Skip to main content
sharethis

สรุป 3 ประเด็น ‘ปิยบุตร’ วิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งของ ‘ช่อ–พรรณิการ์’ ตลอดชีวิต เนื่องมาจากกระทำการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยวิจารณ์ทั้งคำพิพากษา ผลสืบเนื่องของคำพิพากษา รวมถึงให้ข้อเสนอแนะ

ความเห็น 5 ข้อ เรื่อง “คำพิพากษา”

  • เรื่องมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่สมควรให้สถาบันตุลาการเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาด
  • อัตราโทษในการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง สูง ไม่ได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น
  • มาตรฐานทางจริยธรรมที่ออกมา ถูกนำไปใช้บังคับย้อนหลัง ในกรณีของช่อ–พรรณิการ์
  • มาตรฐานทางจริยธรรม ในกรณีของช่อ–พรรณิการ์ ถูกนำไปบังคับใช้ในตอนที่เจ้าตัวไม่ได้ดำรงตำแหน่ง
  • การกระทำของพรรณิการ์เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จริงหรือ

ความเห็น 2 ข้อ เรื่อง “ผลสืบเนื่องทางการเมืองและกฎหมาย”

  • เกิดแนวทางการตัดสิน ใครจะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจขุดดิจิทัลฟุตปริ้นต์มาร้องเรียน ก็มีโอกาสถูกเพิกถอนสิทธิตลอดชีวิตได้
  • ต่อไปนี้มาตรฐานทางจริยธรรมจะกลายเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการเด็ดหัวนักการเมืองฝั่งตรงข้ามให้พ้นตำแหน่ง

ความเห็น 2 ข้อ เรื่อง “ข้อเสนอแนะ”

  • เอามาตรฐานทางจริยธรรมออกจากรัฐธรรมนูญ โดยให้เรื่องนี้เป็นกระบวนการจัดการภายในของแต่ละองค์กร 
  • ยกเลิกโทษเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต หรือกำหนดขอบเขตโทษให้ชัด และยกเลิกโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

23 ก.ย. 2566 วานนี้ (22 ก.ย.) ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ วิจารณ์คำพิพากษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ คมจ.5/2566 ผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล กรณีเพิกถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งของ ช่อ–พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เป็นระยะเวลาตลอดชีวิตกรณีศาลพิพากษา เนื่องมาจากกระทำการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ประชาไทถอดใจความ 3 ประเด็นไว้ด้านล่าง ทั้งข้อวิจารณ์คำพิพากษา ผลสืบเนื่องของคำพิพากษา และข้อเสนอแนะ โดยแต่ละประเด็นจะมีแยกเป็นข้อย่อยอีกที

ความเห็น 5 ข้อ เรื่อง “คำพิพากษา”

1. เรื่องมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่สมควรให้สถาบันตุลาการเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาด

ปกติแล้วทุกๆ องค์กรก็จะมี Code of conduct ของแต่ละที่ ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ภาครัฐ บางที่ก็เรียกว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมบ้าง” บางทีก็เรียกว่า “ข้อควรปฏิบัติ” หรือเรียกว่า คุณค่าที่แต่ละองค์กรจะต้องยึดถือไว้เป็น Core value ซึ่งเป็นปกติที่แต่ละองค์กรจะออกแบบมาตรฐานทางจริยธรรมแบบนี้ขึ้นมา

แต่ทีนี้การออกแบบ Code of conduct หลักการอยู่ที่ว่า “องค์กรใครองค์กรมัน” แต่ละองค์กรจะออกแบบคุณค่าทางจริยธรรมแบบใด เรื่องคุณค่าพื้นฐานนั้นไม่มีใครรู้ดีที่สุดนอกจากคนในองค์กรเอง ซึ่งก็มาจากการพูดคุย อภิปรายถกเถียงกันในองค์กรเองว่าคุณค่าและแนวทางปฏิบัติแบบใดที่จะยึดถือร่วมกัน 

หลักใหญ่ใจความของมาตรฐานจริยธรรมก็คือ จะต้องให้องค์กรนั้นๆ เป็นคนกำหนดกันเอง และตามมาด้วยมาตรการบังคับใช้ มาตรการลงโทษในกรณีที่มีคนฝ่าฝืน ซึ่งก็หมายความว่าให้คนในองค์กรเป็นผู้ออกแบบ เช่น มีคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง มีคณะกรรมการวินิจฉัย แล้วก็ลงโทษในองค์กรของตนเอง

ประเด็นปัญหาความซับซ้อนอยู่ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยกร่างโดย มีชัย ฤชุพันธ์ และคณะ ซึ่งได้นำไปโฆษณาชวนเชื่อตอนทำประชามติว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “ปราบโกง” มียาแรงลงโทษนักการเมือง ใครเห็นใครพบฟังแล้วก็ อือหือ ชื่นชมกันยกใหญ่ว่านี่แหละของจริง รัฐธรรมนูญแบบนี้เข้ามาจัดการนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน 

นั่นจึงเป็นที่มาที่ไปของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จำเลยที่ 1 คือ นักการเมือง และเมื่อออกแบบมาแบบนี้ ตั้งโทษให้สูงๆ เกินกว่าคนปกติที่ได้รับกัน เอามาตรฐานทางจริยธรรมมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้พวกศาลรัฐธรรมนูญ ศาลต่างๆ องค์กรอิสระมานั่งประชุมร่วมกัน และกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมา หลังจากนั้นก็ไปเขียนเพิ่มว่า มาตรฐานทางจริยธรรมแบบนี้ให้เอามาใช้กับ สส. และ สว. ด้วย ดังนั้น สส. เมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ก็ไม่ได้มาตรฐานจริยธรรมขององค์กรตัวเอง แต่ต้องไปหยิบยืมมาตรฐานจริยธรรมของบรรดาศาลและองค์กรอิสระมาใช้ คำถามคือ “ใครจะเป็นคนตรวจสอบ”  

คำตอบมี 2 ประเด็น อย่างแรก ถ้าเกิด สส. ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมทั่วไป อันนี้ก็ให้องค์กรตนเองพิจารณาตัดสินกันเอง ลงโทษกันเองในองค์กร

แต่ถ้าเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันนี้จะไปอยู่ในมือของ ปปช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ซึ่งจะทำการสอบสวนและชี้มูลความผิด จากนั้นเสนอเรื่องไปยังศาลฎีกาให้ศาลพิพากษา ศาลฎีกาชั้นเดียวพิพากษาแล้วจบเลย โต้แย้งอุทธรณ์อะไรไม่ได้ นี่คือสภาพการณ์ที่เป็นอยู่

ดังนั้น ถ้าเราลองพิจารณาประเด็นที่ 1 ว่าเพราะอะไรมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงไม่สมควรให้ศาลฎีกาไปยุ่งเกี่ยว ก็เพราะว่า เรื่องจริยธรรมควรให้แต่ละองค์กรออกแบบกันเอง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไปเอาศาล องค์กรตุลาการต่างๆ เข้ามา มันก็เลยยุ่ง เพราะศาลเป็นองค์กรตุลาการที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท เป็นการตัดสินโดยเอากฎหมายมาตัดสิน “ประเด็นที่เป็นข้อพิพาททางกฎหมาย” แต่ในเรื่องจริยธรรม ความ “พอเหมาะพอควร” ของการปฏิบัติหน้าของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มันไม่ใช่ประเด็นชี้ขาดทางกฎหมาย อีกทั้งคำว่าจริยธรรมก็กว้างขวางเหลือเกิน หลายเรื่องก็ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมายที่จะมาชี้ถูกชี้ผิดกันโดยองค์กรตุลาการ    

ก่อนหน้านี้โฆษกศาลยุติธรรมออกมาแถลงว่า เป็นหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญ 2560 มอบให้มา ปิยบุตรกล่าวว่า ตนเชื่อว่าองค์กรตุลาการก็ไม่ได้ต้องการเอาตัวมาตัดสินเรื่องนี้ แต่เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเขียนไว้อย่างผิดฝาผิดตัว เอาเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไปยกให้ศาลฎีกาตัดสิน

กลับมาสู่หลักที่ถูกต้องคือ ให้แต่ละองค์กรเขากำหนดมาตรฐานจริยธรรมเอง แล้วเขากำหนดกระบวนการวินิจฉัย สืบสวน สอบสวน ลงโทษ มาตรการบังคับใช้เองในองค์กร        

อัตราโทษในการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง สูง ไม่ได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น

ทุกวันนี้อัตราโทษในการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงเป็นอย่างไร ต้องไปดูรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235 วรรคที่ 3 และ 4 เขียนไว้ว่า บทลงโทษมีอยู่ 2 ฐาน

ฐานที่ 1 คือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป หมายความว่าลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ ทั้งในระดับท้องถิ่นและ สส. รวมถึงห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้นตลอดชีวิต

ฐานที่ 2 คือ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี หมายความว่า ใครก็ตามที่ถูกศาลพิพากษาเช่นนี้จะไปกากบาทลงคะแนนอะไรไม่ได้เลยในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี 

ทีนี้ ลองมาดูว่ามันไม่ได้สัดส่วนอย่างไร สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง “การตัดสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี” หมายความว่าคุณกำลังตัดคนๆ หนึ่งให้ออกไปจากความเป็นพลเมือง พลเมืองคือคนที่อยู่ในเมืองใช่ไหม เขาก็อยากจะมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าใครจะมาเป็นผู้แทนของเขาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แต่พอคุณไปตัดตรงนี้ นี่คือการตัดความเป็นพลเมืองออก 

แน่นอนสิทธิขั้นพื้นฐานมันมีชีวิต ร่างกาย เสรีภาพในการแสดงออก แต่อันนี้มันคือสิทธิในทางการเมือง สิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในทางการเมือง ขั้นพื้นฐานคือการแสดงออกผ่านการลงคะแนนเสียง แต่คุณไปเอาสิทธิเขาไปไม่เกิน 10 ปี มันส่อละเมิดสิทธิพื้นฐานของพลเมืองอย่างรุนแรง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดกับหลักสากลอยู่หลายเรื่อง และเรื่องนี้ก็เป็นเพียงเรื่องหนึ่ง

ข้อต่อมา “การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดไป” ไอ้นี่ก็ประหารชีวิตนักการเมืองครับ สมัยนี้มันโลกยุคอารยะ ถ้าเราย้อนไปสมัย 200-300 ปีก่อน เวลาเขาประหารชีวิตทางการเมือง เขาใช้การเอาคอขึ้นเขียงกีโยติน หรือบางทีก็เนรเทศให้พ้นจากประเทศ ทีนี้พอโลกเป็นสมัยใหม่ คุณไล่คนออกจากประเทศไม่ได้ วิธีการประหารชีวิตทางการเมืองจึงคือการไล่ออกจากชีวิตทางการเมืองด้วยการห้ามมันลงสมัครรับเลือกตั้งอะไรเลย ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองอะไรเลย

เมื่อก่อน ช่วงปี 2540,2550 ประเทศไทยเคยใช้ตัดสิทธิ 5 ปี แต่เดี๋ยวนี้แต่ละคนโดนกันตัดสิทธิ 10 ปี และยังเปิดช่องให้ศาลให้ดุลพินิจว่า จะตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกันเท่าไหร่ก็ได้ กรณีตนตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ ศาลตัดสิทธิ 10 ปี แต่ก็มีตุลาการเสียงข้างน้อยเพิกถอนสิทธิตนตลอดชีวิตเหมือนกัน เช่นเดียวกับตอนยุบพรรคไทยรักษาชาติ พวกเขาก็โดนไป 10 ปีเหมือนกัน และก็มีคนหนึ่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตของอดีตกรรมการบริหารพรรคและอนาคตใหม่ 

มันเปิดช่องให้ศาลไปใช้ดุลพินิจเอาเองว่าคุณจะลงกี่ปีก็ได้ ตอนนี้แนวพื้นฐานมันอยู่ที่ 10 ปี แต่กรณีมาตรฐานจริยธรรมยิ่งไปกันใหญ่ ศาลไม่เหลือดุลพินิจเลยว่าจะลงกี่ปี เพราะมันบังคับไว้เลยว่าต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแน่งทางการเมืองตลอดไป… เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญได้อุจอาจมาก ผิดหลักสากล ไปเขียนโทษประหารชีวิตทางการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร  

และยังไม่พอ นี่ยังเป็นเรื่องโทษซ้ำโทษซ้อน ลองดูกรณีนักการเมืองไทยถูกลงโทษแล้วต่อมาจะมี “ลูกต่อเนื่อง” ส่วนใหญ่โทษของนักการเมืองคือการพ้นตำแหน่ง นี่ก็ถือเป็นยาแรงแล้ว ทีนี้ก็มีแถมมาอีก ต่อไปนี้ห้ามไปลงสมัครรับเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญไทยมาตรา 98 มีลักษณะต้องห้ามของคนลงสมัครรับเลือกตั้งเยอะมาก จนตอนนี้มีคนจำนวนมากที่เขาได้รับโทษจากการกระทำของเขาไปแล้ว แต่เขาต้องรับโทษเบิ้ลอีก คือการห้ามลงเล่นการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งนั่นหมายถึงการเขียนรัฐธรรมนูญให้ “การทำความผิด 1 ครั้งโดนลงโทษ 2 เด้ง” เด้ง 1 อาจจะติดคุกไปแล้ว แต่เด้ง 2 คือการห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเป็นการกำหนดอัตราโทษที่สูง ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด กลายเป็นว่าประเทศมีนักการเมืองถูกตัดสิทธิเยอะมาก ตนคาดเดาว่าถึง 100 คน

“ทำไมคุณออกแบบรัฐธรรมนูญให้มีคนถูกตัดสิทธิทางการเมืองมากขนาดนี้ อย่าตอบผมนะว่านักการเมืองมันเลว…มันไม่จริงหรอก นักการเมืองมีดีมีไม่ดีเป็นเรื่องปกติ และคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ก็มีดีมีเลวเป็นเรื่องปกติ แต่บังเอิญว่าระบบของประเทศนี้มันกล่อมเกลาให้นักการเมืองเป็นโจทย์ของสังคม ไม่ว่าขยับซ้ายขยับขวาโดนหมด…ต่อไปนี้พวกเอ็งก็อย่าทำ ให้กลัว ให้เงียบๆ ไว้ อย่าซ่ามาก ซ่าเมื่อไหร่โดนอีก”    

3. มาตรฐานทางจริยธรรมที่ออกมา ถูกนำไปใช้บังคับย้อนหลัง ในกรณีของช่อ–พรรณิการ์

มาตรฐานทางจริยธรรมฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 ส่วนในกรณีที่ช่อ พรรณิการ์ ถูก ปปช. ร้องเรียนไปที่ศาลฎีกามีทั้งหมด 6 กรณี เป็นกรณีที่พรรณิการ์โพสต์ภาพลงเฟซบุ๊กพร้อมข้อความประกอบ 6 ครั้ง ทั้งหมด 6 รูป

รูปที่ 1 วันที่ 25 พ.ย. 2553  รูปที่ 2 วันที่ 5 ธ.ค. 2553 รูปที่ 3 วันที่ 21 ม.ค. 2554 

รูปที่ 4 วันที่ 21 พ.ย. 2556  รูปที่ 5 วันที่ 17 ก.พ. 2557 รูปที่ 6 วันที่ 24 มิ.ย. 2558  

6 รูปนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2553-2558 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่มาตรฐานทางจริยธรรมฉบับนี้ประกาศบังคับใช้

“การกระทำของคุณช่อที่ถูกร้อง 6 กรณี เกิดขึ้นในปี 2553-2558 แล้วอยู่ดีๆ คุณเอามาตรฐานทางศีลธรรมมาใช้กับการกระทำที่เกิดขึ้นในปี 53-58 ได้อย่างไร ในหลักกฎหมายพื้นฐานมีเรื่องการห้ามนำกฎหมายมาใช้บังคับย้อนหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่มีผลกระทบกระเทือนเป็นการลงโทษบุคคล จำกัดสิทธิบุคคลอย่างรุนแรง อันนี้ต้องพึงระวังอย่าใช้ย้อนหลัง

หลักคอมม่อนเซนส์ เวลาที่คุณจะกระทำอะไรลงไป คุณต้องรู้ล่วงหน้าว่ามีกฎหมายอะไรอยู่ เพื่อที่จะรู้ว่าการกระทำสิ่งใดจะผิดกฎหมายข้อใด และมีบทลงโทษแบบใด เมื่อตัดสินใจทำไปแล้ว ผิดหรือไม่ผิดจะได้รู้ล่วงหน้า ไม่ใช่ลงมือกระทำการปี 53 อยู่ดีๆ ปี 61 ดันมามีการกำหนดโทษ ซึ่งไม่แฟร์    

ปิยบุตรระบุว่า ทางฝั่งศาลตีความกรณีนี้อีกแบบ ซึ่งตนเห็นต่าง และจะอ่านให้ผู้ชมไลฟ์ได้ฟัง มีใจความโดยสรุปว่า คำพิพากษาของศาลออกมาในแนวทางที่ว่า อะไรก็ตามที่อยู่ในโลกออนไลน์แล้วคุณไม่ลบ ก็มีโอกาสโดนโทษได้หมด เพราะเป็นการกระทำต่อเนื่อง

“คำพิพากษาในหน้า 28-29 ศาลท่านให้เหตุผลอย่างนี้ครับว่า…ศาลท่านเห็นว่ามันเป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง ไม่มีการลบโพสต์ดังกล่าวออก ดังนั้นจึงถือว่าครอบคลุมการกระทำของคุณพรรณิการ์ด้วย เขาบอกว่าโอเค คุณโพสต์ปี 53 ปี 58 ก็จริง แต่โพสต์แล้วรูปมันก็อยู่อย่างนั้น คุณไม่ลบ ดังนั้นพอคุณไม่ลบ การกระทำมันจึงต่อเนื่อง ด้วยความเคารพศาล ผมเห็นต่าง คือการกระทำที่เกิดวันนั้นก็คือวันนั้นสิครับ”

4. มาตรฐานทางจริยธรรม ในกรณีของช่อ–พรรณิการ์ ถูกนำไปบังคับใช้ในตอนที่เจ้าตัวไม่ได้ดำรงตำแหน่ง

มาตรฐานทางจริยธรรมใช้กับคนที่ดำรงตำแหน่ง ส่วนบทลงโทษก็มีตั้งแต่ว่ากล่าว ตักเตือน จนถึงขั้นสุดที่ควรเป็นคือหากทำผิดก็พ้นตำแหน่งไป ดังนั้นหลักใหญ่ใจความของคนที่ถูกบังคับใช้มาตรฐานทางจริยธรรมคือ คนที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอยู่

แต่ในกรณีของพรรณิการ์ เราจะเห็นว่า หนึ่ง เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่เจ้าตัวยังเป็นนิสิตปริญญาตรีและโท และเป็นผู้ประกาศข่าว ยังไม่ได้เป็นนักการเมืองและ สส. เลย เท่านั้นยังไม่พอ พรรณิการ์ก็มีอายุทางการเมืองเท่ากับตน แล้วเขาก็พ้นตำแหน่ง คำถามก็คือพอเขาพ้นตำแหน่งแล้วจริยธรรมยังต้องตามไปบังคับใช้กับเขาอีกหรือ

“ศาลท่านก็อธิบายว่า พ้น (ตำแหน่ง) แล้วก็พ้นไป แต่ที่เขาร้อง (เรียน) เขาร้องกันในช่วง 10 เดือน 28 วันที่คุณมีตำแหน่ง สส. อยู่ ผมเนี่ยเห็นต่าง ผมเห็นว่าพอมันเป็นเรื่องจริยธรรมมันต้องใช้ตั้งแต่ที่ตัวเขาเป็นอยู่ ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้ หลังจากนั้นก็ไม่ได้…แม้การร้องเรียนจะเกิดขึ้นในขณะที่เขาเป็น สส.ก็ตาม แต่ ณ วันนี้เขาไม่ได้เป็นแล้ว”

สมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็โดนลักษณะคล้ายๆ กันนี้ ยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้วเรียบร้อย หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งอีก โดยลากมาจากมูลเหตุที่ศาลปกครองตัดสินเรื่องการย้ายข้าราชการระดับสูงคนหนึ่ง หนำซ้ำ โดน คสช. ยึดอำนาจอีก ก็พ้นตำแหน่งอีก และสมัย สนช. ยังมีการลงโทษถอดถอนยิ่งลักษณ์ในวุฒิสภาอีก “สาเหตุที่ถอดอีกเพราะอยากให้มันพ่วงโทษอุปกรณ์ตัดสิทธิเข้าไป อยากเอาโทษตัดสิทธิแถมเข้าไปอีกหน่อย จะประหัตรประหารกันจนถึงที่สุด แม้ว่าในวันนี้คนๆ หนึ่งได้พ้นจากตำแหน่งไปตั้งนานแล้ว” 

5. การกระทำของพรรณิการ์เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จริงหรือ

นี่เป็นประเด็นที่คนมักไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์กัน ส่วนมากจะไปพูดกันเรื่องเทคนิค เช่น โทษสูงเกินไป เอามาให้ศาลตัดสินได้ยังไงเรื่องมาตรฐานจริยธรรม หรือการบังคับใช้ย้อนหลัง

แต่การถกเถียงกันเรื่องเนื้อหาของคดี ว่าด้วยการกระทำของพรรณิการ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงจริงหรือเปล่านั้น ยังไม่ค่อยมีคนให้ความเห็นเท่าไร

“ผมยืนยันว่าการกระทำของคุณช่อ ในความเห็นผมนะ มันไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงที่ ปปช. ร้องไปมี 2 ข้อ มีข้อ 5 คือ ไม่ธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และข้อ 6 เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดเอาไว้ว่าต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งศาลฎีกาในคดีพรรณิการ์นี้ ลงโทษพรรณิการ์จากกรณีฝ่าฝืนข้อ 6 

ทีนี้ ปปช. เอา 6 รูปส่งไปถือว่าฝ่าฝืนเรื่องไม่ธำรงรักษาระบอบ และเรื่องต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในคำพิพากษากล่าวจำเพาะว่า

“รูปที่ 1 รูปที่ 4 รูปที่ 6 เป็นกรณีพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 และรูปที่ 5 เป็นกรณีพาดพิงสมเด็จพระเทพฯ… ศาลเลือก 4 รูป ให้เหตุผลในคำพิพากษาหน้า 30 เขียนบอกว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นมิ่งขวัญ และเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของปวงชนชาวไทย โดยกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ว่า ในหลวง พ่อหลวง หรือพ่อของแผ่นดิน เป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ปวงชนชาวไทยมีความรักและเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดมา แต่เมื่อพิจารณาการกระทำของผู้คัดค้าน (ก็คือพรรณิการ์) ที่ลงภาพถ่ายและข้อความในช่วงเดือน พ.ย. 2553- มิ.ย. 2558 แม้จะต่างวันเวลากันก็ตาม แต่เป็นการกระทำอย่างต่อเนื่องกันมา จึงต้องนำการกระทำของผู้คัดค้านทั้ง 6 กรณีมาพิเคราะห์ร่วมกัน...รูปที่ 1 2 3 4 และ 6 เป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และรูปที่ 5 เป็นการพาดพิงถึงสมเด็จพระเทพฯ อันเป็นการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือมิบังควรอย่างยิ่ง เป็นการไม่เคารพในหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นทัศนคติของผู้คัดค้านที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนที่จะดำรงตำแหน่ง สส. และเมื่อผู้คัดค้านดำรงตำแหน่ง สส. แล้ว ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมแล้ว แต่ผู้คัดค้านยังคงปล่อยให้ภาพถ่ายและข้อความตามคำร้องทั้ง 6 กรณีที่เป็นการกระทำอันมิบังควรยังปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์…แม้ว่าจะตั้งค่าในเฟซบุ๊กให้ปิดกั้นการเข้าถึงของสาธารณะ และก็ให้เฉพาะบุคคลที่เป็นเพื่อนที่จะมองเห็นเท่านั้น ศาลท่านก็บอกว่าเพื่อนในเฟซบุ๊กมีตั้ง 4,000 กว่าคนยังจะสามารถเข้าถึงภาพถ่ายและข้อความทั้งหมดได้”

เวลาเราจะวินิจฉัยเรื่องอะไรก็ตามมันต้องมีองค์ประกอบว่าคำว่า “พิทักษ์รักษา” มันคืออะไร การโพสต์รูป 6 รูปมันเท่ากับการไม่พิทักษ์รักษาสถาบันฯ หรือเปล่า

ทั้งนี้ อาจจะมีคนเห็นว่าการแสดงออกช่วงปี 53 ของพรรณิการ์ไม่เหมาะ มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ซึ่งการชอบ ไม่ชอบ หรือเห็นด้วยกับการแสดงออกหรือไม่ก็เป็นรสนิยม แต่ต้องกลับมายึดที่หลักการก่อน การเห็นว่า “ดูแล้วมันไม่เหมาะ” เป็นละเรื่องกับการไม่พิทักษ์รักษาสถาบันฯ  

“การแสดงออกของคุณช่อ บางคนอาจจะไม่ชอบ บางคนอาจจะรู้สึกเจ็บปวด มันไม่เหมาะ ทำไปทำไมวะ ติฉินนินทาคุณช่อ อันนั้นเป็นเรื่องหนึ่งนะ แต่มันไม่ได้เท่ากับการโพสต์รูปเหล่านั้นมันเท่ากับการไม่พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์”

ความเห็น 2 ข้อ เรื่อง “ผลสืบเนื่องทางการเมืองและกฎหมาย”

เกิดแนวทางการตัดสิน ใครจะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจขุดดิจิทัลฟุตปริ้นต์มาร้องเรียน ก็มีโอกาสถูกเพิกถอนสิทธิตลอดชีวิตได้

ต่อไปนี้มาตรฐานทางจริยธรรมจะกลายเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการเด็ดหัวนักการเมืองฝั่งตรงข้ามให้พ้นตำแหน่ง

การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 5 ถึงข้อ 10 จะถือว่าฝ่าฝืนอย่างร้ายแรง ประเด็นคือถ้อยคำที่เขียนไว้มันกว้างมาก

ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนตน

ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นหรือมีพฤติกรรมที่รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ของตนในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมรับทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใด ต่อการที่อาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่

ข้อ 10 ต้องไม่รับของขวัญ กำนัล ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการจัดการหาให้โดยธรรมจรรยาและการรับที่มีบทบัญญัติในกฎหมายกำหนดให้รับไว้

ข้อที่เขียนชัดๆ ยังพอเข้าใจได้ว่าหมายถึงอะไร เช่น การรับสินบน รับของขวัญเกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่ข้อ 5-8 ถ้อยคำกว้างมาก

“ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คนทำรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรีมาได้ ไม่เห็นผิดนี่ คนทำรัฐประหารมา ผิดไหม ข้อ 5 เนี่ย น่าจะผิดนะ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”             

ความเห็น 2 ข้อ เรื่อง “ข้อเสนอแนะ”

1. เอามาตรฐานทางจริยธรรมออกจากรัฐธรรมนูญ โดยให้เรื่องนี้เป็นกระบวนการจัดการภายในของแต่ละองค์กร 

2. ยกเลิกโทษเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต หรือกำหนดขอบเขตโทษให้ชัด และยกเลิกโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ในกรณีตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อาจยังคงเหลือไว้ได้บ้าง แต่ต้องเขียนขอบเขตของโทษให้ชัดเจน อย่าเปิดให้ศาลใช้ดุลยพินิจเอง เช่น เขียนไว้เลย ระวางโทษ 1-3 ปี ลดโทษลงมาให้ได้สัดส่วน สมัยรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่เกิน 5 ปี แต่ปัจจุบันขยายเป็น 10 ปี หรือตลอดชีวิตซึ่งตนมองว่าสูงเกินไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net