Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคณะราษฎรยกเลิก 112 หรือ ครย. ร่วมวางพวงมาลา และอ่านแถลงการณ์ 50 ปี 14 ตุลา ตามหาร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ ผ่าน สสร.ที่มาจากเลือกตั้ง ปชช. ยกเลิก 112 และนิรโทษกรรมคดีการเมือง ด้าน 'พรรณิการ์' เผยดอกไม้ที่มีค่าสุดแด่วีรชน คือร่าง รธน.ใหม่ และ สสร.มาจากการเลือกตั้งของ ปชช.โดยตรง เพื่อยุติระบอบเผด็จการ

 

สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเวลา 9.00 น. ของวันนี้ (14 ต.ค.) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน มีการจัดงานครบรอบ 50 ปี รำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยมีการวางพวงมาลา และกล่าวรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวจากตัวแทนแรงงาน ภาคประชาชน และนักการเมือง

เมื่อเวลา 10.28 น. เครือข่ายคณะราษฎรยกเลิก 112 หรือ ครย. กล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นำโดย ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน โดยมีการอ่านแถลงการณ์ "50 ปี 14 ตุลา ตามหารัฐธรรมนูญใหม่ ปล่อยนักโทษการเมืองยกเลิก 112" 

ตัวแทน ครย.

แถลงการณ์ 50 ปี 14 ตุลา ตามหารัฐธรรมนูญใหม่ ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิก 112 

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มต้นจากการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่กลุ่มผู้เรียกร้องกลับถูกจับกุมคุมขังเป็น 13 ขบถ ประชาชนจึงลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้ง 13 คน และขับไล่ 3 ทรราช ถนอม-ประภาส-ณรงค์ เป็นผลสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชน เป็นจำนวนถึง 77 คนด้วยกัน ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนตื่นตัวเรื่องสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2517 ที่ขยายสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่โครงสร้างการเมืองยังคงเป็นเผด็จการด้วยการแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ ตามมาด้วยรัฐบาลคึกฤทธิ์ และเสนีย์ ปราโมช ที่เป็นราชนิกูล และเป็นเครือข่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งปล่อยให้ทหารและตำรวจเข่นฆ่าประชาชนในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 และใช้อำนาจเผด็จการทหารแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มโทษจำคุกให้รุนแรงถึง 15 ปี กลายเป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพประชาชน และทำลายล้างพรรคการเมืองประชาธิปไตย

ล่วงมาถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2563 คณะราษฎร 2563 ได้เรียกร้องขับไล่ผู้นำเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องข้อแรกแทบไม่ได้ต่างกันนักกับข้อเรียกร้องในเดือนตุลาคม 2516 อาจจะมีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นของใหม่ เป็นการผลักดันการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยจาก 14 ตุลาคมให้ต่อเนื่อง แกนนำสำคัญของการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 คือทนายอานนท์ นำภา ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ขณะนี้ถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมืองอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พร้อมกับนักโทษการเมืองอื่นๆ ที่เคยต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยอีกเป็นจำนวน 36 คนด้วยกัน และยังมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวน 258 คน

คณะราษฎร ยกเลิก 112 (ครย. 112) ได้รณรงค์ให้มีการยกเลิกมาตรา 112 เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 250,000 คนผ่านทางเว็บไซต์ No112.org เสนอต่อรัฐสภาให้มีการแก้ไขมาตรา 112 แต่กลับถูกสั่งปิดกั้น อันแสดงให้เห็นถึงภาวะถดถอยของเสรีภาพและประชาธิปไตยในช่วง 50 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ในโอกาสครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คณะราษฎร ยกเลิก 112 (ครย.112) ขอร่วมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นและยืนยันสานต่อเจตนารมณ์ของคนเดือนตุลา 2516 โดยมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  1. นักโทษการเมืองในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดจะต้องได้รับสิทธิการประกันตัวตามรัฐธรรมนูญ 2560 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายระหว่างประเทศ 
  2. รัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและผู้ถูกดำเนินคดีทางจากการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและารแสดงออกทางการเมืองในทุกกรณี
  3. ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
  4. ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

ก่อนที่ตัวแทนกล่าวปิดท้ายด้วยการอ่านกลอน และกล่าวว่า เผด็จการจงพินาศ และประชาราษฎร์จงเจริญ

‘จาตุรนต์’ แถลง 3 จุดยืนของเพื่อไทย เยียวยาผู้เสียหาย แก้กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพ ปชช. และร่าง รธน.ใหม่

ด้านจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวรำลึกว่า การต่อสู้ของประชาชนเมื่อ 14 ตุลา 2516 ทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง และประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากที่สุดครั้งหนึ่ง แต่ว่าสภาพนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน เพียง 3 ปีหลังจากนั้น เผด็จการก็กลับมายึดอำนาจในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และรัฐประหารในวันเดียวกัน พาประเทศไทยถอยหลังกลับไปเป็นเผด็จการอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ดี 14 ตุลา ยังมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ คือการประกาศเจตนารมย์ของประชาชนที่ต้องการเป็นประชาธิปไตย และบ้านเมืองมีสิทธิเสรีภาพ 14 ตุลา เป็นการจุดประกายให้เห็นคุณค่าพลังของประชาชน และพลังของคนหนุ่มสาว ที่สามารถทำให้เกิดประชาธิปไตย และเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 

จาตุรนต์ ฉายแสง และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์

เมื่อเราโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันเราควรจะเน้นย้ำอะไร นอกจากย้ำเจตนารมณ์และเชิดชูสดุดีวีรชน 14 ตุลา จาตุรนต์ ระบุว่ามี 3 เรื่อง 1. การเยียวยาดูแลผู้สูญเสียเสียหายญาติวีรชนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้ง 14 ตุลา และเหตุการณ์อื่นๆ ต่อเนื่อง    

2. คุ้มครองส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้สามารถใฝ่ฝันแสดงออกเพื่อให้ได้สังคมที่ดีกว่า ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล และรวมถึงการแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

ประการสุดท้าย 14 ตุลา เกิดขึ้นจากการที่ประชาชนเรียกร้องในหลายเรื่อง รวมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตอนนี้เรามีรัฐธรรมนูญ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เราจึงต้องร่วมกันแก้ไข เขียนใหม่ และร่างใหม่ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

“นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ และตั้งแต่ไทยรักไทย ก็พูดแบบนี้ หลายครั้งก็ให้ผมเป็นผู้มาพูดตามนโยบายของไทยรักไทย สิ่งที่ผมพูดไปว่าต้องเน้นย้ำ 3 ข้อ ก็ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวของผม หรือเพื่อนผมอีกเช่นเดียวกัน การเยียวประชาชน การดูแลผู้เดือดร้อนผู้เสียหายจากการชุมนุม ต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีเสรีภาพ เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทย ประกาศตลอดมา และประกาศในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด” จาตุรนต์ กล่าว 

หลังจากนั้น นายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ ชวนประชาชนร่วมยืนสงบนิ่งไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์ จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

ดอกไม้ที่มีค่าสุด คือร่าง รธน.ใหม่ ยุติระบอบเผด็จการ

พรรณิการ์ วานิช และเบญจา แสงจันทร์ ตัวแทนคณะก้าวหน้า วางพวงมาลา และกล่าวรำลึกว่า เรียกประชาชนผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ และขอย้อนกลับไปในเหตุการณ์รำลึก 25 ปี 14 ตุลา เมื่อปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมีประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญดีที่สุดเท่าที่จะมีได้ เราจึงฉลองวันที่ 14 ตุลา ด้วยความคาดหวังว่าประเทศไทยจะมีประชาธิปไตย มีเสรีภาพ มีความเสมอภาค และเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

เบญจา แสงจันทร์ และพรรณิการ์ วานิช

และในงานครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา เราควรจะได้เฉลิมฉลองอย่างอารยประเทศ และหวังว่าจะไม่มีใครต้องสูญเสียจากการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย และเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ตอนนั้นกับตอนนี้ดูเหมือนว่าจะเหมือนกัน เพราะแม้ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังมีจุดโหว่สำคัญ นั่นก็คือในท่ามกลางการปฏิรูปการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ละเว้นการปฏิรูปกองทัพ ไม่มีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน สามารถทำรัฐประหาร และทำให้การสูญเสียของประชาชนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลให้การต่อสู้ระหว่างประชาชน กับเผด็จการ ที่ควรจะจบ 14 ตุลา 2516 6 ตุลา 2519 และ พฤษภา 2535 กลับต้องวังวนกลับมา และในปัจจุบันทำให้เยาวชนคนหนุ่มสาวจำนวนมากเข้าเรือนจำ เพราะแสดงความเห็นที่ต่างจากผู้มีอำนาจ

พรรณิการ์ ระบุว่า ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา เธออยากให้มีการจำกัดมรดกของคณะรัฐประหารให้สิ้นซาก แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลล่าสุดคงเรียกไม่ได้เต็มปากว่าเป็นรัฐบาลที่ปลอดจากการสืบทอดอำนาจจากเผด็จการ แต่อย่างน้อยเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พวงหรีด พวงมาลา พวงดอกไม้ไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้กับเผด็จการ จะมีประโยชน์อะไร หากเราละเว้นการกำจัดมรดกรัฐประหาร และป้องกันไม่ให้มีการเกิดขึ้นของเผด็จการครั้งใหม่ รัฐธรรมนูญจะต้องถูกร่างใหม่ทั้งฉบับ และผ่าน สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ซึ่งนั่นจะเป็นดอกไม้ที่มีค่าที่สุดให้กับผู้เสียชีวิต และเสียเลือดเนื้อ เสียญาติพี่น้องในการต่อสู้กับเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องต่อสู้กับเผด็จการไม่จำเป็นอีกต่อไป ไม่ต้องมีชีวิตใดอีกที่ต้องสูญเสีย เพื่อแลกกับการมีประชาธิปไตยในประเทศนี้ 

พรรณิการ์ ทิ้งท้ายว่า เราหวังว่าในปีหน้าหรือปีถัดๆ ไป จะมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และทำให้การสูญเสียเลือดเนื้อและการต่อสู้กับเผด็จการเป็นหน้าประวัติศาสตร์เสียที

ประตูบานแรกคือการนิรโทษกรรม คลี่คลายความขัดแย้ง ฟื้นฟูนิติรัฐและนิติธรรม

ด้านเบญจา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นการสร้างระบอบการเมืองที่เราอยากเห็น ต้องมีการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่ฉบับเดิมทั้งฉบับ และเดินหน้าไปด้วยกัน และไม่เพียงแต่เราอยู่ในวิกฤตการเมือง แต่เรากำลังเผชิญวิกฤตนิติรัฐที่ทำสงครามกับประชาชนขนานใหญ่ เราอยู่ในประเทศที่หลักการประชาธิปไตยถูกทำลาย สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน ไม่เหลือแม้นิติรัฐและนิติธรรม การรัฐประหารตั้งแต่อดีตและปัจจุบันมีประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องและแสดงความเห็นทางการเมือง และเหตุการณ์วนเวียนกลับไปอยู่ที่เดิม ปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีประชาชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 2,000 คดี มีเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ถูกดำเนินดคีมากกว่า 300 คน ในบรรดาคดีการเมืองเหล่านี้เราไม่พูดถึงไม่ได้  

เบญจา ระบุต่อว่า เราต้องยอมรับความจริงว่าทุกสังคมต้องเปลี่ยนแปลง และเดินไปข้างหน้า และเราต้องเดินหน้าอย่างมีวุฒิภาวะและต้องสอดคล้องกับยุคสมัยของพวกเรา นี่เป็นผลิตผลของพวกเขาที่สร้าง และหมักหมมขึ้นมาสืบเนื่องจนวันนี้ 

กล่าวมาถึงตรงนี้เพื่อบอกว่า 50 ปีผ่านมาแล้ว การตื่นตัวทางการเมืองมีมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการใช้นิติสงครามมากขึ้น และเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข สิ่งนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลารอวันระเบิดเท่านั้น และเราต้องรีบแก้ไขให้ถูกทาง ดังนั้น ถ้าเราไม่ถอนฟืนออกจากกองไฟ เราจะไม่สามารถสร้างชาติที่มีอนาคตได้ ถ้าเราเอาแต่คุมขังเยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศนี้ เราจะเดินหน้าไปอย่างไร ถ้าเราไม่แสวงหาฉันทามติใหม่ ที่สังคมไทยจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน เป็นฉันทามติของเราร่วมกันทั้งสังคม ร่วมกันฟื้นฟูนิติรัฐ และนิติธรรมไปพร้อมกัน

เบญจา ระบุต่อว่า เธอขอใช้โอกาสนี้ที่ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการเมื่อ 50 ปีที่แล้วในการที่บอกว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องผลักดันร่วมกันในวันนี้ คือการปฏิรูประบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปสถาบันตุลาการ ปฏิรูปการทำนิติสงครามกับประชาชน และหันมาใช้การเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบปกติ เพื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเราได้มีพื้นที่พูดคุยได้อย่างมีวุฒิภาวะ ประตูบานแรกของเราคือการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งหมด ประตูบานนี้จะนำมาสู่การคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่นี่ไม่ใช่เพียงการปล่อยเพื่อนเรา แต่เป็นการปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจ ศักยภาพประเทศไทย 

เบญจา ทิ้งท้ายว่า ขอเชิญชวนทุกคนทุกฝักฝ่ายช่วยกันพาประเทศเดินหน้าออกจากเมฆหมอกทางการเมืองที่มืดครึ้มยาวนานมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปลดล็อกชนวนระเบิด และรับฟังความเห็นแห่งยุคสมัยไปด้วยกัน คืนความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีทุกคนนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 นี่คือก้าวแรกของการคืนความยุติธรรม ความเชื่อมั่นที่จะอยู่ในสังคมนี้ร่วมกันได้ ไม่ว่าพวกเราจะมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม เชิญชวนทุกคนเดินร่วมกัน 

ทั้งนี้ สื่อมติชน ออนไลน์ รายงานด้วยว่า ระหว่างจัดงานวางพวงมาลา และกล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้มีนักกิจกรรมทางการเมืองสวมชุดคล้ายนักโทษ ชูป้ายเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ถูกคุมขังคดีการเมือง อาทิ ‘อาลีฟ’ วีรภาพ , อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ‘น้ำ’ วารุณี และคนอื่นๆ 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองเพิ่มเป็น 36 ราย โดยแบ่งเป็น นักโทษคดีเด็ดขาด จำนวน 12 ราย สำหรับผู้ที่เข้าไม่ถึงสิทธิประกันตัวระหว่างสู้คดีมีด้วยกันทั้งหมด 24 ราย ประกอบด้วย คดีมาตรา 112 จำนวน 9 ราย และคดีอื่นๆ 15 ราย 

นอกจากนี้ บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการจัดแสดงภาพถ่ายขาว-ดำ บุคคลต่างๆ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ยังมีชีวิตอยู่ พร้อมเปิดรอยแผลตามร่างกาย จากเหตุสลายการชุมนุมด้วยอาวุธในวันนั้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net