Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผยรัฐบาลไทยจัดทำข้อสงวนเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานว่าเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 20 ปี การบังคับสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรมได้จัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าประเทศไทยจะให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED)[1] โดยครม. มีมติเห็นชอบการจัดทำข้อสงวนในข้อบทที่ 42 (การนำข้อพิพาทระหว่างรัฐเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ) เพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำข้อสงวนดังกล่าว เพื่อประกอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ICPPED ต่อไป[2]  

ปัจจุบันไทยมีพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 22 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา กฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดให้การกระทำทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  และการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา  เป็นกฎหมายภายในประเทศที่รับรองการดำเนินการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ก่อนแล้ว และอนุสัญญา ICPPED ที่ไทยเคยลงนามยอมรับหลักการไว้เมื่อปี 2555 การมีกฎหมายฉบับใหม่นี้จึงส่งผลให้ไทยต้องดำเนินการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ICPPED ด้วย

มติของครม. จากการประชุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 จะส่งผลให้ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ICPPED  และจะมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายและแนวปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว ในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และแก้ไขปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย ทั้งนี้ ยกเว้นข้อบทบัญญัติที่ 42 ที่จะไม่มีผลผูกพัน โดยบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติถึงกรณีการนำข้อพิพาทระหว่างรัฐเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ  กล่าวคือ หากไทยมีข้อพิพาทกับรัฐภาคีอื่น เกี่ยวกับการตีความและการนำอนุสัญญาฯไปปฏิบัติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะไม่สามารถมาตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวได้ [3][4]

ประเทศไทยได้จัดทำข้อสงวนด้วยเหตุผลว่าเพื่อไม่ให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีเขตอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของไทย จึงให้จัดทำข้อสงวนเช่นเดียวกับที่ได้จัดทำไว้ในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับอื่นๆ โดยขณะนี้ ไทยได้จัดทำข้อสงวนในประเด็นการไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับอื่น ๆ อีกจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (ICERD) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)

นอกจากนี้ ในสาระสำคัญของรายงานจากกระทรวงยุติธรรมที่ได้จัดทำเสนอครม.นั้น มีสาระสำคัญว่า กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการจัดการประชุมเพื่อพิจารณาจัดทำข้อสงวน และคำแถลงตีความต่ออนุสัญญา ICPPED สำหรับการเตรียมการเข้าเป็นภาคี จากการประชุมนอกจากที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ไทยดำเนินการจัดทำข้อสงวนตามข้อบทที่ 42 พบว่ายังมีอีกหนึ่งมติที่เห็นชอบให้ไทยดำเนินการคือ การไม่ประกาศยอมรับอำนาจของคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับให้หายสาบสูญ (CED) ตามข้อบทที่ 31 และข้อบทที่ 32 (การรับและพิจารณาคำร้องเรียนจากปัจเจกบุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐภาคีและจากรัฐภาคีหนึ่งที่กล่าวอ้างอีกรัฐภาคีหนึ่งว่าไม่ได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ) ด้วยเหตุผลว่าในทางปฏิบัติรัฐภาคีหลายประเทศไม่ได้ประกาศยอมรับอำนาจของคณะกรรมการดังกล่าวเช่นกัน กล่าวคือในขณะนี้รัฐไทยจะยังไม่ยอมรับให้ผู้เสียหายจากการละเมิดบทบัญญัติอนุสัญญารายบุคคลยื่นข้อร้องเรียนแก่คณะกรรมการฯ รวมถึงไม่ยอมรับให้คณะกรรมการฯ รับคำร้องว่าประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ จากรัฐภาคีอื่นที่ และในทางกลับกันไม่ยอมรับให้คณะกรรมการฯ รับคำร้องจากประเทศไทยว่าอีกรัฐภาคีหนึ่งไม่ปฏิปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้ความเห็นถึงอีกหนึ่งก้าวในการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในไทยครั้งนี้ว่า “การให้เข้ายอมรับกฎหมาย ICCPEFD นี้ทำให้ประเทศไทยต้องรายงานสถานการณ์คนหายต่อคณะกรรมการสหประชาชาติ (UN) เป็นระยะถึงความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ และกรณีคนหายที่ยังไม่ได้ร้องเรียนก็สามารถดำเนินการได้ทั้งในการรายงานผ่านกลไกในประเทศและในระบบของ UN แม้ไทยจะยังไม่อนุญาตให้ UN มาสืบสวนค้นหาความจริงรายกรณีผ่านระบบรับเรื่องร้องเรียนจากรายบุคคล (Individual Complaints) ทั้งในเหตุที่เกิดขึ้นในไทยและในรัฐภาคีอื่น ก็หวังว่าในอนาคตประเทศไทยจะยอมรับอำนาจของคณะกรรมการ UN ในอนาคตอันใกล้”

นอกจากนี้พรเพ็ญ ให้ความเห็นต่อว่าการที่ในขณะนี้ไทยยังไม่อนุญาตให้ UN รับพิจารณา Individual Complaints จะส่งผลต่อกรณี ‘การอุ้มข้ามชาติ’ (Transnational Repression) การละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐในการคุกคามอุ้มหายคนเห็นต่าง  ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามการรณรงค์และตีแผ่ความจริงถึงอาชญากรรมรูปแบบดังกล่าวยังคงต้องดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น “กรณีการอุ้มข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางขึ้นแม้จะไม่มีกลไกนี้ เราก็จะรณรงค์ตีแผ่ผลกระทำของการอุ้มข้ามชาติ (Transitional repression) เช่นกรณีวันเฉลิม พ่อสุรชัย และอื่นๆ และทำให้แต่ละรัฐบาลในอาเซียนยุติร่วมมือและการกระทำนี้ต่อไป”


[1] “สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 12 มี.ค. 2567”, 12 มี.ค. 2567, รัฐบาลไทย, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/80221 (สืบค้นเมื่อ 12 มี.ค. 2567)
[2] “ครม.มีมติเห็นชอบการจัดทำข้อสงวน เพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ”, 12 มี.ค. 2567, รัฐบาลไทย, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/80220 (สืบค้นเมื่อ 12 มี.ค. 2567)
[3] “สาระสำคัญอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าก้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ”, ม.ป.ป., คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, https://www.law.cmu.ac.th/law2011/journal/e1475149784.pdf  (สืบค้นเมื่อ 12 มี.ค. 2567)
[4] สามารถอ่านร่างคำแปลอย่างไม่เป็นทางการของอนุสัญญา ICPPED แปลโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทาง https://www.law.cmu.ac.th/law2011/journal/e1475149784.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net