Skip to main content
sharethis

'ก้าวไกล' เสียใจหลังถูกสภาฯ คว่ำร่าง กม.คุ้มครองแรงงาน แต่จะไม่หยุดดัน กม.ยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานเข้าสภาฯ 'สหัสวัต' ยันร่างฯ ไม่ได้ก้าวหน้าเกินไป แต่เป็นการทวงสิทธิพื้นฐานคนงาน ซัดพวกอ้าง SME ปัดตกร่าง เป็น 'พวกน่ารังเกียจ' ที่ไม่เคยตั้งคำถามกับนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการจากภาครัฐ


7 มี.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊กพรรค "พรรคก้าวไกล" ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (7 มี.ค.) ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา กรุงเทพฯ เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล และคณะ แถลงเรื่องสืบเนื่องจากวานนี้ (6 มี.ค.) สภาฯ มีมติไม่เห็นชอบชั้นรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยมีเขาและ สส.ก้าวไกล เสนอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เซีย กล่าวว่า เขารู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าร่างกฎหมายที่จะช่วยยกระดับชีวิตคนทำงานในประเทศนี้ให้ดีขึ้นและสามารถลืมตาอ้าปากได้ ด้วยหลักการ "ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต" ดังที่สมาชิก สส.อภิปรายในที่ประชุมฯ และขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ และแรงงานอิสระ กฎหมายที่จะสร้างการดูแลคนงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลฉบับนี้กลับไม่ได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมสภาฯ 

เซีย กล่าวต่อว่า เขารู้สึกดายที่ประเทศพลาดโอกาสสร้างความเสมอภาคทางสังคม เสียโอกาสในการสร้างการริเริ่มสร้างสรรค์ อีกทั้ง เสียโอกาสหลายด้านที่จะเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ เสียดายที่คนทำงานจะมีการคุ้มครองตามหลักนานาอารยประเทศที่เดินนำหน้าพวกเราไปเป็นสิบๆ ปี

ท้ายที่สุด ตนรู้สึกผิดหวังที่บรรดาผู้แทนของประชาชนทั้งหลายมองข้ามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และให้การขับเคลื่อนเสียงของบรรดาเหล่านายทุน ขุนศึก และเจ้าของกิจการ ที่จะได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายของก้าวไกล โดยการคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่วาระแรก ทั้งๆ ที่เป็นเพียงแค่พื้นฐานที่คู่ควรต่อการเป็นมนุษย์ 

เซีย มองว่า การคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเป็นเกมการเมือง ต้องการทำลายคะแนนเสียงความเชื่อมั่นชนชั้นแรงงานต่อพรรคก้าวไกล โดยไม่สนใจว่าเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างไร ทั้งที่กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้กล่าวถึงกองทัพ สถาบันฯ และฝากฝั่งอนุรักษ์นิยมจารีตแต่อย่างใด แม้กระทั่งการแลกเปลี่ยนในสังคมออนไลน์ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจำนวนมากยังเห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ของพวกเรา

"สิ่งที่ปรากฏขึ้นนี้ให้ความรู้สึกดั่งคำที่ว่าชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น" สส.เซีย กล่าว

สส.ก้าวไกล กล่าวว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับนี้จะไม่ผ่านวาระที่ 1 แต่เขาจะเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายเปลี่ยนชีวิตคนทำงานเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไปอีกหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรอง และคอยโอบอุ้มดูแลคนทำงานในประเทศนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

"พวกเราก็ยังเดินหน้าทำงาน ผลักดัน พ.ร.บ.เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำงานปรับปรุงใหม่ ก็จะดีขึ้นกว่าเดิม ต่อเนื่อง จนถึงสภาชุดปัจจุบัน และพวกเรายังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดันกฎหมายเปลี่ยนชีวิตคนทำงาน เพื่อที่จะสร้างคุณภาพชีวิตคนทำงานในประเทศนี้ให้ดีขึ้น" เซีย กล่าว 

เซีย กล่าวว่าหลังจากนี้ตั้งใจผลักดันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่เหลือ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นร่างของวรรณวิภา ไม้สน สส.พรรคก้าวไกล ซึ่งกำหนดเพิ่มวันลาคลอดจากเดิม 98 วัน เป็น 180 วัน แบ่งได้ระหว่างพ่อกับแม่ และการขยายสิทธิการคุ้มครองตามกฎหมายในภาคส่วนข้าราชการ 

เซีย กล่าวถึง สส.ที่แสดงเจตนารมณ์ไม่รับร่างของพรรคก้าวไกล อาจมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัวของพวกเขา เพราะว่าพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นลูกชาวบ้าน หรือหลานคนธรรมดา ซึ่งต่างจากพรรคก้าวไกลซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานมาก่อน ทำให้ได้เข้าใจปัญหาอย่างดี ที่ผ่านมาแรงงานไม่สามารถลืมตาอ้าปาก เนื่องจากติดกรอบกำหนดของกฎหมายไม่ให้พวกเขาได้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ อย่างการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

วรรณวิภา ไม้สน สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในชั้นพิจารณา กมธ. ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พวกเธอต้องมาดูว่า เมื่อรัฐบาลใช้ร่าง ครม.เป็นหลักนั้น จะต้องมาสู้ในเรื่องเนื้อหา เพราะว่าร่างของ ครม. กำหนดให้วันลาคลอด 98 วัน แต่ร่างของ ‘วรรณวิภา’ เพิ่มวันลาคลอด 180 วัน

ยืนยันร่าง กม.ไม่ก้าวหน้าเกินไป แต่ทวงสิทธิพื้นฐานคนทำงาน 

สหัสวัต คุ้มคง สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เขาขอตอบประเด็นที่มีผู้บอกว่า สส.พรรคก้าวไกล เสนอร่างกฎหมายที่ก้าวหน้าเกินไป เขายืนยันว่ากฎหมายของพรรคไม่ได้ก้าวหน้า แต่เป็นหลักและการทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐาน 'ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต' และกล่าวว่าคนที่อ้างว่ากฎหมายก้าวหน้าเกินไปนั้น หัวใจหัวจิตไม่มีความเป็นมนุษย์หรืออย่างไร

อัดพวกอ้าง SME คว่ำร่างก้าวไกล

สหัสวัต กล่าวว่า ต่อประเด็นที่บอกว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อ SME เขามองว่า สส.ที่ใช้ข้ออ้างนี้ต้องเลิกมุดหัวอยู่หลัง SME และตั้งคำถามต่อนโยบายรัฐว่าได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง หรือรายย่อย พร้อมต่อว่าผู้ที่ใช้ข้ออ้างเรื่องนี้เป็นเกราะกำลังเป็น "พวกน่ารังเกียจ" แต่เคยถามว่ามีนโยบายรัฐอะไรที่ช่วยเหลือ SME บ้าง 

"กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อ SME อย่างที่ได้อภิปรายในสภาฯ เลิกมุดหัวอยู่หลัง SME แรงงานเป็นเพียงต้นทุนส่วนหนึ่งของ SME ที่เหลือคุณทำอะไรบ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ลดไหม ค่าน้ำมันจัดการอะไรบ้าง คุณไม่พูดเลย พอเวลาแรงงานเรียกร้องสิทธิแรงงานขึ้นมา คุณจะเอาแต่โหน SME เอา SME เป็นเกราะกำบัง ซึ่งเป็นพวกน่ารังเกียจ พรรคก้าวไกลได้กระชากหน้ากากนักการเมืองบางกลุ่ม ที่แฝงตัวเป็นหนึ่งเดียวกับนายทุน และขัดขวางสิทธิประโยชน์ของแรงงานคนส่วนใหญ่ของประเทศ" สหัสวัต ทิ้งท้าย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา หลังสภามีมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมายของเซีย จำปาทอง เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้โพสต์โซเชียลมีเดีย ประณามการคว่ำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานดังกล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net