Skip to main content
sharethis

สว. ชุดเดิมกำลังหมดจะหมดวาระ การคัดสรร สว. ชุดใหม่ที่ซับซ้อนที่สุดในโลกใกล้มาถึง ไอลอว์ชวนประชาชนไปสมัครรับคัดเลือกเป็น สว. ให้มากที่สุด เพื่อใช้สิทธิของผู้สมัครเลือกคนที่คิดว่าเหมาะสม ป้องกันกลุ่มอำนาจเก่าเข้ายึดกุม ยิ่งชีพย้ำสนาม สว. เป็นสนามแรกที่ต้องชนะเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต

สมาชิกวุฒิสภาหรือ สว. ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นี้ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งแต่กลับมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งสังคมไทยได้เห็นพิษสงมาแล้วว่า สว. ชุดนี้ทำงานเพื่อใคร

ข่าวดีก็คือเมื่อ สว. ชุดนี้หมดวาระลงจะไม่สามารถกลับมาเป็น สว. ได้อีก และ สว. ชุดใหม่จะไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ไม่ใช่เครื่องการันตีว่า สว. ชุดใหม่ที่จะมีการคัดสรรอย่าง ‘ซับซ้อนที่สุดในโลก’ จะไม่ใช่มือไม้ของกลุ่มอำนาจเดิม อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งสาม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็น สว. โดยตำแหน่งยังคงอยู่

และคงเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มอำนาจเก่าจะวางมือจากสภาสูงไปเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร เพราะการมีอยู่ของ สว. ฝ่ายอนุรักษนิยมคือเครื่องการันตีว่าโครงสร้างอำนาจที่วางเอาไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 จะถูกเปลี่ยนแปลงได้ยาก หาก สว. ไม่ยกมือสนับสนุน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์ (ซ้ายมือ)

นี่คือสาเหตุที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ต้องรณรงค์ให้ประชาชนออกไปสมัครรับเลือกเป็น สว. กันให้มากที่สุด ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์ พูดคุยกับ ‘ประชาไท’ ว่าทำไมประชาชนคนธรรมดาจึงควรไปสมัครเป็น สว.

ถ้าไม่ทำอะไรเลยอาจได้ สว. ที่ปกป้องกลุ่มอำนาจเก่า

ยิ่งชีพยอมรับว่าแคมเปญนี้เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เขากล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าที่ผ่านมาเขาไม่เคยไว้ใจทั้งความโปร่งใสและประสิทธิภาพของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การคัดเลือก สว. ภายใต้การทำงานของ กกต. ที่ของบประมาณไป 1,800 ล้านบาทนั้น หากปล่อยให้กระบวนการเดินไปโดยประชาชนไม่ทำอะไรเลยก็เกรงว่า สว. ที่ได้จะมีหน้าตาคล้าย สว. ชุดที่กำลังจะหมดวาระ กล่าวคือเป็นคนของกลุ่มอํานาจเก่าที่ตั้งใจส่งเข้ามาร่วมกระบวนการ

“ถ้าเราไม่ทําอะไรเลย เราก็กลัวว่าสุดท้ายก็จะได้ สว. ที่มาทําหน้าที่เหมือน สว. ชุดปัจจุบัน ก็คือเป็นคนในกลุ่มเดียวกัน เพื่อนๆ กันที่เลือกกันมาเอง แล้วก็มาโหวตเพื่อปกป้องอํานาจเก่า โหวตเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าเราได้ สว. แบบนี้มาโอกาสที่จะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และโอกาสที่จะแก้ไขกฎหมายสําคัญๆ ก็คงไม่มี”

ทั้งนี้เงื่อนไข 3 ประการสำหรับผู้ที่จะลงสมัครคัดเลือกคือต้องใช้ค่าสมัคร 2,500บาท สอง-ต้องเป็นคนที่มีเครือข่าย และสามต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ณ วันที่สมัคร กล่าวอย่างรวบรัดคือกระบวนการนี้จํากัดเฉพาะคนที่มีอายุ มีเพื่อนฝูง และมีเงิน

แต่ยิ่งชีพเห็นว่าเมื่อดูองค์ประกอบของกระบวนการแล้ว ใช่ว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมไม่ได้เลย ช่องทางที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ก็คือการสมัครรับคัดเลือกเป็น สว. เพราะนั่นหมายความว่าผู้สมัครจะมีสิทธิ์ร่วมออกเสียงเลือกผู้สมัครคนอื่นๆ เขากล่าวว่า

“มันสําคัญที่ประชาชนต้องเข้าใจว่ากระบวนการที่กําลังจะเดินไปหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วก็ไปสมัครเข้าร่วมให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อจะได้มีสิทธิ์ออกเสียง แล้วก็หวังว่าถ้าประชาชนธรรมดา ไม่ต้องจัดตั้ง ที่บ้านอยู่ในเขตนั้นเดินไปสมัครในเขตนั้น เเล้วก็โหวตอิสระ เห็นใครที่พอใช้ได้ในกลุ่มอาชีพตัวเองก็ไปโหวตให้เขา ถ้ามีคนแบบนี้เยอะๆ ซื้อไม่ได้ จัดตั้งไม่ได้ อย่างน้อยก็มีโอกาสที่จะได้ สว. ที่มีความหลากหลาย อาจจะไม่ใช่ สว. ประชาธิปไตย อาจจะไม่ใช่ สว. ผู้มาสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่จะมีความหลากหลายที่มาจากคนจํานวนมาก มันก็ยังโอเคหน่อย ไม่ถึงกับล็อกตายกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศในอนาคตข้างหน้า”

ยิ่งชีพ ในฐานะกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่นำรายชื่อเสนอคำถามประชามติ #CONFORALL จำนวน 205,739 รายชื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อพรรคเพื่อไทยให้รับคำถามประชามติจากประชาชน เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566

สว. ด่านสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญ

ถึงตอนนี้แคมเปญที่ไอลอว์ทำออกมาได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี

“ผมไม่ได้เก็บข้อมูลคนที่จะสมัคร เราตั้งใจที่จะไม่จัดตั้ง จะไม่บอกว่าเอาใครเป็น สว. คนสมัครควรจะเลือกใคร เราคิดว่าเป็นเรื่องอันตราย เราก็หลีกเลี่ยง ดังนั้น คนที่จะสมัครมีใครบ้างเราไม่รู้ เท่าที่ทํามาประมาณสักเดือนกว่าๆ เวลาเรามีโอกาสไปพูดที่ไหน เราก็ชวน ถ้าคุณสมบัติได้ ก็มีคนที่พูดว่าโอเค จะสมัคร แต่ว่าไม่ได้อยากเป็น จะสมัครเพื่อไปมีส่วนร่วมในการโหวต อันนี้มีคนตอบรับมาค่อนข้างดี ส่วนใหญ่คนที่เขาไม่ไปก็คือเขาขาดคุณสมบัติ เช่น เป็นข้าราชการ เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือสถานที่รับสมัครอยู่ไกล ไม่สะดวก คือมันติดขัดจริงๆ แต่คนที่คุณสมบัติได้แล้วเขาเห็นความสําคัญ เขาก็รับปากว่าจะสมัคร รวมถึงเท่าที่โฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ก็รู้สึกว่ามีคนตอบรับเยอะ เป็นคนที่ผมก็ไม่ได้รู้จัก เขาก็มาตอบทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ว่าเตรียมตัวแล้ว เคลียร์วันว่างไว้ เดี๋ยวจะไปสมัคร”

ยิ่งชีพกล่าวว่าค่อนข้างคาดหวังกับแคมเปญนี้ แต่ไม่ขอเรียกว่าคนที่ได้รับคัดเลือกเป็น สว. จะต้องเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเพราะเป็นเรื่องที่จัดฝักฝ่ายได้ยาก เขาคาดหวังว่า สว. ชุดใหม่จะเป็นคนที่ใจกว้าง มีเหตุมีผล ไม่ถูกซื้อ และไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดของใคร ถ้าได้คนลักษณะนี้ประมาณ 70-80 คนก็ถือว่ามีนัยสำคัญต่อการเมืองในรัฐสภาแล้ว

เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 ของ สว. 250 คนหรือ 67 คน ดังนั้น ถ้าได้ สว. ที่หลากหลาย มีอิสระ และมีเหตุผล โดยไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายใด การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ก็ดูจะมีอนาคตสดใสขึ้น

“70 คนไม่น้อยครับ น่าจะยากพอสมควร แต่จะไม่ได้แบบเห็นหน้ากันรู้เลยว่า 70 นี้โหวตแน่นอน แค่บางเรื่องก็มีบางคนโหวต บางเรื่องก็มีบางคนไม่โหวต สลับกันไป แต่ขอให้มีความหลากหลาย มีคนที่เป็นผู้เป็นคน ไม่ถูกซื้อเสียง แค่นี้ผมคิดว่ามันก็พอมีหวังแล้วสําหรับประเทศชาติ”

กลุ่มอื่นๆ ก็ชวนสมัคร สว.

นอกจากไอลอว์แล้ว เวลานี้เรายังได้เห็นการเกิดขึ้นของกลุ่มต่างๆ ที่แสดงตัวให้ผู้สนใจสมัคร สว. เข้ามาอบรมกับกลุ่มของตนซึ่งยากจะรู้เหตุผลเบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม ยิ่งชีพเห็นว่าการเปิดตัวของกลุ่มต่างๆ ย่อมมีผลต่อการคัดเลือก สว. แน่นอน

“เราก็ไม่รู้ว่าคนที่จัดและคนที่ไปร่วมเขาคิดอะไร อาจจะคิดเหมือนเราก็ได้ แต่ว่าภารกิจคือการทําให้ประชาชนเข้าใจกระบวนการที่กําลังจะเกิดขึ้นและไปสมัครกันให้เยอะที่สุด อันนี้เราทําลําพังไม่ได้อยู่แล้ว การที่มีคนกลุ่มหนึ่งมาจัดอบรมให้คนเข้าใจกระบวนการ แล้วชวนกันไปสมัครผมคิดว่าเป็นเรื่องดีต่อระบอบประชาธิปไตย”

แต่จะเกิดปัญหาทันทีหากการชวนคนมารับฟัง ให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อจัดตั้งให้ผู้สมัครคัดเลือกคนของตนหรือล็อกผล ถ้าเป็นเช่นนี้ยิ่งชีพเห็นว่าจะทําให้กระบวนการไม่โปร่งใสและไม่ได้คนที่เป็นตัวแทนจริงๆ แต่กลายเป็นว่าใครมีคอนเนคชั่นหรือมีเงินก็สามารถเป็น สว. ได้

เพราะการเลือก สว. ครั้งนี้มีความสำคัญ

สว. ชุดเดิมที่กำลังจะหมดวาระดูเหมือนจะมีความหลากหลายตามกลุ่มอาชีพ ทว่าก็เป็นความหากหลายเทียมเสียมากกว่า และไม่มีตัวแทนของกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำเลย ‘ประชาไท’ ถามย้ำกับยิ่งชีพว่าการคัดเลือก สว. ครั้งนี้ก็ยังไม่มีการการันตีเหมือนเดิมว่าจะได้คนที่หลากหลายทั้งในแง่อาชีพและสถานะทางเศรษฐกิจ เพราะอุปสรรคขั้นต้นที่สุดค่าสมัคร 2,500 บาทก็นับเป็นเงินจำนวนไม่น้อยสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ

ยิ่งชีพยอมรับว่าเงิน 2,500 บาทไม่ใช่เงินน้อยๆ สำหรับคนบางกลุ่ม แต่เขาก็เชื่อว่าหากต้องการสมัครจริงๆ ก็มีศักยภาพที่จะเก็บเงินก้อนนี้ได้ทันเมื่อเปิดรับสมัคร ประเด็นสําคัญคือคนคนนั้นเห็นความสําคัญต่อบทบาทของตนเองแค่ไหน เขาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คะแนนเสียงของคนคนหนึ่งมีความหมายค่อนข้างน้อยเพราะต้องอาศัยคะแนนเสียงถึงสามสี่หมื่นคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน แต่ประชาชนก็ยอมลงทุนหาทางกลับบ้านไปเลือกตั้งเพราะตระหนักในสิทธิของตน เช่นกัน...

“พอคนรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ มีเสียง ในการออกเงินตัวเองเพื่อไปมีส่วนร่วม ผมคิดว่าประชาชนคนไทยทําได้ เพียงแต่ความท้าทายตอนนี้ก็คือทํายังไงให้เขารู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นมันสําคัญ เป็นความท้าทายของเราที่ยังไม่รู้จะทํายังไงให้สําเร็จ แต่ถ้าทําสําเร็จผมคิดว่าคนที่พร้อมจะออกเงินมีแล้ว ดีเสียอีกว่าสมมติเกษตรกรที่อาจจะไม่ได้มีรายได้เยอะเขาก็ลงในอําเภอของเขา ในบ้านของเขาได้ เสียงของเขาจะสําคัญกว่าที่ให้เขาต้องมาโหวตคนที่กรุงเทพฯ หรือให้คนที่กรุงเทพฯ ไปโหวตในอําเภอเขา

“สมมติบ้านเกิดอยู่ศรีสะเกษ แต่ตัวมาทํางานกรุงเทพฯ เขาอาจรู้สึกว่าการต้องกลับบ้านไปโหวต สว. มันเปลืองเงินเปลืองพลังมาก แต่ให้คนที่อยู่ตรงนั้นซึ่งต้นทุนน้อยกว่าเข้าไปสมัคร แล้วเข้าไปโหวต ผมคิดว่าอันนี้ก็มีข้อดีเพราะฉะนั้นอุปสรรคเรื่องค่าสมัคร 2,500 บาท ผมคิดว่าเป็นอุปสรรคจริงสําหรับคนที่ไม่ค่อยมีใจมากนัก แต่คนที่มีใจผมคิดว่ามันฝ่าฟันได้ครับ”

ประเด็นที่ยิ่งชีพกังวลมากกว่าคือผู้สมัครที่มีคนออกเงินค่าสมัครให้เพื่อเข้าไปเลือกตนเอง ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย

ต่อให้มีเครือข่ายก็ไม่ง่าย

แม้จะเป็นระบบคัดเลือกที่คนมีเครือข่ายได้เปรียบ แต่ยิ่งชีพวิเคราะห์ว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจะได้รับเลือก เนื่องจากกระบวนการคัดเลือกมี 3 ระดับคือระดับอําเภอ จังหวัด และประเทศ คนที่เป็นเจ้าพ่อในท้องถิ่นอาจจะผ่านระดับอำเภอและจังหวัดได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้คนที่มาจากจังหวัดอื่นจะเลือกเมื่อเข้าสู่การคัดเลือกประเทศ ต่อให้เป็นตระกูลดังในจังหวัดสุพรรณบุรีก็ใช่ว่าตระกูลดังจากจังหวัดบุรีรัมย์จะเลือก

“ส่วนคนที่มีชื่อเสียงในกลุ่มอาชีพ เช่นถ้าคุณเป็นนายกสภาทนายความ คุณอาจจะมีพรรคพวกอยู่หลายจังหวัด แต่สุดท้ายมันก็ต้องโหวตไขว้ให้กลุ่มอาชีพอื่นมาโหวตคุณ แล้วให้คุณไปโหวตกลุ่มอาชีพอื่น มันก็ไม่รับประกันเลยว่าชาวนาจะมาโหวตเลือกนายกสภาทนายความ เขาอาจจะเลือกนักกฎหมายคนอื่น เพราะฉะนั้นมันยากมากที่จะล็อกผลไม่ว่าสําหรับนักการเมือง เจ้าพ่อท้องถิ่น หรือระดับไหนก็ตาม มันไม่มีอะไรง่ายเลยซึ่งอันนี้ผมมองว่ามันเป็นข้อดีของระบบ”

ด้วยข้อดีนี้ เป้าหมายที่จะได้คนที่หลากหลาย ยิ่งชีพจึงมองว่ามีความเป็นไปได้

ต้องชนะสนาม สว. ให้ได้ก่อน

“มีพี่น้องหลายคนบอกว่าไม่ต้องไปสมัครหรอก สว. ไม่ต้องมีเลยดีกว่า ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดว่าเป็นความเห็นที่แย่ เพียงแต่ว่ากระบวนการตอนนี้มันเป็นอย่างนี้ ถ้าจะยกเลิก สว. หรือถ้าจะแก้ไขที่มา สว. ได้ก็ต้องอาศัยเสียง สว. อยู่ดี มันคือต้องแก้รัฐธรรมนูญและต้องอาศัยเสียง สว. 67 เสียง ดังนั้น ถ้าคุณไม่เข้าร่วมกระบวนการนี้ คุณไม่ส่งคนที่โอเคไปเป็น สว. ในวันนี้ โอกาสจะแก้ที่มา สว. หรือจะไม่มี สว. ก็ยิ่งไม่มีเลย ใครที่เห็นว่าอยากจะยกเลิก สว. อยากจะเอาสภาเดี่ยว วิธีการเดียวคือก็ต้องชนะสนาม สว. นี้ให้ได้ก่อน”

ลักษณะต้องห้ามประการหนึ่งของผู้ที่จะสมัครรับคัดเลือกเป็น สว. ระบุว่า

‘เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง สส. สว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน...’

หมายความว่าหากบ้านใดมีผู้สมัครแล้ว พ่อแม่ คู่สมรส หรือลูกจะไม่มีสิทธิ์สมัครอีก เพื่อการออกแบบเพื่อไม่ให้เข้าไปเลือกกันเอง

“แต่ผมคิดว่าคุณสมบัตินี้ยิ่งทําให้ชัดเจนว่าเราควรต้องไปสมัคร แคมเปญตอนนี้ก็คือว่าบ้านละคนเลย ระบบนี้ไม่ใช่ระบบเลือกตั้งโดยประชาชนทุกคน แต่เป็นระบบที่เปิดให้แต่ละบ้านเข้าไปบ้านละคน สมมติว่าเราอายุ 25 แล้วเราลงสมัครไม่ได้สิ่งที่เราทําได้คือไปหาตัวแทนบ้าน พ่อก็ได้ แม่ก็ได้ พี่ก็ได้ ใครก็ได้ที่อายุถึง สมัครให้หน่อยเหมือนเป็นตัวแทนบ้านแล้วในบ้านก็ตกลงกันว่าคนนี้จะไปเลือกใคร อยากให้มองระบบนี้เป็นระบบบ้าน ถ้าบ้านไหนส่งตัวแทนได้ก็โหวตได้ บ้านไหนไม่ส่งตัวแทนไม่ได้โหวต ไปบ้านละคนก็ได้ครับ สุดท้ายก็ต้องหวังพึ่งประชาชนธรรมดาที่เดินไปสมัครให้เยอะๆ แล้วโหวตอย่างอิสระโดยไม่ต้องมาถามก็ได้ว่าจะให้เลือกใคร คุณโหวตไปเลยตามเจตจํานงของคุณที่คุณคิดว่าดีที่สุดกับประเทศและตัวเอง แค่นี้เราก็จะได้ สว. ที่โอเคแล้ว”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net