ายๆ บิ๊กไบค์ ให้รัฐกำหนดตามความเหมาะสมอีกครั้ง รถประเภทนี้ใช้ความเร็วในกรุงเทพฯ ไม่เกิน 90-100 กม./ชม. แต่รับน้ำหนักได้ดี จึงเหมาะสมกับการรับส่งผู้โดยสาร ซึ่งชาวต่างชาติมีรูปร่างสูงใหญ่ และเกิน 50% เรียกใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม 

3.1  เนื่องด้วยร่างกฎหมายนี้กำหนดใช้มาหลายปีแล้ว เห็นสมควรว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันยุคสมัย ซึ่งปัจจุบันรถจักรยานยนต์ในรุ่น 150-160 CC เป็นที่นิยมมากขึ้น และระบบเบรค รักษาความปลอดภัยของผู้ขับขี่ และผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น 

  1. อยากให้รัฐฯ สร้างบรรทัดฐานของอาชีพไรเดอร์ คอยสนับสนุนเป็นคนกลางระหว่างไรเดอร์ และแพลตฟอร์ม

ในปัจจุบัน 2-3 เดือนที่ผ่านมาทางภาครัฐได้เปิดให้มีการลงทะเบียน ทางผู้ขับขี่ได้ทำการยื่นเอกสารของตัวเองและที่บริษัทออกใบรับรองให้ ให้กับกรมการขนส่งทางบก ไปหลายพันค้นแล้ว ทั้งป้ายรถสาธารณะ และป้ายส่วนบุคคล เพื่อขอดำเนินการให้ถูกต้อง แต่ ณ ตอนนี้ขนส่งใน กทม. บางพื้นที่ยังไม่มีข้อมูล และยังไม่ดำเนินการ จึงอยากให้ภาครัฐเร่งทำให้ถูกต้อง เพื่อที่จะทำให้ผู้โดยสารสบายใจมากขึ้นในการใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม 

และขอให้ภาครัฐ เปิดอบรมการขับขี่ วินัยต่างๆ ให้กับทางไรเดอร์เพื่อเพิ่มเติมความรู้ทั้งด้านกฎหมาย การขับขี่ที่ถูกต้อง ไม่มีการเปิดอย่างต่อเนื่องยิ่งดี 

หนังสือที่กลุ่ม Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน ยื่นถึงพรรคเพื่อไทย (ที่มา: Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net