Skip to main content
sharethis

พื้นที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ปกครองอยู่ มีประชากรผู้พลัดถิ่นจากสงครามเพิ่มมากขึ้น จนในตอนนี้มีอยู่มากกว่า 700,000 รายแล้ว หลังจากที่เกิดรัฐประหาร 2564 ก็มีการสู้รบหนักขึ้นระหว่างกองทัพเผด็จการกับกองกำลังกะเหรี่ยงฝ่ายต่อต้าน ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้จำต้องหนีจากการโจมตีด้วยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศใน 7 จังหวัดของภูมิภาคกอทูเล หรือดินแดนที่ฝ่ายสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอ้างสิทธิบริหาร

กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) รายงานเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ว่า จังหวัดญองเล่บีน ภายใต้การปกครองของกองพลน้อยที่ 3 ของ KNU มีจำนวนผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นเพราะสงครามเป็นจำนวนมากถึง 248,160 ราย ตามมาด้วยจังหวัดดูปลายา ภายใต้การควบคุมของกองพลน้อยที่ 6 มีจำนวนผู้พลัดถิ่นเพราะสงครามมากเป็นอันดับถัดมาคือ 149,969 ราย

สาเหตุที่จำนวนผู้พลัดถิ่นเพราะสงครามเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้มีปัจจัยมาจากการสู้รบที่รุนแรงขึ้นในเมืองกอกะเร็กและเมืองโมน เรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปฏิบัติการโจมตีของกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นฝ่ายติดอาวุธของ KNU ที่ทำการโจมตีต่อสภากองทัพพม่าช่วงปลายปี 2566 องค์กรให้ความช่วยเหลือของกะเหรี่ยงเน้นย้ำว่ายังไม่มีการสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับการช่วยเหลือกลุ่มประชากรผู้พลัดถิ่นที่กำลังขาดแคลนอย่างมาก

"พวกเราทำจนถึงขีดสุดของพวกเราแล้วในการช่วยเหลือคนผู้พลัดถิ่นและปฏิสัมพันธ์กับประชาคมโลกเพื่อขอการสนับสนุน แต่ความช่วยเหลือในเชิงปฏิบัติจริงที่พวกเราสามารถให้ได้ก็ยังคงจำกัดอยู่ กลุ่มประชากรผู้พลัดถิ่นเพราะสงครามนั้นในตอนนี้มีมากเกิน 700,000 รายแล้ว ซึ่งความต้องการมีมากกว่าเรื่องอาหาร แต่ยังมีความต้องการปัจจัยที่จำเป็นอย่าง ที่อยู่อาศัย, การตั้งรกรากใหม่ และโอกาสในการดำรงชีวิตด้วย" Saw Khe Lay รองประธานคณะกรรมการเพื่อชาวกะเหรี่ยงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (CIDKP) กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อศูนย์ข้อมูลกะเหรี่ยง

Saw Khe Lay บอกว่า จากการเก็บข้อมูลสถิติอย่างละเอียดรอบคอบของ CIDKP ทำให้ทราบว่ามีจำนวนผูู้พลัดถิ่นเพราะสงครามมากกว่า 752,000 รายในกอทูเลตอนนี้ และมีอยู่ครึ่งหนึ่งที่ยังคงขาดแคลนการช่วยเหลือ

Saw Khs Lay กล่าวว่า "น่าเสียดายที่ในหมู่ประชาชน 700,000 ราย การช่วยเหลือของพวกเราสามารถเข้าถึงได้แค่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งอย่างคงเส้นคงวา การช่วยเหลืออีกครึ่งหนึ่งของประชาชนเกิดขึ้นแบบไม่สม่ำเสมอ โดยประมาณแล้วคือทุกๆ 4-5 เดือน ภายใต้ขีดความสามารถที่พวกเราทำได้ ก็ยังคงมีความขาดแคลนหลงเหลืออยู่อีกมาก"

แถลงการณ์ของ KNU ระบุว่าการที่ในดินแดนกอทูเลมีจำนวนบุคคลพลัดถิ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น มาจากการที่กองทัพเผด็จการพม่าทำการโจมตีเป้าหมายพลเรือนราวกับว่าเป็นเป้าหมายทางการทหาร อย่างการใช้การโจมตีทางอากาศ, การยิงปืนใหญ่ใส่ และหันมาใช้ความรุนแรงในหลายรูปแบบกับประชากรในพื้นที่

คนในพื้นที่เปิดเผยว่า ท่ามกลางการปะทะกันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่และมีการโจมตีจากสภากองทัพพม่าที่ทำการเผาบ้านเรือนประชาชนนั้น ผู้คนในพื้นที่ไม่เพียงแค่ต้องทนกับความยากลำบากของการพลัดถิ่นเท่านั้นแต่ยังต้องเผชิญกับวิกฤตด้านวิถีชีวิตที่ถูกทำให้แย่ยิ่งกว่าเดิมจากความไม่ปลอดภัยที่คืบคลานเข้ามาซึ่งอาจจะทำให้พวกเขาต้องเผชิญความเสี่ยงชีวิตในช่สงที่มีการสู้รบด้วย

หลังจากที่การรัฐประหารในพม่าเกิดขึ้นมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว จำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพราะสงครามก็มีเพิ่มมากขึ้นในดินแดนกอทูเล ซึ่งนอกจาก 2 จังหวัดที่ระบุถึงข้างต้นแล้ว ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่มีผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้น เช่น สะเทิม ที่เป็นพื้นที่ใต้ปกครองของกองพลน้อยที่ 1 ของ KNU มีผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นเป็น 143,529 ราย ที่ตองอูของกองพลน้อยที่ 2 มีอยู่ 20,152 ราย ที่ทวาย-มะริด ของกองพลน้อยที่ 4 มีอยู่ 75,185 ราย ที่จังหวัดมูตรอ หรือ ผาปูน ของกองพลน้อยที่ 5 มีอยู่ 91,603 ราย และที่ผาอันของกองพลน้อยที่ 7 มีอยู่ 22,981 ราย


เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net