Skip to main content
sharethis

'เซีย' สส.ปีกแรงงานพรรคก้าวไกล อภิปรายในรัฐสภา ผิดหวังคำแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ไม่เหมือนตอนหาเสียง ขอให้รัฐบาลใช้ความกล้าหาญ ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน


12 ก.ย. 2566 ยูทูบ "TP Channel" ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (12 ก.ย.) ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นวันที่ 2 โดยมีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม 

เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อ่านและฟังคำแถลงของรัฐบาลนำโดย เศรษฐา ทวีสิน แล้วรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่มีนโยบายด้านแรงงานตามที่หาเสียง ท่านได้พูดถึงนโยบายด้านแรงงานอย่างชัดเจนที่สุดพรรคหนึ่ง 

เกริ่น 3 ปัญหาเร่งด่วนของแรงงาน

ก่อนวิจารณ์เรื่องคำแถลง เซีย กล่าวถึงปัญหาเร่งด่วนของแรงงาน 3 เรื่องหลักๆ 1. ค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ 2. ไม่มีอำนาจต่อรอง และ 3. ประกันสังคมไม่ตอบโจทย์ผู้ประกันตน 

เซีย ระบุว่า ประเด็นเรื่องค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เนื่องด้วยกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันในปัจจุบัน ปรับตัวขึ้นไม่ทันค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าแรงควรจะมีมากกว่านี้ ให้แรงงานสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้อยู่ได้ “ไม่ใช่ให้มีชีวิตอยู่อย่างไพร่ทาสไปวันๆ” การที่ค่าแรงถูกแช่แข็งโดยอ้างเรื่องสถานการณ์โควิด-19 และปรับค่าครองชีพเพิ่มทีละ 10 กว่าบาท มันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ 

ต่อมา เซีย ได้พูดถึงปัญหาการคุ้มครองแรงงานว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่เดิมมีความล้าสมัยเพราะบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2541 แต่ตอนนี้ปี 2566 แล้ว ปัจจุบันมีการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่สามารถหลบเลี่ยงกฎหมายได้เต็มไปหมด ปัญหาคนงานทำงานบนแพลตฟอร์มซึ่งมีสถานะแรงงานไม่ชัดเจน ส่งผลทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ปัญหาคนจ้างงานรับเหมาบริการภาครัฐและเอกชนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และมีปัญหากฎหมายที่ล้าสมัยอีกหลายกฎหมาย เช่น วันลาคลอดที่น้อยนิด ที่มีแค่เรื่องหญิงชายมาเป็นข้ออ้างในการจ้างงาน เวลาทำงานมากเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ และอื่นๆ 

ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อถึงปัญหาการไม่มีอำนาจต่อรองของแรงงาน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากกฎหมายแรงงานไทยที่ลิดรอนสิทธิคนงานไม่ให้รวมตัวสร้างอำนาจต่อรองได้ เซีย ระบุว่า ทุกสิ้นปี เราจะเห็นการรายงานข่าวว่า โรงงานต่างๆ มีการให้โบนัส 8 เดือน และปรับเงินเดือน 8 เปอร์เซ็นต์ หรือบางโรงงานให้โบนัส 7 เดือน และปรับเงินเดือนขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโบนัสและเงินเดือนเหล่านี้ล้วนมาจากการต่อรองของคนงาน และไม่ใช่ทุกโรงงานที่ให้แบบนี้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับ 

เรื่องนี้สะท้อนผ่านจำนวนการตั้งสหภาพในประเทศไทยซึ่งมีเพียง 1.5% เท่านั้น โดยมีสหภาพแรงงานจากรัฐวิสาหกิจ เพียง 45 แห่ง และมีสมาชิก 1.4 แสนกว่าคน ขณะที่ สหภาพแรงงานจากบริษัทภาคเอกชน 1,400 กว่าแห่ง มีสมาชิก 4 แสนกว่าคน

ทั้งหมดนี้มาจากการที่ประเทศไทยยังไม่เคยรับรอง อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ข้อที่ 87 และ 98 เกี่ยวกับเรื่องการให้สิทธิรวมตัว และเจรจาต่อรองของคนทำงาน แม้ว่าองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิแรงงาน เคยเสนอให้รัฐบาลให้รับรองนับครั้งไม่ถ้วน แต่ว่ารัฐบาลก็ไม่เคยทำ และเมื่อ 25 ต.ค. 2562 สหรัฐฯ เคยตัดสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร GFP สินค้าส่งออกบางประเภทของไทย  คิดเป็นมูลค่า 3 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยปัญหาสิทธิการรวมตัวกันอีกด้วย 

สุดท้ายเรื่องปัญหาสิทธิและสวัสดิการประกันสังคมไม่ตอบโจทย์ผู้ประกันตน เซีย ระบุว่า ปัญหาสืบเนื่องมาจากตัวแทนในคณะกรรมการสำนักงานประกันสังคม หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘บอร์ดประกันสังคม’ ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชน แต่มาจากแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการเลือกตั้งตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนผู้ประกันตน เข้าไปทำหน้าที่ในบอร์ดฯ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนอีกเลย 

นอกจากยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง ระเบียบเลือกตั้งบอร์ดฯ ก็มีปัญหา เซีย ชี้ว่าระเบียบเลือกตั้งฯ มีการกีดกันแรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนบอร์ดประกันสังคม ทั้งที่แรงงานข้ามชาติก็เป็นผู้ประกันตนเช่นเดียวกัน จึงอยากฝากถึงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ให้เร่งแก้ไขเรื่องดังกล่าว

ประการต่อมา เซีย หยิบยกปัญหาเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 ที่น้อยเกินไป และเสี่ยงทำให้ผู้ประกันตนถอนตัวออกจากกองทุน เรื่องการนำเงินไปลงทุนที่ปรากฏเป็นข่าวเรื่องความโปร่งใสอยู่บ่อยครั้ง ปัญหาผู้ประกันตนไปใช้บริการโรงพยาบาล แล้วได้รับการบริการที่ล่าช้า และได้รับยาคุณภาพต่ำ ปัญหาไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้แรงงานที่เป็นลูกจ้างในการจ้างงานรูปแบบใหม่ๆ เข้าเป็นสมาชิกกองทุนได้ จึงอยากฝากนายกรัฐมนตรี เร่งกำชับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมด้วย

"พอกันทีกับบอร์ดมรดก คสช. ผู้ประกันตนทุกคนไม่ว่าจะเป็นไทย หรือแรงงานข้ามชาติ ทุกคนต้องมีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนของพวกเขาเอง เพื่อให้ดูแลผลประโยชน์ของผู้ประกันตน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งกองทุนประกันสังคม อย่าให้ผู้ประกันสังตน อยู่กับบอร์ดที่ไม่ดี หนีไม่จ่าย เงินก็หาย ไม่ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมต่อไป" เซีย จำปาทอง กล่าว 

เทียบคำแถลงนโยบายแรงงานในคำแถลง รบ.เศรษฐา 1 กับแถลงวันแรงงาน 'เพื่อไทย' 

หลังจากเซีย อภิปรายประเด็นปัญหาของแรงงานแล้ว ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้กล่าววิจารณ์ถึงคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา 1 ซึ่งไม่ตรงกับที่พรรคเพื่อไทย เคยสัญญาในแถลงการณ์วันแรงงานสากล หรือเมื่อ 1 พ.ค. 2566 

แถลงการณ์วันแรงงานสากลของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566

พี่น้องแรงงานคือ "แรงขับเคลื่อน" สำคัญในเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาโดยตลอด แต่ 8 ปีที่ผ่านมากลับเป็นภาคส่วนที่ถูกละเลย ได้รับผลกระทบสูงสุดจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ คุณภาพชีวิตเปราะบางย่ำแย่ลงจาก 8 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงถูกแช่แข็ง รายได้ไม่พอต่อค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สินฉุดรั้ง ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ อีกทั้งยังเจอปัญหาสังคม ยาเสพติด มลภาวะ คอยกัดกร่อนชีวิต

วันนี้เป็นวันสำคัญของพี่น้องแรงงาน พรรคเพื่อไทยจะยกระดับแรงงานไทย มีงานให้เลือก มีรายได้ให้พอ มีเงินให้เหลือในกระเป๋า มีอำนาจให้ต่อรอง มีสังคมและคุณภาพชีวิตให้สามารถส่งต่อให้ลูกหลานได้อย่างมีศักดิ์ศรี พรรคเพื่อไทยจะ "รดน้ำที่ราก" โดยนโยบายของพรรคจะเริ่มจากการสร้างฐานที่แข็งแรง พี่น้องแรงงานต้องได้รับการดูแลในทุกมิติ

1. ค่าแรงขั้นต่ำ: พรรคเพื่อไทยจะยกระดับรายได้ของพี่น้องแรงงานทั้งระบบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ผ่าน 2 นโยบายหลัก คือ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ต่อเดือน ภายในปี 2570 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความกินดีอยู่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ และลดทอนภาระหนี้ให้กับพี่น้องแรงงานทั้งประเทศ นอกจากนั้นพรรคเพื่อไทยจะมีการเติมเงินดิจิทัลให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน จำนวน 10,000 บาท ซึ่งนอกจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่แล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

นโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจของประเทศโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% บริหารจัดการค่าครองชีพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดูแลทุกภาคส่วนตั้งแต่ การเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ การผลิตและส่งออก เพื่อให้ทั้งฝ่ายแรงงานและภาคเอกชนได้รับประโยชน์จากขนาดของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างยุติธรรม 

2. ศักยภาพแรงงาน: พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะแรงงาน โดยเฉพาะการค้นหาทักษะใหม่ ปลดล็อคศักยภาพของคนไทยในระดับครัวเรือนผ่านนโยบาย  1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ Soft Power เพื่อสร้างรายได้ให้ทุกครัวเรือนผ่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างงานใหม่กว่า 20 ล้านตำแหน่ง และพรรคเพื่อไทยมีนโยบายสร้างแพลตฟอร์มการศึกษา Learn to Earn เพื่อจะพัฒนาศักยภาพแรงงานในทุกช่วงอายุและจะเชื่อมกับระบบการจัดหางานกลางของประเทศ การศึกษาจะยืดหยุ่น ทันสมัย สามารถผลิตแรงงานคุณภาพสูงที่ตรงต่อกับความต้องการของตลาด การหางานที่เหมาะสมกับตัวเองจะง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว

3.  สิทธิและสวัสดิภาพแรงงงาน: พรรคเพื่อไทยจะยกระดับสวัสดิการพี่น้องแรงงานทั้งระบบ นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคและระบบประกันสังคม จะทำให้การเข้าถึงระบบสาธารณสุขสะดวกรวดเร็วขึ้นผ่านเทคโนโลยี รวมทั้งมีความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากขึ้น ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพื่อให้ได้รับสิทธิการเข้าถึงการจ้างงานโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือองค์กรของแรงงาน ผลักดันให้รัฐบาลให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดูแลด้านสวัสดิการ สุขอนามัย และคุณภาพชีวิตของแรงงานในทุกเพศสภาพ สิทธิวันลาคลอดและสิทธิแรงงานคู่สมรสลาเลี้ยงลูกเพื่อสร้างรากฐานครอบครัวให้แข็งแรง รวมถึงการศึกษาและเสนอกฎหมายแรงงานให้ทันสมัย ครอบคลุมธุรกิจรูปแบบใหม่ และมีความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย"

จากแถลงการณ์วันแรงงานสากลของเพื่อไทย เซีย ได้แบ่งประเด็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่ 1. นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเพิ่มค่าตอบแทน ป.ตรี เป็น 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน ภายในปี 2570 2. นโยบายเงินดิจิทัล จำนวน 1 หมื่นบาท 3. ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค 4. สร้างงานใหม่ 20 ล้านตำแหน่ง 5. ส่งเสริมการรวมตั้งสหภาพ 6. สิทธิการลาคลอด 7. คุ้มครองสิทธิแรงงาน และ 8. รับรอง อนุสัญญา ILO 87 และ 98

จากการเปรียบเทียบของ ส.ส.ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล ระบุว่า มีเพียง 2 นโยบายเท่านั้น ที่ถูกระบุในแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา คือ นโยบายเงินดิจิทัล จำนวน 1 หมื่นบาท และ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เท่านั้น ขณะที่นโยบายที่เหลือ 6 ด้านกลับหายไป

(ที่มา: TP Channel)

เซีย กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ออกแถลงการณ์ด่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมาว่าละเลยการดูแลคุณภาพชีวิตแรงงาน แช่แข็งค่าจ้าง ไม่ให้สิทธิในการรวมตัว ท่านอุตส่าห์ดิ้นรนกระเสือกกระสนจนได้เป็นรัฐบาล ท่านก็ละเลยเช่นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่สนใจแรงงานเหมือนรัฐบาลสืบทอดอำนาจเขาทำ เรียนนายก และพรรคเพื่อไทย อย่าได้คิดไปลบนโยบายเรื่องค่าจ้างออกจากเพจพรรคเพื่อไทย เหมือนพรรคการเมืองบางพรรคก่อนหน้านี้ 

เซีย เรียกร้องให้ เศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ให้ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน  ทั้งเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน การจ้างงานใหม่ 20 ล้านตำแหน่ง การส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานให้เข้าถึงการจ้างงานโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิวันลาคลอด และสิทธิแรงงาน เสนอกฎหมายแรงงานให้ทันสมัย ครอบคลุมธุรกิจแรงงานรูปแบบใหม่ สนับสนุนการรวมตัวต่อรอง และข้อสุดท้าย รับรองอนุสัญญา ILO ข้อที่ 87 และ 98 เซีย ระบุต่อว่า นโยบายเหล่านี้ทำได้ไม่ยาก และไม่ใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว และขอให้รัฐบาลเศรษฐา ช่วยผลักดันข้อเสนอแก้กฎหมายที่พรรคก้าวไกล อีกด้วย

นอกจากนี้ ส.ส. ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล มีข้อคำถามฝากไปถึงเศรษฐา ว่าทำไมถึงถอดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำออกจากคำแถลงนโยบาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยประสบความสำเร็จเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาทเมื่อปี 2554 ทั้งที่หลายคนวิจารณ์ว่าไม่น่าจะทำได้ เซีย ถามว่า คนที่กดดันให้ถอดนโยบายดังกล่าวคือกลุ่มทุนที่เศรษฐา ไปร่วมรับประทานอาหารเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่ หรือว่าเป็นพรรคการเมืองที่กำกับกระทรวงแรงงานในขณะนี้เป็นคนขอให้ถอด ส่วนกรณีที่เศรษฐา ทวีสิน กล่าวชี้แจงเมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) ว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เร็วที่สุด อยากให้เศรษฐาชี้แจงให้ชัดถึงกรอบเวลาว่าจะมีการดำเนินนโยบายเมื่อใด เพื่อให้แรงงานจะได้ทราบ และสบายใจว่านโยบายที่หาเสียงไว้จะทำแน่นอนได้เมื่อไร จะได้ไม่โดนต่อว่าเป็นคนกะล่อนหลอกลวงเหมือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์

"นโยบายด้านแรงงานไม่ได้เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมากมายเลย ใช้เพียงความกล้าหาญของท่านในการปฏิบัติหน้าที่ ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ตอนหาเสียง ทั้งหมดทั้งมวลถ้าทำได้ จะยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าทำได้จะเป็นคนที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และแรงงานไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน" เซีย กล่าวทิ้งท้าย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net