Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชน ปกป้องหาดสายบุรี – ปะนาเระ(Save Pantai TIMUR) ร้องทบทวนโครงการกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงใหญ่หวั่นชายหาดสายบุรีพังต่อเนื่องตลอด 16 กม. ขอให้ชะลอไว้ก่อน แล้วศึกษาแนวทางที่เหมาะในการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ที่ไม่ส่งผลชายฝั่งในพื้นที่ถัดไป

29 พ.ย. 2566 เครือข่ายประชาชนปกป้องหาดสายบุรี – ปะนาเระ (Save Pantai TIMUR) และภาคีเครือข่าย เรียกร้องให้ทบทวนรูปแบบโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดปะเสวยะวอ และหาดบางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ในรูปแบบกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงใหญ่ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง

ทางเครือข่ายขอชะลอโครงการออกไปก่อน และให้มีการศึกษาแนวทางที่เหมาะในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ถัดไป ไม่สูญเสียพื้นที่ชายหาด รวมถึงสอดคล้องกับบริบทและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริง

เครือข่ายฯ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานและคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่ ขอให้ทบทวนและชะลอโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นของคณะทำงานฯ ก่อนที่จะมีกระบวนการในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และของบประมาณจากสำนักงบประมาณในลำดับถัดไป

เครือข่ายฯ ระบุเหตุผลว่า โครงการนี้ไม่มีความเหมาะสมต่อพื้นที่ เพราะการดำเนินการในรูปแบบกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงนั้น ขัดกับแนวทางและหลักเกณฑ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนดให้พื้นที่หาดปะเสวยะวอ และหาดบางเก่าใช้มาตรการปรับสมดุลชายฝั่ง

อีกทั้งโครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงใหญ่นั้นจะส่งผลกระทบทำให้ชายหาดตลอดแนวชายฝั่งมีสภาพกลายเป็นกองหิน สูญเสียพื้นที่ชายหาด และเร่งให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่องทำให้ระบบชายหาดตลอดแนวชายฝั่ง 16 กิโลเมตร ตั้งแต่ปะเสวยะวอ ถึง บ้านน้ำบ่อ ได้รับผลกระทบตลอดแนวชายฝั่ง

หาดปะเสยะวอ ภาพจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จดหมายยังระบุด้วยว่า โครงการนี้ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างในขณะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และมีการให้ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ครบถ้วน จึงไม่ความชอบธรรมในการดำเนินการอีกต่อไป

ทางเครือข่ายฯ จึงขอให้ประธานและคณะทำงานฯ ได้พิจารณาทบทวนรูปแบบ และให้มีการศึกษาแนวทางที่เหมาะ เพื่อไม่ให้การพิจารณาของประธานและคณะทำงานชุดนี้กลายเป็นการสร้างมรดกบาปทางสิ่งแวดล้อมที่ทิ้งไว้ให้กับชุมชนชายฝั่งทั้ง 16 กิโลเมตร อย่างที่เคยมีบทเรียนในหลายพื้นที่ที่มีการสร้างกำแพงกันคลื่นจนทำให้สภาพชายหาด และวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีทางหวนกลับคืนมาได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net