Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่จัดงาน “Breath Dust In The Air” ขึ้นที่ลานท่าแพ ล้อมวงพูดคนปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ เรียกร้องรัฐบาลเศรษฐา และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่อุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือ เพื่อให้การแก้ปัญหา PM2.5 ตามคำพิพากษาของศาลมีผลในการคุ้มครองสิทธิและสุขภาพของคนในพื้นที่ภาคเหนือ และสิทธิในการตรวจปอดควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

 

19 ก.พ. 2567 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้จัดงาน “Breath Dust In The Air” ขึ้นที่ลานท่าแพ จ.เชียงใหม่ ภายในงานมีวงเสวนาเรื่อง "ฝุ่นควันในภาคเหนือ" โดย เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชียงใหม่ เขต 1, ศุภเกียรติ เมืองแก้ว สภาลมหายใจเชียงใหม่, วัชลาวลี คำบุญเรือง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, ปิยชัย นาคอ่อน Journer for Air, ประภัสสร คอนเมือง KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และพิสิษฎ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วงเสวนา "ฝุ่นควันในภาคเหนือ" มีการพูดคุยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประเด็นฝุ่น PM2.5 หลายปีที่ผ่านในภาคเหนือที่กลายเป็นปัญหาระดับชาติ เพชรรัตน์กล่าวว่า มีการยื่นร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการแก้ไขฝุ่นควัน P.M. 2.5 เข้าสภา 7 ร่าง ส.ส. ทั้งสภามีมติเอกฉันท์เห็นชอบ เห็นชอบผ่านวาระที่ 1 แล้ว และจะส่งเข้ากรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างนี้ทั้ง 7 ร่างจะรวบรวมมาให้เหลือ 1 ร่าง โดยที่มีร่างของรัฐบาลเป็นหลัก อยากจะพูดถึงข้อแตกต่างของพรรคก้าวไกล แค่ชื่อก็แตกต่างแล้ว ชื่อ “พ.ร.บ. ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน” มีการเปิดเผยข้อมูลรายชื่อของผู้ประกอบการทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่มีการเกี่ยวข้องกับการเผา โดยปกติแล้วถ้า พ.ร.บ. เข้าสู่คณะกรรมาธิการน่าจะไม่เกิน 3 - 4 เดือน เพราะต้องเข้าสู่ สว. เพื่อพิจารณาด้วย

ศุภเกียรติ เมืองแก้ว ตัวแทนจากสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ตอนนี้สภาลมหายใจเชียงใหม่ทำงานอยู่ 2 พื้นที่ใหญ่ๆ คือพื้นที่ดอยกับพื้นที่ในเมือง เรียกชื่อเล่น ภาคป่า ภาคในเมือง โดยเริ่มภาคป่าขยับไปแล้วจนเกิดคณะกรรมการการบริหารจัดการ 7 กลุ่มป่า แต่ละกลุ่มป่าพื้นที่เกิดไฟซ้ำซากตลอดปี สภาลมหายใจรับผิดชอบกลุ่มป่าใกล้เมืองมากที่สุด แล้วก็ในเมือง และดันเรื่องการลดมลพิษในเมือง ขนส่งสาธารณะ พื้นที่สีเขียว อีกประเด็นที่น่าจะเป็นประเด็นหลักของคนในเมืองคือเรื่องอคติระหว่างคนในเมืองกับคนบนดอย เวลาเกิดไฟป่า ทางสภาลมหายใจได้มีการขยับเรื่องการทำเรื่องการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในเมือง ที่ผ่านมามีการทำโครงการ Journer for Air  มีคนรุ่นใหม่มาทำร่วมกับสำนักข่าว Lanner สื่อสารถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน การบริหารจัดการไฟในพื้นที่ บทบาทของชาวบ้านในการดูแลเรื่องไฟ นอกจากในพื้นที่เชียงใหม่แล้วทางเครือข่ายพยายามขยับเรื่องสภาลมหายใจภาคเหนือ ตอนนี้ขยายออกไป 8 จังหวัดภาคเหนือแล้ว

เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู , ศุภเกียรติ เมืองแก้ว , วัชลาวลี คำบุญเรือง

, ปิยชัย นาคอ่อน , ประภัสสร คอนเมือง

ทางด้านวัชลาวลี คำบุญเรือง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ระบุ ทาง EnLaw เป็นร่วมเป็นทนายความในการฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือ การฟ้องคดีเป็นทางออกหนึ่งที่จะสามารถทำให้รัฐตระหนักว่าชีวิตของคนภาคเหนือก็สำคัญเหมือนกัน เราต้องการให้รัฐเยียวยาแก้ไขปัญหาของคนภาคเหนือ ในฝั่งนิติบัญญัติเองขณะนั้นยังไม่มีร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับอากาศสะอาดเลย ช่วงเวลาก่อนที่จะตัดสินใจฟ้องคดีมีคดีฝุ่นอีกหนึ่งออกมาก่อนหน้าคือ คดี ส1/2566 ซึ่งเป็นคดีแรกที่ศาลปกครองเชียงใหม่ตัดสินยกฟ้อง เพราะคดีนั้นฟ้องให้มีการประกาศเขตภัยภิบัติในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ แต่ขณะนั้นค่าฝุ่นยังไม่สูงมาก การประกาศเขตภัยภิบัติเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ ยังไม่ถึงขั้นนายกรัฐมนตรี ศาลจึงยกฟ้อง

หลังจากคำพิพากษาฉบับนั้นออกมาประมาณหนึ่งอาทิตย์ ค่าฝุ่นภาคเหนือก็พุ่งเลย ฟ้ามืดฟ้ามัวกันเลยตอนนั้น ทาง EnLaw ได้รวมตัวกับอาจารย์ทางคณะนิติศาสตร์ มช. เชิญชวนภาคประชาสังคมที่สนใจมีตัวแทนจากสภาลมหายใจเชียงใหม่, สภาลมหายใจภาคเหนือ, สมดุลเชียงใหม่, นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์, เยาวชนอายุไม่ถึง 15 ปี เป็นผู้ร้องคดีฝุ่นภาคเหนือร่วมกันทั้งหมด 10 คน

ในประเด็นกฎหมายทางทีมทนายความมีการมาไล่หาดูว่ามีกฎหมายอะไรที่จะทำให้นายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลประยุทธ์ในขณะนั้นต้องทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น จนไปเจอว่าเชียงใหม่เคยมีการฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2562 ประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ แม้ว่าคดีนั้นจะชนะคดื แต่กรมควบคุมมลพิษก็ยังอุทธรณ์สู้คดีกันจนถึงตอนนี้ ยังไม่เสร็จ ทางทีมทนายความมาดูประกาศเขตภัยพิบัติซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ขณะนั้นมีการประกาศเขตภัยพิบัติแค่สองแห่ง มีพื้นที่ไฟป่า แต่ไม่ได้ประกาศเขตภัยพิบัติ เพราะปัญหาค่าฝุ่นของภาคเหนือสูงเกินค่ามาตรฐาน ทางทีมทนาความจึงเห็นว่าควรฟ้องตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 9 ที่ระบุไว้ว่า “ถ้ากรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีสภาวะมลพิษที่รุนแรง แล้วทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต หรือเสี่ยงภัยต่อชีวิตทรัพย์สิน สุขภาพของประชาชน  นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการในการเยียวยาแก้ไขปัญหา”

“เรามองว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่นผู้ว่าฯ ทำเองไม่ได้แล้ว ต้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ เรามองเห็นว่าปัญหาส่วนหนึ่งของเชียงใหม่เป็นปัญหาจากฝุ่นข้ามพรมแดนด้วย เราก็เลยฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็คณะกรรมการกำกับตลาดลงทุน ความที่เราไม่มีกฎหมายควบคุมมลพิษข้ามพรมแดน แต่คณะกรรมการหรือหน่วยงานรัฐ 2 หน่วยงานนี้ เขามีหน้าที่ในการควบคุมบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งปัญหาฝุ่นเกิดจากการเผาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน โดยบริษัทใหญ่ๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เราหวังว่าการฟ้องคดีนี้จะเป็นการกำหนดให้ตัวหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลกำกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะสิ่งเหล่ากระทบต่อสุขภาวะของคนในภาคเหนือ” วัชลาวลี จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าว

ปิยชัย นาคอ่อน หนึ่งในผู้ร่วมโครงการจาก Journer for Air กล่าวว่า ตนเองสนใจประเด็น environment educations จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ Journer for Air บรรยากาศในค่ายสั้น Journer for Air เป็นการอบรมให้คนรุ่นใหม่อายุตั้งแต่ 18 ปี จนถึง 35 ปี เรียนรู้ว่าการทำสื่อเพื่อที่จะต่อสู้กับปัญหาฝุ่น รวมไปถึงสภาพมลภาวะต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ฝุ่นอย่างเดียว มีการลงพื้นที่ที่คลองแม่ข่า ในค่ายแต่ละกลุ่มจะได้ทำโครงการขึ้นมาหนึ่งโครงการเป็นคลิปสั้นๆ แล้วก็เอาไว้เผยแพร่ในค่ายนำเสนอความรู้ที่ได้และเป็นแนวทางในการจัดการมลภาวะฝุ่นของพื้นที่เชียงใหม่และพื้นที่โดยรอบ 

ขณะที่ประภัสสร คอนเมือง KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนจริงๆ เพราะเราหายใจอยู่ทุกวัน ตนเองไม่สามารถทำในสิ่งที่ผู้เข้าร่วมเสวนาคนอื่นทำได้ เครื่องมือในมือที่ตนเองมีอยู่ก็คืองานศิลปะ การชวนคนดูเข้ามาทำงานศิลปะ ให้พวกเขาสนใจเรื่องลมหายใจของเขาได้มากขึ้น ตนก็จะทำ แม้ส่วนตัวตนเองจะรู้สึกว่าไม่มีแรงขยับเรื่องฝุ่น เรื่อง Air pollution หรือหาทางออกของปัญหานี้ได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว แต่ก็หาทางทำบางอย่างไปด้วยกัน งานในวันนี้เป็นการขยับ engagement ของศิลปะ การเมือง กฎหมาย และการทำงานสื่อเข้าด้วยกัน เราพยายามขยับให้มีงานศิลปะเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย เป็นพื้นที่ของการบอกเล่าเรื่องราว เป็นอีกหนึ่งหน่วยของการต่อต้านท้าทายกับบางเรื่องในสังคมและรัฐ อย่างกิจกรรมวันนี้ก็มีการชวนคนดูเข้ามาวาดรูปด้วยสีคาร์บอน ถ่านที่ใช้จุดไฟ และก็สีฝุ่น ทุกครั้งที่ขีดเขียนลงไปบนกระดาษจะเกิดฝุ่น เขม่าดำติดมือ ติดเสื้อ ติดจมูกติดทุกอย่าง แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่วาดรูปแค่นี้เราก็ยังต้องสูดฝุ่นเข้าไป แต่ฝุ่นที่มองไม่เห็นที่เราสูดอยู่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง จะมากมายขนาดไหน แล้วที่ PM2.5 อยู่กับเรามาไม่รู้กี่ 10 ปี หรือ 20 ปี มันจะมากขนาดไหน ทำร้ายร่างกายเราขนาดไหน

ก่อนจบวงเสวนา ส.ส. เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เสริมว่า หลังจากนี้ต่อไปการขยับเรื่องฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. หรือกิจกรรมต่างๆ ในส่วนของพรรคการเมืองและนโยบาย ตนเองในนามของฝ่ายค้านจะมีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ออกมาว่ามีประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือไม่ อาทิ 11 มาตรการที่ทางรัฐบาลออกมาเกี่ยวกับการจัดการเผาหรือการตรวจสภาพรถ เป็นต้น ทาง ส.ส. พรรคก้าวไกลเชียงใหม่อาจจะมีการแถลงข่าวเร็วๆ นี้ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ จาก 11 มาตรการที่ออกมา รัฐบาลดำเนินการไปถึงไหนแล้วบ้าง ในส่วนของกฎหมายต้องใช้ระยะเวลา 3 - 4 เดือน ปีนี้สิ่งทำได้เร็วที่สุดก็คือ 11 มาตรการ และทาง ส.ส. เชียงใหม่มีการทำงานกับพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่า สอบถามในพื้นที่อุทยานหรือหมู่บ้านที่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างในการที่จะเข้าไปดับไฟหรือรักษาป่า ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่ได้เข้าสภาไป กรมปกครองส่วนท้องถิ่นเคยมีใบคำขอด้านงบประมาณเข้าไปในส่วนของการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การป้องกันและดับไฟป่าขอไปราว 1,709 ล้าน ปรากฏว่าได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณเพียงแค่ 50 ล้าน สำหรับ 2,368 อปท. ท้องถิ่นที่อยู่ในเขตป่าทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงพอ ประชาชนที่อยู่ในเขตป่าต้องออกลาดตระเวน เฝ้าระวังกันเองทุกวัน ขาดแคลนงบประมาณทั้งค่าข้าว ค่าน้ำมัน หรือค่าบำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องเป่าลม ทางพรรคก้าวไกลเองได้ทำการระดมทุนจากสมาชิกพรรคและคนที่ต้องการช่วยเหลือ นำเงินไปซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับดับไฟป่าแบบให้ยืมชั่วคราวและคืนกลับมา เพื่อนำไปใช้ในการดับไฟป่าที่อื่นต่อไป

ทางสภาลมหายใจเชียงใหม่ระบุว่า ปัญหาหลักของท้องถิ่นอยู่ที่งบประมาณ ทั้งอุทยานป่าไม้ และ อปท. ต่างมีคนทำงานตรงนี้อยู่เพียงไม่กี่สิบคน ดูแลพื้นที่ป่าเป็นแสนไร่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซ้ำเติมกับปัญหาฝุ่น PM2.5 เข้าไป เป้าหมายของสภาลมหายใจคืออยากจะควบคุมไฟทั้งหมดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่เผา ลดปัญหา PM2.5 ในระยะยาวทางสภาลมหายใจพยายามจะหาความร่วมมือ หาวิธีลดการเผา สนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มันยั่งยืน ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม

ขณะที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมฝากถึงรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่าในทางคดีขอวิงวอนอย่าอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือ เพื่อให้การแก้ปัญหา PM2.5 ตามคำพิพากษาของศาลมีผลในการคุ้มครองสิทธิและสุขภาพของคนในพื้นที่ภาคเหนือ นอกจากนี้รัฐบาลสามารถบังคับใช้กฎหมายได้เลยไม่ว่าจะเป็นการประกาศเขตควบคุมมลพิษ หรือเขตสุขภาพ หรือการออกแบบแผนมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นและในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นวิกฤตนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติและสามารถตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องรอคำพิพากษาศาล เนื่องจากค่าฝุ่นสูงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนไม่ว่าจะคนกรุงเทพ คนเหนือ หรือคนภาคกลาง และสิทธิในการตรวจปอดควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนควรจะเข้าถึงกันทุกคนและฟรี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net