Skip to main content
sharethis

งานเสวนา “ปิด-เปิดสวิตช์ โครงสร้างค่าไฟให้แฟร์และโปร่งใส ประชาชนต้องทำอย่างไร” ภาคประชาชนเรียกร้องปิดสวิตช์ตัวการจริงที่ทำให้ค่าไฟแพง กรีนพีซ คาด PDP ฉบับใหม่ เป็นการแบ่งเค้กก้อนเดิมของกลุ่มทุนของอุตสาหกรรมฟอสซิล หวังอยากให้เป็นขนมชั้น หรือก็คือขนมของเราทุกคน แนะจับตาทุกกระทรวง

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2567 ซึ่งตรงกับวัน Earth Hour หรือวันปิดไฟเพื่อโลก กลุ่ม JustPow อันเป็นการร่วมกันขององค์กรที่ทำงานในด้านข้อมูล องค์ความรู้ การสื่อสารในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Data Hatch, Epigram, Greenpeace Thailand, JET in Thailand และ Rocket Media Lab จัดงานเสวนา “ปิด-เปิดสวิตช์ โครงสร้างค่าไฟให้แฟร์และโปร่งใส ประชาชนต้องทำอย่างไร” ที่ชั้น L หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ ‘ปิดสวิตช์อะไรให้ค่าไฟแฟร์ เปิดสาเหตุอะไรทำค่าไฟแพง’ ระหว่างวันที่ 19-24 มี.ค. 2567

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย Fair Finance Thailand กล่าวถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างค่าไฟว่า มี 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 

ประเด็นที่ 1 การที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกินจริง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและส่งผลต่อค่าไฟ โดยการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเกินจริงที่เกิดขึ้นมาตลอด 20 กว่าปี ส่วนหนึ่งมาจากการพยากรณ์ความต้องการทางเศรษฐกิจสูงเกินจริง ทำให้ในการวางแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ มีการลงทุนที่มากเกินจริง มากเกินจำเป็น ทั้งในส่วนของรัฐและของเอกชน ซึ่งสุดท้ายก็กลับมาเป็นค่าไฟที่ประชาชนเป็นคนที่ต้องจ่ายต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้น

“ตอนนี้ประเด็นที่น่าจับตาก็คือ แผนพลังงานชาติฉบับใหม่ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้รับฟังความคิดเห็นวันที่ 5 เมษายน อยากเชิญชวนผู้บริโภคทุกท่านจับตาว่าเราจะไปมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง อย่าลืมว่าปีนี้เป็นปีหลังวิกฤตโควิด-19 ความแตกต่างที่ชัดมากๆ ระหว่างแผนปีนี้ที่กับแผนครั้งสุดท้ายที่เรามีก็คือ PDP 2018 ก็คือระหว่างนั้นมีวิกฤตโควิดซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงถึง 6% แล้วแผนพลังงานชาติจะมองสถานการณ์หลังโควิด-19 อย่างไร คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟไว้อย่างไร บนสมมติฐานหรือใช้ฐานคิดแบบไหน” 

ประเด็นที่ 2 คือเรื่องของการที่เราไม่มีส่วนร่วมหรือไม่มีบทบาทในการวางแผนพลังงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นแรกคือนอกจากว่าเราจะหาตัวคนที่รับผิดชอบกับการพยากรณ์เกินจริงไม่ได้แล้ว เรายังไม่รู้ว่าจะเข้าไปในส่วนร่วมได้อย่างไรในการวางแผน เราจะไปบอกใครได้บ้างว่า ตัวเลขคาดการณ์มันเกินจริง 

ประเด็นที่ 3 คือเราไม่ค่อยเห็นว่ามีทางเลือกอะไรบ้างในการวางแผนพลังงาน ถ้าย้อนกลับไป 30-40 ปีที่แล้วที่ทุกอย่างเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มต้น มันก็มีเหตุมีผลว่าทำไมจะต้องสร้างโรงไฟฟ้า และอาจจะต้องดึงดูดนักลงทุนให้อยากมาลงทุนจึงจะต้องทำสัญญาระยะยาว ที่เรียกว่า Take or Pay ผูกพันไปล่วงหน้า 20-30 ปี ซึ่งอาจจะจำเป็นก็ได้ในยุคนั้น อีกทั้งในตอนนั้นก็ยังไม่มีประเด็นอย่างเช่นเรื่องภาวะโลกร้อน เพราะฉะนั้นการใช้พลังงานที่เป็นพลังงานกระแสหลักหรือพลังงานฟอสซิลก็เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการที่เราใช้ระบบ Take or Pay ก็อาจจะดูเป็นเรื่องปกติก็ได้ แต่คำถามคือในสถานการณ์ทุกวันนี้ที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว มันเปลี่ยนไปแล้ว จึงควรจะมีทางเลือกอื่นไหม และในความเป็นจริงถ้าเราดูประเทศต่างๆ จำนวนมากทั่วโลกเขาก็มีทางเลือกแล้วก็คำนึงถึงทางเลือกอย่างจริงจังมากกว่าเรา

“แทบทุกประเทศ ถ้าเราไปดูการจัดการพลังงานของเขาว่าให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด หลายประเทศจะบอกว่าให้ความสำคัญกับเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพราะว่าในทางเศรษฐศาสตร์มันก็พิสูจน์กันจนไม่ต้องทำข้อมูลแล้วว่าคุ้มค่าที่สุด คือถ้าเราสามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานก็เท่ากับว่าไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ต้องมีกำลังการผลิตเพิ่ม

“ที่ผ่านมาเราไม่ใช่ไม่มีแผนเหล่านี้ แต่ดูเหมือนว่าเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานหมุนเวียนเท่าที่ควร หลายคนอาจจะบอกว่าพลังงานหมุนเวียนมันไม่เสถียร โอเคมันก็อาจจะจริงก็ได้ในอดีต แต่วันนี้พอเรามองไปหลายประเทศหลายเมืองทั่วโลก ทำไมเขาทำได้แล้ว เพราะเขาใช้สิ่งที่เรียกว่า การจัดการระบบโครงข่าย การจัดการความต้องการ ระบบการกักเก็บไฟฟ้า เข้ามาประกอบกันเป็นการตอบโจทย์แล้วพยายามที่จะสร้างอนาคตใหม่ อนาคตของ Low Carbon อนาคตคนที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก”  

นอกจากนี้ สฤณีกล่าวถึงบทบาทขององค์กรกำกับดูแลด้านพลังงาน อย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ด้วยว่า อยากเรียกร้องให้ประชาชนจับตาให้มากขึ้น โดยชี้ว่า สังคมไทยจะคุ้นเคยกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาติว่าเป็น Regulator หรือว่าองค์กรกำกับภาคการเงินและภาคธนาคาร เมื่อพูดถึงสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ก็จะรู้จักคุ้นเคยกับ กสทช. แต่ว่าพอมาพูดถึงพลังงานเวลาเราบ่นกันเรื่องค่าไฟจะไม่ค่อยมีใครพูดถึง กกพ.เท่าไร คนก็จะไปพูดถึงรัฐบาล หรือกลุ่มทุน ทั้งที่จริงแล้วโดยกฎหมาย กกพ. คือองค์กรอิสระที่กำกับเรื่องไฟฟ้า

“เขาคือคนที่จะมาถามเราว่าค่าไฟงวดหน้าอยากจะให้เลขออกเท่าไร ถ้าดูตอนนี้มันเศร้านิดนึง เพราะว่าเวลา กกพ. มาถามเรา เขาเหมือนมีตัวเลือก 1 2 3 ให้เรา แต่ว่าตัวเลือกทั้งหมดหลักๆ คือเราจะจ่ายหนี้ กฟผ. งวดเดียวหรือจะผ่อนจ่าย ซึ่งทุกคนก็น่าจะทราบแล้วในตอนนี้ กฟผ. แบกหนี้อยู่แสนล้านบาทแล้ว ถ้าเราทุกคนยินดี เอาตังค์ไปคืน กฟผ. รวดเดียวไม่มีใครรับได้แน่นอน เพราะค่าไฟก็จะวิ่งไป 6 บาทกว่า มันก็เศร้านิดๆ ว่าเวลาเขามาถามเรามันก็จะมีตัวเลือกอยู่แค่นี้” 

“ทำอย่างไรให้เขามาถามเรื่องของพลังงานที่เราอยากเห็น ทางเลือกในการจัดการพลังงาน ทำไมเขาไม่ถามเราเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน คือถามอะไรในเชิงที่เป็นเรื่องทางเลือก ทางออก วิธีการจัดการ แทนที่จะมุ้งเน้นเรื่องเฉพาะหน้า ว่าอยากจะผ่อนจ่ายกี่งวด ช่วงก่อนเลือกตั้ง เรามีแคมเปญชื่อว่า ‘ค่าไฟต้องแฟร์’ ก็ได้มีการทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม 5 ข้อ ไปถึงทุกพรรคการเมือง หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ไปยื่นให้กับกระทรวงพลังงาน ปัจจุบัน 5 ข้อนั้นไปถึงไหนแล้ว ก็ต้องบอกว่ามาได้ประมาณ 0.5 ข้อ จาก 5 ข้อ คือเรื่องของราคา pool gas” 

สุดท้าย สฤณีเสนอว่า อยากให้รัฐบาลประกาศว่า Net Zero ของประเทศไทยจะไม่ใช่ปี 2065 แต่จะเป็น 2050 เหมือนชาวโลก และควรจะไปลงนามใน Global Methane Pledge ซึ่งเป็นข้อตกลงระดับโลกที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทน 

“ความแตกต่างหลักระหว่างที่เราบอกว่า Carbon Neutral กับ Net Zero ก็คือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่ไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือมีเทน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาคพลังงานที่ได้มาจากก๊าซธรรมชาติ  คือการที่เราขอต่อเวลา 15 ปีก็ดี หรือการที่เราไม่ไปลงนามใน Global Methane Pledge ก็ดี ล้วนเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ค่อยดีกับประชาคมโลกว่าเราไม่สนใจจะทำให้ก๊าซฟอสซิลหรือก็คือก๊าซธรรมชาติมีความรับผิดชอบมากขึ้น อยากจะให้ปรับตรงนี้ เพราะจะมีประโยชน์ในแง่ของการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับภาคเอกชนที่จะปรับตัวด้วย ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนจะลงทุนอะไรไม่ใช่ว่าลงทุนวันนี้ พรุ่งนี้ทำได้เลย มันก็ต้องใช้เวลายาวนาน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดรัฐบาลยังยึกยักๆ หรือขอต่อเวลานานขนาดนี้ การที่เอกชนจะตัดสินใจลงทุนไปบางทีก็ไปว่าเขาไม่ได้  เพราะฉะนั้นมันก็ต้องกลับมาที่ตัวนโยบายที่ต้องมีความชัดเจน”

จริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน Greenpeace Thailand กล่าวถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ซึ่งมีข่าวว่าจะเปิดให้มีการประชาพิจารณ์ในวันที่ 5 เม.ย. นี้ว่า น่าจะเป็นเค้กก้อนเดิมของกลุ่มทุนของอุตสาหกรรมฟอสซิล นั่นคือการใช้ไฟฟ้าของไทยก็น่าจะมาจากตัวของก๊าซเป็นหลักเหมือนเดิม 

“อยากให้เป็น PDP ที่ไม่ใช่เป็น PDP ที่เป็นการแบ่งเค้ก แต่อยากให้เป็น PDP ที่เป็นขนมชั้น คืออยากให้มีความรู้สึกว่า มันคือของชั้น แผนนี้ทั้งหมดคือของเราทุกคน ความเป็นขนมชั้น มันจะทำให้รู้สึกว่าการมีส่วนร่วมคือสิ่งสำคัญ นั่นคือร่วมจากฐานการตัดสินใจร่วมกัน การที่จะทำให้คนมีความรับผิดชอบด้วย คือนอกจากมีส่วนร่วมในการวางแผนพลังงานแล้ว ตัดสินใจร่วมกันแล้ว ความรับผิดชอบหลังจากการตัดสินใจก็ต้องเกิดขึ้น ตัวของแผนพลังงานของประเทศไทยที่ผ่านมาเหมือนกันหมดในทุกรัฐบาลก็คือว่าไม่เคยมีตัวเลือกให้กับประชาชนเลย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือว่าถ้าแผนใหม่ภายใต้รัฐบาลใหม่สิ่งที่เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงก็คือว่าทำอย่างไรให้แผนนี้เห็นตัวเลือกที่มากขึ้น” 

แผนตัวเลือกตัวที่ 1 ถ้ายังคงเดินหน้าที่จะใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิลมากขึ้นภายใต้เรื่องของการต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกรวนที่เกิดขึ้น หน้าตามันจะเป็นอย่างไร เราทุกคนต้องรับภาระค่าไฟเท่าไร แล้วเราต้องจ่ายหนี้ค่าไฟในอนาคตในความไม่มั่นคงในเรื่องนั้นอย่างไร 

แบบที่ 2 ถ้าไม่เอาแบบที่ 1 มีแบบอื่นที่จะเกิดขึ้นอีกไหม ถ้าแบบที่ 2 ใส่เรื่องของพลังงานหมุนเวียนมากไปอีกสัก 50% ได้ แล้วถ้ามันเกิดขึ้นจะเกิดเป็นอย่างไร เราทุกคนต้องเสียค่าไฟอย่างไร แล้วใครสักคนผลิตไฟฟ้าส่วนนั้นเข้าระบบมันจะถูกกระจายให้กับประชาชนมากขึ้นไหม มันก็จะเห็นการมีส่วนร่วมในเลเยอร์ที่เท่ากันมากขึ้น 

สิ่งสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือว่าในแผน PDP ของประเทศไทยที่ผ่านมา ความสำคัญของแผนระยะยาวที่วางไว้ 20 ปี ไม่ต้องไปดูเลยว่าแบบยาวแค่ไหนให้ดูแค่ 3-5 ปีแรกเท่านั้นพอ ที่ผ่านมาของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและนายกรัฐมนตรีภายใต้การเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เราจะเห็นชัดเจนว่าแผนของ PDP ของประเทศไทย 3 ปีแรกหรือ 5 ปีแรก เอาเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้าสู่ระบบสายส่งก่อนเป็นลำดับแรกเสมอมา 10 ปีหลังถึงจะเป็นเรื่องของพลังงานหมุนเวียน แล้วพอเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานใหม่ ภายใน 4 ปีก็จะเปลี่ยนแผน PDP อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็สุดท้ายก็จะให้ความสำคัญกับ 3 ปีแรก 5 ปีแรกเสมอมา พลังงานหมุนเวียนไม่มีทางจะเกิดขึ้น

อีกสิ่งที่สำคัญก็คือเราอยากเห็นมิติใหม่ว่านิยามคำว่าพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลชุดใหม่ เขื่อนไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าขยะไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน เพราะฉะนั้น เวลาวางสัดส่วนในเรื่องของการเกิดขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในแผน PDP ในช่วง 3 ปีแรก 5 ปีแรก ขอให้มันเป็นพลังงานหมุนเวียนจริงๆ บอกไปเลยว่าในแผนจะมีไฟฟ้าที่มาจากหลังคาของชาวบ้านหลังคาของประชาชนภาคครัวเรือนกี่พันเมกะวัตต์เข้าก่อนในสายส่ง เช่น 3 ปี 3,000 เมกะวัตต์เข้าสายส่งโดยเอาจากภาคครัวเรือนเกิดขึ้นก่อน ซึ่งถ้าเราดูเรื่องศักยภาพเรื่องพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ตามที่เราเคยศึกษา อยู่ที่มากกว่า 35,000 เมกะวัตต์ แล้วแต่รัฐกลับรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์มันสวนทางกัน มันไม่สามารถที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 

ในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์นั้น Greenpeace Thailand ยังเคยทำรายงานโครงการล้านหลังคา ซึ่งจริยาเล่าถึงประเด็นที่น่าสนใจในรายงานชิ้นนี้ว่า ตัวของรายงานโครงการล้านหลังคาเป็นข้อเสนอที่วางเป้าหมายไว้ 3 ปี คือ 2564-2566 ภายใน 3 ปี เราจะมีไฟฟ้าจากโซลาร์ได้ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ 3,000 เมกะวัตต์ใหญ่ขนาดไหนนึกถึงกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ที่ใช้ไฟประมาณ 9,000 เมกะวัตต์ ว่า 1 ใน 3 นั้นสามารถที่จะมาจากหลังคาประชาชนได้ แต่จริงๆ แล้วศักยภาพโซลาร์ในตอนนี้มันมีมากกว่า 35,000 เมกะวัตต์ แต่มันก็ยังไม่เข้าระบบ เราเสนอให้รัฐลงทุนเปิด 1 ล้านหลังคาก่อน โดยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงินได้ด้วย ซึ่งตอนนี้หลายธนาคารที่ก็เปิดให้มีการกู้ในการติดโซลาร์ หรือติดโซลาร์แล้วประชาชนภาคครัวเรือนจะใช้มาตรการนี้ในการลดภาษีได้อย่างไร 

อีกส่วนหนึ่งก็คือเราคิดว่ารัฐบาลสามารถที่จะคิดได้มากกว่านั้น นั่นก็คือกองทุน เป็นกองทุนพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแล้วกู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่แพงเพื่อนำมาติดโซลาร์ ซึ่งอาจจะต้องออกแบบว่าตัวกองทุนจะทำยังไงได้บ้าง อาจจะเป็นจากเดิมที่เราจะฝากเงินกันธนาคาร แต่ถ้ามีมาตรการที่จูงใจมากขึ้นก็เอาเงินนี้มาลงในกองทุนนี้ เพื่อให้กองทุนนี้ใช้ในกาสร้างการเติบโตเรื่องของโซลาร์ภาคครัวเรือน

ที่ผ่านมาก็คือความคืบหน้าของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของหน่วยงานภาครัฐที่เราเห็นมากที่สุด หนึ่งในนั้นคือกระทรวงสาธารณสุข เราจะเห็นแคมเปญโรงพยาบาลแสงอาทิตย์เกิดขึ้น แต่กระทรวงสาธารณสุขเองมีโรงพยาบาลขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งโรงพยาบาลมากกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศยังติดไม่หมด  ถ้านโยบายมันไปได้มากกว่านี้ภายใต้รัฐบาลชุดนี้เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ว่ากระทรวงสาธารณสุขเองก็สามารถที่จะลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐที่จ่ายค่าไฟซึ่งก็เอาเงินภาษีเรานั่นแหละไปจ่ายค่าไฟซึ่งหากติดโซลาร์เงินตรงนี้ก็จะลดลงไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งความคุ้มทุนอยู่ในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปีหลังจากนั้น 

หรือกระทรวงศึกษาธิการเองก็เช่นเดียวกัน โรงเรียนทั่วประเทศมีมากกว่า 30,000 แห่ง มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ โรงเรียนเองมีศักยภาพที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้เหมือนกัน โรงเรียนใช้ไฟเฉพาะกลางวัน กลางคืนไม่ได้ใช้ เพราะฉะนั้น โรงเรียนมีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถลดภาระในเรื่องของค่าไฟได้ แล้วโรงเรียนเองสามารถทำรายได้ให้ตัวเองได้ด้วย เราคำนวณมาว่าโรงเรียนจะสามารถสร้างรายได้จากบนหลังคาของโรงเรียนได้อย่างน้อย 5 พันล้านบาท ตลอดอายุของโซลาร์เซล

“อีกหนึ่งการบ้านที่เราอยากฝากไว้ก็คือกระทรวงมหาดไทย ที่ยังไม่ขยับเลยตั้งแต่หาเสียงจากการเลือกตั้ง ที่พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายเรื่องของโซลาร์เซลล์ ถ้าเราดูดีๆ อบต. อบจ. หรือแม้กระทั่งเทศบาลทั่วประเทศราว 8,000 แห่ง แทนที่จะเอาเงินของเราไปเสียให้กับค่าไฟที่เราจะต้องเสียให้กับกลุ่มทุนพลังงาน ถ้าสามารถทำได้นั่นคือการลดภาษีที่มันจะเกิดขึ้น นี่คือโจทย์ที่เพียงแค่ 3 กระทรวง ถ้าทำเต็มที่อย่างน้อยเราจะมีไฟใช้ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของกรุงเทพฯ อยากจะให้ติดตามรัฐมนตรีทุกกระทรวง เพราะถ้านโยบายมันไปได้ 3 ปีนี้สามารถทำให้เกิดการจ้างงานงานแค่ตัวโซลาร์เซลล์อย่างเดียว มากกว่า 70,000 ตำแหน่ง นี่คือ Green Job หรือการจ้างงานสีเขียวที่เรากำลังพูดถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย”

นอกจากนี้จริยายังอยากให้ชะลอการใช้อำนาจในการเซ็นรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าก๊าซที่กำลังจะขึ้นใหม่ รวมถึงอยากให้ให้ความสำคัญกับเมืองหรือจังหวัดที่สามารถที่จะเติบโตเรื่องพลังงานหมุนเวียนได้ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ ในการเป็นเมืองโซลาร์เซลล์แห่งแรกที่สามารถที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์ได้อย่างน้อย 800 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันนี้ กทม.ได้เซ็นสัญญาลงนามให้หลังคาของที่ทำการ กทม. 2 แห่งติดโซลาร์แล้ว และสำนักงานเขตของ กทม. ก็ได้ลงสัญญาในการรับซื้อ-ขายไฟฟ้าแล้ว รวมไปถึงโรงพยาบาลอย่างน้อย 8 แห่งของ กทม. ที่ลงนามเรียบร้อยแล้วเช่นกัน โดยในอนาคตจะเป็นในส่วนของศูนย์สาธารณสุขของแต่ละเขต และโรงเรียนในเขต กทม.

นอกจากนี้ยังมีจังหวัดกระบี่ ซึ่งกำลังจะเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยหรือในระดับเอเชียที่เป็นจังหวัดพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบันนี้ระบบสายส่งหรือไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกระบี่มาจากพลังงานหมุนเวียน 60% ซึ่งได้าจากภาคเกษตรอย่างปาล์มและพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย 

ณัฐพงศ์ เทียนดี กรรมการผู้จัดการบริษัท SpokeDark จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ เล่าว่า 

“ตอนที่เราทำรายการ เราคุยกับคนเรื่องพลังงานแพง ฟีดแบคที่ได้รับคือ ความโกรธแค้น เพราะต้องจ่ายเงินกับสิ่งที่เราไม่สามารถมีส่วนร่วมได้มากพอ แล้วก็เหมือนเราโดนขึงพืด เขาทำอะไรก็แล้วแต่เราก็ต้องรับไป ประกาศลดค่าไฟที่เราก็เฮทันที ประกาศขึ้นทีก็ด่า แล้วก็โกรธกันไปก็โกรธกันมา ก็วนไปอยู่อย่างนี้” 

มันจะต้องมีฝั่งนึงที่ต้องไปกดดันภาครัฐว่า สิ่งที่คุณทำอยู่มันถูกต้องไหม ทั้งเรื่องสัดส่วนของการผลิตเป็นอย่างไร กฟผ. ผลิตไฟกี่เปอร์เซ็นต์ เอกชนกี่เปอร์เซ็นต์ เอกชนรายเล็กเท่าไร นำเข้าเท่าไหร่ ประชาชนเท่าไร ประชาชนจะขายไฟคืนกลับไปได้เท่าไร ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการที่จะผลิตไฟคืนได้อย่างไร  ไม่ใช่ผลิตเพื่อสร้างรายได้อย่างเดียว 

แต่เราอาจจะกระตุ้นนโยบายให้กลุ่มทุนพลังงานเขาคล้อยตามกับเราได้ด้วยอย่างไร เช่น กลุ่มทุนพลังงานเขาอาจจะมีธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ถ้าประชาชน 1 ครัวเรือน ใช้ไฟไป 100 หน่วยต่อเดือน แต่ถ้าเดือนหน้าลดลงเหลือ 90 เราอาจจะได้โบนัส ส่วนลดอะไรบางอย่าง แล้วนำไปซื้ออาหารในร้านสะดวกซื้อ หรือไปลดบิลค่าอินเทอร์เน็ตในค่ายมือถือที่เป็นธุรกิจที่โยงใยอยู่กับกลุ่มทุนพลังงานได้ เราอาจโน้มน้าวให้กลุ่มทุนว่าถ้าคุณร่วมในนโยบายการใช้พลังงานหมุนเวียนนี้ คุณก็จะได้บางสิ่งบางอย่างจากประชาชนกลับคืนก็ได้ มันคือการประสานประโยชน์  ไม่ใช่เอื้อกลุ่มทุนนะ เรามีภาคหนึ่งที่ต้องต่อสู้กันอย่างจริงจัง อีกภาคหนึ่งก็ต้องแยกร่างไปบอกว่าคุณจะได้อะไรบ้าง กลุ่มทุนจะได้อะไร แล้วประชาชนได้อะไร แล้วหาจุดกึ่งกลาง

“แต่ถ้าคิดว่าจะแบน แล้วจะแบนอย่างไรล่ะ กระแสไฟฟ้านี่มันเป็นเรื่องที่แปลกมากมันไม่สามารถแยกได้ว่ามาจากค่ายไหน มันไม่เหมือนอินเทอร์เน็ต มันมารวมๆ กัน มาจากไหนก็แยกไม่ออก สมมติว่าเราโกรธแล้วเราต้องแบนปลั๊กไหนในบ้าน ก็ไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องยาก มันต้องอารยธรรมขัดขืนอะไรบางอย่าง แต่มันต้องมีคนเริ่ม เราไม่สามารถจะประท้วงโรงไฟฟ้าแล้วดับไฟทั้งบ้าน ไม่จ่าย ไม่ได้ไง ไฟมันต้องใช้ มันเป็นเรื่องยาก เรื่องนี้ประชาชนค่อนข้างจะโกรธแค้นแล้วเขาหาทางออกไม่เจอจริงๆ นะครับ แต่ผมคิดว่ามันต้องมีภาพความสนุกอะไรบางอย่าง มีภาคประชาชนที่เขาสามารถสร้างรายได้ อย่างน้อยอาจจะยังไม่ 100% แต่วันนี้ก็เริ่มสัก 2-3% ก็ยังดี ค่อยๆ ทำ มันอาจจะมีอะไรดีขึ้นมาก็ได้”

ณัฐพงศ์ ยังยกตัวอย่างอีกว่า “หากมีหมู่บ้านตัวอย่างที่สามารถออกจากระบบไฟฟ้าของรัฐ และใช้ไฟจากตรงอย่างเดียวเป็นหลัก เพราะเอาจริงๆ ภาคประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้บางทีอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ไฟกระแสสลับถูกไหมครับ เพราะว่าไฟกระแสสลับบางอย่างมันเหมาะกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แรงศักย์สูง แต่ว่าจริงๆ แล้วความจำเป็นในชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย บางอย่างเขาใช้ไฟกระแสตรงก็พอ นั่นแปลว่าเขาใช้พลังงานที่เป็นแบบประจุก็พอไม่จำเป็นต้องมีค่าพร้อมจ่ายสำหรับการสร้างไฟฟ้ากระแสสลับก็ได้

“นั่นแปลว่าถ้าเราลองทำหมู่บ้านที่เป็นโมเดลสักหมู่บ้านหนึ่งแล้วไม่พึ่งพาไฟ on grid แล้ว ฉันอยู่ได้ นี่คือระยะขัดขืนแบบหนึ่งเหมือนกันว่าเราจะไม่พึ่งพาแล้วนะ ไม่ใช้ฟอสซิลด้วย จะใช้โซลาร์เซลล์ทั้งหมู่บ้านเลย หรือแต่ละบ้านอาจจะมี inverter 1 ตัว ปรับกระแสตรงเป็นกระแสสลับแล้วใช้แค่นั้นพอ เพราะว่าต่างจังหวัดอย่าลืมนะครับเขาไม่ได้ใช้แอร์คอนดิชันเยอะเหมือนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะฉะนั้นถ้าเราทำหมู่บ้านที่เป็นต้นแบบแบบนี้ได้ ภาคประชาชนก็จะแข็งแกร่ง และทำให้เห็นว่าเราก็สู้เหมือนกันนะ เพราะว่าในเมื่อเราโกรธแล้ว แล้วคุณไม่ตอบสนองความโกรธของประชาชน บางทีเราต้องใช้ทางเทคนิคแล้วก็ใช้การกระจายอำนาจสู่การเมืองท้องถิ่นเพื่อมาต่อรองเหมือนกัน” 

นอกจากนี้ในฐานะคนทำสื่อ ณัฐพงศ์ ยังอยากถามหาความจริงใจในแง่ของการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐอีกด้วยเพื่อใช้ในการสื่อสารกับภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคตเป็นอย่างไร นโยบายที่ออกมาหมายความว่าอย่างไร ค่าพร้อมจ่ายทางด้านพลังงานที่เป็นมันเหมาะสมไหม สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีความจำเป็นที่ต้องโปร่งใสและอธิบายได้กับประชาชน 

“อยากจะฝากถึงรัฐบาลว่า ท่านมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เอกชนทำงานให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เราอยากเห็นภาพที่ประชาชนสบายขึ้น ไม่ใช่การที่รัฐหลอมรวมกับเอกชนมากเกินไปจนประชาชนได้รับผลกระทบ”

และสุดท้าย ในวงเสวนาครั้งนี้ยังได้ กรรณิการ์ แพแก้ว นักสื่อสารภาคพลเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาสะท้อนเรื่องราวจากพื้นที่ว่า ขณะที่คนส่วนใหญ่อาจจะโกรธไม่พอ แต่คนในชุมชนเมื่อโกรธแล้วปรากฏว่าถูกควบคุมเยอะมาก โดยเฉพาะในกรณีของภาคใต้ ซึ่งมีประเด็นร้อนมาตั้งแต่ปี 2557 ตั้งแต่เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าเทพา โรงไฟฟ้าชีวมวล ตัวของเธอเองก็ถูกฟ้องปิดปากแต่ว่ายังไม่ได้เป็นคดี เพราะว่าเป็นข่าวใหญ่ระดับจังหวัด เนื่องจากชุมชนฯ ไปยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ 

“เอกชนจะมาสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชน แล้วมันไปอยู่ในชุมชนไง ไปอยู่ติดกับบ้านเรือนของชุมชน เขาก็มีความกังวลเพราะว่าเขาเป็นพื้นที่เกษตรต้องไปแย่งแหล่งน้ำ หรือแหล่งน้ำที่ใช้จะมีมลพิษไหม เราจะพบว่าตั้งแต่รัฐประหารยุค คสช. เนี่ยโรงไฟฟ้าชีวมวลเยอะมาก ภาคอีสานส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรงไฟฟ้าที่มาจากอ้อย ส่วนภาคใต้โรงงานเอกชนทั้งหลายก็จะใช้วิธีการเลี่ยงว่า 9.9 เมกะวัตต์ไม่ต้องทำ EIA เพราะฉะนั้นจะตั้งตรงไหนก็ได้ คนในชุมชนก็ลุกขึ้นมาคัดค้าน”

กรรณิการ์ยังสะท้อนว่าในการทำงานในการสื่อสารข้อมูลในเรื่องนี้ก็มีความยากลำบาก เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยาก คนบางกลุ่มก็จะมองว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นพลังงานหมุนเวียน หรือแม้กระทั่งการถูกกระแนะกระแหนว่าอะไรก็ไม่เอา ถ่านหินก็ไม่เอา ชีวมวลก็ไม่เอา ซึ่งนอกจากนี้่ยังมีประเด็นเรื่อง การใช้ ม. 44 ในปี 2559 ปลดล็อกผังเมืองให้โรงฟ้าขยะสามารถสร้างขึ้นที่ไหนก็ได้ ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งส่วนที่เป็นโรงฝังกลบและเตาเผาขยะก็เช่นเดียวกัน 

“เอาขยะมาเป็นไฟฟ้าภาพมันสวยหรู แต่คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้จะไปสร้าง จริงๆ มันมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก พอคนในชุมชนออกมาคัดค้านโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควบคุมพิเศษ ทหาร ส.อบต. มากันเพียบเลย คนที่คัดค้านกลับโดนข้อหาในเรื่องของวิพากษ์วิจารณ์รัฐ มันกลายเป็นว่าเรื่องไฟฟ้าในระดับพื้นที่คนที่ได้รับผลกระทบมันมีหลายมิติมาก ทั้งมิติของการมีสิทธิมีเสียง เรื่องของสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ เพราะจริงๆ แล้วเขาจะได้รับผลกระทบหนักมากไม่ใช่แค่จ่ายค่าไฟแพงขึ้นอย่างเดียว”

กรรณิการ์ยังแสดงความเห็นต่อกรณีการทำข่าวของสื่อมวลชนด้วยว่า อย่าทำแค่ข่าวเชิงปรากฏการณ์ นอกจากการทำข่าวเมื่อมีม็อบไปที่หน้าทำเนียบแล้ว อยากให้กลับไปดูว่าก่อนที่เขาจะมาทำเนียบเขาต่อสู้อะไรกันมาบ้าง อย่างเช่นที่ปัตตานีมีโรงไฟฟ้าที่สร้างแล้วและเกิดน้ำเสีย มลพิษ อยากให้ตามไปดู ทำเป็นเลยซีรีส์ว่า สถานการณ์ในพื้นที่ของกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องนี้จริงๆ แล้วหนักหนาสาหัสแค่ไหน เพื่อที่จะทำให้คนในวงกว้างเข้าใจคนที่อยู่ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เรื่องคุณภาพชีวิตเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เขาจะได้รับไปเต็มๆ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าทำไมเราจะต้องมาเรียกร้องให้มีค่าไฟแฟร์ คำว่าแฟร์หรือยุติธรรม ไม่ใช่แค่เรื่องราคาหรือเรื่องนโยบาย แต่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตแล้วก็สิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายใต้นโยบายพวกนั้นด้วย อยากให้ไปเจาะว่าในพื้นที่นั้นๆ เขาเจ็บ เขาเจออะไร

ในเรื่องพลังงานหมุนเวียน กรรณิการ์ยังเล่าให้เห็นถึงปัญหาในส่วนของพื้นที่ว่าเกิดการล็อกสเป็กเกิดขึ้น ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าที่เปิดบริษัทรับติดตั้งโซลาร์ โดยใช้ตำแหน่งการเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าทำให้องค์กรหรือหน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น โรงพยาบาลที่ต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์ เลือกที่จะจ้างบริษัทนั้นด้วยตำแหน่งของการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน หรือในกรณีของบ้านเรือนประชาชนที่จะติดโซลาร์เซลล์เองก็ต้องมีลายเซ็นวิศวกร แม้จะไม่ได้ติดขนาดใหญ่ และหลายคนสามารถเรียนรู้หาความรู้ เบื้องต้นจากอินเทอร์เน็ตได้เอง จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘แอบกริด’  คือการติดโซลาร์ที่ไม่ได้ไป on grid ร่วมกับไฟของรัฐ 

การส่งเสริมเรื่องพลังงานหมุนเวียนที่เป็นธรรมจริงๆ ต้องไม่มีการกำหนดสเป็กเพื่อให้ตนเองหรือเพื่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ ทำอย่างไรให้ไฟที่เหลือใช้จากการติดโซลาร์เซลล์ส่งต่อไปให้คนข้างเคียงให้ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น วัด มัสยิด โรงเรียน หรือโรงพยาบาล แทนที่ไฟเหลือต้องปล่อยทิ้งเพราะรัฐไม่รับซื้อ ซึ่งกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรปลดล็อก ทำอย่างไรให้คนในทุกระดับที่สนใจเข้าถึงโซลาร์ได้ และไม่ใช่แค่เรื่องเงินทุนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความรู้และแบ่งปันพลังงานได้ด้วย

นอกจากนี้ในวงสนทนาครั้งนี้ ยังมีตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน อรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาร่วมรับฟังด้วย โดยอรพินทร์แสดงความเห็นว่า
“หลากหลายมิติที่สะท้อนจากภาคประชาชนในงานเสวนาครั้งนี้จะรายงานให้ท่านรัฐมนตรีได้รับทราบ แล้วหลายๆ เรื่องก็มีการดำเนินการไปแล้ว อย่างเรื่องโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาล จริงๆ แล้วกระทรวงสาธารณสุขทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ต้องทำร่วมกับกระทรวงพลังงาน  ตอนนี้กำลังเริ่มทำกับโรงเรียนด้วย แต่ที่มันช้าเพราะเรื่องของการจ่ายค่าบิลค่าไฟ เรื่องนี้เราผลักดันมานานมากแต่มันติดขัดเรื่องของการจ่ายบิลค่าไฟ ซึ่งมันเป็นเรื่องของกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลางนั่นเอง  

“แต่ท่านรัฐมนตรีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ผลักดันที่จะแก้ไขในเรื่องของการแก้บิลตัวนี้ให้หน่วยงานภาครัฐได้หันมาใช้โซลาร์เซลล์แล้วก็จ่ายค่าไฟได้น้อยลงหรือไม่จ่ายเลย หรือขายออกไปในราคาที่เป็นธรรม  ตอนนี้เรากำลังแก้ไขซึ่งการแก้ไขกฎหมายนั้นใช้เวลาพอสมควรแต่อย่างน้อยมันมีไปหนึ่งเรื่องแล้วล่าสุดที่ท่านเพิ่งประกาศออกมาแต่เผอิญไม่ตรงกับเรื่องค่าไฟเป็นเรื่องของค่าน้ำมัน

“อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องของความมั่นคง พลังงานคือความมั่นคงของประเทศพลังงาน คือความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ทุกท่าน ท่านทราบไหมคะว่าการสำรองน้ำมันก็ดี การสำรองไฟก็ดีของประเทศไม่ได้อยู่ในมือของภาครัฐ และ ณ วันนี้ ท่านรัฐมนตรีกำลังสู้กับยักษ์อยู่ คาดว่าท่านก็คงทราบกันดี เพื่อที่จะสร้างความเป็นธรรมในด้านของพลังงานในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานทั้ง 3 ตัวนี้ได้อย่างเป็นธรรม คืนความเป็นธรรม คืนราคาที่เป็นธรรมให้กับประชาชนจริงๆ โดยไม่เกินสิ้นเดือนนี้ นี้ขอให้ทุกท่านติดตามการแถลงข่าวของท่านรัฐมนตรี ซึ่งท่านบอกว่าท่านจะมีหมัดน็อค หรืออย่างน้อยวันจันทร์นี้จะมีการพูดในสภา ซึ่งอาจจะมีการเกริ่นๆ เล็กน้อย แต่เด็ดจริงๆ คือรอท่านแถลงเร็วๆ นี้”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net