Skip to main content
sharethis

13 พ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์โครงการ 112WATCH ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ พอล แชมเบอร์  (Paul Chamber) นักวิชาการรัฐศาสตร์ชื่อดังผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแนวคิดว่า “กระบวนการทำให้ทหารเป็นของพระราชา” ที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพ

กระบวนการกลายเป็นทหารของพระราชา (Monarchised military)

ต่อประเด็นคำถามที่ว่าในฐานะผู้ใช้คำว่ากระบวนการกลายเป็นทหารของพระราชา (Monarchised military)[1] นั้น สามารถสรุปความได้ไหมว่าสถานการณ์ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่าง 2 สถาบันมีลักษณะเช่นนี้นั้น พอล แชมเบอร์ อธิบายว่า คำว่าทหารพระราชามีลักษณะสำคัญคือความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างวังหลวงและกองทัพ ซึ่งมีความสัมพันธ์ฝังรากลึกมายาวนาน แม้ว่าในปีคริสต์ศักราช 2024 รูปแบบความสัมพันธ์นี้ก็ยังคงอยู่ได้ดีในฉากหลังรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อธิบายถึงตัวแสดงหลักของความสัมพันธ์นี้คือ ราชเลขาธิการ พล.อ.อ.สถิตพงษ์ สุขวิมล รองราชเลขาธิการ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รวมถึงหน่วยความมั่นคงอื่นๆ อีกด้วย ส่วนองคมนตรี ซึ่งประกอบไปด้วยทหาร 10 คนจากจำนวนทั้งหมด 19 คน (รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีส่วนในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับความสัมพันธ์นี้ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยฯ ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นอีกภาพสะท้อนของความสัมพันธ์นี้ ตำรวจก็เช่นกันผ่านผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ พลตำรวจเอกกิตติรัตน์ พันธุ์เพชร ผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมลผู้เป็นน้องของพล.อ.อ.สถิตพงษ์ สุขวิมล ซึ่งขณะนี้ถูกพักราชการอยู่

นักกิจกรรมเยาวชนล้มเหลว?

ต่อประเด็นคำถามที่ว่าการชุมนุมซึ่งนำโดยเยาวชนในช่วงปีคริสต์ศักราช 2020 ที่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทันที แต่กลับไม่มีคำตอบ จะบอกได้หรือไม่ว่านักกิจกรรมเยาวชนล้มเหลว พอล แชมเบอร์ อธิบายว่า ปัจจุบันการชุมนุมแบบนั้นกำลังหมดพลัง เมื่อไม่มีการชุมนุมแบบนั้นหมายความว่า ฝ่ายกษัตริย์นิยมไม่ได้รู้สึกว่ามีภัยคุกคามให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พลังของการชุมนุมถูกทำให้อ่อนแอลงจากการดีลระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมและสถาบันเพื่อที่ตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลก็ดูเหมือนว่าใกล้ที่จะถูกยุบพรรค ณ ขณะนี้ก็มองได้ว่าชัยชนะเป็นของฝ่ายกษัตริย์นิยม และผู้แพ้ก็คือนักกิจกรรมที่เป็นเยาวชน อย่างไรก็ตาม หลังจากพรรคก้าวไกลมีแนวโน้มที่จะถูกยุบพรรคก็อาจจะมีการลุกฮือเพื่อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง

ม.112 และการนิรโทษกรรมประชาชน

สำหรับมุมมองต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยเฉพาะกรณีการถกเถียงกันว่าควรรวมคดีมาตรา 112 ไว้ในกระบวนการนี้หรือไม่นั้น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนเป็นพัฒนาการที่ดี เพราะว่ากฎหมายฉบับนี้ยกเว้นโทษให้กับคนไทยตลอดช่วงทศวรรษที่ 2000 จากหลายกรณีที่ประชาชนถูกฟ้องตั้งแต่หลังปีคริสต์ศักราช 2006 ซี่งมาจากคดีมาตรา 112 และคำสั่งของเผด็จการทหาร แน่นอนว่าคดีมาตรา 112 ควรอยู่ในกระบวนการนี้ แต่ตนคิดว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ (ในเนื้อหาทั้งหมดของมัน) จะติดล็อกในสภาได้อย่างง่ายดาย เพราะว่า 1) พรรคก้าวไกลดูเหมือนว่าจะถูกยุบ 2) พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 3) พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการจะตัดสินใจ เพราะพรรคเพื่อไทยกลัวว่าการตัดสินใจจะไปขัดใจต่อสถาบัน 

สถานการณ์กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ที่น่ากังวล

ความกังวลต่อสถานการณ์เรื่องกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้น พอล แชมเบอร์ กล่าวว่า  มันน่ากังวลมาก เพราะว่ามีจำนวนของคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ได้ถูกตัดสินใกล้ถึง 100 คดีแล้ว สิ่งที่น่ากังวลคือสถานการณ์ของรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้ทำอะไรเพื่อที่จะหยุดยั้งแนวโน้มแบบนี้ และสิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือเศรษฐาพยายามเอาใจสถาบันฯ ดังนั้นจึงยอมถูกดึงมาเป็นพวกเดียวกับชนชั้นนำเพื่อที่จะให้รัฐบาลหยุดยั้งการปฏิรูปเรื่องมาตรา 112 ในช่วงเวลาเดียวกัน ปัจจุบันนี้ทั้งการไม่มีชุมนุมขนาดใหญ่เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายมาตรา 112 และการที่พรรคก้าวไกลกำลังจะโดนยุบก็ล้วนแต่ส่งสัญญาไม่ดีต่อสถานการณ์เรื่องคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์

สำหรับมองมองต่อประชาคมระหว่างประเทศที่ช่วยเหลือต่อกรณีปัญหาเกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้น พอล แชมเบอร์ มองว่าประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องส่งเสริมให้เรื่องวิกฤตกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์มีเสียงที่ดังขึ้น ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจน้อย เพราะว่ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีสถาบันแบบอำนาจนิยมจะอยู่ในเงา ช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อนบ้านตามชายแดนของไทยอย่างเมียนมาร์รับได้ความสนใจมาก เพราะมีสงครามกลางเมืองและทหารปราบปราม รัฐบาลประเทศอื่นๆ และองค์การระหว่างประเทศจำเป็นต้องตามกดดันต่อประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอเพื่อกดดันให้ประเทศไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงเวลาเดียวกัน สื่อกระแสหลักจำเป็นต้องเปิดให้คนมีส่วนร่วมในการวิพากษ์อย่างเปิดเผยในกรณีของกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์และปัญหาของจำนวนคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ที่พุ่งสูงขึ้น


[1] โครงการ 112WATCH อธิบายด้วยว่า กระบวนการทำให้ทหารกลายเป็นของพระราชา หมายถึง กระบวนการทางอุดมการณ์ สัญลักษณ์ พิธีกรรมต่างๆ ที่เสริมความชอบธรรมของทหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีฐานความชอบธรรมจากมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เช่น การที่สถาบันกษัตริย์เป็นผู้ก่อร่างสร้างรัฐผ่านการรวมศูนย์อำนาจด้วยการสร้างกองทัพมาเพื่อปกป้องชาติ ดังนั้น กองทัพยิ่งชอบธรรมในครองอำนาจจากการอ้างว่าตัวเองเป็นทหารของพระราชา ที่มา Paul Chambers & Napisa Waitoolkiat (2016) The Resilience of Monarchised Military in Thailand, Journal of Contemporary Asia, 46:3, 425-444, DOI:10.1080/00472336.2016.1161060  *** ตลอดบทสัมภาษณ์นี้จะใช้คำว่าทหารพระราชาแทนกระบวนการกลายเป็นทหารของกษัตริย์แทน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net