Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ภาค 9 ยืนจำคุก 6 ปี “กัลยา” พนักงานบริษัทจากจังหวัดนนทบุรี ในคดี ม.112, พ.ร.บ.คอมฯ จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กและแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และธนวัฒน์ วงค์ไชย พร้อมเขียนประกอบว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง”

 

20 ต.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงาน ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ระบุ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 6 ปี ในคดี ม.112, พ.ร.บ.คอมฯ ของ 'กัลยา' (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทจากจังหวัดนนทบุรี วัย 28 ปี จากกรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ทำให้กัลยา ต้องถูกส่งตัวไปเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อรอผลการประกันตัวในชั้นฎีกา

ก่อนหน้านี้ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า คดีของกัลยาเป็นอีกคดีหนึ่งในชุดคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 4 ข้อความ โดยกล่าวหาเป็น 2 กระทง

ข้อกล่าวหาที่ถูกกล่าวหา ถูกระบุว่าโพสต์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 มาจากการคอมเมนต์ในเพจแนะนำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลี, จากข้อความที่โพสต์ภาพถ่ายจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563, จากการเขียนข้อความประกอบการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และการแชร์โพสต์จากธนวัฒน์ วงค์ไชย แล้วเขียนประกอบว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง”

ในคดีนี้จำเลยได้ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องมีผู้สามารถเข้าใช้ได้มากกว่าหนึ่งคน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็เป็นเพียงการแคปหน้าจอข้อความมา ไม่ได้มี URL และวันเวลาของการโพสต์ จึงมีการตัดต่อแก้ไขภาพได้โดยง่าย ทั้งข้อความแต่ละโพสต์ถูกนำมาเรียงต่อกันโดยผู้กล่าวหาเอง ซึ่งอาจตีความได้แบบหนึ่ง แต่เมื่ออ่านแยกจากกัน ก็อาจตีความได้หลากหลาย โดยแต่ละโพสต์ก็ไม่ได้ระบุชื่อถึงบุคคลใด

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 14 (3) ลงโทษกระทงละ 3 ปี สองกระทง รวมลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา

เนื้อหาของคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า แม้ผลการตรวจสอบจะไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่โจทก์มีนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน มาเบิกความถึงเหตุการณ์ที่รู้เห็นมาเป็นลำดับขั้นตอน ประกอบกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ที่ให้การว่าจำเลยเปิดบัญชีเฟซบุ๊กโดยมีบุคคลอื่น คือแฟนของจำเลยเข้าไปใช้ได้ หากแต่เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ทั้งคู่ได้เลิกกันและได้มีการเปลี่ยนรหัสเฟซบุ๊ก ศาลจึงเห็นว่าจำเลยเป็นคนใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความตามฟ้องดังกล่าว เมื่อพิจารณาข้อความตามฟ้อง ประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าข้อความทั้งหมดของจำเลยหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ข้อความมีลักษณะเจตนามุ่งหมายให้คนอ่านข้อความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ศาลจึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

ไม่ได้ประกันตัว

สืบเนื่องจากเมื่อ 20 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ ภาค 9 มีคำสั่งยืนคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา วันนั้นกัลยาและทนายความได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวจำนวน 500,000 บาท เพื่อออกมาสู้คดีในชั้นฎีกา ต่อมา ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา

กระทั่งเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลนราธิวาส อ่านคำสั่งศาลฎีกา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 'กัลยา' ข้อหาตามมาตรา 112 ส่งผลให้กัลยา ถูกคุมขังในเรือนจำนราธิวาส ต่อไป

 
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net