Skip to main content
sharethis

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. ....

16 ก.ย. 2566 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. .... เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกลกับคณะ มีข้อมูลประกอบการพิจารณาอ้างถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะเอกสารของรัฐไทยยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านาม ซึ่งถือตามเพศกำเนิด ได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การตัดสินใจกำหนดวิถีทางเพศของตนและกระทบต่อการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม กฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนสากลได้รับรองเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งยอมรับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศที่มีความหลากหลาย จึงควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมุ่งให้เกิดการคุ้มครองและรับรองสิทธิในเรื่องการใช้คำนำหน้านาม การระบุเพศของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตามหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. .... มีทั้งหมด 44 มาตรา 7 หมวด ได้แก่ กำหนดนิยามของคำว่าเพศสภาพ เพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ เอกสารประกาศเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศ บุคคลข้ามเพศ บุคคลเพศกำกวม หญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศ บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ บุคคลผู้มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ การขอให้รับรองเพศตามเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศ มีสิทธิใช้คำนำหน้านามและการขอให้ระบุเพศของตนที่ไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง การขอให้รับรองเพศของบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ การกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลข้ามเพศ บุคคลผู้มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ รวมไปถึงการกำหนดโทษสำหรับกรณีต่าง ๆ อาทิ กรณียื่นคำขอโดยใช้หรืออ้างหรือนำเสนอเอกสารปลอม หรือเอกสารอันเป็นเท็จ กรณีจิตแพทย์ออกเอกสารรับรองอันเป็นเท็จ กรณีสถานศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ กรณีแพทย์ผ่าตัดเพื่อเลือกเพศให้ทารกและระบุเพศทารกในหนังสือรับรองการเกิด กรณีผู้ขอรับรองเพศมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับราชการทหาร หรือเจตนาไม่ปฏิบัติตามหน้าที่รับราชการทหารตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

การเปิดรับฟังความคิดเห็นสำหรับร่างกฎหมายนี้ มีประเด็นคำถามสำคัญที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดนิยามคำ การกำหนดเกี่ยวกับการขอให้รับรองเพศ วิธีการดำเนินการ รายการเอกสาร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำขอให้รับรองเพศ การระบุคำนำหน้านาม และการระบุเพศในเอกสารราชการ การกำหนดสิทธิในมาตรการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การกำหนดเกี่ยวกับบุคคลที่มีเพศกำกวม ตั้งแต่ทารกที่คลอดออกมามีเพศกำกวม เด็กเพศกำกวม ไปจนถึงบุคคลเพศกำกวม ในด้านสิทธิต่าง ๆ และกำหนดให้มีบทลงโทษในการกระทำความผิดตามร่างพระราชบัญญัตินี้

ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้ที่ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=292

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net